สงครามพลังงานที่กำลังมาถึง


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ราคาน้ำมันอาจสูงถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และมันจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง

สหรัฐฯ ได้มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากราคาน้ำมันในสหรัฐฯ เข้าใกล้ 4 ดอลลาร์ต่อแกลลอนเข้าไปทุกที นิสัยฟุ่มเฟือยของคนอเมริกันเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะนี้พวกขาขับรถน้อยลงและหันไปใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น ทั้งยังซื้อรถแบบที่กินน้ำมันน้อยๆ และชอปปิ้งแบบกระจุยน้อยลง แม้กระทั่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอเมริกันซึ่งไม่เคยสั่นคลอนมาก่อนก็ลดน้อยลงด้วย ในฉับพลันทันที คนอเมริกันเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปราวกับไม่ใช่เป็น คนอเมริกัน และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจเปลี่ยนโลกทั้งโลก

จนถึงขณะนี้ราคาน้ำมันที่แพงลิ่วช็อกโลกเพิ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในหมู่ผู้บริโภคอเมริกันเท่านั้น ส่วนผู้บริโภคในยุโรป ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ยังคงได้รับการปกป้องจากค่าเงินยูโรที่แข็งแกร่ง ขณะที่ผู้บริโภคในเอเชียก็ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง เนื่องจากรัฐบาลยังคงอุดหนุนราคาน้ำมัน แต่หากราคาน้ำมันยังคงแพงขึ้นมากกว่านี้ จนทำนบเงินอุดหนุนแตก การปฏิวัติพลังงานที่กำลังเปลี่ยนแปลง อเมริกาอยู่ในขณะนี้ ก็จะขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานชี้ว่า การที่เราเคยสามารถฝ่าพ้นช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงถึง 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาได้ ด้วย มิได้เป็นหลักประกันใดๆ ว่า เราจะไม่ สามารถผ่านพ้นไปได้อีก เมื่อราคาน้ำมัน พุ่งถึงระดับ 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันที่สูงถึงระดับนั้นจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลกทั้งโลก เพียงเมื่อ 1 ปีก่อน ยังไม่เคยมีใครคาดคิดไปถึงว่า ราคาน้ำมัน อาจแพงขึ้นไปถึง 200 ดอลลาร์ ราคาน้ำมันแพงขึ้นมาตลอดตั้งแต่ 10 ดอลลาร์ในปี 1999 มาเป็น 95 ดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว โดยที่ไม่ได้ส่งผลกระทบให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงแต่อย่างใด สาเหตุก็เพราะตลาดเชื่อว่า ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการเติบโตที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ แล้วราคาน้ำมันกลับทะยานขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา จนล่าสุดเกือบแตะระดับ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนมิถุนายน ทำให้โลกเริ่มวิตกแล้วว่า ไม่เพียงแต่ความต้องการใช้น้ำมันในระยะยาวที่นำโดยจีนกับอินเดียจะยังคงพุ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่คุกคามปริมาณ น้ำมันที่ป้อนเข้าสู่ตลาดก็จะยังไม่หายไปง่ายๆ ซึ่งได้แก่ ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในการเมืองโลก การลงทุนที่ลดต่ำลง สภาพคอขวดในอุตสาหกรรมพลังงาน และการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่มีปริมาณน้ำมันสำรองลดลง ทำให้ขณะนี้ผู้คนต่างพากันวิตกว่า ราคา น้ำมันจะพุ่งสูงถึง 200 ดอลลาร์ และอาจจะเกิดวิกฤติน้ำมันแพงครั้งใหญ่เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 Goldman Sachs เตือนว่า เราอาจจะได้เห็นราคาน้ำมันที่ 200 ดอลลาร์ ภายในอีกเพียง 6-24 เดือนข้างหน้าเท่านั้น

แม้เมื่อราคาน้ำมันยังไม่ถึง 200 ดอลลาร์ในขณะนี้ ก็ได้สร้าง ความทุกข์ยากให้แก่คนทั่วไปแล้ว และยังคุกคามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสร้างความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังเป็นความหวังว่าจะช่วยลดเงินเฟ้อของโลก ด้วยการส่งออกสินค้าและบริการราคาถูก แต่ขณะนี้สิ่งที่จีนกับอินเดียกำลังจะส่งออกต่อไป อาจกลับกลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะหากนโยบายควบคุมราคาน้ำมันใน 2 ประเทศนั้นใช้การไม่ได้ผลอีก ชาวอเมริกันที่ชดเชยค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้วยการแห่ไปที่ห้างขายสินค้าราคาถูกอย่าง Wal-Mart เพื่อซื้อสินค้าราคาถูกจากจีนอาจต้องผิดหวัง หากราคาน้ำมันแตะระดับ 200 ดอลลาร์ในปีหน้า และยังต้องเตรียมตัวเดือดร้อนจากการที่รัฐบาลกำลังเตรียมจะเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมกับรถที่กินน้ำมัน

