|

ซีลวาเนีย ลอนช์หลอดซูเปอร์ผอมส่ง T5 เจาะตลาดรีเพลสเมนต์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ซีลวาเนียรุกตลาดหลอดซูเปอร์ผอม T5 ปะทะฟิลิปส์ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยลอนช์ หลอดเรโทร T5 เพื่อเจาะตลาดรีเพลสเมนต์ ตั้งเป้ายอดขายแสนหลอดในปีแรก คิดเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
การเติบโตของธุรกิจหลอดไฟและอุปกรณ์แสงสว่าง ที่ผ่านมามักมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยเท่ากับ GDP ของประเทศ ซึ่งถือว่าน้อย ดังนั้นค่ายผู้ผลิตอุปกรณ์แสงสว่างจึงหันมาให้ความสำคัญกับตลาดโครงการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์มีโครงการต่างๆเกิดขึ้นมากมายจึงเป็นโอกาสให้ตลาดหลอดไฟสามารถสร้างยอดขายให้เติบโตกว่าระดับ GDP ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมต่างหันมาให้ความสนใจในการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีแสงสว่างรุ่นใหม่ต่างชูคุณสมบัติในการประหยัดพลังงานไฟฟ้า แต่ก็มีราคาที่สูงกว่าหลอดรุ่นเก่า ส่งผลให้ตลาดมีโอกาสเติบโตมากขึ้น ทว่าปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัวเนื่องจากวิกฤตราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น
ประกอบกับปัจจุบันมีเทคโนโลยีแสงสว่างรุ่นใหม่ออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้นส่งผลให้ตลาดอุปกรณ์แสงสว่างในส่วนของโฮมยูสมีการเติบโตไม่แพ้ตลาดโครงการ ตลาดอุปกรณ์แสงสว่างที่เคยมีมูลค่า 5,000 กว่าล้านบาทมานานหลายปี เริ่มขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการที่หลายๆค่ายต่างโปรโมตหลอดประหยัดไฟเพื่อมาทดแทนหลอดไส้รุ่นเก่า โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีปริมาณการใช้หลอดไส้ค่อนข้างมาก ถ้าสามารถทำให้ตลาดเหล่านั้นสวิตชิ่งมาใช้หลอดตะเกียบได้จะสร้างมูลค่าให้ตลาดโตขึ้น 5 เท่า โดยราคาเฉลี่ยของหลอดตะเกียบอยู่ที่ 100 บาท ขณะที่หลอดไส้มีราคาประมาณ 20 บาท
ทว่าปัจจุบันการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงส่งผลให้มีการทำโปรโมชั่นกันอย่างหนัก โดยก่อนหน้านี้ฟิลิปส์เป็นรายแรกที่ดัมป์ราคาหลอดตะเกียบให้ต่ำกว่า 100 บาท เพื่อตีกันคู่แข่งก่อนจะหันไปโหมตลาดโครงการ ส่วนในปีที่ผ่านมาฟิลิปส์ใช้การเอ็ดดูเคตให้ผู้บริโภคหันมาเปลี่ยนหลอดประหยัดไฟโดยไม่ต้องรอให้หลอดไฟรุ่นเก่าเสีย โดยชูจุดขายในเรื่องของการประหยัดพลังงาน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคคืนทุนจากการประหยัดค่าไฟได้ภายใน 1-2 เดือน ขณะเดียวกันก็มีการทำโปรโมชั่นลดราคาหลอดตะเกียบจาก 135 บาท เหลือ 80 บาท ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนการขายหลอดตะเกียบของฟิลิปส์ขยับจาก 31% มาเป็น 50% ของรายได้ในกลุ่มธุรกิจอุปกรณ์แสงสว่าง
ในขณะที่ออสแรมก็มีการรุกตลาดอย่างหนัก โดยปีนี้มีการใช้พรีเซ็นเตอร์ “แพนเค้ก” พร้อมโปรโมชั่นซื้อหลอดตะเกียบ 1 หลอด แถม 1 หลอด ราคา 135 บาท นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังนำหลอดตะเกียบออกมาวางจำหน่ายในราคา 55 บาทเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่ใช้หลอดไส้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านหลอดให้หันมาใช้หลอดประหยัดไฟมากขึ้น
