|
"Museum Siam" ขนบใหม่แห่งพิพิธภัณฑ์
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
หากคุณเห็นว่า การเดินพิพิธภัณฑ์น่าเบื่อกว่าการเดินเล่นตามห้าง และเชื่อด้วยว่า พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน นั่นคือ พูดแต่เรื่องเดิมๆ อันได้แก่ ความยิ่งใหญ่ของรัฐชาติสยามตั้งแต่ยุคสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์... พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ที่มีชื่อว่า "Museum Siam" จะทำให้ทัศนคติต่อคำว่า "พิพิธภัณฑ์" ของคุณเปลี่ยนไป!
บนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของจิตวิญญาณของคนไทย ไม่ไกลจาก "มรดกความทรงจำแห่งโลก" อย่างวัดโพธิ์ อาคารกระทรวงพาณิชย์เดิมซึ่งตัวสถาปัตยกรรมทรงโคโลเนียลแห่งยุคนีโอคลาสสิกที่ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่ เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีชื่อว่า "มิวเซียมสยาม"
...คำว่า "ทำไม" คำเดียวจะช่วยให้เรา มีปัญญา... แทนที่คำว่ายินดีต้อนรับ ป้ายเชื้อเชิญ หน้าทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์กลับเป็นวาทะคมคาย ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อกระตุกต่อมคิดของผู้ชม ให้เริ่มตื่นตัว ก่อนจะพบเจอกับสารพันคำถาม ภายในนิทรรศการชื่อว่า "เรียงความประเทศ ไทย" ซึ่งจัดแสดงบนเนื้อที่กว่า 3 พันตาราง เมตรในอาคารสีเหลืองแห่งนี้
เราคือใคร? อะไรคือไทยแท้? ทำไม ต้องเปลี่ยนสยามเป็นประเทศไทย? สุวรรณภูมิ อยู่ที่ไหน? ฯลฯ
หลากหลายคำถามปรากฏบนสายรุ้งที่บิดโค้งพาดผ่านเพดานโถงล็อบบี้เข้าไปยัง "ห้องเบิกโรง" ห้องฉายวีดิทัศน์อันเป็นห้องแรกตามแผนที่ซึ่งเป็นคู่มือในการเที่ยวชมมิวเซียมสยาม เพื่อแนะนำตัวละครทั้ง 7 ที่จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปเกือบ 3 พันปีก่อน สมัยที่ดินแดนขวานทองของประเทศไทยแห่งนี้ยังเป็นแผ่นดินเดียวกับอาณาจักรที่ได้รับการขนาน นามว่า "สุวรรณภูมิ"
เพราะสำหรับมิวเซียมสยาม การย้อนกงล้อแห่งประวัติศาสตร์การสร้างชาติไทยกลับไป หยุดที่ยุคสมัยของสุโขทัย เมื่อราว 800 กว่าปีก่อน ดูจะไม่ได้ข้อมูลที่ลึกซึ้งพอจะทำให้คนไทย รุ่นหลังเข้าใจรากเหง้าความเป็นไทยอย่างแท้จริง ขณะที่คำว่า "คนไทยๆๆ" จากห้องเบิกโรงยังคงกึกก้องอยู่ในหูของผู้ชม ไม่นานคำว่า "ไทยแท้แท้" ในห้องถัดไปก็ทำให้หลายคนได้งงอีกครั้ง
งานวัด รำไทย การไหว้ รถตุ๊กตุ๊ก หาบเร่ มวยไทย ศาลพระภูมิ รถเข็นขายส้มตำไก่ย่าง ล็อตเตอรี่พรุ่งนี้รวย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ดูสวยงามอยู่ในห้องนี้ แต่ทว่านี่แน่หรือคือความเป็น ไทยแท้ นี่แน่หรือคือคุณค่าแห่งความภาคภูมิใจในความเป็นไทยเหนืออื่นใด!?! ใครใครพูดถึงไทยแท้แท้อยู่บ่อยบ่อย ใครใครรู้ว่าไทยแท้แท้แท้อย่างไร จริงจริงไทยแท้แท้แท้แค่ไหน ที่แท้ไทยแท้แท้คืออะไร... นี่เป็นประกาศ "ตามหาไทยแท้" ที่ปรากฏอยู่ ใน "ห้องไทยแท้"
สองห้องแรกเป็นเพียงเกริ่นนำเพื่อกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมเกิดคำถามในใจ ก่อนจะเชิญชวนขึ้นไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองบนชั้น 3 และชั้น 2 ของตึกเก่าแห่งนี้