แน่นอนว่าความตระหนกที่เกิดจากราคาน้ำมันแพงจะบีบให้ประเทศต่างๆ ต้องเปลี่ยนไปใช้นโยบายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาและใช้เชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์ แต่การเปลี่ยน แปลงนโยบายไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ทันทีทันใดภายในอีก 6-24 เดือนข้างหน้า นักวิเคราะห์บางคนจึงคาดการณ์ไปในทางที่ไม่ดีนักว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการค้าระดับภูมิภาค หรือแม้กระทั่งเกิดการทวนกลับครั้งใหญ่ของกระแสโลกาภิวัตน์ เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่ง ที่พุ่งสูงขึ้น จะทำให้แพงเกินไปที่จะขนส่งสินค้าเป็นระยะทางไกล การถ่ายเทความมั่งคั่งจากประเทศผู้บริโภคน้ำมันไปสู่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน จะเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจของโลก ซึ่งรวมถึงการที่อำนาจของผู้ปกครองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างอิหร่าน เวเนซุเอลา และรัสเซีย จะเพิ่มมากขึ้น Morgan Stanley ชี้ว่า หากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้ปริมาณน้ำมันสำรองที่ค้นพบแล้ว ใน 6 ประเทศอ่าวเปอร์เซีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 95 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมีขนาด 2 เท่าของตลาดหุ้น นั่นจะยิ่งทำให้กองทุน Sovereign Wealth Funds ของบรรดาชาติผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของราชสำนัก มีอำนาจมากยิ่งขึ้นในการควบคุมตลาด หลายคนหวังว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดฝันจากน้ำมัน จะช่วยดึงให้ตะวันออก กลางเข้าสู่โลกแห่งความทันสมัย หากมีการ นำรายได้นั้นไปลงทุนอย่างฉลาด แต่นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัย UCLA ชี้ว่า โอกาสที่จะเกิดสงครามโลกในประเทศผู้ผลิตน้ำมันกำลังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนประเทศผู้ผลิตน้ำมันก็กำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างเช่นกัมพูชา ติมอร์ ตะวันออก และยังจะมีประเทศอื่นๆ ตามมาอีกมากหากราคาน้ำมันยังคงแพงขึ้นเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ผลิตน้ำมันหน้าใหม่เหล่านี้ล้วนเป็นประเทศเล็กๆ และขาดทักษะในการรับมือกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมักจะเป็นตัวที่ผลาญรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายน้ำมัน ให้หมดไปอย่างเปล่าประโยชน์

ไม่มีอุตสาหกรรมใดหรือผู้ใดจะรอดพ้น จากผลกระทบครั้งนี้ได้ เพราะบริษัทต้องเคลื่อนที่และทุกคนล้วนต้องการน้ำมัน หากน้ำมันมีราคาสูงถึง 200 ดอลลาร์ การล่มสลาย ของ Detroit หรือบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันมานานแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นจริง หรืออย่างน้อยก็ 1 ใน 3 ของ Big Three ราคาน้ำมันเครื่องบินที่พุ่งสูงลิ่วทำให้สายการบินอเมริกันต้องประกาศลด เที่ยวบิน และต้องปลดระวางเครื่องบินรุ่นเก่าจำนวนมากที่กินน้ำมัน Air France-KLM เตือนว่า ผลกำไรของตนอาจร่วงลง 1 ใน 3 ในปีนี้ และเตือนอีกว่า ราคาน้ำมันที่ 200 ดอลลาร์จะส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน มากเสียยิ่งกว่าเหตุการณ์ 9/11 และการระบาด ของโรค SARS ในปี 2003 เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเป็นมากกว่าการเปลี่ยนแปลง หากแต่จะนับเป็นการปฏิวัติและการเกิดขึ้นของ อุตสาหกรรมใหม่ โดยจะเกิดการล้มละลายอย่างมากและรวดเร็วของสายการบินทั้งในยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย จะมีการปรับโครงสร้างเครือข่ายลดเส้นทางและ ลดความสามารถของสายการบิน จะเกิด การรวมกิจการและการลดจำนวนสายการบินอย่างขนานใหญ่ ซึ่งอาจจะถึงกับ ทำให้สนามบินในเมืองเล็กๆ ทั่วสหรัฐฯ ต้องกลายเป็นสนามบินร้างไปเลย

ขณะนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ปี กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ชี้ว่า ราคาน้ำมัน 4 ดอลลาร์ต่อแกลลอนทำให้ชาว อเมริกันลดการขับรถลงและคาดว่า การใช้น้ำมันของชาวอเมริกันในปีนี้จะลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลขนาดไหน ก็คงไม่อาจกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค อเมริกันได้ Citibank ประเมินว่า แม้กระทั่งหากราคาน้ำมันจะยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้โดยไม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคาดว่า เงินภาษีคืนที่ชาวอเมริกันจะได้รับคืนจากรัฐบาลตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์นั้น ส่วนใหญ่ของเงินที่ได้รับคืนคงจะหมดไปกับการจ่ายค่าน้ำมันที่แพงขึ้น และเมื่อทั้งราคาน้ำมันและอาหารต่างก็แพงขึ้น ก็จะทำให้การใช้จ่ายในด้านอื่นทุกด้านลดลง จึงไม่แปลกที่ห้างขายของราคาถูกอย่าง Wal-Mart จะทำกำไรได้สูงสุด เป็นประวัติการณ์มาหลายไตรมาสแล้ว ในขณะที่ห้างที่จับตลาดระดับกลางกำลังเดือดร้อน

คาดว่ายุโรปจะเป็นรายต่อไปที่จะได้รับความเดือดร้อนหลังจากสหรัฐฯ เยอรมนีเริ่มลดการใช้ถนนเพื่อประหยัดเชื้อเพลิง ซึ่งแพงขึ้นจาก 0.92 ยูโรเป็น 1.53 ยูโรต่อลิตรนับตั้งแต่ปี 2000 เป็น ต้นมา หรือแพงขึ้น 66% นักวิเคราะห์ชี้ว่า ยิ่งชาวยุโรปหมดเงินไปกับค่าน้ำมัน มากเท่าไร ก็จะยิ่งลดการใช้จ่ายในการซื้อเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า และ อันที่จริง ยอดขายในสินค้าที่กล่าวมาข้างต้น ก็เริ่มลดลงแล้วจริงๆ นักเศรษฐศาสตร์ของ Citibank ชี้ว่า ผลกระทบจากน้ำมันแพงครั้งนี้มีค่าเท่ากับการที่บริษัทประสบภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และคาดว่าบริษัทจะล้มละลายมากขึ้น รวมทั้งจะมีการควบรวม กิจการเกิดขึ้นมาก และอาจจะเห็นบริษัทที่ร่ำรวยจากประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างเช่น Tata ของอินเดีย ไล่ฮุบบริษัทในประเทศตะวันตกที่ประสบปัญหาโดยซื้อได้ในราคาถูกๆ

การที่ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าเพิ่มขึ้น ไปถึง 40% ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือนที่ผ่าน มา ทำให้ยอดขายรถ SUV และปิกอัพลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ผลิตรถสหรัฐฯ ปรับตัวไม่ทัน แม้ว่าจะได้เริ่มเปลี่ยนมาผลิต รถขนาดเล็กตั้งแต่ก่อนหน้าที่น้ำมันจะขึ้นราคาก็ตาม และถ้าหากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไป ถึง 200 ดอลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ก็ชี้ว่า GM จะตกต่ำอย่างรวดเร็ว เพราะปรับตัวไม่ทัน ส่วน Ford เตือนว่า คงไม่สามารถกลับมามีกำไรได้ทันในปี 2009 และเชื่อว่าราคาน้ำมันที่แพงขึ้นครั้งนี้จะเป็นการแพงขึ้นอย่างถาวร Ford ลดการผลิตปิกอัพรุ่น F-series ซึ่งเคยเป็นรถที่ขาย ดีที่สุดในสหรัฐฯ มานาน 20 ปีไปแล้ว ส่วน Nissan เปิดตัวโรงงานใหม่มูลค่า 115 ล้าน ดอลลาร์นอกกรุงโตเกียว เพื่อออกแบบและ สร้างเซลล์เชื้อเพลิงที่ทำจาก lithium-ion เพื่อเป็นแหล่งพลังงานของรถรุ่นใหม่ที่จะใช้แบตเตอรี่ การตัดสินใจว่าเราจะเลือกขับรถอะไร หรือจะบินบ่อยแค่ไหน และจะเปลี่ยน โทรทัศน์เครื่องใหม่เมื่อใด เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง ที่จะเกิดกับเศรษฐกิจมหภาคเท่านั้น และยังไม่มีใครชี้ชัดถึงภัยคุกคามจากน้ำมันแพงที่จะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง Morgan Stanley ก็เพิ่งจะเริ่มวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเท่าใด หากราคาน้ำมันถึง 200 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจน แล้วว่า ราคาน้ำมันแพงกำลังเร่งให้เกิดภัยคุกคามจากเงินเฟ้อทั้งในประเทศร่ำรวยและยากจน โดยคาดว่าเงินเฟ้อใน สหรัฐฯ จะอยู่ที่ 5% ส่วนยุโรป 3% ใน ขณะที่เอเชียเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลัก เนื่องจากรายได้ถึง 50% ของคน เอเชียต้องหมดไปกับค่าอาหารและน้ำมัน

