|
ฝ่าคลื่นธุรกิจ....พิชิต 3 มหาสมุทร กับ 3 ผู้นำ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
- เรียนรู้ 3 กลยุทธ์การตลาด จาก 3 ผู้บริหารแถวหน้า
- "ทัศพล แบเลเว็ลด์" ตัวแทน red ocean strategy ฟาดฟันในสมรภูมิธุรกิจอย่างดุเดือด
- "แพทย์หญิงนลินี ไพบูลย์" ถ่ายทอด blue ocean strategy วิธีคิดคือกุญแจสู่ความสำเร็จ
- "ดนัย จันทร์เจ้าฉาย" ยืนยัน white ocean strategy แนวทางสู่ความยั่งยืน
การได้รู้ประสบการณ์ของคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการที่ได้รับรู้ตัวอย่างที่ถูกทิศถูกทาง โดยเฉพาะการได้รู้ตั้งแต่วิธีคิดและวิธีทำ เพราะจะช่วยให้สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเองบ้าง จนถึงทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมาได้
แม้ว่ากลยุทธ์การตลาดซึ่งเป็นเรื่องที่มีความยืดหยุ่นสูง การจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรย่อมแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่แวดล้อมอยู่ แต่การถ่ายทอดเรื่องราวของผู้บริหารระดับแถวหน้าที่พิชิตความท้าทายมามากแล้ว น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการเรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารกสิกรไทย จัดงานสัมมนา “ไตรภาคี เจาะลึก 3 มหาสมุทร พลิกกลยุทธ์การตลาดกับ K SME Care” โดยมีผู้บริหารมือฉมังจาก 3 องค์กรดังมาร่วมเล่าถึงประสบการณ์
เลือกสรรอาวุธ พร้อมลุยสมรภูมิสีเลือด
ทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยแอร์ เอเชีย จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดแบบ Red Ocean Strategy ว่า เปรียบเหมือนกับสินค้ามากมายที่วางเรียงรายบนชั้นวางสินค้า แต่กลายเป็นว่าลูกค้าที่มาเลือกซื้อหยิบสินค้าต่างกันในเวลาเดียวกัน ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ผู้ประกอบการต้องทำให้สินค้าหรือบริการหรือแบรนด์เข้าไปสร้างการจดจำให้เกิดกับลูกค้าให้ได้ ด้วยการทำให้ลูกค้าเชื่อว่าสินค้าหรือบริการของเราดีจริง ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ต้องมีที่มาที่ไป
จากประสบการณ์กว่า 20 ปีในการทำตลาด ทศพล สรุป 4 ประเด็นหลักของการอยู่รอดในสมรภูมิแบบ Red Ocean Strategy ว่า ประเด็นแรก ผู้บริหารหรือนักการทำเมื่อทำงานมานานหลายปีมักจะคิดแทนผู้บริโภคหรือลูกค้าว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ซึ่งมีเงินทุนมากมักจะไม่ค่อยรอบคอบในการบริหารเท่าที่ควร แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีเงินทุนน้อย ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นหมายถึงกำไรที่สูญเสียไปและเรียกคืนกลับมาได้ยากโดยเฉาะเมื่ออยู่ในการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือดรุนแรงใน Red Ocean Strategy
ดังนั้น สิ่งที่ต้องเน้นหนักคือ การที่ผู้บริหารคิดว่าตนเองรู้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เช่น ทำมาแล้ว 5 ปี ปัจจุบันจึงไม่คิดทำวิจัยก่อน แต่กลับตัดสินใจทำไปทันทีทำให้ต้องสูญเสียมากกว่าที่ควร ยกตัวอย่าง ทำโฆษณาโดยไม่ มีข้อมูลที่ชัดเจน สำหรับผู้บริโภค 3 กลุ่มที่เลือกซื้อสินค้าต่างกันในเวลาเดียวกัน คนแรกเป็นผู้ชายอายุประมาณ 50 ปี คนที่สองเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 30 ปี คนที่สามเป็นวัยรุ่นอายุ 18 ปี แต่ละคนย่อมจะสนใจรับสื่อต่างกัน เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักให้ชัดเจนยิ่งเมื่ออยู่ใน Red Ocean Strategy เพื่อให้การสื่อสารเข้าถึงได้ดีที่สุด
