|
โกร่งชี้ค่าบาทแตะ35เงินเฟ้อพุ่งเกิน10%
ผู้จัดการรายวัน(3 กรกฎาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"วีรพงษ์ รามางกูร" ว่าที่รองนายกฯ ชี้อัตราเงินเฟ้อครึ่งปีหลังเกิน 10% ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า คนไทยได้เห็นดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะมีความต้องการเงินไปหมุนเวียน ส่วนเงินออมลดลงจากการนำไปใช้ซื้อสินค้าหรือลงทุน กระทุ้งแบงก์ชาติดูแลดอกเบี้ย ระบุขณะนี้เศรษฐกิจเหมือนลูกโป่งแฟบ คาดสิ้นปีบาทอ่อนค่าที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" มั่นใจครบ 11 ปี ลอยค่าบาท เศรษฐกิจไทยไม่ซ้ำรอยวิกฤติปี 40
นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อว่า แนวโน้มตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี มีโอกาสที่จะสูงเกิน 10% ส่วนปี 52 เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงอยู่เกินระดับ 10% ขึ้นไปเช่นกัน สาเหตุมาจากราคาสินค้าต่างๆ ได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นขาขึ้นมาตลอดในปี 51
"ต่อไปนี้ตัวเลขเงินเฟ้อจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้น และคงจะอยู่ที่ระดับ 2 หลักในปีหน้า ส่วนปีนี้อาจจะแตะ 10 หรือ 10% กว่า แต่ปีหน้าจะขึ้นต่อ เพราะคาดว่าราคาน้ำมันแม้จะไม่ขึ้นต่อ หากอยู่ที่ 120-150 เหรียญ/บาร์เรล แต่ต้นทุนการผลิตต่างๆ จะทยอยขึ้นราคาเมื่อสต๊อกสินค้าเก่าหมด" นายวีรพงษ์กล่าวและ มองว่าผลที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทยภายใต้ภาวะเงินเฟ้อสูงในระดับ 10% นั้น สิ่งแรกที่จะเห็นคืออัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะความต้องการสินเชื่อจะมีเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน ขณะที่เงินออมในระบบจะเริ่มน้อยลงเพราะต้องมีการนำเงินไปใช้ซื้อสินค้าหรือลงทุนในมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ภาคการส่งออกจะชะลอตัวลง อันเนื่องจากสินค้าของไทยมีราคาแพงขึ้นตามการปรับเพิ่มของต้นทุน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะในหมวดพลังงานจะสูงขึ้น ตัวเลขดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นขาดดุล ด้านการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนจะชะลอตัวลง เพราะความต้องการสินค้าและบริการจะเริ่มลดลง ส่งผลไปถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะปรับลดลงด้วยเช่นกัน ส่งผลต่อเงินบาทให้มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงไปเรื่อย โดยเชื่อว่าสิ้นปีนี้อาจจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์ โดยระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ราคาสินค้าเกษตรจะตกต่ำ เพราะเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก การบริโภคแม้จะเป็นอาหารก็คงลดน้อยลง
"อาการอย่างนี้คงเกิดขึ้นแน่ๆ ตอนนี้ก็เริ่มแล้ว เงินเฟ้อเริ่มขึ้น ดอกเบี้ยเริ่มขยับไปอีก 1-2 ปี เงินฝากน้อยลง ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น จะเกิดภาวะเงินตึง และถ้าดำเนินนโยบายการเงินไม่ถูกต้องก็จบเห่ บริษัทห้างร้านจะขาดเงินสดหมุนเวียน ก็จะต้องขาดทุน ล้มละลายกันถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย ยกเว้นประเทศที่ส่งออกน้ำมัน ครึ่งหนึ่งของโลกจะแย่ อีกครึ่งหนึ่งจะรวย"
