|

ตลาดหุ้นไทยร่วง 8 จุดเซ่นพิษเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
ผู้จัดการรายวัน(3 กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
นักลงทุนต่างชาติแห่ทิ้งหุ้นไทยอีกเกือบ 2.2 พันล้านบาท ฉุดตลาดหุ้นไทยดิ่งเหวหลุดแนวรับสำคัญ ก่อนปิดที่ 760.01 จุด ลดลง 8.58 จุด หลังกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ มิ.ย. อยู่ที่ 8.9% สูงสุดในรอบ 10 ปี บล.ยูโอบีฯ ประเมินปัจจัยลบคงอยู่เพียบ ดัชนีมีโอกาสปรับตัวลดลงได้อีกถึง 30 จุด พร้อมเตรียมปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียนเหลือ 15% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้สูงกว่า 20% แนะขายทำไรหากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือรอซื้อกลางเดือนนี้
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย (2 ก.ค.) ดัชนีปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขายในช่วงเช้าตามทิศทางของตลาดหุ้นภูมิภาค และมีมูลค่าการซื้อขายเข้ามาไม่นากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างวิตกกังวลการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายน 2551 ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ปรับตัวขึ้นในระดับสูงถึง 8.9% และเป็นการทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นแรงกดดันให้นักลงทุนทยอยขายหุ้นออกมา
โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยระหว่างวันปรับตัวขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 767.73 จุด ต่ำสุดที่ 755.58 จุด และปิดการซื้อขายที่ 760.01 จุด ลดลงจากวันก่อน 8.58 จุด หรือลดลง 1.12% มูลค่าการซื้อขาย 12,871.03 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนต่างชาติยังคงขายอย่างต่อเนื่อง คือ มียอดขายสุทธิสูงถึง 2,182.67 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 224.20 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2,406.88 ล้านบาท
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง เพราะนักลงทุนมีความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 8.9% ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2/51 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจากการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรบตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3/51 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยบล.ยูโอบี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10-11% แต่จะเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนเป็นต้นไป
นอกจากนี้ ปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย คือ การประกาศผลการดำเนินงานของกลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศในช่วงกลางเดือนนี้คงออกมาไม่ดีนัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อีก 20-30 จุด หรืออยู่ที่ระดับ 730 จุดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้
ส่วนกรณีที่มูลค่าการซื้อขายลดลงวานนี้ เกิดจากนักลงทุนชะลอการลงทุน หลังจากความกังวลในเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่ใช้พลังงานในการเป็นดำเนินการผลิตสินค้า แม้ว่าจะส่งผลดีกับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP
"บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ น่าจะมีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนปีนี้ลดลง หลังจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยบล.ยูโอบีฯ คาดว่าจะปรับลดลงเหลือประมาณ 15% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้กว่า 20% ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อกำไรบจ.ในช่วงไตรมาส 3/51 นี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเป็นต้นทุนการดำเนินงาน และหุ้นกลุ่มแบงก์จากที่ดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งให้ยอดหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL )เพิ่มขึ้น"
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะยังคงปรับตัวลดลงต่อ เนื่องจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดหุ้นในภูมิภาค บวกกับราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนและทรงตัวในระดับที่สูง ทำให้ดัชนีในช่วง 1-2 วันนี้ปรับตัวลดลง โดยในระยะสั้นหากดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นให้มีการขายหุ้นออกมาและเรื่องสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ยังไม่ชัดเจน มีโอกาสปรับตัวลดลงอีก 20 จุด โดยนักลงทุนควรที่จะรอซื้อคืนในช่วงกลางเดือนนี้ โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 751-753 จุด แนวต้านที่ระดับ 765-767 จุด
ลุ้นจุดต่ำสุดเดิมที่ 737 จุด
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวลดลงทำสถิตต่ำสุดครั้งใหม่ จากความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ หลังราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวสูงต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงที่จุดต่ำสุดเดิมที่ 737 จุด หากไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นการลงทุน
ทั้งนี้ นักลงทุนจะมีการชะลอการลงทุนรอปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นการลงทุนและรอให้ดัชนีมีการปรับตัวฐานไปก่อนและให้สามารถทรงตัวอยู่ได้ที่จุดนิวโลวได้ จากการที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นนั้น ทำให้มีหลายฝ่ายคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย และไม่น่าขึ้นดอกเบี้ย แต่ทางบล.เคทีบีคาดว่าจะมีการขึ้นตามต่างประเทศที่แนวโน้มดอกเบี้ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 737 จุด แนวต้านที่ระดับ 767-770 จุด
นักลงทุนแห่ขายลดความเสี่ยง
นายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งมีผลทำให้นักลงทุนมีการขายหุ้นออกมาเพื่อชดเชยและลดความเสี่ยงจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง และจากการที่ไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องปัจจัยทางการเมืองและนักลงทุนต่างประเทศยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่ำกว่า 770 จุด โดยบริษัทประเมินแนวรับที่ระดับ 750 แนวต้านที่ระดับ 770 จุด
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|