ประเด็นที่สอง ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้บริโภคที่อยู่ใน Red Ocean Strategy “ซื้อก่อนและซื้อมาก” วิธีการที่เคยใช้ในอดีตซึ่งทำการตลาดให้กับลูกอมฮอลล์ เมื่อรู้ว่าเนสท์เล่จะออกลูกอมใหม่คือไอซ์เบิร์กที่เจาะเข้าตลาดเดียวกัน จึงใช้กลยุทธ์ลดราคา 15-20% ให้กับยี่ปั๊ว และจ่าย incentive ให้กับร้านค้าเพื่อให้ซื้อและเชียร์สินค้า พร้อมกับออกสื่อโฆษณาทำให้ผู้บริโภคซื้อมากขึ้น เมื่อสินค้าของคู่แข่งซื้อเป็นสินค้าใหม่จะเข้าตลาด เป็นเรื่องยากอยู่แล้วยิ่งยากขึ้นเพราะร้านค้าไม่มีเงินซื้อแล้ว ผ่านไป 4-5 เดือนแม้จะมีสินค้าคืนบ้างแต่ช่วยให้ขายได้และป้องกันคู่แข่งรุกเข้ามาก
สำหรับกลยุทธ์ลดราคาซึ่งปัจจุบันเห็นกันมากและรายที่ทำบ่อยๆ กลายเป็นไม่ได้ช่วยให้ลูกค้าซื้อก่อนและซื้อมากเพราะลูกค้าเห็นว่าอีกไม่นานจะมีโปรโมชั่นนี้ออกมาอีก ไม่จำเป็นต้องรีบ เพราะฉะนั้น บางครั้งผู้ประกอบการต้องคิดและยอมรับว่าแม้ว่ากำไรต่ำลงแต่ปริมาณการขายมากขึ้น และต้องหาวิธีการจูงใจใหม่ๆ เพื่อแข่งขันในตลาดนี้
ประเด็นที่สาม คนไทยเชื่อว่าของถูกไม่ใช่ของดี ทำให้สินค้าที่ราคาพรีเมี่ยมในตอนต้นแต่เมื่อตอนหลังต้องลดราคาลงมาเพื่อแข่งขันให้ได้ จำเป็นต้องหาวิธีให้ลูกค้ากล้าใช้สินค้าต่อไป และประเด็นที่สี่ การสื่อสารมีผลต่อการเข้าใจและการรับรู้ของผู้บริโภค ยกตัวอย่าง "อีควล" ซึ่งใช้เวลา 3 ปีจากการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากสารให้ความหวานทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าใช้เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นโรคเบาหวานมาเป็นสารที่ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ทำให้กลายเป็นสินค้าพรีเมี่ยมขึ้นมาและได้มาร์จิ้นสูง โดยเปลี่ยนช่องทางจำหน่ายจากร้านขายยามาเป็นห้างโมเดิร์นเทรด
สำหรับการบริหารจัดการสายการบินแอร์เอเชียให้สอดคล้องกับการอยู่ใน Red Ocean Strategy ทศพล บอกว่า เมื่อเชื่อในรูปแบบธุรกิจ (Business Model) คือสายการบินต้านทุนต่ำหรือราคาประหยัด เชื่ออีกว่าต้องแข่งขันใน Red Ocean Strategy แน่ เพราะนั้น แม้ว่าจากประสบการณ์จะทำงานกับบริษัทในระดับอินเตอร์ฯ มามาก แต่เมื่อมาทำที่นี่ต้องปฏิญาณกับตัวเองว่าจะต้องลดต้นทุนให้บริษัทมากที่สุด เช่น สื่อโฆษณาจะทำเองเกือบทั้งหมดในสื่อที่ทำได้ และจ้างบริษัทที่ไม่ใหญ่ทำให้ในส่วนที่ทำไม่ได้ ซึ่งสื่อที่ทำออกมาสามารถสื่อสารถึงลูกค้าได้อย่างดีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก
ยกตัวอย่าง สื่อโฆษณาที่ใช้ในการทำตลาดแบบ Red Ocean Strategy ที่เคยทำมา เช่น "3 บาทไม่ต้องจ่าย บินง่ายๆ กับแอร์เอเชีย" ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮานอย เมื่อครั้งที่สายการบินนกแอร์เปิดเส้นทางบินใหม่มาชนกันและใช้แคมเปญส่งเสริมการขายด้วยราคาค่าโดยสาร 3 บาท หรือโฆษณา "แม้แต่นกยังไม่อยากบินเอง" ภาพนกกำลังเดินเข้าแถวขึ้นเครื่องแอร์เอเชีย
นอกจากนี้ ในสภาวการณ์ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ต้องพยายามหารายได้มากขึ้นด้วยช่องทางอื่น เช่น การร่วมมือกับ "ร้านสีฟ้า" ผลิตอาหารมาขายบนเครื่องบินเพื่อสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้น โดยได้เริ่มนำแซนวิชมาขายแล้ว และต่อไปจะมีเมนูอาหารมากขึ้น เช่น ข้าวหน้าไก่ แลบะหมี่อัศวิน รวมทั้ง การหารายได้เพิ่มจากการเก็บค่าได้สิทธ์ขึ้นเครื่องก่อนเพื่อเลือกที่นั่งก่อน เพราะแอร์เอเชียไม่มีเลขที่นั่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีการลงทุนทะยอยเปลี่ยนเครื่องบิน 14 ลำเก่า เป็นเครื่องบินลำใหม่ครบภายในสิ้นปีพ.ศ. 2552 จะได้แอร์บัส เอ 300 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาอยู่ในฝูงบิน อย่างไรก็ตาม สายการบินต้นทุนต่ำมีส่วนช่วยให้ภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจนี้เติบโต
