"แบงก์ชาติ" หอกค้ำคอพูดได้ไม่เต็มปากขึ้นดอกเบี้ยรั้งเงินเฟ้อ-ประคองเศรษฐกิจ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

สถานะธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ในตอนนี้สามารถกลายเป็นอัศวินม้าขาว หรือผู้ต้องหาที่กระทำผิดขั้นร้ายแรงได้ในคราวเดียว เนื่องจากต้องชี้ขาดตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบายจะไปในทิศไหนถึงช่วยรั้งเงินเฟ้อที่ขยับขั้นสูงอย่างน่าใจหาย และขณะเดียวกันก็ต้องพยุงเศรษฐกิจที่กำลังจะอับปางให้รอดต่อไปได้ หากแต่ถึงวันนี้แบงก์ชาติก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากเหมือนมีหอกค้ำคอว่าจะกำหนดทิศทางอย่างไร ด้านนักวิชาการเหน็บพวกทวนกระแส"ไร้สติ"ทิศทางดอกเบี้ยถึงเวลาต้องปรับขึ้น แถมสอนมวยรัฐให้รู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้นโยบายการคลังสำคัญกว่านโยบายการเงิน

แม้หอกจะค้ำคอ"แบงก์ชาติ" จนทำให้การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่สัญญาณที่สื่อออกมาก็แสดงค่อนข้างชัดว่าหนทางเดียวที่จะเยียวยาเงินเฟ้อและประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินต่อไปข้างหน้าได้คือการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เนื่องจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปในระยะสั้นเพื่อลดแรงเงินเฟ้อทะยาน คาดว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นปี 2552 ทิศทางดอกเบี้ยอาจปรับลดลงได้

"ถือเป็นเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้า ซึ่งไม่เฉพาะแบงก์ชาติเท่านั้น แม้แต่นักวิชาการก็ประสบกับอาการดังกล่าว ที่ตำราเศรษฐศาสตร์ก็ระบุถึงหนทางแห่งการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน" สาธิต อุทัยศรี ที่ปรึกษาสายประธานกรรมการบริหาร แบงก์กรุงเทพ เล่าต่ออีกว่า เงินเฟ้อ ตามทฤษฎีมีแค่ 2 แบบ คือ เงินในตลาดมีมากกว่าปริมาณสินค้า ผลผลิตมีน้อยเงินจึงบวมขึ้น อีกทฤษฎี ความไม่สมดุลของดีมานด์และซัพไพร

"แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้กลายเป็นการรวมทฤษฎีทั้ง2เข้าด้วยกัน ทำให้กลายเป็นโจทย์ที่แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังยอมรับว่ายากในการแก้สมการ แถมด้วยโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นทำให้โลกไร้พรหมแดน ผลกระทบที่เกิดอีกมุมโลกหนึ่งจึงระบาดมาสู่อีกมุมโลกหนึ่งได้ "

ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อสูงเยี่ยงนี้ ถ้าไม่คิดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คนนั้นก็สติไม่ดีแล้ว นโยบายการเงินจะปราบเงินเฟ้อได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่คำตอบเดียวทั้งหมด เพราะอย่างที่กล่าวเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นผลมาจากเงินล้นโลก พ่วงด้วยความไม่สมดุลของดีมานด์และซัพไพร ทำให้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใช้นโยบายทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้นโยบายด้านการคลังเป็นหลักในการให้ความช่วยเหลือสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจ

สาธิต เสริมว่า เงินที่ล้นโลกมากจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่าง จีน อินเดีย กลุ่มดังกล่าวสร้างเม็ดเงินได้มหาศาลจากการค้าขายกับสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุผลด้านราคาสินค้าที่ถูกและต่ำ เมื่อมีเงินมากจนแทบจะล้นกระเป๋า ก็ต้องหาที่ลงทุนและก็ไม่ใช่ที่ไหนท้ายสุดก็จบที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

"บางส่วนก็ไปลงทุนในกองทุนเฮจด์ฟันด์ ซึ่งถือเป็นนักพนันตัวยงค์ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศที่เงินจากกลุ่มดังกล่าวเข้าไปลงทุน ด้วยรูปแบบการเข้าออกเร็วเพื่อหวังผลกำไร ทำให้แทนที่จะเกิดความเสถียรภาพจากเม็ดเงินก้อนโตมาลงทุนก็กลายเป็นไร้เสถียรภาพ ปั่นป่วนทั้งเศรษฐกิจ และค่าเงินของประเทศนั้นๆ"

