นอร์เทลเสนอทางออกซีดีเอ็มเอ แยกประมูลโครงข่าย-การตลาด


ผู้จัดการรายวัน(2 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

นอร์เทลเสนอทางออกซีดีเอ็มเอ กสท.แยกประมูลโครงข่ายกับการตลาดออกจากกันเหมือนไทยโมบายทศท. ที่โครง ข่ายซื้อตรงจากซัปพลายเออร์ ส่วน การตลาดใช้วิธีคัดเลือกเอกชน "ทอม เครือโสภณ" เสนอราคาอุปกรณ์บาดใจหากกสท.ซื้อนอร์-เทลวันนี้ โครงข่าย 8,000 ล้านบาท 1,000 สถานีฐานติดตั้งเสร็จใน 9 เดือน แต่รัฐบาลต้องตอบคำถามแบบจริงใจว่าอยากให้กสท.ทำซีดีเอ็มเอหรือไม่

นายทอม เครือโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์เทล เน็ท เวอร์คส (ประเทศไทย) กล่าวถึงโครงการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอว่า ประเด็นสำคัญของโครงการนี้คือนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีความตั้งใจจริงที่จะให้โครงการนี้เกิดขึ้นเป็นเป็นเรือธงธุรกิจของการสื่อสารแห่ง ประเทศไทย(กสท.) มากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เปิดซองราคาที่บริษัทเรียลไทม์ กับนอร์เทลเสนอราคาต่ำสุดประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท มีการซื้อเวลาให้ยืนราคามา 4 ครั้งโดยที่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

"เรียลไทม์เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะยืนราคาต่อไป เพราะการประมูลทุกครั้งมีต้นทุน อย่างเงินค้ำประกันซอง 30 ล้านบาท รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาต่างๆ"

ตามขั้นตอนประมูลแล้วเมื่อเรียลไทม์ไม่ยืนราคา กสท.ก็จะต้อง ไปเจรจากับบริษัทที่ 2 คือบริษัท อีพีซี โซลูชั่นกับลูเซนท์ ที่แพงกว่าประมาณ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งยอม ยืนราคาถึงสิ้นเดือนก.ค.แต่เป็นเรื่องยากที่จะสามารถลดราคาลงมาได้มากจนเป็นที่น่าพอใจ เพราะที่ผ่านมากสท.ไม่เคยบอกนอร์เทลเช่นกันว่าต้องการซื้อของในราคาเท่าไหร่ หรือต้องการให้ลดราคาลงมามากน้อยแค่ไหน

"ไม่เคยมีการเจรจาต่อรองเรื่องราคาอย่างจริงจัง ผมอยากรู้ว่าท่านรัฐมนตรีอยากให้กสท.ทำโครงการซีดีเอ็มเอจริงหรือไม่"

เขาเสนอทางออกว่าราคาที่แพง 3 หมื่นกว่าล้านบาทเกิดขึ้นเพราะกสท.ปฏิเสธที่จะรับความเสี่ยงทุกด้าน โดยเฉพาะการเอาเรื่องโครงข่ายกับการตลาดผูกเข้าด้วยกัน ทำให้ต้นทุนโครงการแพงมาก กสท.สามารถจัดการโครงการ นี้ด้วยวิธีใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการล้มประมูลแล้วเปิดประมูลใหม่หรือใช้วิธีเพิ่มเงื่อนไขแนบท้ายแต่ก็ยากในการปฏิบัติจริงเพราะอาจถูกฟ้องร้องได้ ความเห็นของเขาคือจัดการโครงการนี้เหมือนไทยโมบายของทศท.ด้วยการซื้อโครงข่ายโดยตรงกับซัปพลายเออร์ และ จ้างเอกชนมาทำการตลาดเหมือนบริษัทสามารถกับไออีซี

"ผมเสนออย่างนี้หากซื้ออุปกรณ์นอร์เทล ที่ผ่านการทด สอบด้านเทคนิคแล้วว่าเชื่อมต่อกับ โครงข่ายซีดีเอ็มเอได้ไม่มีปัญหาราคาเพียง 8,000 ล้านบาทหรือ 200 ล้านเหรียญ สำหรับ 1,000 สถานีฐาน ติดตั้งแล้วเสร็จในเวลา 9 เดือน ซึ่งหากเป็นการซื้อนอร์เทลพร้อมหาแหล่งเงินกู้ให้ด้วย"

เขาเชื่อว่าขนาดโครงการไทยโมบาย โทรศัพท์มือถือ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ยังมีเอกชนรุมตอมอยากทำตลาดให้ กรณีซีดีเอ็มเอน่าจะเป็นที่สนใจของเอกชนมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะการทำตลาดของ HUTCH ในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นศักยภาพของโครงข่ายซีดีเอ็มเอ และแอปพลิเคชั่นบริการต่างๆ ที่เหนือกว่าระบบปัจจุบันด้านการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.