ประชัยยอมรับ 5 ตัวแทนคลัง ที่เตรียมเสนอเป็นผู้บริหาร แผนฟื้นฟูทีพีไอ ชี้เป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะสูง
ขณะที่เขาพร้อมเสนอตัวเป็นผู้บริหารด้านปฏิบัติการเหมือนปัจจุบัน เพราะเชี่ยวชาญด้านนี้
ตั้งเป้าจะทำรายได้ทีพีไอปีนี้แตะ 1 แสนล้านบาทแน่ ชี้การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการใหม่
ลูกหนี้ควรมีหนี้ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องความสามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
ขณะที่ช่วง 2 เดือนที่บริหารแผนฯ ทีพีไอฟันกำไรแล้วเกือบ 1.2 พันล้านบาท
นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (มหาชน) (TPI) เปิดเผยว่าผู้บริหารลูกหนี้ คือนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซีอีโอ
และอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ทีพีไอ พร้อมจะเป็นผู้บริหารงานด้านการผลิต (Operation) หลังจากตัวแทนกระทรวงการคลังรับเลือกเป็นผู้บริหารแผนฯ
ทีพีไอรายใหม่ จากที่ประชุม เจ้าหนี้ทีพีไอ 7 ก.ค. นี้ เนื่องจากผู้บริหารลูกหนี้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างดี
2 เดือนฟันกำไรเกือบ 1.2 พันล้าน
เห็นได้จากผลดำเนินงาน ช่วง พ.ค.-มิ.ย. หลังจากผู้บริหารลูกหนี้เป็นผู้บริหารแผนฯ
ชั่วคราวตั้งแต่ 22 เม.ย. บริษัทมีรายได้ประมาณ 8,097 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 487 ล้านบาท
และกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม 1,198 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของยอดขาย ทั้งที่ช่วงดังกล่าว
ราคาเม็ดพลาสติกลดลง เทียบช่วงไตรมาสแรก ปีนี้ถึง 30%
โดยไตรมาส 1 ทีพีไอภายใต้การดูแลของ บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส (อีพีแอล)
ราย ได้รวม 21,253 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 1,583 ล้านบาท กำไรก่อนหักภาษีและดอกเบี้ย
2,486 ล้าน บาท หรือ 12% เมื่อเทียบยอดขาย ซึ่งช่วงนั้น ราคาเม็ดพลาสติกโลกเพิ่มขึ้น
30% ทำให้รายได้ ทีพีไอค่อนข้างสูง
"ขณะนี้ โรงกลั่นทีพีไอผลิตน้ำมันอยู่ 1.26 แสน บาร์เรล/วัน และวันนี้ ทีพีไอจะเพิ่มกำลังการกลั่นเป็น
1.8 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งเกินเป้าที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ ที่ระบุให้ทีพีไอต้องกลั่นน้ำมันได้
1.25 แสนบาร์เรล/วัน"
ตั้งเป้าฟันกำไรเพิ่ม 54%
นอกจากนี้ ผู้บริหารลูกหนี้ตั้งเป้าดำเนินธุรกิจช่วง 8 เดือน (พ.ค.-ธ.ค.) จะมีรายได้ทั้งสิ้น
68,857 ล้านบาท กำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม 7,214 ล้านบาท เมื่อเทียบผลประกอบการงวดเดียวกันปีก่อน
ยุคอีพีแอล อดีตผู้บริหารแผนฯ ทีพีไอ ซึ่งมีรายได้ 48,747 ล้านบาท และกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม
4,671 ล้านบาท ดีขึ้น 41% และ 54% ตามลำดับ
เนื่องจากบริษัทฯคาดว่าจะกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 1.8 แสนบาร์เรล/วัน
จากยอดกำลังการกลั่นทั้งหมด 2.15 แสนบาร์เรล/วัน คิดเป็น 84% ของกำลังผลิต ดีกว่ายุคที่อีพีแอลบริหารโรงกลั่น
ทีพีไอ ผลิตได้เพียง 1.01 แสนบาร์เรลช่วง 8 เดือน สุดท้ายปี 2545 สัดส่วน 47% ของกำลังผลิตทั้งหมด
เป้ารายได้สุทธิปีนี้ 8 หมื่นล้าน
ตั้งแต่ผู้บริหารลูกหนี้เข้ามารับผิดชอบ ทำให้ขวัญกำลังใจพนักงานทีพีไอดีขึ้น
สะท้อนให้เห็นจากรายได้บริษัทที่สูงขึ้น หากผู้บริหารแผนชุดเดิมยังได้บริหารงานต่อไป
เชื่อว่าบริษัทน่าจะมีรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท (รวมภาษี) ปีนี้ แต่หากคิดเป็นรายได้หลังหักภาษี
8 หมื่นล้านบาท
"เป้าหมายรายได้ในปีนี้ ไม่ใช่ต้องการให้ตัวแทนกระทรวงการคลังจ้างเรา แต่เราเชื่อว่า
ถ้าเรา ทำเองก็น่าจะได้ตัวเลขเท่านี้ ซึ่งน่าจะเป็นการคอมมิท (แสดงคำมั่น) แสดงความบริสุทธิ์ใจที่จะทำงาน"
