กดดันลดค่าการกลั่น1บ.-ค้านลอยตัวแอลพีจี


ผู้จัดการรายวัน(3 กรกฎาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

วงสัมมนากรรมาธิการศก. พาณิชย์และอุตสาหกรรมสุมหัวจวกนโยบายพลังงานค้านลอยตัวแอลพีจีอ้างก๊าซธรรมชาติผลิตเองในอ่าวไทยแต่ดันอิงตลาดโลก แถมกดดันให้โรงกลั่นลดค่าการกลั่นอีก 1 บาทต่อลิตรเพื่อความเป็นธรรม ด้านโรงกลั่นน้ำมันอัดกลับก๊าซแอลพีจีไทยถูกกำหนดแค่ 330 เหรียญต่อตันแต่นำเข้าพุ่งแล้ว 950 เหรียญต่อตันแถมผลิตจากโรงกลั่น 50% ที่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบอิงตลาดโลกชี้หากคงราคาไว้จนนำเข้าไม่ไหวสุดท้ายขาดแคลนถาวร ส่วนค่าการกลั่นไม่อิงสิงคโปร์ย้อนถามว่าอิงราคาใคร ถ้าให้ราคาต่ำหนีส่งออกหมดก็ให้รัฐยึดโรงกลั่นไป

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวในการสัมมนา “วิกฤติราคาน้ำมันโลก อุตสาหกรรมการผลิตของไทยจะอยู่รอดอย่างไร” จัดโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา วานนี้(1ก.ค.) ว่า ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีของรัฐบาล เนื่องจากก๊าซธรรมชาติสามารถผลิตได้เองจากอ่าวไทย และค่าสัมปทานถูกมาก หลังจากต่อสัญญาสัมปทานให้เชฟรอนในระยะ 10 ปี ในราคาเพียง 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีแต่กลับไปอิงตลาดโลก นอกจากนี้ราคาน้ำมันการอิงราคาตลาดสิงคโปร์ยังไม่เป็นธรรมและโรงกลั่นน่าจะลดค่าการกลั่นลงได้ 1 บาทต่อลิตร เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการและส่วนต่าง ๆ ได้

“ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องอิงแอลพีจีราคาตลาดโลกมองว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะ ปตท.มักจะอ้างว่า มีรายได้หลักจากธุรกิจก๊าซเพื่อไปหักกลบลบหนี้กับธุรกิจน้ำมันที่ขาดทุน จากการชดเชยน้ำมันให้ส่วนต่าง ๆ “น.ส.รสนากล่าว

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยได้ทยอยปรับขึ้นตามตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการลดปัญหาทุกส่วน ควรปรับปรุงค่าการกลั่นที่เห็นว่าสูงเกินไปโดยตัวเลขสิ้นเดือน มิ.ย. 2551 อยู่ที่ 1.80 บาทต่อลิตร หรือประมาณ 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าอดีต

โต้มั่วราคาก๊าซหุงต้มไม่ได้อิงตลาดโลก

แหล่งข่าวจากกลุ่มโรงกลั่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีที่ระบุว่าก๊าซในอ่าวไทยผลิตเองแต่กลับไปใช้ราคาก๊าซแอลพีจีอิงตลาดโลกนั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือนความจริงเพราะราคาก๊าซหุงต้มปัจจุบันของไทยรัฐกำหนดราคาอิงตลาดโลกเพียง 5% โดยกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นเพียง 330 เหรียญสหรัฐต่อตันแต่ราคาตลาดโลกล่าสุดอยู่ที่ 950 เหรียญต่อตันจากการนำเข้าปตท.ล่าสุดทำให้โรงกลั่นทั้งหมดต้องแบกรับภาระโดยรัฐไม่ได้เข้ามาอุดหนุนดูแลแม้แต่น้อย และข้อเท็จจริงการผลิตก๊าซหุงต้มอีก 50% มาจากโรงกลั่นที่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบที่อิงราคาตลาดโลก

“รัฐก็ไม่ได้มีนโยบายอิงราคาโลก 100% แต่จะปรับราคาให้สะท้อนความจริงที่จะค่อยๆ ทยอยอิงราคาโลกเพียง 40% ในช่วงปี 2552 และเวลานี้ผลิตไม่พอต้องเริ่มนำเข้าถามว่าหากกำหนดราคาไว้เช่นเดิมต่อไปคนใช้มากๆ แล้วนำเข้าแบกภาระไม่ไหวก๊าซจะขาดถาวรรัฐจะทำไง และกรณีค่าการกลั่นถ้าไม่อิงสิงคโปร์ที่เป็นตลาดโลกใหญ่สุดที่ทุกประเทศก็อิงกันแล้วอิงราคาใคร หากกำหนดให้ต่ำโรงกลั่นหนีส่งออกหมดแล้วรัฐห้ามส่งออกอีกก็ยึดโรงกลั่นแบบเวเนซูเอล่าไปเลย”แหล่งข่าวกล่าว