นายวีรพงษ์ เห็นว่าการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพยายามทำหน้าที่เพื่อให้ทุกอย่างมีเสถียรภาพไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย สภาพคล่องในระบบการเงิน ขณะที่กระทรวงการคลังต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องมีงบประมาณขาดดุล ด้วยวิธีเพิ่มการลงทุน หรือลดภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
"เงินเฟ้อสูงเป็นภาวะที่เกิดจากจาคาน้ำมัน เป็น cost push ไม่ใช่ demand pull ผลก็จะทำให้เงินตึงตัว ดอกเบี้ยแพง หน้าที่สำคัญตอนนี้คือ แบงก์ชาติต้องทำตัว stabilizer คือ ดอกเบี้ยจะขึ้นก็ต้องดึงไว้อย่าให้ขึ้นเร็ว เงินจะตึงก็ต้องปั๊มเงินออกมาอย่าให้มันตึง ต้องทำให้มีเงินเพียงพอ แต่เท่าที่ดูทัศนคติของผู้ว่าการ หรือรองผู้ว่าการฯ แล้ว ไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ เพราะยังเข้าใจว่าดอกเบี้ยจะเป็นตัวปราบเงินเฟ้อ แต่จริงๆ มันเป็นผลของเงินเฟ้อ" นายวีรพงษ์ ระบุ
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เชื่อว่าคงไม่กลับไปในยุคของฟองสบู่แตก แต่อาจภาวะเศรษฐกิจที่ซึมลงคล้ายลักษณะของลูกโป่งรั่วและแฟบลงมากกว่า "เที่ยวนี้ยังไม่ถึงขั้นฟองสบู่แตก แค่ลูกโป่งแฟบ มันเป็นอาการซึมลง ไม่ใช่แบบปี 40 ที่ระเบิดตูม แต่ครั้งนี้ค่อยซึมลงเหมือนลูกโป่งรั่ว ที่พูดไม่ได้ให้ตกใจ แต่ต้องตั้งสติ จะไม่ให้เกิดเป็นไปไม่ได้เพราะเศรษฐกิจเราเป็นประเทศเล็ก ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ โลกเขาลงก็ต้องลงตามฝืนไม่ได้ แต่ให้ลงอย่างมีระเบียบและลงอย่างจำเป็นต้องลง ไม่ใช่ลงเพราะไม่รู้ หรือด้อยสติปัญญาของเรา" นายวีรพงษ์ กล่าว
ส่วนกระแสข่าวการถูกทาบทามให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น นายวีรพงษ์ ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับการทาบทาม ซึ่งหากจะตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งจริงก็จะรับอย่างไม่มีเงื่อนไข และหากจะปฏิเสธไม่รับก็จะไม่รับอย่างไม่มีเงื่อนไขเช่นกัน
"โดยมารยาทคงพูดกับสาธารณชนไม่ได้ ถ้ารับก็รับ ไม่มีเงื่อนไข ถ้าไม่รับก็ไม่รับ ไม่มีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น" นายวีรพงษ์กล่าว
ด้าน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ข่าวปรับ ครม.โดยนำนายวีรพงษ์มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลเศรษฐกิจ ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข่าวลือที่มีคนพยายามจะสร้างเรื่อง
"ทีมเศรษฐกิจยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอย่างแน่นอน" นพ.สุรพงษ์กล่าว
ครบ 11 ปีลอยบาท ศก.ไม่ซ้ำรอยปี 40
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวในโอกาสครบรอบ 11 ปีลอยตัวค่าเงินบาท (2 ก.ค.51) ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยขณะนี้คงไม่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนปี 2540 ที่นักลงทุนตกใจขนเงินออกนอกประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจแตกต่างจากปี 2540 ที่ขณะนั้นประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศมากกว่าเงินสำรองในประเทศถึง 2 เท่าและส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น แต่ปัจจุบันมีหนี้ต่างประเทศน้อยกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ
"ปัจจุบันสถานะการคลังก็ดีขึ้นมาก จึงไม่ส่อให้เกิดวิกฤติการเงินมาก ภาคเอกชนก็ระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนค่อนข้างมาก ส่วนธนาคารพาณิชย์มีการบริหารความเสี่ยงของเครดิตและสินเชื่อ จึงไม่น่าเกิดวิกฤติร้ายแรงเหมือนปี 2540" นายประสารกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|