|

ลูกหนี้อ่วม!!! ดอกเบี้ยจ่อคิวขึ้น 0.5-1%คลัง‘จ้องปลด’ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
รัฐบาลเดือดแบงก์ชาติแข็งข้อ สวนทางนโยบายบริหารประเทศด้วยดอกเบี้ยต่ำ ต้องเร่งหาทางบีบ-เปลี่ยนตัวผู้ว่าแบงก์ชาติ หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่อเค้าแท้ง หากปล่อยดอกเบี้ยสูงอีกกระทบจัดเก็บภาษี นักเศรษฐศาสตร์คาดปีนี้ได้เห็นดอกเบี้ยขึ้น 0.5-1% แนะคนมีภาระกู้ทำใจ
หลังจากทราบตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจะทะยานขึ้นมาถึง 7.6% ท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มออกมาส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งต่อไปในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้
หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขยับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ขึ้นมาใกล้เคียงกัน โดยตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาแบงก์ชาติไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ ถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศว่าจะไปในทางใด เห็นได้จากการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.25% มาโดยตลอด
นับว่าเป็นปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ ก่อนที่แบงก์ชาติจะส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปกตินักสำหรับตลาดการเงินของไทย
“เรามองว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาตินับจากนี้ไปคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะจะเหลือการประชุม กนง.อีก 4 ครั้ง อาจจะขึ้นครั้งละ 0.25% หรือขึ้นครั้งหนึ่งเว้นครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าดอกเบี้ยในปีนี้น่าจะปรับขึ้นระหว่าง 0.5%-1%”นักการเงินรายหนึ่งประเมิน
การที่ต้องค่อย ๆ ทยอยขึ้นนั้นเพื่อต้องการให้ตลาดได้ปรับตัว อีกทั้งต้องประเมินสถานการณ์อื่น ๆ ประกอบด้วยไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แม้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะเพิ่มกำลังการผลิตแต่ราคายังไม่ลดลง แต่เชื่อว่าในช่วง 3-4 เดือนนี้เงินเฟ้อจะค่อย ๆ ลดลง
ที่สำคัญคือแบงก์ชาติคงไม่ต้องการเห็นกำลังซื้อในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการส่งสัญญาณดังกล่าวนั้นอาจจะดูช้าไปบ้าง หรืออัตราที่ขึ้นนั้นอาจจะไม่สูงเท่าหรือเหนือกว่าอัตราเงินเฟ้อ แต่ก็ต้องทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าแบงก์ชาติต้องการดูแลเรื่องนี้
การส่งสัญญาณควบคุมเงินเฟ้อนั้นจะส่งผลให้ตลาดการเงินพอจะประมาณอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ เห็นได้จากพันธบัตรรัฐบาล อายุ 3 ปี เดือนมิถุนายนที่เสนอขายผ่านธนาคารกรุงเทพ กำหนดดอกเบี้ยไว้ที่ 4.9% สูงกว่าเดือนก่อนถึง 0.9%
เพราะถ้าตลาดยังมองไม่เห็นเพดานเงินเฟ้อก็จะทำให้ต้องกำหนดผลตอบแทนให้สูงเพื่อดึงดูดใจนักลงทุน เนื่องจากก่อนหน้านี้พันธบัตรชุดดังกล่าวที่กำหนดผลตอบแทนที่ 3% เศษในบางเดือนจะขายไม่หมด
คนกู้เหนื่อย
เขากล่าวต่อไปว่า เมื่อแบงก์ชาติส่งสัญญาณมาอย่างนี้แล้ว อัตราดอกเบี้ยในตลาดย่อมต้องปรับขึ้นในระดับหนึ่ง ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นส่วนหนึ่งเป็นการปรับเพื่อให้เท่ากับธนาคารอื่นและป้องกันลูกค้าเงินฝากหนีไป
ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากก้าวกระโดดของธนาคารไทยพาณิชย์ ระยะเวลา 15 เดือนที่ปรับดอกเบี้ยเพิ่มทุก 3 เดือน เริ่มที่ 2.75% จนถึง 4% เฉลี่ยแล้วจะได้ผลตอบแทนราว 3.3% นับว่าเป็นอัตราที่น่าสนใจไม่น้อย
เมื่อแบงก์กล้าล่อใจลูกค้าด้วยดอกเบี้ยสูง ก็ย่อมต้องมีช่องทางการในการปล่อยสินเชื่อ จะเห็นได้ว่าระยะเวลาในการฝากที่ประมาณ 12-15 เดือนนั้น จะตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในกิจการ ที่ต้องการเงินมากขึ้นกว่าเดิมจากผลของราคาต้นทุนการผลิตทุกประเภทที่เพิ่มขึ้น
ดอกเบี้ยเงินฝากจากนี้ไปมีโอกาสขยับขึ้นได้อีก ส่วนจะเพิ่มเท่าไหร่นั้นคงต้องขึ้นกับความต้องการสินเชื่อ และภาระการแข่งขันอื่น เช่น พันธบัตรรัฐบาล(3ปี)ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง ดังนั้นเราจะได้เห็นธนาคารเริ่มที่จะออกโปรโมชั่นเงินฝากด้วยดอกเบี้ยที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อล็อกเงินฝากของผู้มีเงินออมไว้ก่อนที่จะถูกเจ้าอื่นมาแย่งไป