ทางด้านนายประชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
กล่าวว่าช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ราคาเม็ดพลาสติก PP เพิ่มขึ้นเป็น 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
ซึ่งอีพีแอลรู้ตัวว่า จะถูกปลดออกจากผู้บริหารแผนฯจึงไม่ได้ขายเม็ดพลาสติก ช่วงเวลาที่ราคาสูง
จนกระทั่งผู้บริหารลูกหนี้ฯ เป็นผู้บริหารแผนฯ ชั่วคราว จึงจำหน่ายเม็ดพลาสติกดังกล่าว
ช่วงนั้น ราคาเม็ดพลาสติกอ่อนตัวเหลือ 600 ดอลลาร์ต่อตัน และขณะนี้ราคาเริ่มขยับขึ้นมาอยู่ที่
680 เหรียญสหรัฐ
"การกระทำของอีพีแอลดังกล่าวนี้ เพื่อต้องการบีบให้ผู้บริหารลูกหนี้ไม่ให้มีเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน
และต้องการให้หยุดกิจการ แต่เราก็ดิ้นรน โดยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งการหยุดชำระดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ในช่วง
เม.ย.-พ.ค.นั้น เนื่องจากเจ้าหนี้ได้ตัดวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน 80 ล้านดอลลาร์ไป
หลังศาลมีคำสั่งให้ทีพีไอเป็นผู้บริหารแผนฯ ทำให้บริษัทจำเป็นต้องนำเงินสดทั้งหมดมาใช้จ่าย
เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ"
ลูกหนี้ยอมรับ 5 ตัวแทนคลัง
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
แสดงความเห็นรายชื่อ 5 ตัวแทนกระทรวงการคลัง ที่จะเสนอเป็นผู้บริหารแผนฯ ทีพีไอว่า
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติยอมรับรายชื่อตัวแทนกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะสูงทั้งนั้น
จึงไม่มีข้อกังขา การแต่งตั้งคนนอกเป็นตัวแทน ถือเป็นเรื่องดี
"ส่วนผู้บริหารลูกหนี้ จะได้มาบริหารทีพีไอต่อไปหรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดใหม่พิจารณาว่า
เป้าหมายรายได้ที่ผู้บริหารลูกหนี้ตั้งไว้ในปีนี้ ให้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่ หากเห็นว่าลูกหนี้มีความสามารถในการ
Operate (ดำเนินงาน) ต่อไป ก็คงให้เราบริหารต่อ ถ้าเห็นเป็นอย่างอื่น ก็คงต้อง
ตามที่คณะกรรมการฯกำหนด"
รายชื่อตัวแทนคลังทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายทนง พิทยะ ประธานกรรมการบริษัท การบินไทย
จำกัด (มหาชน) นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) นายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพละ สุขเวช อดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
(ปตท.) และ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย
หนี้ทีพีไอไม่ควรเกินแสนล้าน
หลังจากศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้บริหารแผนทีพีไอ รายใหม่ ขั้นตอนต่อไป คงจ้างที่ปรึกษาการเงิน
ตรวจสอบสถานะการเงินและทรัพย์สินบริษัท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้สอดคลอ้งความสามารถของ
ธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบัน แผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ไม่สามารถทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่รอดได้
ภาระหนี้ทีพีไอที่พอรับได้ ต้องไม่เกิน 1 แสนล้านบาท จากหนี้สินทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาทปัจจุบัน
รูปแบบปรับโครงสร้างหนี้จะใช้วิธีไหนและเมื่อไร คงเป็นเรื่องกระทรวงการคลัง ซึ่งที่ปรึกษาการเงินจะเสนอให้คลังอีกทอด
นายสมชายกล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และกระทรวงการคลัง เห็นตรงกันว่าต้องแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอใหม่
เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ส่วนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน 80 ล้านดอลลาร์ ที่ธนาคารเจ้าหนี้ระงับปล่อยสินเชื่อ
หวังว่าเจ้าหนี้จะกรุณาให้วงเงินกู้ดังกล่าว จะทำให้บริษัทฯ ชำระดอกเบี้ยได้ เพราะที่ผ่านมา
บริษัทใช้เงินสดเปิด L/C สั่งซื้อวัตถุดิบ