ในปีหนึ่ง ๆ มีคดีแพ่งที่ศาลจะต้องชี้ขาดเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงมีมกกว่า
40,000 คดี และในแต่ละปีมีคดีค้างพิจารณามากกว่า 10,000 คดี เหตุที่เป็นเช่นนั้น
เพราะขั้นตอนของกฎหมายในการพิจารณาคดีนั้นมีความซับซ้อนมากมาย เหตุต่อมาจำนวนผู้พิพากษามีไม่เพียงพอและสุดท้ายเกิดจากเจตนาประวิงคดีของคู่ความเอง
การพิจารณาคดีในศาลแพ่งแต่ละคดีตั้งแต่ศาลชั้นต้น จนถึงขั้นอุทธรณ์ฎีกานั้นจะต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ
3-4 ปีเป็นอย่างน้อยระยะเวลาขนาดนี้ ถือเป็นความสูญเสียอย่างประมาณค่าไม่ได้เลยสำหรับพ่อค้านักอุตสาหกรรมที่จะต้องทำงานแข่งกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นเป็นชั่วโมง
แต่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ความรวดเร็วในการชี้ขาดข้อพิพาทใช้เวลาเพียง
2-3 เดือนก็สามารถทำได้ โดยเลือกวิธีอนุญาโตตุลาการ แต่บอกเสียก่อนว่ามันเหมาะสำหรับคนที่ไม่สนใจค้าความ
มากกว่าเจตนาอันบริสุทธิที่จะมีการชี้ขาดข้อพิพาทด้วยความสุจริตใจเพื่อความยุติธรรมของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย
เมื่อต้นปีที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมโดยมติรัฐมนตรีได้จัดตั้งสำนักงานอนุญาโตตุลาการขึ้นมา
เพื่อส่งเสริมให้มีการประนอมข้อพิพาททางแพ่งโดยวิธีอนุญาโตตุลาการกันอย่างแพร่หลาย
ซึ่งสำนักงานนี้จะประกอบด้วยคณะกรรมการ 17 คน ทั้งจากภาครัฐบาลและเอกชน
ทางภาครัฐบาลนั้นประกอบด้วยปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานและกรรมการอื่น
ๆ ซึ่งเป็นตัวแทนจากกรมบังคับคดี กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง
กระทรวงพาณิชย์ ส่วนทางภาคเอกชนก็มาจากสภาหอการค้า สภาทนายความ สภาอุตสาหกรรม
และสมาคมธนาคารไทยเป็นต้น
คณะกรรมการเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ที่จะมาชี้ขาดข้อพิพาทหากแต่จะทำหน้าที่เพียงเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา
(ADVISORY BOARD) ส่วนผู้ที่จะทำการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาท คืออดีตผู้พิพากษาอดีตพนักงานอัยการผู้ทรงคุณวุฒิทนายความผู้ทรงคุณวุฒิหรือผูเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่าง
ๆ ที่ตัวแทนแต่ละสถาบันส่งชื่อเข้ามาขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ในการพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทคู่กณรีที่ส่งเรื่องให้สำนักงานอนุญาโตตุลาการจะเป็นผู้เลือกคณะอนุญาโตตุลาการด้วยตัวเองฝ่ายละไม่น้อยกว่า
3 คน ซึ่งก็เหมือนกับคู่กรณีมีสิทธิที่จะเลือกผู้พิพากษาเป็นของตนเองนั่นเอง
แต่ถ้าหากคู่กรณีแต่ละฝ่ายไม่ชอบใจผู้พิพากษาที่อีกฝ่ายหนึ่งเลือกขึ้นมานั้น
ก็สามารถจะคัดค้านขอให้มีการเลือกใหม่ได้จนกว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยอมรับด้วยกัน
เมื่อเลือกคณะอนุญาโตตุลาการได้แล้วก็เริ่มพิจารณาคดีต่อไป ซึ่งจะแตกต่างจากการพิจารณาคดีในศาลโดยทั่วไปเพราะลักษณะและบรรยากาศในการพิจารณานั้นจะเหมือนกับการประชุม
ทั้งนี้เพราะสำนักงานอนุญาโตตุลาการมีข้อบังคับเป็นของตนเองแบบ CONCILIATION
ARBITRATION RULES โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมในสังกัดสำนักงานอนุญาโตตุลาการเป็นเลขานุการที่ประชุมให้
"ไม่มีการใส่เสื้อครุย ไม่มีการคอกพยาน ไม่มีการซักไซ้ไร่เรียงเพื่อแสดงคารมคมคายหรือเอาชนะ
