|

เผย 7 ทำเลเสี่ยงจมบาดาลพื้นที่โซนตะวันออกนำทีม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
*เผยทำเลเสี่ยงจมบาดาล นำโดยพื้นที่ฝั่งตะวันออก เริ่มจากหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี คลองสามวา รามคำแหง ลาดพร้าว พัฒนาการ ศรีนครินทร์ หลังเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ
*สนน.ลุยขุดลอกคูคลองทั่วกรุงฯ พร้อมทั้งเร่งก่อสร้างแก้มลิงรอบทิศทาง หวังแก้ปัญหาระยะยาว
*เปิดกลยุทธ์แก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำรอบกรุงฯกว่า 600 เครื่อง ใน 287 แห่ง
ปัญหาน้ำท่วมขังเป็นปัญหาใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)หาแนวทางป้องกันน้ำท่วมมาตลอด แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้สักที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศเดินหน้าก่อสร้างโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งที่รู้ว่า บริเวณที่ตั้งของสนามบินเป็นบริเวณที่น้ำไหลลงสู่อ่าวไทย และเมื่อมีการก่อสร้างสนามบิน จึงทำให้ไปขวางทางน้ำไหลออกสู่ทะเล จนที่เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่มากขึ้น และเป็นเวลานานมากขึ้นด้วย
โดยเฉพาะบริเวณโซนตะวันออกของกรุงเทพฯที่เกิดปัญหาเกือบทุกพื้นที่ เริ่มจากเขตหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี คลองสามวา รามคำแหง ลาดพร้าว พัฒนาการ ศรีนครินทร์ ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น หลังจากที่เริ่มก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ หากเกิดน้ำท่วมน้ำจะลดลงในเวลาไม่นานเท่าทุกวันนี้
“น้ำท่วมขังไม่เพียงแค่ทำให้ปัญหาจราจรเป็นอัมพาต การเดินทางสัญจรไม่สะดวกเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวม บ้านเรือนได้รับความเสียหายจนประเมินค่าไม่ได้ รวมถึงอาจจะเกิดปัญหาโรคระบาดตามมาหลังจากที่น้ำลดลง”
สัญญา ชีนิมิตร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกทม.(สนน.) เปิดเผยว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมไว้เรียบร้อยแล้ว โดยได้ทำระบบเปิดทางน้ำไหลในคูคลองรอบกทม. และขุดลอกคลองที่ตื้นเขินและมีเศษขยะอุดดันท่อระบายน้ำ รวมถึงได้เตรียมเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่และแบบติดตั้งจำนวน 637 เครื่อง เพื่อติดตั้งรอบกทม. 50 เขต จำนวน 287 จุด เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ หากเกิดน้ำท่วมขังแบบฉับพลัน ซึ่งจะสามารถสูบน้ำได้ถึง 501.93 ลบ.ม.ต่อวินาที
ขณะเดียวกัน ได้เร่งก่อสร้างแก้มลิงเพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำรวม 21 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เช่น แก้มลิงมักกะสัน แก้มลิงพล.ม.2 แก้มลิงสนามชัย-มหาชัย เป็นต้น เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะรองรับปริมาณน้ำฝนซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 50-100 ซม.และสามารถรองรับน้ำฝนได้ถึง 12 ลบ.ม. ทั้งนี้ หากแก้มลิงบริเวณบึงสะแกงามและแก้มลิงของเอกชนแล้วเสร็จจะสามารถรองรับปริมาณได้มากกว่า 3 แสนลบ.ม.
