ดีล"ทีพีไอโพลีน"ล่มศาลนัดใหม่ 22ก.ค.นี้


ผู้จัดการรายวัน(3 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลการขายหุ้นเพิ่มทุน "ทีพีไอโพลีน" ให้กับปูนซีเมนต์นครหลวงล่ม หลังจากกลุ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ยื่นขออำนาจศาลเลื่อนออกไปอีก 2 สัปดาห์ เพราะต้องรอผลการเจรจาหาแหล่งเงินทุนใหม่ ขณะที่ศาลนัดพิจารณาใหม่ 22 กรกฎาคมนี้

วานนี้ (2 ก.ค.) ศาลล้มละลายกลาง นัดไกล่เกลี่ยกรณีการเพิ่มทุนของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ระหว่างผู้บริหารทีพีไอโพลีน คณะกรรมการเจ้าหนี้ และบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) หรือกลุ่มโฮลซิม ซึ่งเป็นผู้สนใจจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน

โดยกรอบการประชุมครั้งนี้ จะมีกำหนดสัดส่วนและเงื่อนไขและวิธีการซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ปรากฏว่าการประชุมไม่สามารถสรุปได้ เนื่อง จากทีพีไอโพลีนให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างเจรจากับแหล่งเงินทุนใหม่ จึงขอเวลา 1-2 สัปดาห์ คาดว่าจะหาข้อสรุปกับแหล่งเงินทุนใหม่ได้ ดังนี้ศาลจึงนัดพิจารณาในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้

สำหรับประเด็นที่ทีพีไอโพลีน ยกมากล่าวอ้าง คือ การเจรจากับแหล่งเงินทุนรายใหม่ จะต้องมีรายละเอียดต่างๆ ที่ชัดเจน เพราะแผนการ เพิ่มทุนจะนำไปสู่การพิจาณาถอดถอนผู้บริหารแผนตามที่เจ้าหนี้ได้ยื่นต่อศาลขอถอดบริษัท ทีพีไอโพลีนแพลนเนอร์ ซึ่งมีนางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ เป็นผู้บริหาร ออกจากเป็นผู้บริหารแผน ทีพีไอโพลีน เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มทุนตามปรับโครงสร้างหนี้ในวงเงินขั้นต่ำ 180 ล้านเหรียญ ได้สำเร็จ

นายวีระพันธุ์ ทีปสุวรรณ รองประธานกรรมการ บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า บริษัทยังสนใจที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอโพลีน โดยขณะนี้มีเงินทุนพร้อมซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 375 ล้านเหรียญสหรัฐอยู่แล้ว แต่เมื่อทีพีไอโพลีนมีทางเลือกในการหาแหล่งเงินทุนใหม่ก็คงต้องรอผลการเจรจาก่อน หากไม่สำเร็จก็คงจะมีการหารือร่วมกันใหม่

"ปูนซีเมนต์นครหลวง ยังคงต้องการถือหุ้น ทีพีไอโพลีนในสัดส่วน 76% แต่ถ้าหากไม่ได้ตาม สัดส่วนที่กำหนดราคาในการซื้อ ก็จะมีการเปลี่ยน แปลงตามสัดส่วนของการถือหุ้นเช่นกัน และถ้าหากการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ไม่ประสบความ สำเร็จก็ไม่กระทบต่อแผนการทำธุรกิจแต่อย่างใด เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดยังคงอยู่ในอันดับ 2 รองจากปูนซิเมนต์ไทยเช่นเดิม"

นายวีรพันธุ์ กล่าวยอมรับว่า โอกาสในการเข้าไปร่วมทุนกับทีพีไอโพลีนของเราป็นศูนย์ ไปแล้ว แต่เราก็ยังรอได้ ถ้าหากทางทีพีไอโพลีนยังไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้ตามระยะเวลาที่ขอกับศาลไว้เพราะเป็นการทำเพื่อชาติ

นางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีพีไอโพลีน ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด เพียงแต่ให้เหตุผลสั้นๆ ว่า ที่ต้องเลื่อนการประชุมออกไป เพราะมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม

แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ทีพีไอโพลีนอาจจะรอดูผลการแก้ไขปัญหาของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ว่าจะออกมารูปแบบใด เพราะถึงขณะนี้ชัดเจนว่ารัฐบาล จะเข้ามาช่วยเหลือ โดยทางออกอาจจะขายหุ้นให้ กองทุนวายุภักษ์มาซื้อ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ ของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือธุรกิจที่เป็นความมั่นคงของประเทศ

โบรกเกอร์กล่าวว่า สาเหตุที่การเจรจาขายหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอโพลีนให้แก่ปูนซิเมนต์นครหลวง ไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะว่าคงรอให้กองทุน วายุภักษ์เข้ามาซื้อเอง หลังจากมีความชัดเจนแล้ว อีกทั้งปูนซีเมนต์นครหลวงก็มีผู้ถือหุ้นคือกลุ่มโฮลซิมจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หากให้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในทีพีไอโพลีน จะทำให้กลุ่มโฮลซิม ผูกขาดการทำธุรกิจปูนซิเมนต์ไทย เพราะจะก้าว ขึ้นมาเป็นรายใหญ่ในธุรกิจ และจะส่งผลต่อราคา ปูนหากมีการปรับขึ้นก็กระทบทั้งระบบ

"สวัสดิ์" ยันรัฐบาลเดินถูกทางแล้ว

ขณะเดียวกันนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกลุ่ม บริษัท เอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NTS ได้กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ลบความทรงจำวิกฤติฟองสบู่ สู่ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า ตั้งแต่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทเอ็นทีเอสยังไม่ผ่านพ้นวิกฤติทั้งหมด โดยมี NTS ที่สามารถผ่านไปได้แล้ว ขณะที่บริษัท นครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) หรือ NSM ยังคงยืดเยื้ออยู่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา อีกประมาณ 1-2 เดือนถึงจะเรียบร้อย

"วิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา ผ่านพ้นไปหรือยังเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ที่เข้ามามีผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คาดเดาได้ลำบาก โดยขณะนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็ทำให้การส่งออกทำได้ยากขึ้น ขณะที่ การนำเข้าอาจจะได้รับผลดี เป็นต้น"

สำหรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่มีการปรับลดลงนั้น ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นปัจจัยที่ฉุดให้กำลังซื้อในส่วนนี้ลดลง ในขณะที่ธุรกิจบัตรเครดิตเองอาจจะได้รับผลดี และมีปริมาณการใช้จ่ายมากขึ้น

นายสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ดอกเบี้ย เงินกู้และเงินฝากยังถือว่ามีส่วนต่างกันอยู่อีกมาก ถ้าหากในช่วงปี 2540 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงอยู่ในระดับปัจจุบันคือประมาณ 5-6% ประเทศไทยก็คงไม่ต้องประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนกับที่ผานมา

ส่วนประเด็นมาตรการของทางการที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจนั้น นายสวัสดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการมาถูกทางแล้ว เพราะปัจจุบันมาตรการของรัฐบาลเป็นเพียงกลไก เดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลให้เอกชนเดินตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูผลจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลว่าจะออกมาในรูปใด อาทิ โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.