ในทางกลับกันเมื่อด้านเงินฝากขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องปรับขึ้นตาม ดังนั้นผู้ที่มีภาระผ่อนชำระกับธนาคารที่อิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัวคงต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้บ้าง หากในปีนี้ขึ้นไป 0.5% ผู้ที่ผ่อนบ้าน 1 ล้านบาทก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีกราว 5 พันบาท แต่ส่วนใหญ่แล้วหากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1% ธนาคารมักจะไม่ขอเพิ่มวงเงินผ่อนชำระ แต่จะใช้วิธีการตัดเงินต้นให้น้อยลง เท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระออกไปนั่นเอง
สำหรับภาคธุรกิจที่ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นนั้น ย่อมทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้นนอกเหนือจากราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมัน ดังนั้นกำไรที่ได้อาจจะน้อยลงหรืออาจจำเป็นต้องปรับราคาขายให้สูงขึ้น หากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เมื่อราคาสูงขึ้นก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไปเร่งเงินเฟ้อได้
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้คือ กำลังซื้อของประชาชนจะลดลง รายได้จากการขายสินค้าของผู้ประกอบการก็จะลดลงตาม สิ่งที่ตามมานั่นคือการเก็บภาษีของภาครัฐที่อาจจะมีปัญหาตามมาได้ ดังนั้นแบงก์ชาติจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแท้ง
นี่คือสถานการณ์ที่ค่อนข้างลำบากทั้งในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ แบงก์ชาติและรัฐบาล เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ที่ขึ้นนั้นไม่เกิดผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคประชาชนตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม
เริ่มจากการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมที่กำหนดไว้จาก 1 แสนบาทเป็น 1.5 แสนบาท ทำให้คนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือนไม่ต้องเสียภาษีเลยนั้น เมื่อเทียบที่ฐานรายได้ที่ 2 หมื่นบาทระหว่างเกณฑ์เก่ากับเกณฑ์ใหม่กรณีคนโสด เมื่อหักค่าลดหย่อนและประกันสังคมแล้ว เท่ากับรัฐคืนเงินให้พวกเขาราว 341 บาทต่อเดือนหรือ 1.7% ของรายได้ ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนอยู่ที่ 5.8% ย่อมไม่พอต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ที่เห็นชัดที่สุดคงเป็นมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้รัฐบาลจะยอมลดค่าธรรมเนียมในการโอนและจดจำนองลงมาเหลือที่ 0.01% หรือลดภาษีธุรกิจเฉพาะลงมาอยู่ที่ 0.1% แต่จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้นในอีกไม่ช้า ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญของมาตรการดังกล่าว
“คนที่จะซื้อบ้านใหม่ก็ต้องคิดหน้าคิดหลังอยู่พอสมควร หากเลี่ยงได้พวกเขาก็เลือกที่จะรอให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้”
นอกจากนี้แล้วมาตรการของกระทรวงการคลังนั้นในทางปฏิบัติยังขัดแย้งกันไม่น้อยเห็นได้จากการส่งเสริมให้คนทำประกันชีวิตด้วยการเพิ่มรายการหักค่าลดหย่อนจาก 5 หมื่นเป็น 1 แสนบาท แต่ที่ผ่านมาประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างกรมธรรม์แบบออมทรัพย์กลับมีปัญหาจากกรมสรรพากรที่มองว่าเข้าข่ายเลี่ยงภาษี ทำให้ประกันประเภทนี้ต้องชะลอการขายออกไปเพื่อรอความชัดเจนจากกรมสรรพากร
หรือแม้แต่การเพิ่มรายการหักลดหย่อนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF)และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF)จาก 3 แสนบาทเป็น 5 แสนบาท ซึ่งคนในวงการนี้ได้ออกมาเสนอแนะว่า ไม่ได้ช่วยเพิ่มผู้ซื้อหน่วยลงทุนได้หรือส่งเสริมให้คนออมมากนัก เนื่องจากรัฐเพิ่มให้เฉพาะรายการหักลดหย่อนแต่ไม่ได้เพิ่มในเรื่องของเพดานในการซื้อหน่วยลงทุนที่ยังจำกัดอยู่ที่ 15% ตามเดิม
เมื่อภาคประชาชนที่เป็นผู้ซื้อหลัก ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาล นั่นหมายถึงภาคธุรกิจแม้รัฐจะมอบสิทธิประโยชน์ให้ก็คงได้อะไรไม่มาก เพราะตราบใดที่อำนาจซื้อของผู้ซื้อตัวจริงไม่เพิ่มขึ้น สินค้าที่ผลิตมานั้นก็ยากที่จะได้รับความสนใจจากประชาชน
