|
บุคคลที่สาม
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
Risa Bengawan เกิดที่เกาะบอร์เนียว หนึ่งในหมู่เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และที่มาของชื่อรัฐสุลต่านบรูไนดารุสซาลาม ก่อนครอบครัวจะส่งเธอไปเรียนชั้นไฮสคูลที่สิงคโปร์ ต่อด้วยระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งย้ายมาทำงานหลังเรียนจบที่บาหลีเป็นเวลากว่า 3 ปี
แม้ปีนี้ Risa จะเพิ่งมีอายุครบ 28 ปีเต็ม แต่กลับมองการณ์ไกลเกินตัว ปัจจุบัน Risa มีหุ้นถึง 15% ในบริษัทส่งออกอัญมณีจากหลายๆ แหล่งทั้งจากไทยและอินโดนีเซียบ้านเกิด ไปยังสหรัฐอเมริกา และนั่นทำให้เธอต้องย้ายการทำงานจากบาหลีซึ่งเป็นแหล่งของการส่งอัญมณี วนมายังประเทศไทยในเวลาต่อมา เพื่อทำหน้าที่ติดต่อกับผู้ผลิตโดยตรง นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ Risa เข้ามาพำนักอยู่ในคอนโดมิเนียมที่สร้างขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางซอยศาลาแดง 2 เพียงลำพัง หลังจากใช้เวลาร่วมเดือนในการเดินหาที่พักด้วยการเดินเท้ารอบๆ ย่านสาทร ศาลาแดง และถนนนราธิวาส ตัดสินใจเลือกห้องขนาดเล็กที่ชั้นสองของคอนโดมิเนียมสีเหลืองอ่อนแห่งนี้ด้วยเหตุผลของการเดินทางที่สะดวก และอยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกหลายประการ
คอนโดมิเนียมขนาด 32 ตารางเมตร ซึ่ง Risa บอกว่าไม่เคยแม้แต่จะมีโอกาสได้เห็นหน้าเจ้าของห้องเลยสักครั้ง แต่ทุกสิ้นเดือนเธอจะทำการโอนเงินค่าเช่าเกือบสองหมื่นบาทเข้าไปยังหมายเลขบัญชีธนาคารกรุงเทพที่สำนักงานของคอนโดมิเนียมมอบให้
ลักษณะห้องเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านในประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์ติดตั้งติดกับผนังไม่กี่ชิ้น ทำหน้าที่เก็บทั้งเสื้อผ้าที่เธอขนมาจากบาหลี รองเท้าอีกนับสิบคู่ เฟอร์นิเจอร์อีกหลายชิ้นที่เธอซื้อมาตกแต่งเพิ่มเติม
และในเวลาเดียวกันยังเป็นออฟฟิศขนาดย่อมสำหรับการทำงานของเธอในแต่ละวัน ซึ่งไม่ต้องอาศัยหน้าร้าน นอกเหนือจากการทำงานกับเพื่อนร่วมงานผ่านอินเทอร์เน็ต และใช้โทรศัพท์ติดต่อกับ supplier ผ่านทางโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 เครื่องบนโต๊ะทำงาน
ตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา Risa มองเห็นการเกิดขึ้นของคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นใหม่รอบๆ ที่พักของเธอมากกว่าสามโครงการ โดยระหว่างที่ยืนข้างสระน้ำบนชั้น 8 ของคอนโดมิเนียม facility ที่ Risa สรุปในทันทีว่าส่งผลให้เธอเลือกเข้าพักที่นี่เป็นอันดับต้นๆ เธอผายมือออกไปเบื้องหน้า พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวว่า ตึกนั้นสร้างในช่วงแรกๆ ที่เธอเข้าพักที่นี่ และภาพที่เห็นในปัจจุบันคือ ตึกใกล้เสร็จสมบูรณ์ในอีกไม่ช้า
Risa อาจจะเป็นเศษเสี้ยวของจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานโดยผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวในประเทศไทยทั้งสิ้น 122,262 คน (ตัวเลขจากกองแรงงานคนต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2551)
และอาศัยการเช่าคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองเป็นที่พักอาศัย โดยเฉพาะการหาที่พักติดกับระบบขนส่งสำคัญอย่างรถไฟฟ้า เพื่อการสัญจรที่สะดวกในชีวิตประจำวัน
เมื่อไม่นานมานี้ ซีบี ริชาร์ด เอลลิส บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยตัวเลขผลสำรวจพบว่าการเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติในไทยส่งผลอย่างชัดเจนกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยเฉพาะที่พักอาศัยแบบให้เช่า