เนื้อหาของนิทรรศการถูกคัดเลือกและ ย่อความมาจากหลักฐานและผลงานศึกษาวิจัยหนาเป็นตั้ง แล้วถูกนำเสนอในประเด็นต่างๆ ภายใน 15 ห้อง โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ตั้งแต่ "จากสุวรรณภูมิ" เป็นการเปิดตำนานสุวรรณภูมิในฐานะภูมิภาคแห่งความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม "ถึงสยาม ประเทศ" แสดงพัฒนาการของบ้านเมืองที่รวมตัวกันเป็นรัฐใหญ่จนมาเป็นสยามประเทศ ภายใต้ภาพรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา และ "สู่ประเทศไทย" ที่แสดงถึงการสืบทอดมรดก ทางศิลปวัฒนธรรมจากอยุธยากรุงเก่ามาสู่กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านจุดเปลี่ยน ต่างๆ จนหล่อหลอมเป็น "ไทย" เช่นปัจจุบัน "การนำเสนอข้อมูลของที่นี่เป็นแบบบูรณาการ เพราะไม่ได้มีแค่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ แต่ยังมีความรู้ทางโบราณคดี ทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ที่มาจากหลักฐานและการศึกษา ผ่านผู้คนที่อาศัยบนดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่หลายพันปีก่อน"
นี่เป็นคำอธิบายมิติใหม่ของคำว่า "พิพิธภัณฑ์" ผ่านมิวเซียมสยาม โดยจิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกนี้และยังมีส่วนร่วมในการเรียบเรียงเนื้อหาและธีมของนิทรรศการ
"ตัวเองเรียนประวัติศาสตร์มา ก็มีความใฝ่ฝันอยากให้คนไทยได้รับรู้อดีตของตัวเองอย่าง ถูกต้องบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และสามารถนำข้อเท็จจริงเหล่านี้ไปคิดและอธิบายสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ได้" จิระนันท์พูดถึงแรงบันดาลใจในการผลักดันครั้งนี้
เป็นเวลาร่วม 4 ปีแห่งการรอคอยและเตรียมงาน นับจากมีประกาศจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติขึ้นเมื่อกลางปี 2547 จนกระทั่งเดือนเมษายนที่ผ่านมา "พิพิธภัณฑ์ การเรียนรู้แห่งชาติ" แห่งแรกของประเทศไทยที่ลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 134 ล้านบาท แห่งนี้ จึงเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมมิวเซียมสยามถือเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของ "พิพิธภัณฑ์" ในสังคมแห่งการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ อย่างสร้างสรรค์และน่ารื่นรมย์ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ทั้งนี้เพื่อสร้างสำนึกในการรู้จักบ้านเมืองของตนเอง และสำนึกในความเข้าใจความสัมพันธ์ฉันญาติมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
ไม่ต้องแปลกใจหากเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์แห่งความเป็นไทยของมิวเซียม สยาม อาจจะมีเนื้อหาและลีลาที่แตกต่างจากตำราที่เคยรับรู้และท่องจำมาเมื่อครั้งประถมหรือมัธยม
หลายคนรู้ว่าฝอยทองเป็นขนมตำรับโปรตุเกสที่ชาวสยามรับมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ แต่อาจไม่รู้ว่ากะปิที่ดูเป็น "ไทยแท้แท้" จริงๆ แล้วเป็นเครื่องปรุงที่ใช้กันแทบทุกประเทศในแถบสุวรรณภูมิ กลองมโหระทึกก็ไม่ใช่ของไทยแท้ แต่เป็นสินค้าที่มาจากดินแดนอันเป็นเวียดนามเหนือในปัจจุบัน หรือสินค้านำเข้าสำคัญสมัยอยุธยาก็คือกองทหารรับจ้างชาติตะวันตก และยังมีอีกหลายข้อมูลที่ยืนยันว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นจุดนัดพบของอารยธรรมโลก และเป็น "สหประชาชาติ" ของผู้คนชนชาติต่างๆ มากถึง 40 ชาติ ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ก็ตกทอดมาจนกรุงเทพฯ เป็นราชธานี "เราต้องการชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ที่เป็นประเทศไทยเคยมีใครอาศัยอยู่บ้าง ใครที่เข้ามาปะปนบ้าง เพื่อแสดง ว่าเมืองไทยเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายและมีการผสมผสานแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมานาน ขณะที่ความเป็นไทยแท้ที่น่าภูมิใจก็คือความสามารถในการเลือกรับและผสมผสานสิ่งดีงามจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเรา อันเป็นเหตุที่สังคมไทยพัฒนามาจนวันนี้" จิระนันท์อธิบายแก่นแท้ความเป็นไทยอันเกิดจากมีรากฐานมาจากความหลากหลาย
น่าเสียดาย เมื่อ "คนกรุงเทพฯ" เริ่มมีตัวตนมากขึ้น ความทรงจำเรื่องความหลากหลายและความสมานฉันท์เมื่อครั้งกรุงศรีฯ กลับจางหายไป ยิ่งบวกกับอิทธิพลของแผนที่ที่ก่อตัวเป็นแนวคิด "รัฐชาติ" ภายใต้ กรอบจำกัดของเส้นแบ่งแดน นับตั้งแต่มี "โฉนดประเทศ" รูปขวานทองครั้งแรกสมัย ร.4 จากนั้นกระบวนการสร้าง "ชาติไทย" บนสมมุติเรื่องเขตแดนก็เริ่มขึ้น และอคติแห่ง "ความหลงชาติ" ที่มักมองว่าตัวเรา เหนือกว่าเพื่อนบ้านก็เกิดขึ้นตามมาด้วย
ความโหดร้ายของแผนที่มีอยู่ว่า เส้นแบ่งเขตแดนที่เป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์อายุเพียงร้อยกว่าปีกลับมีอำนาจแบ่งแยกผู้คนและชุมชนที่เคยมีวัฒนธรรมเดียวกันมานานนับพันปี ออกจากกันอย่างเด็ดขาดในทางกฎหมาย จนก่อให้เกิดปัญหาแบ่งแยกดินแดนและความแตกแยกทางชนชาติตามมาไม่สิ้นสุด กรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหารและกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้... เป็นตัวอย่างบาดแผลฉกรรจ์จากความโหดร้ายของแผนที่ที่คนไทยเผชิญมาตราบจนวันนี้
"การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆ ในดินแดนแถบนี้มีมาแต่โบราณ ฉะนั้น ความหวาดระแวงในเรื่องเชื้อชาติและศาสนาจึงไม่ควรมี แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็เพราะเราที่มองอดีตแล้วตีขลุมเอาว่าสิ่งที่ต้องภูมิใจ ก็คือเราอยู่ตรงนี้มานานโดยไม่เคยปะปนกับใคร จากความยิ่งใหญ่ในอดีต ฉะนั้น เราจะสูญเสียพื้นที่หรือถอยให้ใครไม่ได้" จิระนันท์อธิบายด้วยน้ำเสียงที่สลดลงไป สำหรับการนำเสนอเนื้อหา มิวเซียมสยามไม่ได้มีเพียงแค่บอร์ดเนื้อหาและวัตถุจัดแสดงจำพวก "หม้อไห" ที่กลายเป็นภาพลักษณ์เดิมของพิพิธภัณฑ์สถานทั่วไป แต่ยังผนวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเข้าถึงวัยรุ่นได้ง่าย อย่างการเล่าเรื่องด้วยหนังสั้นแอนิเมชั่น วิดีโอสามมิติ และการเล่นเกมในรูปแบบอินเตอร์แอ็คทีฟ
เช่น เกมนักโบราณคดีในห้องเปิดตำนานสุวรรณภูมิ ข้าวของที่ค้นเจอในเกมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณมาช้านาน ก่อนจะเรียกว่า "สุวรรณภูมิ" หลายพันปี ซึ่งสมัยนั้นพื้นที่กรุงเทพฯ ยังเป็นเพียงแผ่นดินใต้ท้องทะเล หรือเกมค้าขายในห้องสุวรรณภูมิชี้ให้เห็นว่า ดินแดนแถบนี้เป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับโลกผ่านการค้า ทางทะเลมาช้านาน ส่วนเกมฮิตอย่างเกมปืนใหญ่ในห้องสยามยุทธ์ ก็สะท้อน "เกมอำนาจ" รวมถึงศาสตร์ และศิลป์แห่งการศึกในสมัยอยุธยาได้ดี เป็นต้น "ปลื้มใจมากเวลาที่เห็นพ่อแม่ลูกชี้ชวนกันดูนิทรรศการ และพากันจับและเล่นของเล่น เพราะทุกชิ้นที่เตรียมไว้ให้ผู้ชมได้จับได้เล่นจะมีเนื้อหาสอดแทรกไว้ด้วย"
