|
เอกชนวิตกศก.ไทยครึ่งปีหลังระส่ำรัฐบาลขาดความชัดเจนแก้ไขปัญหา
ผู้จัดการรายวัน(25 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เอกชนวิตกปัญหาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังน่าห่วงกว่าครึ่งปีแรกเหตุศก.โลกอาจชะลอตัวจากวิกฤติน้ำมัน ขณะที่ศก.ไทยต้องเผชิญแรงกดดดันทั้งน้ำมัน การเมือง มองไตรมาส 3 ศก.ซึมแน่ ชี้มาตรการกระตุ้นศก.จากรัฐบาลจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญซึ่งปัจจุบันมองไม่เห็นชัดเจนว่าจะดูแลปัญหาได้ “กกร.”ยังคาดหวังนายกฯจะจัดสรรเวลาให้หารือด้านเศรษฐกิจอย่างเร็วสัปดาห์หน้า
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจครึงปีหลังปีนี้มีความน่าเป็นห่วงกว่าครึ่งปีแรกเนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่อาจจะชะลอตัวลงได้อีกหากปัญหาน้ำมันแพงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นอาจกระทบการส่งออกไทย ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศเองก็ยังต้องเชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่แรงซื้อในประเทศกลับยังคงมีการขยายตัวต่ำอยู่
“ ดูแล้วครึ่งปีหลังนี้ก็น่าห่วงกว่าเพราะปัญหาจะมีทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในของไทยคือการเมืองที่เริ่มไม่ชัดเจน ทำให้กำลังซื้อคนไทยลดไปมาก โรงงานไม่กล้าขยายลงทุนโชคดีที่ส่งออกยังโตอยู่จึงช่วยได้มากที่ผ่านมา”นายสันติกล่าว
สำหรับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของรัฐบาลที่จะมีโครงการแจกคูปองคนจนนั้นก็ถือว่าเป็นจุดที่ดีในการดูแลค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยแต่ต้องระวังไม่ให้คูปองนั้นเป็นเงินสดเพราะอาจจะนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจะใช้ คูปองควรเป็นการนำไปแลกสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร เป็นต้น และควรจะมีระยะเวลาที่ชัดเจนและจะต้องลงทะเบียนผู้ที่จะมีสิทธิใช้คูปองให้ดีเพื่อให้ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง
นายธนวรรธ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีความไม่แน่นอนสูงกว่าเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกโดยเฉพาะไตรมาส 3 ค่อนข้างชัดเจนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเนื่องจากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงอยู่และยังมีปัญหาการเมืองที่เข้ามาซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะจบลงในทิศทางใด
“ไตรมาสแรกเศรษฐกิจเราโต 6% ไตรมาส 2 น้ำมันเริ่มสูงมาก แต่ไตรมาส 3 น้ำมันยังมีปัญหาอยู่ผสมกับปัญหาทางการเมือง ไตรมาส 3 คงซึมแน่เพราะงบประมาณรายจ่ายของรัฐเองก็ไม่แน่ใจว่าจะออกมาใช้ทันหรือไม่ ดังนั้นไตรมาส 4 เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาหรือไม่ก็ต้องจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐรวมไปถึงน้ำมันแพงเพราะขณะนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐภาพรวมยังไม่ชัดเจน”นายธนวรรธ์กล่าว
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีความสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการโดยเฉพาะเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ฯลฯ โดยส่วนของคูปองคนจนนั้นเป็นการช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยเท่านั้นไม่สามารถเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้
นายบุญชัย โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สหพัฒนพิบูล และประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นแนวทางชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง เว้นแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขอให้ภาคเอกชนตรึงราคาสินค้าซึ่งแนวทางดังกล่าวหากในที่สุดเอกชนอยู่ไม่ได้ก็ต้องเลิกผลิตยิ่งซ้ำเติมปัญหา
สำหรับผู้ผลิตการปรับขึ้นสินค้าในขณะนี้ถือว่ามีความจำเป็นและยอมรับว่าบางสินค้าก็ไม่สามารถปรับขึ้นได้มากนักเพราะแรงซื้อประชาชนต่ำ ผู้ผลิตจึงต้องระวังพอสมควร ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีลดขนาดสินค้าแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคา
กกร.หวังรอหารือศก.สมัคร
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) กล่าวว่า กกร.ได้ทำหนังสือไปยังนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าหารือด้านเศรษฐกิจกับนายกรัฐมนตรีในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ตั้งแต่2 สัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้รับตอบกลับโดยทางสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมประเด็นในการหารืออยู่คาดว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาดอาจจะได้หารือในสัปดาห์หน้าเป็นอย่างเร็ว
“กกร.คงไม่คาดหวังว่านายกรัฐมนตรีจะหารือกับเอกชนในเร็วๆ นี้เพราะเข้าใจว่าปัญหาการเมืองเวลานี้น่าจะสำคัญกว่า แต่หลังจากปัญหาการเมืองคลีคลายนายกรัฐมนตรีก็คงจะหารือเอกชนในที่สุดเพราะถือว่าเวทีกรอ.นั้นจะเป็นการมองเศรษฐกิจร่วมกันที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น ”แหล่งข่าวกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|