การปรับตัวของธนาคารในยุโรปหลัง 1992


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

กระแสความเคลื่อนไหวเข้าสู่ตลาดร่วมยุโรปอย่างแท้จริงที่ใกล้เข้ามาทุกขณะนั้น เป็นตัวกระตุ้นให้ภาคธุรกิจบริการการเงินตื่นตัวเด่นชัดที่สุดในช่วงหลังมานี้ ในส่วนของธนาคารที่มีการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศอยู่แล้วต่างถือว่าหลังปี 1992 เป็นต้นไปสภาพภายในอีซีเป็นเครื่องช่วยปกป้องตลาดให้ตนได้เป็นอย่างดี

เพราะขณะสภาพการเป็นตลาดร่วมช่วยให้แบงก์ต่าง ๆ เข้าตลาดต่างประเทศในกลุ่มอีซีด้วยกันได้ง่ายขึ้นนั้น มันก็เป็นความท้าทายสำหรับยุทธศาสตร์ในประเทศด้วย โดยเฉพาะสำหรับแบงก์ขนาดเล็กแล้ว หัวใจหลักของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่ว่า จะสามารถเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในต่างประเทศได้อย่างไร แต่เป็นการพยายามป้องกันส่วนแบ่งตลาดในประเทศของตนไว้ไม่ให้ถูกคู่แข่งต่างชาติหน้าใหม่เข้ามาช่วงชิงไปได้สำเร็จมากกว่า

ฮิลารี่ เพย์น นักวิเคราะห์ประจำศูนย์ข่าวกรองธุรกิจบริษัทเอสอาร์ไออินเตอร์เนชั่นแนล พูดถึงแนวโน้มสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของอุตสาหกรรมการธนาคารธุรกิจรายย่อย (RETAIL BANKING INDUSTRY) ไปแล้วหลายอย่างและยิ่งเมื่อถึงปี 1992 ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งหรือทำให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เหล่านี้

การก้าวสู่ความเป็นแบงก์สากล

เป็นแนวโน้มระดับชาติที่มีการทลายกำแพงขีดคั่นระหว่างธุรกิจวาณิชธนกิจ (INVESTMENT BANKING) กับธนาคารพาณิชย์ลงเรียบร้อยแล้ว กรณีนี้ให้ผลดีในแง่ในโอกาสของการขายบริการข้ามพรมแดนหรือการกระจายต้นทุนและความเสี่ยงได้ดีขึ้น แต่อาจเจอปัญหาหลายอย่างที่รวมถึงการคุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อย (CONFLICTS OF INTEREST) การรักษาความชำนาญของสต๊าฟเอาไว้ และความซับซ้อนเกี่ยวกับการบริหารใหม่ ๆ

แปรรูปรัซวิสาหกิจ

ฝรั่งเศสและอังกฤษเริ่มสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นด้วยโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนานใหญ่ แม้เหตุการณ์ "แบล็กคมันเดย์" เมื่อปี 1987 ที่ดัชนีราคาหุ้นดาวโจนส์ตกลงรวดเดียวกว่า 500 จุดและส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงตลาดหุ้นในทั่วโลกรวมทั้งทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องชะลอโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 3 กิจการใหญ่นั้นแบงก์ฝรั่งเศสก็ยังได้ชื่อว่าเป็นแบงก์ระดับยักษ์ใหญ่ของยุโรปอยู่ดี และสามารถขยายอิทธิพลออกไปอีกถ้ากลายเป็นกิจการที่ปลอดจากความควบคุมของรัฐบาล

แนวโน้มตลาดและสินค้า

จากความเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ ในการขยายตัวสินค้าคือบริการทางการเงินให้หลากหลายออกไปนั้น ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสำคัญของธุรกิจการเงินในแง่ของสถาบันระดับชาติ ขณะเดียวกันธุรกิจธนาคารภาคเอกชนที่มีการพัฒนาเป็นธุรกิจะหว่างประเทศมาแล้วนั้น ก็สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในสภาพตลาดร่วมอย่างแท้จริงของยุโรป

การพัฒนาตลาดผู้บริโภค

แม้ว่ากลุ่มผู้บริโภคระดับรายได้สูงจะเริ่มมีพฤติกรรมซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนของธุรกิจบริการการเงินแต่แนวโน้มของผู้บิรโภคกลุ่มนี้ก็ยังโดดเด่นจนศึกาาได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้การที่ผู้บริโภคยังคงความเป็นอนุรักษ์นิยมเอาไว้ ทำให้การเข้าไปตั้งสำนักงานของแบงก์ต่างชาติไม่เป็นที่นิยมเท่าวิธีเข้าไปร่วมมือกับเครือข่ายในประเทศที่มีอยู่เดิมในที่สุดแล้ว การทำกิจการแบบมีเครือข่ายระดับชาติพร้อมภาพพจน์ระดับท้องถิ่น แล้วเสริมด้วยความยิ่งใหญ่ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของยุโรปก็จะสามารถทำให้กิจการนั้น ๆ น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนรายย่อยจนได้

