พ่อของเขาเป็นครูสอนภูมิศาสตร์ เห็นความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งแร่ในประเทศ
เลยอยากปลุกปั้นให้ลูกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเหมืองแร่ที่มีประสบการณ์จริง
ๆ "ไม่ใช่นักวิชาการที่นั่งในห้องซึ่งคุณพ่อเกลียดนักหนา" พ่อของดามพ์
ทิวทองเคยตั้งความหวังไว้อย่างนี้เพราะเห็นแววของความตรงไปตรงมา กล้าได้กล้าเสียตั้งแต่เด็ก
จนวันนี้ ดามพ์ ทิวทอง ในฐานะประธานสภาการเหมืองแร่ยังคงเป็นดามพ์ที่ "กล้าชน"
กับความไม่ถูกต้อง เพื่อพิทักษ์ปกป้องประโยชน์ของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทยอย่างเด็ดเดี่ยว
กระทั่งพรรคพวกชาวเหมืองต่างโหวตเป็นเอกฉันท์เลือกให้เขาเป็น "ประธาน"
สภาการเหมืองแร่สมัยแล้วสมัยเล่า
ขวบปีที่ผ่านมา เขาได้ยินหยัดขออนุญาตให้ชาวเหมืองทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อพลโทสนั่น
ขจร.ประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ซึ่งได้ออกพระราชกำหนดให้ยกเลิกป่าสัมปทานไม้เมื่อปีที่แล้ว
ทำให้เหมืองต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักไป
การที่ดามพ์เสนอร้องเรียนต่อพลโทสนั่นเช่นนี้ ได้กลายเป็นข่าวฮือฮา เพราะใคร
ๆ ก็พูดว่า "ดามพ์ชนรัฐมนตรีสนั่น" ซึ่งดามพ์บอกว่า "ไม่ใช่การชนเชินอะไร
เราต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง"
เรื่องนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติเนื่องจากรัฐบาลได้สับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรี
ให้บรรหาร ศิลปอาชา ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลตรีประมาณ อดิเรกสาร
คั่วตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
จึงเป็นหน้าที่ของดามพ์ที่จะต้องเริ่มต้นเรื่องนี้ใหม่
ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อพลโทสนั่นได้สั่งยกเลิกป่าสัมปทานทำไม้ ทำให้ผู้ประกอบการเหมืองประมาณ
90 ราย ซึ่งได้ลงทุนไปแล้วมีทั้งที่อยู่ระหว่างการขอประทานบัตรทำเหมือง หรือต่ออายุประทานบัตรหรือขอโอนประทานบัตรที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่ไม่ได้อยู่ในเขตหวงห้ามของกรมป่าไม้
เข้าไปทำเหมืองไม่ได้ ทั้งที่ได้ทำเรื่องผ่านขั้นตอนถึงกรมป่าไม้จนเห็นชอบและเสนอไปยังกระทรวงเกษตรฯแล้วตั้งแต่ช่วงปี
2531-2532 รวมทั้งสิ้น 100 กว่าแปลง แต่กลับไม่ได้รับหนังสืออนุญาตจากกระทรวงเกษตรฯได้เข้าใช้ประโยชน์หรือทำเหมืองในพื้นที่ได้
ดามพ์ได้เข้าหารือกับบรรหารในสมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
บรรหารก็เห็นด้วย และได้ช่วยทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงเกษตรฯว่าคำสั่งที่ออกมากระเทือนต่อผู้ประกอบการเหมืองแร่
เนื่องจากผู้ประกอบการเหมืองที่ได้รับผลจากยกเลิกสัมปทานทำไม้นั้น กว่าครึ่งที่ได้ลงทุนสำรวจไปแล้ว
และกำลังขอประทานบัตรทำเหมือง นอกจากนี้ ก็เป็นรายที่มีประทานบัตรอยู่เข้าไปทำเหมืองก่อนแล้วแต่พอประกาศเป็นเขตป่าสงวนก็ทำต่อไม่ได้
หรือรายที่ขอโอนประทานบัตรซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแล้ว หรือรายที่ประทานบัตรยังมีอายุอยู่
แต่ในอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หมดอายุ ยื่นขอแล้วก็ต่อไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท้องถิ่นแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณีท้องที่สั่งหยุดทำเหมือง
