เมืองคอนโดมิเนียม

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ในซอยรามคำแหง 43/1 หรือซอยบดินทรเดชา-รามคำแหง อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปนับจากนี้ หลังจากที่เคยเป็นเพียงซอยทางลัดสำหรับผู้คนที่ต้องการเดินทางจากถนนรามคำแหงเพื่อมุ่งหน้าไปยังถนนลาดพร้าว ฝั่งตรงกันข้าม หรือในทางกลับกัน

เมื่อที่ดินรกร้างติดกับเชิงสะพานข้ามคลองแสนแสบในซอยรามคำแหง 43/1 กว่า 32 ไร่ ได้เปลี่ยนผ่านจากมือเจ้าของเดิมมาเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อทำการเปลี่ยนสภาพมาเป็น ลุมพินี คอนโดทาวน์ บดินทรเดชา-รามคำแหง เริ่มมีผู้คนทยอยเข้าพักอาศัยจำนวนหนึ่ง และครบทั้งหมด ก่อนสิ้นปีนี้ ลุมพินี คอนโดทาวน์ บดินทรเดชา-รามคำแหง ถือเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่มากที่สุดของบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และเป็นโครงการที่ผู้บริหารยอมรับว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนตลอดระยะเวลา 19 ปีเต็มและย่างเข้าปีที่ 20 ของบริษัท

อาคารสูง 8 ชั้นสีสันแตกต่างกันไปในแต่ละตึกบนพื้นที่แห่งนี้มีมากถึง 14 อาคาร มีความยาวตั้งแต่ตึกแรกจนถึงตึกสุดท้าย 1 กิโลเมตร จำนวนยูนิตหรือห้องพักที่แบ่งไล่ระดับ 25 ตารางเมตร 28 ตารางเมตร และห้องหัวมุมทุกตึกจะมีขนาด 35 ตารางเมตร รวมกันแล้ว 3,445 ห้อง

หากคำนวณคร่าวๆ ว่าจะมีผู้พักอาศัยในห้องที่ขายไปแล้วเกิน 80% อย่างน้อยห้องละ 2 คน ในพื้นที่ของเมืองคอนโดแห่งนี้จะมีผู้พักอาศัยมากถึง 7,000 คน

แนวความคิดของการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบคอนโดทาวน์ของแอล.พี.เอ็น.เน้นให้มีลักษณะของการเป็นเมืองขนาดย่อม ภายในมีที่พักอาศัยจำนวนมาก มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน และจับกลุ่มที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานแรกเริ่ม ผู้ที่เคยอยู่หอพัก อพาร์ตเมนต์ และอยากเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกที่มีราคาเริ่มต้นที่ 6 แสนบาทจนถึง 1 ล้านต้นๆ

จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ด้านหน้าของโครงการยังมีรถซูบารุสีแดง หรือที่เรียกกันว่า รถกระป๊อ ที่เคยปักหลักอยู่ที่ตรงนั้น ยังคงรอคอยเปิดให้บริการสำหรับผู้พักอาศัย เช่นเดียวกับมีการจัดรถรับส่งสำหรับลูกบ้าน ทั้งแบบรถตู้โดยสาร และรถสามล้อถีบ เพราะจากการสำรวจของเจ้าของโครงการพบว่า ลูกบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีรถยนต์เป็นของตนเอง ด้านข้างของรั้วมีประตูขนาดใหญ่ เปิดสู่สะพานข้ามคลองแสนแสบที่กรุงเทพมหานครสร้างไว้ เพื่อให้ลูกบ้านเดินข้ามไปยังท่าเรือคลองแสนแสบได้อย่างต้องการ

ระหว่างดำเนินการผู้บริหารตัดสินใจเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านละแวกใกล้เคียง หรือแม้แต่กับผู้บริหารโรงเรียนบดินทรเดชา เพื่อทำการทาสีรั้ว ตัวอาคาร เพื่อให้ทัศนียภาพของลูกบ้านนั้นไม่หม่นหมอง ดังนั้น หากใครผ่านไปในซอยนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นรั้วสีขาวของบ้านใกล้ๆ กับโครงการยังใหม่ และดูสะอาด แตกต่างกับรั้วของบ้านที่ตั้งเลยไปอีกไม่กี่เมตร

นอกจากนี้ภายในโครงการมีร้านค้าในเครือข่ายของแอล.พี.เอ็น.ซึ่งเคยร่วมงานกันมาก่อนหน้าในโครงการคอนโดมิเนียม อื่นๆ ตามมาเปิดอยู่ใต้ตึกทั้งสิ้น 48 ร้าน แบ่งเป็นทั้งร้านค้าสะดวกซื้อเปิด 24 ชั่วโมง ร้านซักรีด หรือแม้แต่ร้านอาหาร ปัจจุบันโครงการลุมพินี คอนโดทาวน์ บดินทรเดชา-รามคำแหง อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 3 อาคารสุดท้าย จะทำ การส่งมอบถึงมืออยู่ผู้อาศัยภายในกลางเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

เมื่อไม่นานมานี้ แอล.พี.เอ็น.ยังริเริ่มแนวคิด "อยู่ก่อนโอน" เป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากคอนโดทาวน์ บดินทรเดชา-รามคำแหง หลังจากพบว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่นั้นบอกเลิกห้องเช่ารายเดือนของตนไปแล้ว ทำให้ แอล.พี.เอ็น.ตัดสินใจให้ผู้เข้าพักอาศัยใน 4 ตึกแรกที่เสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว สามารถเข้าพักในตึกได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในระหว่างการผ่อนดาวน์ หรือยังไม่ครบกำหนดของการผ่อนดาวน์ ซึ่งแทบจะไม่เคยปรากฏมาก่อนในวงการคอนโดมิเนียมไทย

จากแนวความคิดดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีคนเข้าพักในตึกกลุ่มนี้แล้ว 217 ห้อง และอยู่ในระหว่างการทยอยเข้าพักแทบทุกสัปดาห์ ขณะที่ตึกกลุ่มที่สอง เพิ่งจะเปิดให้ลูกบ้านเข้ารับโอนกรรมสิทธิ์และตรวจสภาพห้องที่เสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

ในเร็ววันนี้จะมีลุมพินี คอนโดทาวน์เกิดขึ้นอีกหลายโครงการ ปัจจุบัน แอล.พี.เอ็น.อยู่ในระหว่างการก่อสร้างลุมพินี คอนโดทาวน์ รามอินทรา-หลักสี่ ริมถนนรามอินทรา ด้านข้างติดกับรามอินทราซอย 3 ประกอบไปด้วยอาคารสูง 8 ชั้น จำนวน 7 อาคาร รวมแล้ว 1,568 ยูนิต

นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย นอกเหนือการสร้างตึกที่อยู่อาศัย หรืออาคารชุดที่อยู่อาศัยเกิน 10 อาคาร ซึ่งคุ้นเคยในนามของการเคหะแห่งชาติ หรือที่อยู่อาศัยแบบแฟลตในยุคแรกของไทย ทั้งแฟลตปลาทอง แฟลตดินแดง หรือแม้แต่เมืองทองธานีคอนโดทาวน์แบบแอล.พี.เอ็น.เหมือนจะเป็นกลุ่มเมืองคอนโดมิเนียมยุคใหม่ที่คนยินดีจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของแบบเต็มใจ และเลือกเองมากที่สุด ที่สำคัญกำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมคอนโดมิเนียมของไทยได้มากที่สุดเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.