ระบบการโอน

จากภาวะความกดดันของการธนาคารธุรกิจรายย่อยที่เผชิญกับส่วนต่างกำไรลดลงขณะเดียวกับที่ระบบการโอนก็เป็นภาระต้นทุนถึง 2 ใน 3 ของต้นทุนในส่วนที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ทำให้สถาบันแบงก์ทุกแห่งต้องพิจารณาปรับโครงสร้างระบบเครือข่ายกันยกใหญ่ บางแบงก์ถึงกับตั้งปัญหากับตัวเองว่า การมีแบงก์สาขานั้นจำเป็นแค่ไหน ตัวอย่างเช่นแบงก์ COMPAGNIE BANCAIRE ซึ่งใช้วิธีระดมเงินทุนทางตลาดเงิน และประกอบธุรกิจผ่านทางแบงก์ที่เป็นพันธมิตรกัน หรือไม่ก็บริษัทปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคและไดเร็กต์มาร์เก็ตติ้ง

แม้ว่าปัจจุบันการสร้างเครือข่ายแบงก์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วยุโรปจะล่าข้าไม่คืบหน้าเท่าที่ควร แต่การให้บริการด้วยบัตรเป็นหลักจะยังรุดหน้าต่อไปโดยในปี 1988 ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวไปสู่การชำระเงินด้วยระบบเดียวทั่วยุโรป โดยมี 40 แบงก์รวมตัวกันลงนามในข้อตกลงเพื่อระบบแลกเปลี่ยนด้วยบัตรเป็นหลัก ซึ่งจะนำไปสู่การทำให้ระบบสำคัญ ๆ ในยุโรปได้รวมตัวกัน ขั้นแรกจะเริ่มที่ระบบเอทีเอ็มก่อนแต่เป้าหมายสูงสุดที่วางไว้คือระบบ EFT-POS

การพัฒนาในส่วนที่ไม่ใช่การธนาคาร

การที่สถาบันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น บริษัทประกัน เข้าแข่งขันในตลาดธนาคารด้วย ทำให้แบงก์ถูกบีบ สู่การขยายแนวธุรกิจขณะเดียวกันบรรดาผู้ค้าปลีกระดับยักษ์อย่างมาร์ค แอนด์สเปนเซอร์ในอังกฤษ, จีบีอินโน ในเบลเยียมต่างก็พัฒนาแผนกบริการทางการเงินของตนเองขึ้นมาด้วย

อย่างไรก็ตาม 1992 จะไม่เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่าการแข่งขันในการธนาคารธุรกิจรายย่อยจะยังเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งอยู่ ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต่างยอมรับว่า ตลาดร่วมที่พูดกันนั้นไม่ใช่ตลาดที่มีรูปแบบ (UNIFORM) เดียวกัน และความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากแรงผลักดันของตลาดนั้นอาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะเข้ารูปเข้ารอยได้ นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างที่หลากหลายในแง่ความหนาแน่นของการตั้งแบงก์ หรือสาขาแนวโน้มด้านเงินออม การใช้บัตรเครดิต และขนาดของสถาบันธนาคารในประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป

เมื่อพิจารณาในแง่ของยุทธศาสตร์เพื่อปี 1992 แล้วจะพบ 2 ยุทธศาสตร์หลักขั้นพื้นฐานสำหรับการเป็นตลาดร่วมคือ เป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับจากนั้นก็จะพบทางเลือกสำหรับยุทธศาสตร์ย่อยตามมามากมาย เช่น แบงก์ที่มีเงินหนาพอและเต็มใจจะรับความเสี่ยงอันเกิดจากความยุ่งยากในการรวมตัวกัน และถูกมองว่าเป็นนักล่าเหยื่อก็จะนิยมเข้าไปซื้อเครือข่ายของธุรกิจอื่น หรือสถาบันอื่น ๆว ก็จะเลือกวิธีการร่วมเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์หรือการถือหุ้นระหว่างกัน ซึ่งถือว่าเป็นหนทางหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรงกับคู่แข่งเจ้าถิ่น และเป็นการเข้าตลาดโดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำส่วนแบ่งก์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ต้องการเป็นพันธมิตรกัน ก็นิยมวิธีทำข้อตกลงด้านบริการที่ทำให้พวกเขาได้เปรียบในแง่ต้นทุนต่ำ ความยืดหยุ่น และการเลือกเข้าตลาดโดยแทรกช่องว่างตลาดในส่วนที่คัดเลือกแล้ว วิธีนี้จะมีรูปแบบเป็นทางการน้อยกว่าการร่วมทุนและจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดของบุคคลที่สอง