กระแนะกระแหนกัน แต่จะเป็นบรรยากาศที่ต่างก็หันหน้าเข้าหากันเพื่อหารข้อสรุปที่ดี
และก็ไม่ห้ามที่จะแต่งทนายเข้าช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วย" วิชัย อริยะนันทกะผู้อำนวยการสำนักงานอนุญาโตตุลาการคนแรกกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
วิชัย อริยะนันทกะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานาทงด้านนี้โดยเฉพาะนับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการขึ้นมาเมื่อปี
2530 เพื่อหาวิธีการและส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้านักธุรกิจหันมาให้ความสนใจใช้วิธีอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทให้มากขึ้น
เขาจบปริญญาตรีกฎหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งสอนนักกฎหมายธุรกิจโดยเฉพาะเมื่อปี
2522
จบเนติบัญฑิตไทยในปีต่อมาก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีทางกฎหมายที่อังกฤษ
(ตามระเบียบการศึกษากฎหมายของอังกฤษนั้นคนที่จะเข้าไปต่อปริญญาโทในประเทศจะต้องเรียนปริญญษตรีเสียก่อน)
เขาเรียนปริญญาโททางด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ
ซึ่งเป็นกฎที่ใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการมากที่สุด ปัจจุบันเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวง
ประจำฝ่ายวิชาการและสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการกระทรวงยุติธรรม
วิชัย อริยะนันทกะผู้พิพากษาประจำกระทรวงได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอนุญาโตตุลาการคนแรกกล่าวว่า
กฎเกณฑ์และบรรยากาศในการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดจะใช้วิธีการของเอกชนมากที่สุด
เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุด แต่สามารถให้ความมั่นใจแก่คู่กรณีมากที่สุดในด้านความยุติธรรมและที่สำคัญจะต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็วและเป็นความลับ
รู้กันเฉพาะคู่กรณีเท่านั้นซึ่งการพิจารณาคดีในศาลโดยทั่วไปจะต้องพิจารณาโดยเปิดเผย
"ขณะนี้สำนักงานอนุญาโตตุลาการพร้อมแล้วที่จะรับพิจารณาข้อพิพาท โดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่ขึ้นทะเบียนไว้ก็มีมากพอสมควรแล้ว
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นทะเบียนไว้นี้เราจัดแบ่งออกอย่างไม่เป็นทางการก็ประมาณ
12 สาขา เพื่อความสะดวกในการส่งให้คู่กรณีเลือกให้ใกล้กับสาขาที่เขาพิพาทกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพื่อความเป็นธรรมจะได้ถูกพิจารณาโดยคนที่รู้เรื่องนั้น ๆ จริง ๆ "
ผู้อำนวยการสำนักงานอนุญาโตตุลาการกล่าว
นอกจากความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว วิธีการอนุญาโตตุลาการยังเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่าการนำคดีขึ้นสู่ศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดโดยทั่วไป
กล่าวคือค่าธรรมเนียมขึ้นศาลแพ่งเรียกกับ 2.50 % แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
แม้ขณะนี้ทางสำนักงานอนุญาโตตุลาการยังไม่ได้กำหนดแน่นอน แต่ก็มีนโยบายว่าจะไม่มากกว่าค่าธรรมเนียมในคดีแพ่งทั่ว
ๆ ไป ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับประมาณครึ่งหนึ่งของศาลแพ่ง ฉะนั้นในค่าธรรมเนียมสูงสุดน่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน
100,000 บาท
ฉะนั้นถ้าไม่ใช่เป็นคนที่ชอบค้าความกันในโรงในศาล วิธีการนี้เป็นวิธีที่น่าสนใจทีเดียว