My home is in the sky

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ถนนทุกสายมุ่งหน้าไปยัง "คอนโดมิเนียม" นี่คือความเปลี่ยนแปลงในแง่วิถีชีวิตของคนในเมืองหลวง บ้านที่มีความหมายในสายตาของพวกเขาจะไม่ใช่รูปแบบแนวราบอีกต่อไป แต่กลับเป็นบ้านในตึกสูง

พยุงศักดิ์ จารุพันธ์ ใช้เวลาเดินทางจากที่ทำงานซึ่งตั้งอยู่หัวมุมถนนย่านสยามสแควร์ ศูนย์รวมของวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน โดยอาศัยรถไฟฟ้าซึ่งวิ่งบนรางยกสูงจากพื้นราวตึกสองชั้น ก่อนรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยสายนี้จะส่งเขาถึงจุดหมายที่สถานีทองหล่อ กินเวลาเพียง 15 นาที หนุ่มครีเอทีฟประจำบริษัทเอเยนซี่โฆษณาชื่อดังผู้นี้ เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังใหม่ได้เพียงปีเศษ หลังจากที่เขาตัดสินใจควักเงินในกระเป๋าซึ่งเกิดจากน้ำพักน้ำแรงในการทำงาน และต้องรอเวลาให้บ้านหลังนี้ปลูกสร้างเสร็จนานร่วม 2 ปี จนกระทั่งรับมอบกรรมสิทธิ์และยังคงผ่อนชำระค่างวดในแต่ละเดือนเป็นจำนวนไม่น้อยเพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของแผ่นกระดาษที่ระบุรายละเอียดว่าเขาเป็นเจ้าของบ้านรูปทรงสี่เหลี่ยมบนชั้น 18 ของโครงการคอนโดมิเนียมในซอยทองหล่อ 25

แม้ทุกวันเขาจะออกจากบ้านแต่เช้า และกลับเข้าบ้านหลังสามทุ่มแทบทุกวัน ขณะที่วันเสาร์ของทุกสัปดาห์ก็ต้องเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวย่านราชวัตร ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกตั้งแต่เกิด และหาเรื่องออกนอกบ้านเสมอ เมื่อมีวันหยุดยาว แต่พยุงศักดิ์ก็เลือกบ้านหลังแรกเป็นคอนโดมิเนียม แทนบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ ทั้งๆ ที่ราคาของคอนโดมิเนียมขนาด 78 ตารางเมตรจะสูงเกือบ 5 ล้านบาทก็ตามที

พยุงศักดิ์เป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่กลุ่มใหญ่ของ สังคม เพื่อนที่อยู่ในช่วงอายุ 25-44 ปีแบบเดียวกันกับเขามีมากถึง 30% รองจากวัยต่ำกว่า 25 ปีที่มากถึง 43% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมพบว่า

กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะไม่ยึดติดว่าบ้านจะมีเสา คาน ลานบ้าน สนามหญ้า และประตูรั้วหน้าบ้านอีกต่อไป ขอเพียงให้บ้านในรูปแบบนั้นตอบสนองชีวิตประจำวันในปัจจุบัน จนนักพัฒนาหลายคนกำลังมองว่า คนเหล่านี้ "มองไกลได้สั้นลง" การมองไกลได้สั้นลง หรือการมองเฉพาะช่วงชีวิตประจำวันในปัจจุบันที่เป็นอยู่ โดยไม่วางแผนในระยะไกลเหมือนก่อนหน้า เป็นผลกระทบจากภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาวะอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ หรือในที่นี้หมายถึงการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมปัจจุบัน

หากว่าพยุงศักดิ์และเพื่อนของเขาเลิกจะอยู่บ้านหลังใหญ่กับครอบครัวที่คนไทยเรียก "ครอบครัวขยาย"แต่หันมาแยกบ้านของตนเองที่เรียกว่า "ครอบครัวเดี่ยว"กันมากขึ้น ก็คงจะใช้เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงรูปทรงของบ้านในสายตาของพวกเขาได้นับจากนี้

สังคมไทยเริ่มทำความรู้จักตึกสูงซึ่งถูกแบ่งซอยเป็นห้องแล้วเรียกว่า "คอนโดมิเนียม" ตลอดระยะช่วงสิบปีหลังยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตกของไทยและลุกลามไปทั่วโลกราวปี 2540 หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง

จนกระทั่งสองปีที่ผ่านมา สังคมไทยเข้าสู่สถานะของ "ความคุ้นเคย" กับอาคารชุดที่พักอาศัยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การพักอาศัยของไทย สถิติการจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศและในกรุงเทพฯ ของสำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังระบุแนวโน้มของจำนวนที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ

ในปี 2549 มีการจดทะเบียนอาคารชุดกับกรมที่ดินเฉพาะในกรุงเทพฯ มากถึง 103 อาคาร ขณะที่การจดทะเบียนในต่างจังหวัดในปีเดียวกันมีทั้งสิ้น 262 อาคาร และในปีที่ผ่านมาเฉพาะในกรุงเทพฯ มีมากถึง 93 อาคาร ในต่างจังหวัดลดลงเหลือเพียง 96 อาคาร เฉพาะเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจากการสำรวจของ บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์พบว่า มีมูลค่าโครงการที่เปิดตัวมากถึง 11,176 ล้านบาท แต่เกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าทั้งหมดมาจากการเปิดตัวอาคารชุดที่พักอาศัยหรือคอนโดมิเนียม รองลงมาคือทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยว ซึ่งมีไม่ถึง 10% ของโครงการเปิดใหม่

ความเปลี่ยนแปลงในแง่ของตัวเลขสอดรับกับแนวความคิดในการเลือกบ้านของคนในกรุงเทพฯ ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์ของการแยกบ้านเร็วขึ้น ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในสังคมไทยในปัจจุบัน สวนทางกับประเพณีไทยตลอดช่วงหลายสิบปีก่อนหน้า ซึ่งผู้คนในสังคมอาศัยอยู่กับครอบครัว เป็นหลักมาเป็น "ครอบครัวเดี่ยว" ที่มีจำนวนคนในครอบครัว น้อยลงหรือขนาดของครอบครัวที่เล็กลง จากเดิมที่บ้านหนึ่ง หลังมักจะมีผู้อาศัยอยู่ในบ้านเฉลี่ยแล้ว 3.6 คน ขณะที่ทุกวันนี้บ้านหนึ่งหลังกลับมีผู้อยู่อาศัยเฉลี่ย 2.7 คน และแนวโน้ม เช่นนี้กำลังเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก

แท้ที่จริงแล้วการแยกครอบครัวใหญ่มาอยู่ครอบครัว เล็กไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมของไทยกำลังเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่แต่อย่างใด แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์และนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายคนพิจารณาและลงความเห็นร่วมกันว่าสาเหตุหลักก็คือ "ราคาน้ำมัน" เรื่องราคาน้ำมันโลกพุ่งทะยานสูงอย่างไม่จำกัดเพดาน ผลักดันให้บ้านใจกลางเมือง ประเภทคอนโดมิเนียมซึ่งอยู่ตามแนวระบบขนส่งสาธารณะ ประเภทรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงสองปีหลัง ช่วงเดียวกับที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูง

และท้ายที่สุดการเลือกคอนโดมิเนียมในพื้นที่ใจกลาง เมืองก็ถูกผลักให้เป็นเรื่องรสนิยมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการ เลือกบ้านใกล้ที่ทำงานหรือใกล้แหล่งบันเทิงไปโดยปริยาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยระบุว่า ค่าใช้จ่ายของผู้คนในปัจจุบันมักสูญเสียไปกับค่าเดินทางมากถึง 20% ของรายได้ ทั้งหมดที่ได้รับ และนั่นเป็นผลมาจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ พยุงศักดิ์ตัดสินใจเลิกใช้รถยนต์และหันมาใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสแทน หลังจากพบว่าไม่เพียงเสียเวลาบนท้องถนนที่มีการจราจรติดขัดเป็นอย่างมากในช่วงเวลาเร่งด่วน และค่าน้ำมันก็เป็นภาระสำหรับคนใช้ รถยนต์เป็นอย่างมาก

ในปีที่แล้วราคาน้ำมันดูไบเพิ่มขึ้นจากบาร์เรลละ 68.8 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 138.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และยังทยอยทำสถิติสูงสุดตลอดช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มสูงขึ้นมากจากราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยลิตรละ 29.18 บาท ในปี 2550 เป็น 42.09 บาทต่อลิตร เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ขณะที่ราคาของดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 41.85 บาทต่อลิตร

หลังจากปล่อยรถให้ทิ้งร้างเจ้าของบนลานจอดของคอนโดมิเนียมอยู่นาน เขาตัดสินใจขายรถยนต์และหันมาใช้ รถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งขาไปและขากลับจากที่ทำงานอย่างจริงจัง และอาศัยรถแท็กซี่ในการเดินทางไปยังสถานที่ที่ห่างไกลออกไปแทน สถานการณ์น้ำมันสร้างภาระให้กับผู้ใช้รถยนต์ ระบบการขนส่ง ระบบอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศก็จริง แต่กลับเป็นผลบวกกับอุตสาหกรรมคอนโดมิเนียม