ทางเลือกอื่น ๆ มีความร่วมมือระหว่างกิจการแบงก์และไม่ใช่แบงก์ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วผูเป็นหุ้นส่วนจำเป็นต้องกำหนดข้อประนีประนอมให้น้อยกว่าทางเลือกอื่น ๆ การเริ่มต้นสร้างเครือข่ายขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการควบคุมมากขึ้นแต่ต้นทุนสูง และการเป็นพันธมิตรระหว่างกิจการเจ้าถิ่นด้วยกันหรือเป็นพันธมิตรเชิงรับ ซึ่งอาจเน้นการสร้างความแข็งแกร่งที่มีอยู่ให้เป็นที่รู้จัก และการปรับโครงสร้างในวิถีทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของกิจการ เพื่อให้ยืนหยัดเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากคู่แข่งหน้าใหม่ที่รุกเข้ามาในบ้านของตัวเองวิธีสุดท้ายนี้จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ หลีกเลี่ยงปัญหาเงินทุนและการบริหารกระจัดกระจายรวมทั้งความล่าช้าจากการประเมินผลดีของยุทธวิธีนี้ภาพรวมที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีตลาดร่วมยุโรปแล้วก็คือ การมีแบงก์ขนาดใหญ่ขึ้นแต่น้อยรายลง แบงก์ที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วก็จะยิ่งกร้าวแกร่งยิ่งขึ้น เพราะได้รับประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนตามขนาดกิจการที่ใหญ่ขึ้น การบริหารที่ดีขึ้น และซับซ้อนขึ้นการมีสินค้าหลากหลายขึ้น และเทคโนโลยีทีเหนือกว่า

ส่วนกิจการที่อ่อนแอก็จะผนวกกัน หรือไม่ก็ถูกคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่กว่าซื้อกิจการถ้าเป็นแบงก์ขนาดเล็กแต่มีความชาญฉลาดก็จะหาวิธีแทรกช่องว่างตลาดเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง

สำหรับแบงก์อีกมากมายที่ไม่ใหญ่พอจะมีบทบาทสำคัญในตลาดระหว่างประเทศ ก็จะเลือกร่วมมือกันด้วยหนทางดีที่สุดที่มีอยู่ จนถึงปัจจุบันนี้จะเห็นว่าแบงก์พาณิชย์ระดับน้ำจะมีภาพพจน์การเป็นแบงก์ระหว่างประเทศมากกว่าแบงก์ที่เน้นระดมเงินออมหรือแบงก์สหกรณ์ แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้จะเปลี่ยนไป ถ้าแนวโน้มในปัจจุบันก่อให้เกิดการผนวกกิจการที่ประสบผลสำเร็จ อาทิการที่กลุ่มแบงก์ระดับท้องถิ่นของเยอรมนีตะวันตกรวมตัวกันยิ่งแบงก์เหล่านี้รวมตัวมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้องค์กรที่เกิดขึ้นมีศักยภาพในการขยายตัวสู่เวทีระหว่างประเทศมากขึ้นเท่านั้นพูดกันจริง ๆ แล้วยุทธวิธีผนวกิจการหรือร่วมมือกันอาจถือว่าดีที่สุดสำหรับเป็นทางเลือกในระยะยาวการเข้าเสนอซื้อกิจการแบบจู่โจมจะมีอยู่น้อยมากในภาคธุรกิจ การธนาคารที่เจริญก้าวหน้าอยู่ได้เพราะแรงสนับสนุนจากมหาชนยุทธวิธีร่วมทุนระห่างสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีอยู่บ้างโดยทั่วไป แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพจริงขณะเดียวกันการร่วมมือด้านบริการดดยไม่มีการตั้งองค์กรในรูปแบบเป็นทางการขึ้นมารองรับนั้น ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นยุทธวิธีที่มีศักยภาพสูงมาก

และในท้ายที่สุดแล้วการควบคุมการเติบโตจากภายในอาจกลายเป็นรูปแบบของการขยายกิจการที่มีเสถียรภาพสูงสุดวิธีหนึ่ง เพราะช่วงลดความเสี่ยงระยะสั้นจากการประนีประนอมหรือการรวมตัวกับฝ่ายอื่น ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.