มีความวิตกกันว่าเมื่อราคาน้ำมัน แพงจะบีบให้ชาติเอเชียต้องลดหรือยกเลิก การอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียชะลอตัวลงอย่างรุนแรง และอาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบทางสังคมในประเทศ ยากจนได้ ผลกระทบทางการเมืองที่จะเกิดจากความไม่สงบในสังคม อย่างเช่นการเมินข้อตกลงการค้าเสรี รวมกับการที่ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น อาจก่อให้เกิดการทวนกลับของโลกาภิวัตน์ โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า หากราคาน้ำมันอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น จนเกิดการตีกลับของการเปิดเสรีการค้าที่ดำเนินมานาน 30 ปี โดยคาดว่า การค้าโลกจะจัดแถวใหม่ในระดับ ภูมิภาคแทน ดังนั้น แม้ญี่ปุ่นอาจจะยังคงนำเข้าสินค้าจากจีน แต่สหรัฐฯ คงจะ เปลี่ยนไปนำเข้าจากละตินอเมริกามากขึ้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1973-79 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำมันแพง โดยในช่วงนั้นสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากละตินอเมริกาและแคริบเบียนเพิ่มขึ้น 6% ในสหรัฐฯ

การหันกลับไปพึ่งพากันภายในภูมิภาคจะไม่ได้เกิดขึ้นกับการค้าเท่านั้น แต่จะเกิดศูนย์กลางการเงินและการบริการใหม่ๆ ขึ้นในภูมิภาคที่ร่ำรวยพลังงาน อย่างเช่น รัสเซีย ละตินอเมริกา และอ่าวเปอร์เซีย กองทุน Sovereign Wealth Funds จะยังคงไล่ซื้อ ธนาคารและบริษัท blue chip ของตะวันตก และลงทุนอย่างกว้างขวางมากขึ้นในประเทศใหม่ๆ และสกุลเงินใหม่ๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวของการแลกเปลี่ยนเงินตราแข็งแกร่งขึ้น รวม ทั้งยากจะคาดการณ์ได้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม กองทุนดังกล่าวได้จุดกระแสกีดกันการค้าขึ้น อย่างเช่นการที่สหรัฐฯ เริ่มเข้มงวดกับการตรวจสอบนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าลงทุนในบริษัทอเมริกันมากขึ้น ส่วนความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่อย่างตะวันออกกลางและ แอฟริกาก็จะเลวร้ายลงอีก McKinsey ทำนายว่า เมื่อรัสเซียและเวเนซุเอลามีอำนาจเพิ่มขึ้น เราจะได้เห็นการแย่งชิงพลังงาน พฤติกรรม ที่ก้าวร้าว และพฤติกรรมแบบเจ้าอาณานิคมใหม่เพิ่มขึ้น และเมื่ออิหร่านร่ำรวยขึ้น กลุ่มฮิซบอลลาห์ซึ่งอิหร่านหนุนหลังก็จะแข็งแกร่งขึ้นตาม จีนจะมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในแอฟริกา และแนวความคิดของตะวันตกในการเสริมสร้างสังคมที่เคารพสิทธิของพลเรือน สิ่งแวดล้อมและสิทธิสตรีอาจถูกแทนที่ด้วยค่านิยมชุดใหม่