แม้ว่าบรรหารได้ช่วยทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรฯแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติเพราะอยู่ระหว่างการสำรวจและแบ่งพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ
โดยจะแบ่งเป็นเขตอนุรักษ์ป่าไม้ซึ่งห้ามทำประโยชน์ใด ๆ และป่าไม้เศรษฐกิจ
ซึ่งทางกรมป่าไม้เป็นคนดำเนินการา
ทางสภาการเหมืองแร่จึงได้เสนอให้ทางกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรมมีตัวแทนเข้าไปร่วมกำหนดการแบ่งพื้นที่ป่าเศรษฐกิจด้วย
"เพราะมิฉะนั้นก็จะมีปัญหาอีก เป็นเรื่องที่ถูกที่ทางกระทรวงเกษตรฯต้องรักษาป่าไม้ไว้
แต่เขาก็ดูแต่ทางด้านป่าซึ่งเห็นได้ด้วยตา ขณะที่แร่ต่าง ๆ เป็นทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินมองอย่างนี้ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่าจะไปโทษเขาก็ไม่ได้"
ดามพ์พูดถึงความจำเป็นที่ขอเข้าไปมีส่วนร่วมกับ "ผู้จัดการ"
ดามพ์อยากให้ประชุมคณะกรรมการนโยบายทรัพยากรธรณีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเร็วที่สุด
เพื่อจะให้เสนอปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไป
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดามพ์ในฐานะประธานสภาฯก็ต้องหาจังหวะเข้าคารวะในโอกาสที่ประมาณมารับตำแหน่งใหม่
ก่อนที่จะได้คุยถึงปัญหานี้ต่อไป
ขณะเดียวกัน ดามพ์เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการจัดระบบของการพัฒนาแร่ที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศ
เขาจึงเห็นว่า แร่ที่มีอยู่ 8 กลุ่ม รวม 30-40 ชนิด ควรจะได้จัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาว่าอะไรควรมาก่อนมาหลัง
เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศและให้ได้มูลค่าสูงที่สุด ขณะที่ก่อนนี้เรามักจะเน้นการส่งออกเป็นหลัก
เช่น ดีบุก ไม่ได้ถูกถึงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าแร่
อีกตัวอย่างหนึ่งอุตสาหกรรมเซรามิกขยายตัวมาก มีวัตถุดิาบสำคัญหลายชนิด
เช่น เฟลสปาร์ ดินขาว ทรายแก้ว ดินเหนียว แต่รัฐยังไม่ได้ส่งเสริมจริงจัง
ขณะที่โรงงานผลิตภัณฑ์เซรามิกขยายเป็น 2 เท่า
ตอนนี้ทางกรมทรัพยากรธรณี ได้เป็นแกนนำในการทำแผนจัดการทรัพยการแร่ร่วมกับทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(ทีดีอาร์ไอ) และสภาฯ โดยให้ทีดีอาร์ไอเป็นคนศึกษา ซึ่งจะสรุปได้ในอีกไม่กี่เดือนนี้
เพื่อเสนอบรรจุเข้าในแผนพัฒนาฉบับที่ 7 พร้อมแผนปฏิบัติด้วย
แม้ดามพ์จะบอกว่า "เครดิตเรื่องนี้ต้องยกให้กรมทรัพย์ฯ"
แต่ "ผู้จัดการ" ทราบมาว่าเรื่องนี้เป็นการริเริ่มของดามพ์ แต่เขาต้องการให้เกียรติกับกรมทรัพย์ฯ
และคนในกรมทรัพย์ฯต่างก็รู้จักเขาดีว่า "เขาเป็นแบบนี้แหละ"
ในวงการเหมืองจะพูดกันว่า ดามพ์เป็นคนเหมือนที่มีชีวิตเรียบง่ายที่สุด
และทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับงานเหมืองแร่ของไทยอย่างไม่เคยรู้จักเหน็ดเหนื่อย
สี่สิบปีที่ดามพ์เคี่ยวกรำอยู่ในวงการเหมืองหลายชนิดชีวิตที่คร่ำหวอดอยู่กับหินดินทรายทั่วประเทศไทย
ทำให้ดามพ์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเหมืองแร่ที่คนเหมืองยอมรับนับถือ
เมื่อเขาจบวิศวะเหมืองแร่จากรั้วจามจุรี วิชา เศรษฐบุตรผู้อำนวยการกองธรณี
กรมทรัพย์ฯในขณะนั้นชวนไปทำงาน แต่เขาไม่ไป ดังที่เขาบอกว่า "ผมเป็นคนยอมยากในเรื่องไม่ถูกต้อง
ถ้าเป็นข้าราชการคงต้องลาออก อยู่ไม่ได้แน่ หรือไม่ก็โดนแป๊ก เลยไม่เอาดีกว่า"