และเนื่องจากหลอดประหยัดไฟรุ่นใหม่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหลอดรุ่นเก่า ส่งผลให้ระยะเวลาในการซื้อหลอดใหม่เพื่อทดแทนหลอดเก่าที่เสื่อมสภาพไป หรือตลาดรีเพลสเมนต์ ยาวนานขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตที่ต่อเนื่องจึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีแสงสว่างแบบใหม่ๆเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เปลี่ยนหลอดใหม่ก่อนที่หลอดเก่าจะเสื่อมสภาพ หรืออาจจะเป็นการเพิ่มหลอดใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ที่แตกต่างจากหลอดเดิมที่มีอยู่
ล่าสุดมีการนำหลอดซูเปอร์ผอมหรือหลอด T5 เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ฟิลิปส์ได้ประกาศทุ่มงบกว่า 200 ล้านบาท ลอนช์หลอดไฟรุ่นใหม่หลายประเภท โดยหลอด T5 เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่มาพร้อมกับชุดโคมรางสำเร็จรุ่น Easy for Life ซึ่งประหยัดไฟกว่าหลอดผอมทั่วไป 25% นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโคมไฟติดเพดานรุ่นพิเศษที่ออกแบบมาสำหรับหลอด T5 โดยเฉพาะ
แต่เนื่องจากหลอด T5 มีความยาวน้อยกว่าหลอดผอมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงยังเป็นเรื่องยากที่จะทำการรีเพลสเมนต์ตลาดในทันที เพราะต้องมีการเปลี่ยนชุดรางหลอดไฟ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและยุ่งยาก อีกทั้งยังต้องใช้เวลา
ดังนั้นซีลวาเนีย จึงส่งหลอดซูเปอร์ผอม T5 ที่มาพร้อมกับชุดอะแดปเตอร์ที่สามารถต่อเข้ากับชุดรางหลอดไฟทั่วไปได้ทันที ซึ่งหากซีลวาเนียสามารถเจาะตลาดรีเพลสเมนต์ได้ ก็จะสามารถสร้างยอดขายได้อย่างก้าวกระโดด เพราะปัจจุบันครัวเรือนไทยมีประมาณ 20 ล้านครัวเรือน ประมาณกันว่าในแต่ละครัวเรือนจะต้องมีหลอดฟลูออเรสเซนต์รุ่นเก่าประมาณ 5-10 หลอด จึงมีโอกาสที่จะเจาะตลาดรีเพลสเมนต์ได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านหลอด
โดยหลอด T5 ที่ซีลวาเนียนำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย มี 2 ขนาดคือ 28 วัตต์ และ 14 วัตต์ ซึ่งมีความสว่างเทียบเท่าหลอดผอม 36 วัตต์และ 18 วัตต์ โดยมีราคา 450 บาท และ 300 บาทตามลำดับ ซึ่งเป็นราคาที่รวมอะแดปเตอร์ที่บรรจุบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าซื้อหลอดเปล่าจะมีราคาอยู่ที่ 100 บาทและ 70 บาท จึงถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดอย่างมากเพราะหลอดผอมในปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 20-40 บาท ในขณะที่อายุการใช้งานของหลอด T5 ยาวนานถึง 20,000 ชั่วโมง มากกว่า หลอด T8 ที่มีอายุการใช้งานเพียง 10,000 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หลอด T5 ที่ซีลวาเนียนำเข้ามาทำตลาดมี 2 ประเภทคือ Retro T5 ที่มาพร้อมชุดอะแดปเตอร์สำหรับเจาะตลาดรีเพลสเมนต์ ส่วนอีกประเภทคือ Nuvo T5 ซึ่งมาพร้อมชุดโคมไฟสำหรับใช้กับหลอด T5 โดยเฉพาะ เพียงต่อเข้ากับขั้วไฟก็ใช้งานได้ ซึ่งหลอดประเภทนี้กำลังถูกนำเสนอผ่านโครงการใหม่ๆ เช่น อาคารสำนักงาน และยังสามารถนำไปใช้เป็นไฟตกแต่งร้านค้า หรือเป็นไฟซ่อนตามซอกหลืบช่วยสร้างบรรยากาศให้กับบ้านหรือร้านค้าได้ดี
“น้ำมันแพง ส่งผลต่อเนื่องให้ค่าไฟแพง คนก็หันมาประหยัดพลังงานกันมากขึ้น อย่างยอดขายหลอดไส้ของเราลดลงถึง 50% ในขณะที่หลอดตะเกียบโตขึ้น ตลาดต่อไปคือหลอดฟลูออเรสเซนต์ซึ่งมีมากถึง 80% ของปริมาณหลอดไฟที่ผู้บริโภคใช้อยู่ ซึ่ง T5 จะทำให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากขึ้น” ทัตพงศ์ ภัทรพงศ์ศรี ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายตลาดในประเทศ ฮาเวลส์ ซีลวาเนีย (ประเทศไทย) กล่าว