โดยเฉพาะย่านที่มีทำเลติดกับรถไฟฟ้า ทางด่วน โรงพยาบาล ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจต่างๆ หรือแม้แต่การบริการพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เป็นต้น ขณะที่ไตรมาสแรกของปีนี้ อาคารที่พักให้เช่า อาทิ อพาร์ตเมนต์ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักสูงถึง 90% โดยที่ตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวมกับต่างชาติที่ถือกรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของที่พักอาศัยประเภทตึกสูงหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งตามกฎหมายไทยแล้ว ชาวต่างชาติสามารถซื้อหรือเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมได้ 49% ของจำนวนห้องที่เปิดขายในโครงการนั้นๆ
ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ Risa มีกำหนดเดินทางกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยไม่มีกำหนดกลับมาพำนักในประเทศไทยระยะยาวอีกครั้งเมื่อใด
แม้เหตุการณ์จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม แต่สำหรับหญิงสาวชาวต่างชาติผู้นี้ ยังหวังว่าจะกลับมาเมืองไทยเมื่อมีโอกาส อย่างน้อยก็เพื่อมองหาคอนโดมิเนียมสักห้องถือเป็นกรรมสิทธิ์เสียเอง "ฉันว่ามันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่านะ คุณไม่เห็นด้วยหรือทุกวันนี้ฉันแทบไม่เจอเจ้าของห้องเช่าเลยด้วยซ้ำ แต่เขากลับได้รับค่าเช่าตรงเวลาทุกเดือน ฉันก็หวังว่าจะซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ สักห้อง แล้วปล่อยให้เช่าในระหว่างที่ฉันไม่อยู่ เมื่อพ้นช่วงของการผ่อนชำระ ฉันก็ได้เป็นเจ้าของ ถึงเวลานั้นส่วนต่างของราคาห้องก็คงจะเพิ่มขึ้น" Risa บอกพร้อมกับมองไปยังคอนโดมิเนียมเกิดใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง
ไม่ได้มีแต่เพียง Risa เท่านั้นที่มองว่าการลงทุนไปกับคอนโดไม่ต่างอะไรกับการเสือนอนกิน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในไทยมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมติดแม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่พักผ่อน อาทิ พัทยา เกาะสมุย ภูเก็ต และหลายพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ
หลายคนเลือกซื้อและปล่อยเช่าจนครบระยะเวลาของการผ่อนกับธนาคารที่กู้ยืมเงิน ส่วนต่างของราคาเริ่มแรกกับระยะเวลาที่ผ่อนก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แม้เมื่อเปรียบกับทองคำที่มีความสามารถในการเปลี่ยนเป็นเงินได้ทันทีแล้ว สำหรับหลายคนก็ยังมองว่าสำหรับระยะยาวแล้วคอนโดมิเนียมเป็นสิ่งที่น่าลงทุนและให้ส่วนต่างราคาแรกเริ่มที่มากกว่า
ล่าสุดจากการสำรวจของบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่างไรมอนด์ แลนด์ พบว่า การโอนกรรมสิทธิ์สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมที่พัฒนาเสร็จแล้วในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 9,600 ล้านบาท โดยเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ 20%
หาก Risa เป็นหนึ่งในตัวอย่างของชาวต่างชาติที่เข้ามาเป็นบุคคลที่สามในตลาดคอนโดมิเนียมของไทย ก็ดูเหมือนว่าบุคคลที่สามรายนี้ไม่เพียงแต่กำลังจะเพิ่มขึ้นในแง่ของจำนวนเท่านั้น แต่ยังเป็นบุคคลที่สามที่อาจจะโดดเด่นจนน่าจับตามองมากกว่าเจ้าบ้านด้วยซ้ำไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|