เขาจึงไปเริ่มต้นเป็นวิศวกรเหมืองแร่ทีเดียวพร้อมกัน 2 บริษัท คือ บริษัทเหมืองแร่ละมายและบริษัทเหมืองแร่แม่ฮ่องสอน
เขาใช้ชีวิตในเหมืองมาตั้งแต่ยังไม่รู้จักใช้รถแทรกเตอร์เรียนรู้ หาประสบการณ์
และเก็บเงินเก็บทอง จากนั้นก็ผ่านไปทำเหมืองเอง
ทำตั้งแต่เหมืองแร่วุลแฟรมดีบุก แต่ก็เจอภาวะราคาที่ตกต่ำและดูเหมือนว่าเขาจะเป็นคนแรกที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรด์
ซึ่งเริ่มส่งออกไปยังญี่ปุ่น
จากนั้น ขยับขยายมาทำเหมืองแมงกานีส ที่จังหวัดลำพูน ส่งเป็นวัตถุดิบขายให้โรงงานผลิตถ่านไฟฉายที่มีการขยายตัวมาก
เช่น เนชั่นแนล เรโอแวค ฯลฯ เป็นการทดแทนการนำเข้า รวมถึงการส่งออกไปยังบริษัทแม่ด้วย
กระทั่งประธานกรรมการบริษัทมัทซุชิต้าที่ญี่ปุ่นเจ้าของผลิตภัณฑ์ "เนชั่นแนล"
ได้เชิญเขาเป็นแขกของประเทศไทยไปในงานครบรอบ 50 ปีของบริษัท ได้มอบเหรียญทองคำให้
พร้อมทั้งชื่นชมและขอให้เขารักษาคุณภาพของแร่ที่ส่งไป
การทำเหมืองแมงกานีสครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ทำให้เขามีทุนรอนในเวลาต่อมา
แต่เขายอมรับว่า เพราะความที่ใจกว้างไป ใครชวนไปที่ไหนก็ไปทำทั้งนั้น แม้แต่ที่อ.รัตภูมิ
จ.สงขลา เจอปัญหาอิทธิพลท้องถิ่นมาก เลยไปไม่รอด ประกอบกับราคาแร่ตก จึงหยุดกิจการ
เขาทำเหมืองครั้งสุดท้ายในเหมืองแร่วุลแฟรม แต่ราคาแร่ก็ตกพรวด จนพูดได้ว่า
สิ่งที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาในอดีตต้องหมดไปในปี 2529
สำหรับเขา มันมิใช่สิ่งที่ต้องเสียใจอะไร เพราะเขาบอกว่า "เราเริ่มต้นจากไม่มีสมบัติอะไร
ที่ผ่านมาก็คุ้มค่ากับชีวิตได้ประสบการณ์หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ"
ขณะที่พรรคพวกวงการเหมืองแร่ลุ้นให้เป็นประธานสภาฯ อยู่หลายสมัย เนื่องจากเขาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในวงการนี้มาตลอด
เขาเคยเป็นนายกสมาคมเหมืองแร่ไทย และได้เป็นหลักในการผลักดัน พ.ร.บ. สภาการเหมืองแร่จนสำเร็จแต่เขาบอกว่า
"ยังไม่บรรลุในเรื่องนโยบายการใช้ทรัพยากรแร่ของประเทศ"
ชีวิตมีเกิดมีดับ ได้มาแล้วก็เสียไป เมื่อเขาไม่มีภาระความจำเป็นใดที่จะต้องแสวงหาทรัพย์สินเงินทองอีก
ในภาวะที่เพื่อนฝูงเรียกร้องและได้โหวตเป็นเอกฉันท์ให้เขาขึ้นเป็น "ประธานสภาฯ"
ทั้งที่ขอผัดผ่อนมาหลายครั้งด้วยเหตุผลว่า ยังมีภาระธุรกิจส่วนตัว แต่วันนี้เขาไม่มีข้ออ้างอีกแล้ว
ขณะที่เขาเองก็ไม่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจเหมืองใหม่ ชีวิตของเขาตอนนี้ จึงทุ่มเทให้กับชาวเหมือง
ด้วยความหวังที่จะเป็นคนหนึ่งที่ช่วยสร้างอนาคตาของเหมืองแร่ไทยให้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เขาจึงเป็นประธานสภาฯที่ดูจะยากจนกว่าคนอื่น แต่เขาไม่เคยรู้สึกว่าเป็นปมด้อยในเรื่องฐานะ
"เพราะสิ่งที่ทำเป็นกลางจริง ๆ เป็นสิ่งถูกต้องไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว
ใครจะว่านายดามพ์ยากจนแล้วมาเป็นประธาน น่าอาย ผมไม่เคยคิด เพราะไม่เคยรับของของใคร
จะว่าขับรถเก่าขึ้นรถเมล์มาประชุม ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผม"
เขาพอใจสำหรับชีวิตวันนี้มีความสุขกับการได้ทำประโยชน์ต่อวงการเหมืองแร่
เพราะนี่คือเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีที่พ่ออยากให้เขาเป็น ดังที่เขากล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า.... "ถ้าคุณพ่อยังอยู่และได้เห็นคงจะดีใจ"