การนองเลือดอาจจะเพิ่มมากขึ้น เพราะความร่ำรวยจากน้ำมัน จะกลับกลายเป็นการทำลายเศรษฐกิจและการเมืองของชาตินั้นๆ เอง เนื่องจากไม่มีการส่งเสริมความหลากหลาย และยังซ้ำเติมความทุกข์ทรมานของชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ยังทำให้การให้ทุนสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบทำได้ง่ายขึ้น สงครามกลางเมืองทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มีถึง 1 ใน 3 ที่เกิดขึ้นในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มจากเพียง 1 ใน 5 ในปี 1992 นี่คือวงจรอุบาทว์ที่เกิดกับประเทศอย่างอิรักและไนจีเรีย กล่าวคือ ความขัดแย้งทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากน้ำมันแพง ก็ยิ่งช่วยกระพือความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้น

การจะแก้ไขความขัดแย้งในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ก็ไม่อาจจะใช้การลงโทษทางการค้าได้ เพราะจะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำมันที่ป้อน เข้าสู่ตลาดโลกลดลง นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันที่ป้อนเข้าสู่ตลาดยังอาจลดลงได้ เนื่องจากการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ประเทศผลิตน้ำมันอย่างรัสเซียและเวเนซุเอลาจ้องจะยึดกิจการน้ำมันของเอกชนเป็นของรัฐ ซึ่งการทำเช่นนั้นมักจะนำไปสู่การผลิตน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจน้ำมันในชาติเหล่านั้น ขณะเดียวกัน แหล่งน้ำมันในพื้นที่ที่มีความสงบอย่างเช่น อลาสกาและ ทะเลเหนือก็กำลังหมดลง บริษัทน้ำมันจึงต้องออกเสาะแสวงหาแหล่งน้ำมันใหม่ที่อยู่ในเขตที่มีความขัดแย้ง เช่น ไนจีเรียและแองโกลา หรือในพื้นที่ที่มีภูมิประเทศทุรกันดารอย่างไซบีเรียหรือใต้ทะเลลึก

แม้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายอย่างได้ถูกพัฒนาขึ้นและดูมีหวังมากขึ้นว่าจะมาแทนที่น้ำมันได้ แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดเลยที่จะสามารถช่วยโลกได้ในเร็ววัน แม้ว่าจะมีการผลิตเอทานอลได้มากถึง 5 พันล้านแกลลอนในปีที่แล้ว แต่นั่นยังเป็นเพียงน้อยนิด เพราะเป็นปริมาณที่เทียบเท่ากับปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ จากแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกเพียงแห่งเดียว

ถ้าเช่นนั้น สิ่งที่เราควรทำในขณะนี้คืออะไร ผู้กำหนดนโยบายอาจต้องหยุดกดดัน บริษัทน้ำมันเกี่ยวกับการที่น้ำมันมีราคาแพง เพราะบริษัทน้ำมันควบคุมเพียงแหล่งน้ำมันสำรองที่ค้นพบแล้วเท่านั้น ซึ่งมีสัดส่วนเพียงน้อยนิด อำนาจในการควบคุมราคาน้ำมันจึงไม่ได้อยู่ในมือของพวกเขา นอกจากนี้ควรจะสนับสนุนความคิดริเริ่มในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดอย่างฉลาด เช่นควรใช้พลังงาน ลมและแสงอาทิตย์มากกว่าเอทานอล และหยุดเอาใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงด้วยการอุดหนุนราคาน้ำมันและลดภาษีน้ำมัน เพราะจะทำให้ ละเลยความจริงที่ว่า น้ำมันเป็นทรัพยากรที่มีวันหมด และมีแต่คนต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นทุกวัน นิสัยการใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือยจะต้องเปลี่ยนแปลงไป และต้องหันมาอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น มีการประเมินกันว่า โลกจะสามารถประหยัดน้ำมันได้ 25% ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น ขับรถด้วยความเร็วตามที่กำหนด ปิดไฟ และใช้เทคโนโลยีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้ว เช่น รถลูกผสมที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า การใช้ฉนวนที่มีคุณภาพดีกว่า และแม้ว่าจะไม่ใช่วิสัยของชาติร่ำรวยโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่จะประหยัดน้ำมัน แต่เมื่อราคาน้ำมันยังคงแพงขึ้นเรื่อยๆ และเราก็เคยประหยัดน้ำมันกันมาแล้วในทศวรรษ 1970 ขณะนี้เราจึงเพียง แต่กำลังจะต้องทำอย่างเดิมอีกครั้ง และถ้าเรา โชคดี การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะกลายเป็น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและถาวร ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปถึง 200 ดอลลาร์

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 9 มิถุนายน 2551


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.