เดินเกมบีบ-ปลด
เมื่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศเริ่มขยับขึ้นภายใต้อำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังที่ใช้นโยบายภาษีทุกอย่างมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแล้วยังไม่เห็นผลนั้น ก็ยังอยากเห็นดอกเบี้ยในประเทศต่ำเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ที่จะหมายถึงประโยชน์ขั้นสุดท้ายที่จะคืนกลับมานั่นคือการเก็บภาษีจากภาคประชาชนและธุรกิจ
ดังนั้นความพยายามที่จะจูงใจให้ธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นองค์กรอิสระ เห็นด้วยกับการคงดอกเบี้ยต่ำ จึงส่งเสียงดังขึ้นทุกขณะ ดูเหมือนที่ผ่านมา 2 หน่วยงานนี้มีความเห็นที่แตกต่างกันไม่น้อย เริ่มตั้งแต่การบีบให้แบงก์ชาติยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ที่ออกไว้ตั้งแต่ปลายปี 2549 เมื่อรัฐบาลพลังประชาชนเข้ามารับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ก็เดินเครื่องจนแบงก์ชาติยอมยกเลิกเมื่อ 3 มีนาคม 2551
ด้วยความบังเอิญที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นถึง 7.6% หลังจากนั้นข่าวความไม่ชอบมาพากลในการขายหุ้นธนาคารไทยธนาคารที่พุ่งเป้าไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ว่าได้สร้างความเสียหาย จุดหมายหลักพุ่งเป้าไปที่ตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อม ๆ กับการออกมาส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย
การออกแรงกดดันอย่างหนักของนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งในเรื่องการขาดทุนจากการขายหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารไทยธนาคารให้กับนักลงทุนต่างชาติ ที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ว่า ทำไปโดยผิดหลักการที่ไม่ลดทุนก่อนที่เพิ่มทุน ทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมด้วยร่องรอยความขัดแย้งในเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้านบุคคลที่จะเข้ามานั่งในบอร์ดของธนาคารนครหลวงไทยที่กระทรวงการคลังส่งเข้ามา
รวมถึงการเดิมเกมของกระทรวงการคลังที่จะแต่งตั้งบอร์ดสรรหา ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ เนื่องด้วยบอร์ดชุดดังกล่าวมีผลต่อการพิจารณาการทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังยังต้องการฟื้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายดอกเบี้ยต่ำ สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นจากแรงเก็งกำไรของนักลงทุน
ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาแบงก์ชาติยังคงตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% มาโดยตลอด ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในเดือนกรกฎาคมนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะมีการเปลี่ยนตัวหรือไม่ เพราะฝ่ายของรัฐบาลนั้นได้วางตัวธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) จ่อคิวนั่งเก้าอี้นี้ไว้พร้อม ที่แม้เจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธแล้วก็ตาม
หากทุกอย่างลงตัว ประเทศไทยก็จะเน้นไปที่นโยบายดอกเบี้ยต่ำตามความต้องการของกระทรวงการคลัง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงก็ตาม
แต่การเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ ตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน แม้กระทรวงการคลังจะเดินเกมด้วยการส่งคนของตัวเองเข้าไปในบอร์ดที่มีผลต่อการทำงานของตัวผู้ว่าฯ เพราะเงื่อนไขในการให้ออกนั้นจะต้องเป็นความผิดร้ายแรง
อย่างไรก็ดีแรงกดดันในเรื่องเพิ่มทุนไทยธนาคาร อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่ใช้บีบตัวผู้ว่าฯ หรือแม้ไม่ต้องเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ แต่อาจส่งผลให้แบงก์ชาติจำใจที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมด้วยความไม่เต็มใจ หากเป็นเช่นนั้นการฟื้นเศรษฐกิจภายใต้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ท่ามกลางเงินเฟ้อสูง ถือเป็นการวัดดวงว่าท่ามกลางราคาสินค้าแพง ค่าครองชีพสูงนั้น กำลังซื้อของประชาชนที่มีอยู่จะมีพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้หรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|