ใครจะรู้บ้างว่าวันดีคืนดีหุ้นของบริษัทที่อยู่ระหว่างการเสนอแผนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะถูกนำมาทิ้งซื้อขายกันจ้าละหวั่นกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวของตลาดโอทีซีหรือตลาดนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ
จากราคาพาร์ที่กำหนดไว้ 10 บาทพุ่งขึ้นไปถึงเกือบ 30 บาท เป็นเหตุให้บริษัทหลักทรัพย์บางแห่งโกยกำไรได้หลายล้านบาท
ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ชอบเล่นหุ้นนอกตลาดก็เจ็บตัวกันไปบ้าง "เล็ก
ๆ น้อย ๆ "
แต่ของอย่างนี้ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะในแง่ของปัจจัยพื้นฐานนั้นบางกอกอาร์ตแอนด์คราฟท์
(บีเอซี) มีอนาคตสดใสรุ่งโรจน์อย่างมาก ๆ ในการผลิตช้อนส้อมมีออกจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและนอกประเทศ
อานนท์ โปษะกฤษณะ กรรมการรองผู้จัดการ ซึ่งทิ้งงานอินเวสเม้นท์แบงกิ้งจากธนาคารอินโดสุเอซมาดูแลบีเอซีแทบจะทุก
ๆ ด้านกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "บริษัทนี้จริง ๆ แล้ว POTENTIAL
มันดีมาก เพราะปัจจุบันผลิตไม่ทัน แล้วกำลังขยายโรงงานใหม่ด้วย มันเลยติดหลายเรื่องที่จะเข้าตลาดในทันที
และการที่เราขยายโรงงานทำให้รายจ่ายมากงบการเงินก็จะไม่สวย"
บีเอซีก่อตั้งเมื่อปี 2527 ด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท โดยพิมล อุทัยธัน
คุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์และเพื่อน ๆ ร่วมกันลงขัน
สินค้าหลักของบีเอซีคือช้อนส้อมมีดหรือ CUTLERY WARE อีกอย่างคือสิ่งที่เป็นรูปทรง
เช่น ถ้วย ชาม กาน้ำ เรียก HOLLOW-WARE และประเภทสุดท้ายคือรถเข็นเค้กส่วนของที่ระลึกนั้นก็ผลิตบ้างตามใบสั่งซื้อที่มีเข้ามา
ลูกค้าของบีเอซีเป็นพวกโรงแรมระดับ 5 ดาว สายการบิน เช่น การบินไทย, คาเธ่ยแปซิฟิค,
ลุฟท์ฮันซ่า และลูกค้ารายสำคัญคือลูกค้าต่างประเทศซึ่งจะออกแบบผลิตภัณฑ์มาให้บีเอซีทำเช่น
CATILLON แห่งฝรั่งเศส, BERNDORF จากสวิส และ DRIADE SPA แห่งอิตาลี โดยส่วนมากจะใช้วัสดุพวกสแตนเลส
สตีล ซึ่งยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของบีเอซีคือต้นทุนแรงงาน บีเอซีพยายามที่จะแหวกแนวตลาดออกไปโดยผลิตสินค้าที่มีลวดลาย
ข้อต่อและการม้วนอย่างอ่อนช้อย ซึ่งสินค้าเหล่านี้จำเป็นต้องใช้แรงงานคนมานั่งดัดแต่งหรือเชื่อม
แต่ถ้าเป็นสินค้าเรียบ ๆ ทางเกาหลีและไต้หวันจะได้เปรียบกว่ามาก
อย่างไรก็ดี แม้อนาคตของตลาดช้อนส้อมมีดจะสดใสอย่างมาก ๆ ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอป้อนตลาด
ไม่ทันตามใบสั่งซื้อ แต่บีเอซีก็ไม่เว้นที่ต้องเจอปัญหาประสิทธิภาพในการจัดการ
และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทต้องประสบปัญหาการขาดทุน แม้จะมียอดขายเพิ่มขึ้น
ณ สิ้นพฤศจิกายน 2532 เป็นจำนวน 52 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2531
ที่มียอดขายอยู่ 38 ล้านบาท
ในช่วงต้นปี 2531 นั่นเองบีเอซีใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มทุนและมีแผนว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยมอบหมายให้ธนาคารเชสแมนฮัตตันเขามาศึกษา
กิตติศักดิ์ เบญจฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารเชสแมนฮัตตันกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่าในจังหวะนั้นมีลูกค้าต่างประเทศสนใจที่จะมาตั้งโรงงานผลิตช้อนส้อมมีดในไทย
เชสฯ จึงจับลูกค้ารายนี้คุยกับทางบีเอซี ซึ่งมีโรงงานอยู่แล้ว
เชสฯทำข้อเสนอให้บีเอซีเพิ่มทุนและขายหุ้นเพื่อนำมาขยายโรงงานอีก 70 ล้านบาท