สาธิต บอกว่า และตอนนี้การเล่นเก็งกำไรในน้ำมันเป็นสิ่งที่นักพนันกลุ่มนี้ให้ความสนใจยิ่งกว่าการเล่นเก็งกำไรในทองคำ เหมือนอาหารโอชะก็ว่าได้ ที่สำคัญทุกวันนี้อนุภาพของราคาน้ำมันกลับมามีบทบาทต่อค่าเงินมากกว่าทองคำเสียอีก ดังนั้นชี้ตัวการได้เลยว่านักพนันพวกนี้มีผลอย่างมากที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหา จนทำให้คาดกันว่าจะมีมาตรการออกมาควบคุมพฤติกรรมของนักพนันกลุ่มนี้

"แน่นอนว่าพวกนี้ต้องออกมาปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง ด้วยคำอ้างว่าผลขาดทุน หรือแม้แต่กำไรไม่ได้ไปกระทบต่อส่วนใดของโลกหากแต่เป็นตัวกองทุนเฮจด์ฟันด์เองต่างหากที่รับเต็มๆ หากแต่ข้อเท็จจริงหาเป็นเช่นนั้น เห็นได้จากปัญหาเรื่องซับไพร์ม หรือการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลของประเทศที่เกิดปัญหาดังกล่าวต้องเข้ามาอุ้มพวกนักพนันกลุ่มนี้"

สาธิต บอกว่า เมื่อรัฐบาลยื่นมือเข้ามา โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ บวกกับโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น ทำให้นโยบายจากที่หนึ่งกระทบไปอีกที่หนึ่งเหมือนเล่นเกมโดมิโน และประเทศที่ว่านั่นคือ สหรัฐอเมริกา โดยภายหลังจากที่ไม่สามารถต้านทานความเสื่อมของเศรษฐกิจได้ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง มือที่ยื่นเข้าไปช่วยเหลือก็เป็นพวกนักพนัน ที่สร้างปัญหาและพลอยลากประเทศที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เกี่ยวข้องโดนผลพวกของปัญหาซับไพร์มไปด้วย

"นโยบายของเฟด ไม่ได้เอื้อต่อประเทศอื่นๆ ตัวเขาก็ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาของประเทศเขา เหมือนไม่ได้แคร์คนรอบข้าง และเมื่อเป็นเช่นนี้เราเองก็ควรตั้งหน้าตั้งตาที่จะแก้ปัญหาภายในของเราด้วยเช่นกันไม่จำเป็นต้องไปดูและเฟดเสมอไป จะขึ้นหรือลดดอกเบี้ยก็เรื่องของเขา เพราะเขาไม่อยู่ในสถานะที่จะแบกรับดอกเบี้ยในระดับสูงได้"

สาธิต บอกว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ต่างจากมหาอำนาจสหรัฐก็ตามในเรื่องของความพร้อมที่จะรับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ด้วยเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นนั้น ถ้าไม่ปรับดอกเบี้ยผลเสียก็จะตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะสภาวะข้าวยากหมากแพงที่จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องอยู่ในสภาวะกดดัน มีรายได้ไม่พอรายจ่าย

ส่วนกลุ่มที่มีหนี้ แน่นอนว่าต้องแบกรับภาระดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่สถานการณ์ปัจจุบันแบงก์หลายแห่งก็มีการขึ้นดอกเบี้ยทั้งขาฝากและขากู้ก่อนที่ แบงก์ชาติจะประกาศผลกำหนดทิศทางดอกเบี้ยเสียอีก

อย่างไรก็ตาม นิมิต นนทพันธาวาทย์ ที่ปรึกษาด้านวิจัยเศรษฐกิจประจำฝ่ายวิจัย แบงก์กรุงเทพ มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นแค่ช่วงสั้น และจะปรับขึ้นไปไม่มาก เพราะประเทศไทยก็อยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับสหรัฐ ถ้าขึ้นมากก็อาจกระทบต่อผู้มีหนี้ อาจก่อให้เกิดเอ็นพีแอลได้ สุดท้ายก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเช่นกัน แต่คิดว่าในปี 2552 ทิศทางดอกเบี้ยน่าจะเริ่มกลับมาเป็นขาลงอีกครั้ง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าลงมามากน้อยแค่ไหน

นิมิต มองว่า โยบายการเงินที่จะเข้ามาพยุงเศรษฐกิจไม่ให้อับปางนั้นคงทำได้ไม่ดีเท่านโยบายการคลัง ดังนั้นตอนนี้แรงที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยกลุ่มรากหญ้า รวมถึงผู้มีรายได้น้อยให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์ข้าวยากหมากแพง ต้องพึ่งนโยบายการคลังกระตุ้นเป็นหลัก ไม่ว่าจะเรื่องของนโยบายทางภาษี นโยบายให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจฝืด และเร่งให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ให้รัฐวิสาหกิจมีการลงทุน จากนโยบายดังกล่าวเชื่อว่าน่าจะต่อลมหายใจให้เศรษฐกิจได้อีกพักใหญ่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.