ซีลวาเนียเน้นการจัดกิจกรรมโรดโชว์เพื่อเอ็ดดูเคตให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความคุ้มค่าจากการใช้หลอดซูเปอร์ผอมซึ่งจะคุ้มทุนในระยะเวลา 1 ปีครึ่ง โดยในการจัดโรดโชว์จะมีทั้งการเจาะตลาดโฮมยูสผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดและร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ส่วนตลาดโครงการจะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ออกแบบ วิศวกร ตลอดจนการเจาะตลาดโรงงานผ่านศูนย์ประชาสัมพันธ์ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ
โดยบริษัทตั้งเป้าว่าในปีนี้จะสามารถสร้างยอดขายหลอดซูเปอร์ผอม T5 ได้ 100,000 หลอด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท ขณะที่หลอดผอม T8 รุ่นเก่า ที่คาดว่าจะขายได้ 1,000,000 หลอด คิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท ทั้งนี้หากคิดเป็นสัดส่วนในเชิงปริมาณ หลอด T5 จะมีสัดส่วนเพียง 10% แต่หากคิดในเชิงมูลค่าจะสูงถึง 50% จากยอดขายหลอดฟลูออเรสเซนต์ของซีลวาเนีย โดยบริษัทให้ความสำคัญกับช่องทางจำหน่ายใน 3 ช่องทางหลักเท่าๆกันคือ โมเดิร์นเทรด ดีลเลอร์ และโปรเจกต์
เช่นเดียวกับฟิลิปส์ที่เน้นการให้ความรู้กับลูกค้าโดยในการสร้างตลาดไลติ้ง โซลูชั่น ฟิลิปส์ ปีนี้ได้จัดงานสัมมนาภายใต้ชื่อ Big Blue Day ครั้งที่ 1 ซึ่งแตกต่างจากการสัมมนาที่ผ่านมาซึ่งเน้นในเรื่องของการออกแบบใช้แสงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสด แต่ในการสัมมนาครั้งนี้จะเน้นการสร้างโซลูชั่นของแสงซึ่งถ้าใช้โคมไฟของฟิลิปส์ร่วมด้วย ก็จะช่วยประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพของแสงให้เพิ่มขึ้น
โดยการจัดสัมมนาถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบระบบแสงได้สัมผัสได้รับรู้ถึงเทคโนโลยีแสงสว่างของฟิลิปส์ ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มความถี่มากขึ้นจากเดิมที่จัดปีละ 5 ครั้ง ส่วนงาน Big Blue Day ที่เริ่มในปีนี้เชื่อว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 1,000 คน ทั้งลูกค้าโครงการ นักออกแบบแสงสว่าง วิศวกรไฟฟ้า ตัวแทนภาครัฐและเอกชน ตลอดจนดีลเลอร์ ซึ่งครอบคลุมตลาดแสงสว่าง 5 กลุ่มประกอบด้วย บ้าน อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม และไฟนอกอาคารอย่างไฟถนน
นอกจากการส่งหลอดซูเปอร์ผอมเจาะตลาดโฮมยูสแล้ว ทั้งซีลวาเนีย และฟิลิปส์ยังมีแผนที่จะส่งหลอดไฟประเภทอื่นๆเข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยเน้นการประหยัดพลังงาน เช่น หลอด Ecotone High Switch ประหยัดไฟ 80% สามารถเปิดปิดได้บ่อยถึง 15,000 ครั้ง อายุใช้งาน 10,000 ชั่วโมง เหมาะกับจุดที่ต้องเปิดปิดไฟบ่อยๆอย่างห้องน้ำ นอกจากนี้ยังใช้ Emotional Marketing เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อหลอดไฟเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในส่วนของการประดับหรือสร้างบรรยากาศภายในบ้าน เช่น หลอดแอลอีดีรุ่นเดโค และยังมี Imageo Candle ที่ให้แสงเหมือนเทียนกระพริบอยู่ในถ้วยแก้ว ส่วนซีลวาเนียก็มีหลอด ไมโครลิงค์แอลอีดี รุ่นใหม่ และหลอดไบรต์สปอต ที่จะมาแทนที่หลอดฮาโลเจน โดยหลอดรุ่นใหม่จะประหยัดพลังงานและให้แสงสว่างมากกว่า อีกทั้งยังลดความร้อนในร้านซึ่งช่วยให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง ลดการใช้พลังงานได้อีกต่อหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|