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านน้ำมัน กล่าวว่า กรณีการลดค่าการกลั่นนั้นควรพิจารณาค่าการกลั่นระยะยาวไม่ใช่ดูเฉพาะช่วงหรือปีเพราะธุรกิจการกลั่นลงทุนสูงกว่าจะคุ้มทุนใช้เวลานับสิบปีโดยช่วงปี 2540-2546 ขาดทุนอย่างหนักแต่พอมีค่าการกลั่นดีขึ้นรัฐระบุว่าสูงเกินไปหากโรงกลั่นอนาคตขาดทุนรัฐจะไปช่วยโรงกลั่นในจุดนี้หรือไม่ และกรณีที่ต้องอิงสิงคโปร์เพราะเป็นราคาซื้อขายจริงและใกล้ที่สุดของไทยและเป็นตลาดใหญ่อ้างอิงได้ว่าไม่ได้แพงกว่าหรือถูกกว่าใคร หากรัฐกำหนดให้ต่ำต่อไปโรงกลั่นก็จะหันส่งออกหมด และถ้ารัฐจะแก้ปัญหาด้วยการห้ามส่งออกก็ต้องถามว่าแล้วน้ำมันดิบที่นำเข้ามาอิงตลาดโลกหากขาดทุนต่อไปจะกลั่นไปเพื่ออะไร

จี้รัฐชัดเจนหวั่นNGVซ้ำรอยแอลพีจี

นายชัชวาล จากุมศรี กลุ่มแท็กซี่สายเหนือ(หมอชิต) กล่าวว่า ปัญหาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีขาดตลาดเริ่มคลี่คลายสู่ปกติแล้ว อย่างไรก็ตามกรณีที่รัฐได้ขอให้แท็กซี่หันไปติดตั้ง NGV แทนภายในสิ้นปีนี้นั้นทางผู้ขับขี่ยืนยันว่าหากไม่มีการรอคิวเติมเชื่อว่าคนจะแห่ไปติดตั้งแน่นอนเพราะดูจากน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตามต้องการให้รัฐบาลกำหนดแผนให้ชัดเจนว่าราคา NGV ในอนาคตแต่ละปีจะขึ้นเท่าใดและแอลพีจีจะขึ้นอย่างไรวางเป็นกรอบไปเลยไม่เช่นนั้นก็จะยังคงไม่สามารถลดการใช้แอลพีจีลงได้

“เราก็กังวลนะถ้ารัฐส่งเสริมให้หันไปติด NGV กันมากๆ แล้วต้องมองด้วยว่าอุปกรณ์ ถัง ต่อไปจะพอไหมราคาจะแพงมากไหม แล้วสำคัญต้องรอคิวเติมนานมากปัญหาก็จะตามมาอีกไม่ต่างจากแอลพีจีที่คนแห่ไปเติมแล้วก๊าซก็ขาด”นายชัชวาลกล่าว

35อู่ติดตั้งNGVไม่ทัน

รายงานข่าวจากอู่ติดตั้งก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV แจ้งว่า หลังจากราคาน้ำมันแพงและรัฐบาลส่งสัญญาณขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคขนส่งและอุตสาหกรรมเว้นรถแท็กซี่ทำให้ยอดจองติดตั้งอุปกรณ์ใช้ NGV ในรถยนต์ทุกประเภทเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยขณะนี้มีการติดตั้งวันละกว่า 300 คันขณะที่อู่ที่มีมาตรฐานติดตั้งมีเพียง 35 แห่งเท่านั้นทำให้ต้องรอคิวยาวในแต่ละอู่ ขณะที่ถังขนาด 60 ลิตรที่ใช้ติดตั้งในรถตู้ล่าสุดขาดตลาดชั่วคราวซึ่งขณะนี้ปตท.กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมความต้องการก่อนนำเข้ามาล็อตใหม่เร็วๆ นี้ ประกอบกับส่วนหนึ่งอู่ไม่สามารถเร่งการติดตั้งได้เพราะขาดช่างฝีมือ

นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์บมจ.ปตท.กล่าวยอมรับว่า ไม่คาดคิดว่าจะมีการติดตั้ง NGV มากขนาดนี้โดยล่าสุดมีรถติดตั้งแล้ว 8.4 หมื่นคัน เฉลี่ยมีการติดตั้ง NGV วันละ 300 คันจากเดิมที่ผ่านมามีเฉลี่ยไม่ถึง 100 คันต่อวันทำให้อู่ติดตั้งไม่ทันก็อาจจะมีปัญหาบ้างเพราะการเพิ่มอู่นั้นเป็นเรื่องเอกชนต้องลงทุนปตท.ไม่สามารถไปเพิ่มได้

“ก.ค.นี้เราเพิ่มปั๊มเป็นกว่า 250 แห่งปริมาณก๊าซเพิ่มจาก 1,000 ตันต่อวันเป็น 1,800 ตันต่อวันก็จะมีการรองรับความต้องการได้ดีมากแต่การรอคิวยอมรับว่าอาจจะต้องรออยู่บ้าง 5-10 นาทีเป็นอย่างเร็วซึ่งเราพยายามแก้ปัญหานี้อยู่สิ้นปีนี้ทุกอย่างจะดีขึ้นมาก ส่วนNGV จะซ้ำรอยแอลพีจีนั้นเรื่องขาดแคลนไม่มีแน่เราไม่ต้องนำเข้า”นายณัฐชาติกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.