ในวงการค้าพืชไร่มันสำปะหลัง บริษัทข้ามชาติอย่างปีเตอร์เครเมอร์สัญชาติเนเธอร์แลนด์เข้ามาฝังตัวเงียบ
ๆ เช่าโกดังมาบุญครองอบพืชและไซโลที่ศรีราชามานานนับ 20 ปีเศษแล้ว และขยายโรงงานเพิ่มที่โคราชอีกแห่งหนึ่ง
เพื่อบุกเบิกการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประชาคมยุโรป แต่มาระยะหลังค่อนข้างเงียบไปสักหน่อย
เพราะปรับตัวเข้ากับนโยบายผีเข้าผีออกของราชการไทย สู้ผู้ส่งออกไทยสายเลือดจีนไม่ไหว
ขณะเดียวกัน บริษัทส่งออกไทยที่เป็นดาวรุ่งมาแรงที่สุดในวงการก็เห็นจะไม่พ้นทีเอช
เอช กรุ๊ป ของตระกูล ตันติพงศ์กุล จากชลบุรี ซึ่งในระยะ 3 ปีมานี้สร้างความฮือฮาให้กับวงการมาก
กิจการเติบโตจากบริษัทผลิตแป้งมันเล็ก มาเป็นกลุ่มเจ้าของโกดังขนาดใหญ่ที่อยุธยามียอดขายปีละกว่า
3,000 ล้านบาท ทั้งนี้มีคนหนุ่มไฟแรง 2 คนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จคือวันชัย
ตันติพงศ์กุล กรรมการจัดการ และเสรี เด่นวรลักษณ์รองผู้จัดการกลุ่ม
เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายต่างบรรลุข้อตกลงอย่างเงียบ ๆ หลังจากการเจรจานานหลายเดือนเพื่อร่วมมือกันเปิดโฉมหน้าใหม่ของการค้าพืชไร่ไทย-อีซี.
เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนพร้อมกันทีเดียว 2 บริษัทเพื่อที่จะทำการค้าพืชไร่ในขอบข่ายที่ใหญ่โตกว่าเดิมอีกหลายเท่า
และอุดรอยโหว่ต่าง ๆ ที่เป็นจุดอ่อนของการค้าแต่ละฝ่าย
บุคคลที่อยู่เบื้องหลังรายการร่วมทุนคราวนี้คือ เสรี เด่นวรลักษณ์ ซึ่งเป็นอดีตพนักงานระดับบริหารของปีเตอร์
เครเมอร์ในไทยมาหลายปีก่อนจะย้ายไปอยู่กับกลุ่มทีเอชเอช. ซึ่งทำให้ทุกอย่างว่ากันง่ายขึ้น
บริษัทร่วมทุนแห่งแรกชื่อทีเอช. อะโกร-อินดัสตรี้ (THAGRO-INDUSTRY CO.)
มีสัญชาติดัทช์ ตั้งสำนักงานอยู่ที่ร็อตเตอร์ดัม โดยมีทุนจดทะเบียนฝ่ายละครึ่ง
สำหรับทุนจดทะเบียนแรกตั้ง 5 ล้านกิลเดอร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหอกของกลุ่มทีเอชเอช.
ในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรในอีซี.ซึ่งกลุ่มไม่มีความชำนาญมาก่อน
เสรีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการลงทุนในบริษัทการค้านี้ ไม่ได้หมายความต่อไปนี้สินค้ามันสำปะหลังของทีเอชเอช.ที่มีอยู่หลายแสนตันจะต้องผูกพันติดแน่นกับปีเตอร์
เครเมอร์ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ทางด้านอาหารสัตว์ของเนเธอร์แลนด์และเยอรมนีตะวันตกเสมอไป
"แต่เราก็จะเน้นความสำคัญมาให้บริษัทนี้มากขึ้นเว้นเสียแต่ว่ามีคนอื่นเสนอราคาซื้อแพงกว่าที่เราค้ากันเอง"
บริษัทที่สองนับได้ว่าทันสถานการณ์ที่สุด เพราะเป็นการต้อนรับนโยบายใหม่ของรัฐบาลชาติชาย
ที่เปิดให้มีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์โลกเสรีมากขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสหกรรมเลี้ยงสัตว์ที่กำลังโตวันโตคืนปีละกว่า
30% เพราะบริษัท BEST FEED PC CO. นั้นจะทำหน้าที่เป็นนำเข้า และจำหน่ายสำหรับกากถั่วเหลือง
กากถั่วต่าง ๆ ซึ่งเดิมปีเตอร์ เครเมอร์เป็นผู้ค้าเองอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่กระฉับกระเฉงเท่าที่ควร
บริษัทนี้จดทะเบียนเริ่มต้นแค่ 10 ล้านบาท ในอัตราส่วนหุ้นไทย 51% ตามกฎหมาย
ซึ่งทุนจดทะเบียนเล็กน้อยขนาดนี้เป็นธรรมดาสำหรับบริษัทการค้าแต่สิ่งที่จะมองเห็นภาพให้ชัดก็คือนับตั้งแต่นี้ไป
การผูกขาดนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในกลุ่มชลบุรีหรือพวกค้ากากถั่วจีนก็จะมีคู่แข่งที่เพิ่มความเข้มแข็งไม่แพ้กันมาแทน
ประโยชน์ที่น่าจะได้คือกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์นั่นเอง
เสรีบอกว่า น่าเสียดายที่การตกลงตั้งบริษัทนี้ทำขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะปรับนโยบายในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ไม่อย่างนั้นแผนงานจะใหญ่โตกว่านี้ แต่ตอนนี้ก็มีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งก็คงต้องเร่งมือปรับแผนงานค้าให้มากขึ้นรับสถานการณ์
เพราะมีความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องซัพพลายนั้นไม่มีปัญหา เพราะระดับยักษ์ใหญ่อาหารสัตว์ยุโรปอย่างปีเตอร์เครเมอร์นั้นประกันเรื่องนี้ดีแล้ว
แต่เดิมจุดอ่อนของปีเตอร์เครเมอร์นั้นอยู่ที่ตลาดภายในประเทศไทยเอง เพราะในฐานะที่เป็นบริษัทข้ามชาติ
การทำอะไรต่อมิอะไรในประเทศอื่นย่อมต้องระมัดระวังมากกว่าคนในประเทศ ความคล่องตัวจะ
"ซิกแซ็ก" ก็สู้ไม่ได้ แม้ว่าจุดแข็งในระดับระหว่างประเทศจะมีมากแค่ไหนก็ตาม
ในขณะที่กลุ่มทีเอชเอช. นั้นความที่เกิดขึ้นที่หลังใครเขา การจะเติบโตไปในตลาดต่างประเทศเป็นเรื่องยาก
เพราะวงการค้าพืชไร่นั้นเจ้าเก่าเจ้ายุทธจักรคนไทยอย่างกลุ่มยูเรเซียน ศรีกรุงวัฒนา
แสงไทยบางปะกง หรือเอเชีย คอร์ป นั้นไปไกลลิบลับและยึดครองตลาดได้มากพอสมควร
หากไม่มีบริษัทร่วมทุนมาเกื้อหนุนมีหวังอนาคตไม่ไกลแน่
การจับมือกันอย่างพอเหมาะพอดี นอกจากจะปิดจุดอ่อนที่เคยมีแล้ว ยังเพิ่มขีดความสามารถ
ซึ่งคู่แข่งขันต่างก็เฝ้าจับตาดูอย่างใจจดใจจ่อพอสมควร เพราะนี่นับเป็นปรากฎการณ์ใหญ่ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในวงการค้าพืชไร่
นับตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งศรีกรุงวัฒนาไปดึงเอามิตซุยเข้ามาร่วมทุนบุกเบิกวงการค้ามันสำปะหลังหวังยึดครอง
ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่ไม่ประสบความสำเร็จ