เป็นเวลากว่าปีครึ่งที่บริษัทกรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซีพี
(เจริญโภคภัณฑ์) ซุ่มเงียบกับการทดลองเลี้ยงจรเข้ที่ฟาร์มนครหลวง จังหวัดชลบุรี
ณ ฟาร์มแห่งนี้เลี้ยงไก่ไข่นับแสน ๆ ตัวและในฤดูร้อนเฉกเช่นในเดือนมีนาคมและเมษายนเหล่านี้
ไก่จำนวนหนึ่งจะล้มตายมากซากของสัตว์ปีกเหล่านี้จะกลายเป็นอาหารอันโอชะของเหล่าจระเข้นับพันตัวที่ซีพีเลี้ยงไว้
สัญชัย ชวนชัยรัตน์ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านไก่ไข่และไก่กระทง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ได้เล่าให้ฟังถึงโครงการทดลองเลี้ยงจระเข้ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงการศึกษาข้อมูลด้านวงจรชีวิตของจระเข้
เพราะเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีชีวิตรอดมาได้จากยุคไดโนเสาร์ และเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ทั้งเนื้อหนังและเลือดโดยเนื้อนั้นสามารถส่งออกตลาดฮ่องกงได้
หนังก็นำไปทำรองเท้า กระเป๋าราคาแพงและเลือดก็อยู่ระหว่างวิจัยที่สามารถนำเอาตากแห้ง
และนำสารไปใช้ประกอบในการทำยายับยั้งการลุกลามเติบโตของมะเร็งร้ายได้
"เราเน้นทำการเลี้ยงจระเข้ให้เป็นแบบกึ่งเกษตรอุตสาหกรรม เพราะอวัยวะทุกส่วนผลิตได้
100 ก็สามารถขายได้เต็มร้อย ระหว่างนี้อยู่ในขั้นทดลอง ขณะนี้เรามีจระเข้ในโครงการกว่า
1,000 ตัวและกระจายอยู่ในทุกช่วงอายุของมัน เราซื้อมาตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนทีละหลายร้อยตัวซึ่งราคาตามท้องตลาดจะตกประมาณนิ้วละ
150-200 บาท"
ปัจจุบันที่ฟาร์มนครหลวงจะจัดจระเข้พันธุ์น้ำจืดและน้ำเค็มขนาดความยาวต่าง
ๆ ไว้เป็นบ่อ ๆ ประมาณ 10 บ่อบนเนื้อที่ว่างเปล่าของฟาร์มไก่ไข่ประมาณ 10
ไร่ และคอยดูแลความสะอาดของน้ำในบ่อรวมทั้งให้อาหารเป็นซากไก่ที่นำไปเผาแล้วโยนให้กินวันละมื้อโดยเจ้าหน้าที่ฟาร์ม
2-3 คนที่ชำนาญและคุ้นเคยกับจระเข้นอกจากนี้ยังมีบ่ออนุบาลสำหรับเลี้ยงลูกจระเข้
(ลักษณะคล้ายตุ๊กแก) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศอีกจำนวนนับพันตัว
เพื่อศึกษาวงจรชีวิตที่จะนำไปสู่การเลี้ยงจระเข้ที่ประสบความสำเร็จและนำรายได้มหาศาลเข้าสู่บริษัทอีกด้วย
"โครงการนี้เราลงทุนไปขั้นต่ำไม่กี่ล้านบาทเพราะมีที่ดินอยู่แล้ว เพียงแต่สร้างบ่อเลี้ยงและเราซื้อตัวอ่อนมาจำนวนมากโดยมีพ่อพันธุ์แม่พันฑุ์ประมาณแค่
300 ตัวเท่านั้น ซึ่งขณะนี้เรากำลังศึกษาการเติบโตทุกขั้นตอนของมันในภาวะกินอยู่และอากาศ
น้ำที่มันปรับตัวโตอย่างช้า ๆ กว่าจะได้ผสมพันธ์ก็คงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-7