โครงการคอนโดมิเนียมเกิดใหม่ในปีนี้มีแนวโน้มว่าจะมากกว่าปีที่ผ่านมา หากจำกัดเงื่อนไขของปัญหาภัยธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว ที่ไม่สามารถคำนวณหรือคาดการณ์ได้ และปัญหาทางการเมือง

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แทบทุกรายต่างสรุปว่า หากมองเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน เปรียบเทียบกับสองปีก่อนหน้าก็เชื่อได้ว่า การที่คนในสังคมกรุงเทพฯ กังวลเรื่องราคา น้ำมันมากขึ้นเท่าไรจะยิ่งทำให้พวกเขามองคอนโดมิเนียม เป็นแฟชั่นในการอยู่อาศัย ซึ่งทดแทนจากหลายปีก่อนหน้าที่ คนส่วนใหญ่มักจะเลือกซื้อรถยนต์ก่อนการซื้อบ้านมากยิ่งขึ้น

เมื่อย้อนกลับมามองในแง่ของพื้นที่ใช้สอยในกรุงเทพฯ แล้ว จะพบว่า ปัจจุบันที่ดินที่อยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอส ในระยะ 200 เมตรจากสถานีใกล้เคียง แทบจะไม่มีพื้นที่เกิน 3 ไร่ให้จับจองเป็นเจ้าของและก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมได้อีกต่อไปแล้ว

บริษัทอสังหาริมทรัพย์จึงเลือกที่จะหันมาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในระยะ 500 เมตรหรือมากกว่านั้นขึ้นมาทดแทน และพื้นที่เหล่านี้ยังมีจำนวนมหาศาลให้เลือกจับจองและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อขายได้อีกมาก เมื่อเดือนที่ผ่านมา ไรมอนด์ แลนด์ กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติ ซึ่งเข้ามาดำเนินกิจการคอนโดมิเนียมสำหรับ กลุ่มคนที่มีรายได้สูง หรือไฮ-เอนด์ ได้เปิดเผยงานวิจัยตลาดคอนโดมิเนียมย่านกรุงเทพฯ ชั้นใน และแหล่งที่พักตากอากาศในประเทศไทยที่ระบุไปในทางเดียวกันว่า

อาคารชุดที่พักอาศัยซึ่งเปิดจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี เหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วก็เข้าขั้นขายออกและขายดี โดย 63% ของจำนวนห้องหรือยูนิตทั้งหมดทุกโครงการที่เปิดตัวในกรุงเทพฯ ชั้นใน ช่วงปีที่ผ่านมา ขายภายในเดือนธันวาคม ของปีที่แล้ว และคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ก็ขายไปแล้วเกิน 80%

วสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เคยกล่าวเอาไว้ในงานเสวนาวิชาการรายเดือน ซึ่ง จัดขึ้นเพื่อให้กลุ่มนักลงทุนอาคารชุดและอพาร์ตเมนต์ตามแนวรถไฟฟ้า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า "ปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมมีวันนี้ และดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือสถานการณ์ราคา น้ำมันที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้จะทำให้ความ ต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองยังคงเดินหน้าต่อไป"

ต้นเดือนมิถุนายน "ผู้จัดการ" พบกับวสันต์อีกครั้ง ที่สำนักงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์บนถนนพระราม 3 สำนักงานของวสันต์อยู่ติดกับโครงการบ้านเดี่ยวที่มีมูลค่าต่อหลัง 30 ล้านบาท ซึ่งเขาชี้ให้เห็นว่า บ้านเดี่ยวก็ยังเป็นที่ต้องการของคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นความสำคัญของการเป็นเจ้าของพื้นที่ มากกว่าการถือสิทธิ์ของกระดาษที่บอกว่าเป็นเจ้าของห้องในตึกสูง

สำหรับสถานการณ์บ้านเดี่ยวในพื้นที่รอบนอกใจกลาง เมืองแล้วยังคงสดใสและมีแนวโน้มของราคาที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีการประกาศว่าจะมีการก่อสร้างของรถไฟฟ้าใต้ดินสายต่อเนื่องจากที่มีอยู่

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 เห็นชอบนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้พัฒนาระบบรถไฟชานเมือง ภายใต้ความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย โดยมีโครงการที่จะสร้างทางรถไฟสายสีแดงในระยะแรก 3 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรทั้งช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 15 กิโล เมตร ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก เชื่อมต่อจากสถานีหัวลำโพง เดิมระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร

และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ความรับผิดชอบของการรถไฟ และกรุงเทพมหานคร ระยะทางที่จะดำเนินการในระยะแรกประมาณ 77 กิโลเมตร ให้เกิดการเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายร่วมกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหลายเส้นทาง

วสันต์ให้ข้อสังเกตว่า สถานการณ์บ้านเดี่ยวมีราคาสูงขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเกิดขึ้น แต่สำหรับในเมืองชั้นในแล้ว สถานการณ์ของคอนโดมิเนียมยังสดใสกว่าบ้านเดี่ยว เนื่องจากภาวะของราคาน้ำมันนั่นเอง ในข้อมูลบางส่วนของวสันต์ซึ่งนำเสนอในวันงานเสวนาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ระบุสอดรับกับการเติบโตของคอนโดมิเนียมว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนเห็นมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดขึ้นจากคอนโดมิเนียม

ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นของคอนโดมิเนียมในแต่ละปีที่อาจจะเพิ่มสูงถึงเกือบ 20% ในบางทำเล อาทิ คอนโดมิเนียมใหม่ที่เกิดขึ้นบนถนนรัชดาภิเษกซื้อใหม่ 1 ปีเต็ม มีราคาส่วนต่างเพิ่มขึ้นถึง 9.1% ต่อปี กลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนซื้อคอนโดมิเนียมทั้งเพื่ออยู่อาศัย ปล่อยเช่า และเก็งกำไร ในบางกรณี แม้อัตราการเก็งกำไรในปัจจุบันจะอยู่ที่ 10,000 ยูนิตต่อปี ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ของการลงทุนเก็งกำไรในคอนโดมิเนียมในยุคสิบปีก่อนหน้าก็ตามที

เมื่อไม่นานมานี้ พยุงศักดิ์ได้รับการติดต่อจากนายหน้าประจำคอนโดมิเนียมเพื่อถามซื้อห้องของเขาในราคา 7 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เขาซื้อมาด้วยราคา 4.8 ล้านบาท และเพิ่งย้ายเข้าอยู่ได้เพียงปีเศษๆ เท่านั้น

ในเย็นวันหนึ่งของต้นเดือนมิถุนายนเมื่อ "ผู้จัดการ" ได้พบปะกับพยุงศักดิ์ เขาเปรยๆ เอาไว้ว่า

"ผมบอกเขาไปว่า หากให้ราคาห้องผม 8 ล้านเมื่อไร ค่อยมาคุยกัน"

ถึงเวลานี้ การเลือกคอนโดมิเนียมของคนรุ่นใหม่จึงไม่จำกัดแค่การหาที่พักอาศัยเท่านั้น แต่กลับหมายถึงการลงทุนไปกับอสังหาริมทรัพย์ในทำเลทองที่เขามองเห็นผลในอนาคตด้วย ถนนทุกสายดูเหมือนจะมุ่งหน้าไปยังคอนโดมิเนียม แม้สำนักวิจัยจะเคยระบุว่า เทรนด์ความชอบในเรื่องที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เปลี่ยนทุก 6 เดือน และผันแปรตามเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน และพื้นที่ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของคนหมู่มากได้

แต่แทนที่จะส่งผลกระทบกับการเกิดขึ้นของคอนโด มิเนียม แต่การเปลี่ยนแปลงเทรนด์ความชอบทั้งหมด กลับส่งผลในเชิงบวกกับอุตสาหกรรมคอนโดมิเนียมจนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางรายต้องหันหัวเรือจากการสร้างบ้านเดี่ยวขายมาเป็นการสร้างคอนโดมิเนียมขายมากขึ้น

หลายฝ่ายฟันธงร่วมกันว่าอุตสาหกรรมคอนโดมิเนียม ในกรุงเทพฯ ยังสดใสไปได้อีกนาน ตราบใดที่ยังเหลือพื้นที่ตาบอดให้จับจองเป็นเจ้าของกันอีกมาก และตราบใดที่ราคา น้ำมันยังพุ่งทะยานไร้ขีดจำกัด และเทรนด์ความชอบของคนรุ่นใหม่ที่ยังจับจ้องที่คอนโดมิเนียมมากกว่าบ้านเดี่ยวเช่นนี้

"บ้านยิ่งสูง คนยิ่งชอบ" จะไม่มีประโยคใดที่จะใช้เป็นบทสรุปได้ดีกว่านี้อีกแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.