สำหรับสื่อซึ่งสำคัญต่อการทำตลาดนั้น ทศพลเน้นว่า จากผลการวิจัยที่เชื่อถือได้บอกว่าควรใช้สื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุดเพราะปัจจุบันคนทั่วไปให้ความสนใจในเรื่องหนึ่งๆ น้อย เพราะใช้ไปกับการทำกิจกรรมหลายๆ เรื่องในแต่ละวัน โดยอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะเกิดการใช้มากขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและในหมู่วัยรุ่นกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง 70%ของผู้โดยสารแอร์เอเชียจองตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ต ส่วนในประเทศที่พัฒนามากขึ้นจะดูสื่อทีวีมากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่โทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่ใช้ในการส่ง SMS หรือข้อความถึงกันมากที่สุด ตามด้วยเล่นเกม ฟังเพลง ข่าว พยากรณ์อากาศ แต่ใช้ในการพูดคุยกันน้อยมาก
ทศพล ทิ้งท้ายว่า เทคโนโลยีในอนาคตมีส่วนช่วยในการแข่งขันได้มาก ถ้าใช้เป็นจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานและทำให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
ค้นจุดแข็ง-ทันเกม แจ้งเกิดในสมรภูมิสีคราม
แพทย์หญิงนลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด เล่าถึง Blue Ocean Strategy ว่า เริ่มตั้งแต่การคิดจะทำธุรกิจเวชสำอางหลังจากที่ได้ทดลองทำขายในคลินิกแล้วได้ผลเมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อนำสินค้าไปเสนอกับห้างสรรพสินค้ากลับพบว่าเงินทุนที่มีอยู่ 20 ล้านบาทยังไม่เพียงพอต่อการนำสินค้าเข้าตลาดในช่องทางนั้น จนกระทั่งต่อมาพบว่า การขายตรงเป็นหนทางที่เหมาะสมกับธุรกิจที่มีสินค้าดีแต่เงินทุนน้อย
"เปิดตำราขายตรงภาษอังกฤษอ่านเพราะตอนนั้นยังไม่มีภาษาไทย ทำให้พบว่ามี 3 ข้อหลักๆ ว่า หนึ่ง เราซึ่งเป็นผู้ประกอบการต้องอยู่ได้และมีกำไร สอง คนที่มาช่วยเราขาย เมื่อเราดูแลดีแล้วถือว่ายุติธรรม และสาม เมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ดีในราคายุติธรรมและเราดูแลเขาดีแล้ว ถือว่าถูกต้อง เพราะก่อนนั้นกลัวหลายอย่าง ด้วยความเป็นหมอที่คนนับถือ และคนไทยจะคิดยังไง ถ้าไปชวนเพื่อนมาทำแล้วมีรายได้จากเขา เพื่อนจะรู้สึกว่าเอาเปรียบหรือเปล่า"
เวชสำอางในแบรนด์ "สุพรีเดิร์ม" ที่ทำร่วมกับสามีจึงเกิดขึ้น และเติบโตอย่างดีด้วยความแตกต่างที่เด่นชัดของตัวสินค้า เพราะในตอนนั้นมีแต่การรักษาเท่านั้น ไม่มีใครเน้นการป้องกัน ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝ้า กระ รอยหมองคล้ำ ต้องใช้วิธีการป้องกันแสงแดดจึงจะดี ทำให้ในช่วง 6-7 ปีแรก ธุรกิจสำเร็จเกินคาด
แต่ปัญหาที่พบในธุรกิจอยู่ที่คนขายซึ่งต้องบริหารทีมขายของตนเองด้วย (Multi Level Marketing) แต่เพราะคนขายโดยส่วนมากซึ่งเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 45-50 ปี บุคลิกเชยๆ และไม่ยอมเข้าใจว่าต้องมีทีมงานและต้องดูแล และกลับแย่งลูกค้าของทีมงานด้วย รวมทั้ง ไม่มีความภักดีกับแบรนด์ที่ขาย (loyalty) ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างแบรนด์ ด้วยการทำให้ผู้บริโภคประทับใจ และใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการโฆษณา
อย่างไรก็ตาม ในจังหวะนั้นเกิดจุดพลิกผันในชีวิตเมื่อหย่ากับสามีเพราะความคิดต่างกัน ทำให้ต้องหันมาสร้างธุรกิจใหม่ด้วยตนเอง โดยมีแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของการสร้างแบรนด์แรก ทำให้คิดจะสร้างความสำเร็จกับแบรนด์ที่สอง แม้ว่าในขณะนั้นจะมีการคาดการณ์จากรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในตอนนั้นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังจะชะลอตัว จึงเป็นเรื่องยากที่เครื่องสำอางแบรนด์ไทยจะมีโอกาสแจ้งเกิด
แต่ไม่คิดจะกู้เงินจากธนาคารมาลงทุน แม้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้จะต่ำ เพราะมองว่าหากต้องเสียชีวิตจะเกิดเป็นภาระกับลูกที่ตอนนั้นอายุเพียง 4 ขวบ ทำให้คิดใช้เงินทุนที่มีอยู่ 100 ล้านบาท สร้างธุรกิจใหม่ แต่มองว่าการใช้วิธีเดิมที่ทำสำเร็จมาก่อนไม่ใช่จะใช้ได้สำเร็จอีก ทำให้ต้องคิดหาทางใหม่ ด้วยการมองอุปสรรคที่แท้จริงของธุรกิจ และพบว่ามีอยู่ 2 ข้อ คือ1.คนไทยไม่เชื่อมั่นในสินค้าไทย และ2.คนไทยไม่ชอบการขาย แต่ชอบซื้อ และคนที่ชอบขายกลับไม่ถนัดในการบริหารจัดการ
สิ่งที่คิดได้คือ ถ้าจะเอาชนะอุปสรรคดังกล่าว ต้องมีสิ่งที่คนอื่นไม่มี ทำให้หันมาดูจุดแข็งของตนเอง และหาทางแก้อุปสรรค ข้อแรก ได้คำตอบว่า คนไทยไม่ซื้อสินค้าไทยคงเป็นเพราะเคยใช้แล้วไม่ดีและไม่รู้ว่าสินค้าดีจริงหรือเปล่า ใช้วัตถุดิบอะไรและมีอันตรายหรือไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อคิดแบบ Blue Ocean Strategy คือการที่ต้องทำให้เชื่อ ด้วยการทำโรงงานให้ได้มาตรฐานเพื่อให้คนไทยยอมรับ และบอกข้อมูล รวมทั้ง ผลงานวิจัยต่างๆ ให้ได้รับรู้ทั้งหมด และไม่ตั้งราคาขายสูงเหมือนสินค้าขายตรงทั่วไป แต่เน้นกำไรจากการขายปริมาณมาก
ส่วนอุปสรรคข้อที่สอง การที่คนไทยไม่ชอบการขาย จึงเปลี่ยนมาเป็นการชวนให้มาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจทางพฤตินัย แทนชวนมาขายของ เมื่อเข้ามาแล้วได้เรียนรู้การเป็นเจ้าของกิจการ และได้รับรู้รายได้-รายจ่ายของธุรกิจเหมือนกับว่าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งเป็น Blue Ocean Strategy ที่คู่แข่งยังตามไม่ทัน เพราะนอกจากจะมีความเป็นเจ้าของกิจการ (entrepreneurship) แล้วยังมีความภักดี (loyalty) เกิดขึ้นด้วย และทำให้ปัจจุบันกิฟฟารีนมีสมาชิกถึง 4.7 ล้านรหัส
แพทย์หญิงนลินี มองว่า ข้อดีของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คือการที่เจ้าของธุรกิจเป็นเหมือน CEO ที่รู้จักกิจการของตนเองมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ทำให้มีประสบการณ์และสามารถสร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องพยายามคิดสิ่งใหม่ให้ได้ แต่มีข้อคิดว่า การทำนวัตกรรมอย่ามองตนเองเป็นที่ตั้ง และต้องทำวิจัยอยู่อยู่เสมอ ซึ่งไม่ต้องลงทุนมากมาย เพียงแต่ใช้วิธีคุยกับคนที่คิดว่าเป็นลูกค้าให้มาก เพื่อให้ได้คำตอบว่าเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ หรือไม่ ยกตัวอย่าง ถุงเท้าห้านิ้ว ที่คนทำมองว่ามีข้อดีมากมาย ทำให้เลือดไหลเวียนดีกว่าถุงเท้าแบบเก่าที่บีบเท้า แต่ลืมคิดว่าถ้าใส่รองเท้าที่บีบก็ไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์
นอกจากนี้ แม้ว่า Blue Ocean Strategy จะเป็นความใหม่ในตอนแรก แต่จะไม่อยู่ยั่งยืน เพราะจะมีการทำตามเสมอ ที่สำคัญคือการคิดแบบ Blue Ocean Strategy ที่ต้องมีอยู่ตลอด ด้วยการเรียนรู้ตนเองและคนอื่นให้มากๆ