เป็นทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 100 ล้านบาท เชสฯทำตัวเลขโครงการและสรรหาผู้ร่วมทุนจากสถาบันการเงินต่าง
ๆ ได้ ได้แก่ บงล.พาราไฟแนนซ์ บงล.พูนพิพัฒน์ไฟแนนซ์ บงล. ไทยฟูจิไฟแนนซ์
และบงล.สหธนกิจไทย ร่วมกับธนาคารกรุงเทพฯ โดยต่างร่วมซื้อหุ้นแห่งละ 10%
ยกเว้นสหธนกิจไทยที่ซื้อไว้ถึง 30%
กิตติศักดิ์กล่าวว่า "ความตั้งใจเดิมคือให้คำปรึกษาเขาและเอาเข้าตลาดด้วย
แต่ต่อมาเขาต้องการบริหารของเขาเอง เราก็ถอนตัวออกมา เรื่องของเชสฯ จบลงเมื่อต้นปี
2532%
แต่ในส่วนของอานนท์ ได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า โครงการเพิ่มทุนเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี
2532 โดยมอบหมายให้บงล.พาราไฟแนนซ์ ศึกษาเรื่องราคาการยื่นขอจดทะเบียนในตลาดฯ
การประกันและการรับประกันการจำหน่ายหุ้น
ครั้นต่อมาปรากฎว่า การยื่นขอจดทะเบียนถูกเลื่อนออกไปถึงสองครั้งสองครา
ขณะที่บงล.ซึ่งซื้อหุ้นร่วมทุนไว้ก็มีการนำหุ้นออกขายในราคาค่อนข้างสูง นักลงทุนที่ซื้อหุ้นนอกตลาดจึงปั่นป่วนกังวลใจ
ว่า บีเอซีจะสามารถเข้าไปจดทะเบียน เอาหุ้นออกซื้อขายในตลาดฯได้หรือไม่
เหตุที่ตลาดยังไม่อนุมัตินั้นเป็นเพราะการตรวจสอบบัญชียังไม่เรียบร้อยตามเงื่อนไขของตลาด
ในเรื่องนี้ อานนท์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ทางบงล.พาราฯ กับธนาคารกรุงเทพ
ซึ่งนั่งเป้นกรรมการในชุดที่เสนอแผนเข้าตลาดต้องการให้จัดการปัญหาเรื่องบัญชีให้เรียบร้อยก่อน
เนื่องจากผู้ตรวจสอบบัญชีใหม่คือสนง.เอสจีวีกับผู้ตรวจสอบบัญชีเก่ายังไม่เซ็นรับรองกัน
อานนท์ยอมรับว่า "ทางระบบบัญชีเก่าของเรายังไม่ได้มาตรฐานการลงบัญชีอะไรนี่ยังไม่มาตรฐาน"
มูลเหตุที่แท้จริงนั้นคือ บีเอซียื่นจดทะเบียนขอนำหุ้นเข้าไปซื้อขายในกระดานหนึ่ง
แต่ปรากฏว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่พึงพอใจในตัวเลขกำไรขาดทุนที่ยื่นเข้ามา เสรี
จินตนเสรี กรรมการผู้จัดการบงล. พาราฯ และกรรมการบริหารบีเอซีซึ่งจะพ้นจากตำแหน่งทั้งสองในสิ้นเดือนมกราคมเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟังว่า "ตัวเลขที่เตรียมจะเข้ากระดานหนึ่งสับสนสะเปะสะปะมาก
เอสจีวีต้องมาตีราคาอะไรต่าง ๆ ใหม่หมด"
นั่นหมายความว่าจะต้องมีการประเมินราคาของในสต๊อกใหม่ นับสต๊อก แม่พิมพ์
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำก็จะต้องนำมาตีราคาใหม่
ฝ่ายเอสจีวีกล่าวว่า "หลักการตีราคาไม่ค่อยลงรอยกันระหว่างผู้ทำบัญชีเก่ากับใหม่จึงต้องมีการประเมินใหม่"
ซึ่งเสรีให้ความเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหา
เสรีกล่าวว่าถ้าจัดการเคลียร์เรื่องบัญชี แก้ปัญหาประสิทธิภาพในการผลิตได้
อุตสาหกรรมนี้จะไปไกลทีเดียว ทั้งนี้บีเอซีไม่จำเป็นต้องพวงเรื่องตลาดที่จะมารองรับสิค้า
โดยเฉพาะเมื่อบีเอซีตัดสินใจได้ว่าจะขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับบริษัทสวิสที่จะมาขอร่วมทุนด้วย
20%
อานนท์กล่าวว่า "บริษัทสวิสแห่งนี้มีชื่อเสียงมาก เป็นลูกค้าของเราอยู่
เขาไม่ต้องการราคาตลาด แต่ต้องการราคาพาร์บวกนิดหน่อย ราคาตลาดตอนช่วงที่เขาติดต่อมามันเกือบ
30 บาท ซื้งไม่ไหว แต่ปัญหาของเราคือผู้ถือหุ้นท่านใดจะยอมเสียสละสัดส่วนตัวเองขายให้เขา
ถ้าบริษัทของสวิสรายนี้เขาเข้ามาร่วมทุนด้วยนี่โรงงานใหม่ที่เราสร้างที่วังน้อยอยุธยาแทบไม่ต้องหาตลาดเลยเขาทำมาร์เก็ตติ้งได้เลย"
ประเด็นเรื่องบีเอซีนั้น ถ้าไม่ปูดออกมาทางตลาดโอทีซี ป่านฉะนี้นักลงทุนรายย่อย
ๆ คงจะเป็น "แมงเม่าบินเข้ากองไฟ" กันอีกเยอะทีเดียว