ปี" ประสิทธิ์ รุ่งโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตไก่ไข่และไก่กระทงบริษัทกรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร
ซึ่งดูแลฟาร์มนี้เล่าถึงความรู้สึกให้ฟังว่า "ผมคิดว่าเป็นงานใหม่ที่ท้าทายดีสำหรับโครงการเลี้ยงจระเข้นี้
แต่ขณะนี้เรายังศึกษาอยู่ ยังเปิดเผยอะไรไม่ได้"
ความนิยมเลี้ยงจระเข้ได้ระบาดไปทั่วในปีที่แล้วบรรดาเจ้าของฟาร์มใหญ่น้อยเริ่มเสาะหาลูกจระเข้มาเลี้ยงนับร้อยนับพันตัว
เมื่อความต้องการมีสูง ซัพพลายก็ขาดแคลนลงและราคาจระเข้ได้แพงขึ้นตามไปด้วย
โดยราคาซื้อขายวัดกันเป็นนิ้ว ปัจจุบันราคาลูกจระเข้ขนาดหนึ่งฟูตจะซื้อขายกันตัวละประมาณ
6,000 บาทแหล่งซัพพลายที่ใหญ่ ๆ มักจะมาจากภาคกลาง เช่น พิจิตร นครสวรรค์
ชัยนาท และสมุทรปราการ
และที่สมุทรปราการนี้มีฟาร์มเลี้ยงจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยถึง 30,000
ตัวชื่อบริษัทฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ โดยเฉลี่ยจระเข้ตัวหนึ่งจะราคาตกประมาณ
6,0000 บาทต่อความยาวเมตรครึ่ง เล่ากันว่าถ้าเอาจำนวนจระเข้ 3 หมื่นตัวคูณด้วยราคาเฉลี่ยตัวละ
6 หมื่นบาทเจ้าของกิจการฟาร์มแห่งนี้จะมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าถึง 180 ล้านบาท
โดยมีรายได้จากการส่งออกหนังจระเข้พันธ์พื้นเมือง (SAIMENSIS) ไปยังประเทศญี่ปุ่น
ปีหนึ่ง ๆ มูลค่านับล้าน ๆ บาทนับว่ากิจการฟาร์มจระเข้ไปได้ดีและในปีนี้จะลงทุนขยายเพิ่มอีกแห่งที่แปดริ้วนี่เอง
เมื่อเห็นอนาคตของการเพาะเลี้ยงจระเข้ที่มีตลาดต่างประเทศรองรับเช่นนี้ก็ทำให้เจ้าของฟาร์มจระเข้อย่างศรีราชาฟาร์ม
ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสุกรรายใหญ่ของไทยก็เริ่มหันมาลงทุนเพาะเลี้ยงจระเข้ควบคู่ไปกับการเลี้ยงหมูด้วย
ขณะที่ซีพีเองก็ลงทุนด้านนี้เช่นกัน แต่ผูเพาะเลี้ยงเหล่านี้จะส่งออกเนื้อหนังจระเข้ได้ต้องได้รับใบรับรองจากเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธ์
(CITES) ซึ่งจะใช้เวลานานถึง 10 ปีเพื่อตรวจสอบการเพาะเลี้ยงที่ทำให้อัตราการรอดของจระเข้รุ่นลูกรุ่นหลานมีมาก
จึงจะให้อนุมัติใบรับรองนี้ได้
อีกนานนับ 6-7 ปี กว่าจะได้ผลิตผลจากจระเข้ตัวหนึ่ง ๆ ที่ต้องลงทุนนับแสนเพื่อตักตวงผลกำไรจากมันเต็มที่นับว่าเป็นการลงทุนที่ต้องอดทนรอคอยกันนานเกือบสิบปีทีเดียว
แต่การทดลองเพาะเลี้ยงของซีพีน่าจะบ่งบอกถึงอนาคตของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงจระเข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเมื่อนั้นคงได้เห็น
INTEGRATION CONCEPT การเลี้ยงจระเข้ครบวงจรได้อีกแขนงหนึ่งตามปรัชญาการทำธุรกิจแบบซีพี