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงไม่มีป้าย "ห้ามจับ" แต่มีคำเชิญชวนให้หยิบจับขยับและทดลองเล่นเต็มไปหมด ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนานและสำราญใจ
อีกตัวอย่างที่เห็นชัด ได้แก่ "ห้องสีสันตะวันตก" แทนที่การเล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในยุค '60 ด้วยตัวอักษร และรูปภาพ มิวเซียมสยามเลือกใช้วิธีจำลองเอาบรรยากาศของบาร์ในยุค '60 ผ่านแสงสีและ "เสียงเพลงแห่งความหวัง" ยกมาให้ผู้ชมสัมผัส เด็กรุ่นหลังที่มากับพ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งเติบโตขึ้นมาทันยุคนี้ก็จะมีผู้ให้ข้อมูลเป็นคนกันเอง เพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ประจำห้องนี้
ขณะที่หลายคนมัวแต่สนุกสนานกับการเลือกเพลงดังในยุค '60 ผ่านตู้เพลง และถ่ายรูปคู่กับหุ่นนางเอกพระเอกคู่ขวัญแห่งยุคนั้น อีกมุมหนึ่งของห้องเดียวกันกลับเรียงรายไปด้วยโทรทัศน์จอขาวดำที่นำเสนอ ภาพอันแสนหดหู่ของสงครามเวียดนาม
"นี่เป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงของบ้านเราในยุค นั้น ขณะที่คนไทยหนุ่มสาวกำลังสนุกสนานกับแสงสีและความบันเทิงหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด เวลาเดียวเครื่องบิน B52 ก็บินขึ้นจากฐานทัพอเมริกันที่อุดรธานีทุกวัน เพื่อไปถล่มเวียดนาม เพื่อนบ้านที่เคยอยู่ร่วมแผ่นดินสุวรรณภูมิเดียวกัน" ภาพความขัดแย้งนี้ทำให้จิระนันท์ชื่นชอบห้องนี้ เป็นการส่วนตัว หลังจากย้อนเวลากลับไปกว่า 3 พันปี ผ่านการชม นิทรรศการเรียงความประเทศไทย ที่อาจต้องใช้เวลานาน กว่า 3-4 ชั่วโมง และต้องมามากกว่า 1 รอบ จึงจะค้นหา คำตอบของหลากหลายคำถามเกี่ยวกับ "ความเป็นไทยแท้" ที่มิวเซียมสยามตั้งไว้ในห้องแรกๆ ได้ครบถ้วน
แต่สุดท้ายไม่ว่าจะได้คำตอบอย่างไร คงไม่สำคัญไปกว่าการที่ผู้ชมได้รับรู้ข้อมูลมุมใหม่เหล่านี้ติดตัวกลับไปเป็นอีกทางเลือกทางความคิดและหาคำอธิบายให้ตัวเองได้ว่า กว่าจะเป็นคนไทยอย่างในวันนี้ เราผ่านอะไรกันมาบ้าง มีอะไรที่หลงเหลืออยู่ใน DNA ของคนไทย แล้วมีสิ่งดีงามใดบ้างที่หล่นทลายระหว่างเดินทางผ่านกาลเวลา... หนึ่งในนั้นอาจเป็นความสัมพันธ์ฉันญาติมิตรกับประเทศ เพื่อนบ้าน "สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แต่ความรู้ความเข้าใจในความหลากหลายเช่นนี้มีน้อย ทำให้เกิดความขัดแย้ง ต่างๆ โน้มเอียงไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย เพราะสังคมไม่ได้เรียนรู้และยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน ฉะนั้นการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมไทยในแง่นี้น่าจะช่วยทำให้คนไทยยอมรับกัน และกันตามความเป็นจริงมากขึ้น" แนวคิดหลักในการดำเนินงานมิวเซียมสยามของศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ...มิวเซียมสยามถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการมองพิพิธภัณฑ์แง่มุมใหม่ และมองประวัติศาสตร์ของคนไทยในอีกมิติ แต่สำหรับ จีระนันท์ ที่นี่ดูจะเล็กไปสำหรับข้อมูลทางประวัติศาสตร์อันมากมายและมีคุณค่ามหาศาลในการตามหารากเหง้าแห่งความเป็นไทย เพื่อความเข้าใจตัวเองและเพื่อนบ้านอย่างลึกซึ้ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|