คลิกเพื่อสังคม ตอบโจทย์ธุรกิจสีขาว
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่น จำกัด บอกถึงความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับ White Ocean Strategy ว่า ในระยะใกล้ๆ นี้ ธุรกิจอาจจะมีปัญหาจากการที่กำลังจะมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องติดฉลากบอกค่าคาร์บอนที่สินค้าซึ่งผลิตออกมาเพื่อบอกว่ามีการทำลายชั้นบรรยากาศของโลกมากน้อยแค่ไหน พร้อมกับแรงกดดันจากชุมชนให้ผู้ประกอบการต้องทำตามด้วยการรับผิดชอบหรือทำดีกับชุมชน (Corporate Social Responsibility)
ดนัย บอกว่า ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ White Ocean ทำให้ได้ลูกค้าที่มีแนวคิดเดียวกัน หรือที่เรียกได้ว่าเป็น "ธรรมะจัดสรร" ยกตัวอย่าง กลุ่มทาทาซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของอินเดีย ที่เข้ามาขยายธุรกิจในเมืองไทย และมีปรัชญาในการดำเนินธุรกิจด้วยการมุ่งเป้าหมายเพื่อช่วยให้สังคมที่องค์กรธุรกิจเข้าไปอยู่ร่วมเป็นสังคมที่มีความหวังมากขึ้น ประกอบกับการใช้คุณธรรมและจริยธรรม ทำให้สามารถสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจเติบโตมาถึง 300 ปี
สังคมโลกผ่านมาแล้ว 3 ยุค คือ ยุคล่าสัตว์ ยุคกสิกรรม และยุคอุตสาหกรรม ปัจจุบันอยู่ในยุคที่ 4 คือ ยุคสังคมแห่งการเรียนรู้ (Information Age) และกำลังจะก้าวสู่ยุคสังคมแห่งปัญญา (Wisdom Age) สำหรับยุคสังคมแห่งการเรียนรู้ ธุรกิจหรือองค์กรที่สามารถทำให้ต้นทุนต่ำที่สุดไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ธุรกิจอยู่รอด แต่ต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก่อน และสร้างความต้องการให้เกิดขึ้น
ถ้าในยุคนี้องค์กรใดยังมุ่งเป้าหมายไปที่การทำกำไรสูงสุดจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะองค์กรต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และถ้าสามารถออกแบบองค์กรได้ดีใน 3 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ People คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ Planet สังคมและสิ่งแวดล้อม และProfit การสร้างผลกำไร จะทำให้องค์กรนั้นอยู่ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีองค์กรที่ประสบความสำเร็จระดับโลกและอยู่มาได้อย่างยาวนานยืนยันว่า White Ocean Strategy เป็นแนวทางที่ช่วยให้อยู่รอด เช่น Ford บอกว่าความแตกต่างระหว่าง Good กับ Great หรือบริษัทที่ดีกับบริษัทที่ยอดเยี่ยม อยู่ที่การเป็นบริษัทที่ดีคือ มีสินค้าและให้บริการได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่บริษัทที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้แค่มีสินค้าและบริการยอดเยี่ยม แต่ยังทำให้สังคมและโลกนี้น่าอยู่ด้วย
ที่สำคัญ ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทิศทางกระแสโลกกำลังทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่โดยใช้ White Ocean Strategy ซึ่งองค์กรต้องตระหนักในความสำคัญและมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ขณะที่ ถ้าองค์กรใดก็ตามที่ไม่สามารถปรับตนเองให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงจะเข้าใกล้จุดจบ
ไม่ว่าผู้ประกอบการจะใช้กลยุทธ์อะไรในการบริหารจัดการ ต้องมีความเข้าใจและเลือกใช้ให้ถูก เพราะความสำเร็จที่แท้จริงคือ การที่ธุรกิจสามารถเติบโตและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|