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างแก้มลิงนั้น ปัจจุบันโครงการดังกล่าวก่อสร้างเสร็จเกือบทั้งหมด เหลือเพียงแก้มลิงที่มาหาชัย-สนามชัยและแก้มลิงสะแกงาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า ส่วนแก้มลิงหลายแห่ง อาทิ แก้มลิงมักกะสัน แก้มลิงพระราม9 แก้มลิงหนองนอน แก้มลิงทรงกระเทียม แก้มลิงบึงกุ่ม แก้มลิงสนามกอล์ฟรถไฟฟ้า แก้มลิงตาเกตุ แก้มลิงกองพลสนามม้าที่2. แก้มลิงกองพัน 1 ร.อ. แก้มลิงเรือนจำคลองเปรม แก้มลิงข้างร.พ.บูรฉัตรไชยากรณ์ แก้มลิงเสือดำ แก้มลิงปูนซิเมนต์ไทย แก้มลิงเอกมัย แก้มลิงสวนสยาม แก้มลิงสีกัน ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว
“พื้นที่เสี่ยงหรือจุดอ่อนที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนนั้น มีทั้งหมด 270 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีบางจุดที่กทม.เข้าไปดำเนินการปรับปรุงแล้ว และทำให้มีปริมาณน้ำท่วมขังลดลง ส่วนพื้นที่เสี่ยงในอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับการขยายเมืองในแต่ละพื้นที่ เช่น การก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรของภาคเอกชนในช่วงที่มีการถมที่ อาจไปขวางทางน้ำ และอาจเกิดปัญหาพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขังได้ ซึ่งทางกทม.จะเฝ้าระหว่างพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว”สัญญากล่าว
สำหรับแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากบางเขนถึงบางนา ระยะทาง86 กม.ทางสนน.ได้ดำเนินการกั้นแนวป้องกันน้ำท่วมอย่างถาวรประมาณ 77 กม. โดยปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเป็นระยะทาง 62 กม. ส่วนที่เหลือประมาณ 15 กม.นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2553 ซึ่งในเบื้องต้นได้จัดวางกระสอบทรายกั้นแนวดังกล่าวในระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้าง
เปิดทำเลเสี่ยงน้ำท่วม
จุดเสี่ยงที่คาดว่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีประมาณ 7 แห่ง ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซาก ประกอบด้วย บริเวณถนนสุขุมวิท ซอย 62 ถึงสุดเขตกทม. ถนนพัฒนาการ บริเวณสี่แยกศรีนครินทร์ ถนนศรีนครินทร์ ช่วงหน้าศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ถนนลาดพร้าวตั้งแต่คลองจั่นถึงสี่แยกบางกะปิ ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่หน้าศาลอาญาถึงห้างโบบินสันรัชดาภิเษก ถนนพหลโยธิน บริเวณสนามเป้า ตลาดอตก.และถนนพระราม6 ช่วงโรงเรียนสามเสน โดยเบื้องต้นทางสนน.ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออกในช่วงที่มีน้ำขังรวมถึงการขุดลอกคลองในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้รองรับน้ำได้มากขึ้น
“ทั้งกทม.และสนน.ได้เร่งดำเนินการป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคคลากร อุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม เช่น กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ ส่วนพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่นอกเหนือการดูแลของกทม. และเป็นหน้าที่ของจังหวัดสมุทรปราการที่จะต้องดูแลบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม” สัญญากล่าว
ในปีที่ผ่านมากทม.มีพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำกว่า 30 แห่ง เช่น เขตวังทองหลาง แจ้งวัฒนะ รามคำแหง พื้นที่ฝั่งตะวันออก รวมถึงชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่หลายชุมชนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในปีที่ผ่านมา กทม.ได้ขุดลอกคูคลองกว่า 56 คลองทั่วกทม. เพื่อระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ในปีนี้จะมีพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขังลดลง แต่เพื่อไม่ประมาทกทม.จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ในการรับมือกับปริมาณฝนได้อย่างเพียงพอ
ส่วนแผนการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ กทม.แบ่งพื้นที่ดูแลออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.พื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ฝั่งพระนคร 2.พื้นที่เขตชั้นใน บริเวณเขตบางกะปิ วังทองหลาง ลาดพร้าว จตุจักร ดินแดง ห้วยขวาง และ3.พื้นที่เขตฝั่งตะวันออก เขตหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี คลองสามวา โดยกทม.ได้เตรียมกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำไว้ทุกพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่แล้ว
นอกจากนี้กทม.ได้เตรียมซักซ้อมแผนรับมือกับฝนที่คาดว่าจะตกหนักในปีนี้ โดยทางสำนักระบบน้ำได้เตรียมความพร้อมได้มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมข้อมูล แจ้งเตือนพายุฝนให้ทุกฝ่ายทราบ พร้อมติดตามสถานการณ์ฝนตกอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังมีระบบระบายน้ำ ในพื้นที่ให้ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว พร้อมหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน BEST แก้ไขและบรรเทาปัญหาอันเนื่องจากน้ำท่วม สำหรับในระดับเขตนั้นจะมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ หน่วยงานก่อสร้างถนน ให้ตรวจสอบความเรียบร้อยของท่อระบายน้ำ และติดตาม การก่อสร้างอย่างใกล้ชิด ย้ำภารกิจเจ้าหน้าที่ประจำจุดก่อนฝนมาเพื่อแจ้งเตือนประชาชนรับมือฝนหนัก
ด้าน นพดล สังข์ศิรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร กรมชลประทาน กล่าวว่า ในส่วนของกรมชลประทานนั้น ได้ดำเนินการขุดคลองแล้ว 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.คลองด่าน 2. คลองท้ายสถานีสูบน้ำเจริญราษฎร์ 3.คลองท้ายสถานีสูบน้ำคลองด่าน 2 ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนความสามารถในการป้องกันน้ำท่วมของแต่ละคลองนั้นจะสามารถระบายน้ำลงทะเล ให้ผ่านไปจนสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้โดยไม่เกิดภาวะน้ำท่วมได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|