"ธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย" เอ่ยชื่อนี้ขึ้นมา คงไม่คุ้นหูคนทั่วไปนัก
แม้แต่ในวงการปิโตรเคมีที่เขาทำงานอยู่ หลายคนก็อาจจะยังไม่รู้จัก
ทว่า ในการอภิปรายเรื่อง "ภาษีสรรพสามิตที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี"
หนึ่งในหัวข้อของการสัมมนาเกี่ยวกับประเด็นภาษีของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
(พีทีไอที) เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมานี้นั้น เขาเป็นคนสะกิดประเด็นปัญหาภาษีสรรพสามิตอย่างที่ผู้ร่วมสัมมนายอมรับว่า
"ตรงเป้าที่สุด"
เรื่องภาษี พูดได้ว่าเป็นปัญหาหนามยอกอกของคนทุกวงการซึ่งล้วนแต่ถูกสั่งสมทับถมกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอันเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศไปสู่โลกของอุตสาหกรรมใหม่
ก็เช่นเดียวกันไม่ได้หลุดพ้นจากวัฎจักรของปัญหาภาษีอันนี้
เมื่อก่อน ถ้าพูดถึงปิโตรเลียมเราจะเข้าใจกันว่าหมายถึงน้ำมันเท่านั้น
และถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ใช้แล้วก้หมดไปเลยจึงมีการเก็บภาษีสรรพสามิตเช่นเดียวกับเหล้าและบุหรี่
แต่เมื่อไทยได้ค้นพบก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย นอกจากจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้วก็ยังใช้ประโยชน์ได้อีก
รัฐบาลจึงผลักดันโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเอาก๊าซอีเทนและโพรเพนจากโรงแยกก๊าซ
มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทธิลีนและโพรไพลีนของโรงโอเฟินส์ บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ
จำกัด (ปคช.) ซึ่งจะส่งให้บริษัทกลุ่มดาวน์สตรีมไปใช้ผลิตเม็ดพลาสติกต่าง
ๆ อีกทอดหนึ่งจากนั้นก็จะนำไปผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทต่าง ๆ ได้อีกนับไม่ถ้วนชนิด
ดังนั้น เมื่อกฎหมายยังกำหนดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
ก็ทำให้เกิดปัญหาภาษีซ้ำซ้อน และแน่นอนละว่ามันได้กลายเป็นสิ่งกีดขวางการพัฒนาของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ทางคลังได้มองเห็นปัญหานี้ก็อยากแก้ไข โดยออกเป็นประกาศกระทรวง "ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต
(ฉบับที่ 11)" เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2532 และให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่
5 มิถุนายนปีเดียวกัน
นั่นก็ด้วยความตั้งใจว่า จะช่วยลดภาระภาษีสรรพสามิตของโซลเว้นท์ (มีคุณสมบัติคล้ายน้ำมันก๊าด
แต่ใช้เป็นตัวทำละลาย วัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมสี และยาปราบศัตรูพืชเป็นต้น)
ลงหลังจากที่อยู่ ๆ ก็ถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตในพิกัดเดียวกับน้ำมันก๊าดซึ่งสูงถึง
34% จนธุรกิจที่เกี่ยวข้องพากันเดือดร้อนไปตาม ๆ กันและตอนหลังได้ลดลงเหลือ
15%
ขณะเดียวกัน คลังก็ใจดีประกาศยกเว้นภาษีสรรพสามิต "ก๊าซปิโตรเลียม
(แอลพีจี) และก๊าซที่คล้ายกัน (ชนิดอีเทนและโพรเพน)" ด้วย
ก็หมายความว่า ปตท.ซึ่งเป็นผู้ผลิตก็ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตอีเทนและโพรเพนเมื่อขายให้กับปคช.
เพราะตามประกาศกระทรวงการคลัง ได้ระบุว่า "สินค้าที่นำข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนสรรพสามิตแล้ว
เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเคมีปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมตัวสารละลาย"
จะยกเว้นภาษีให้
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดว่าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ารายนั้นจะต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพสามติก่อน
เมื่อได้รับอนุมัติแล้วเราจะเรียกว่า "โรงงานจดทะเบียนสรรพสามิต"
พร้อมกับสิทะในการยกเว้นภาษีดังกล่าวโดยได้ออกเป็นระเบียบออกมา
ธิติพันธุ์ ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของปคช.ได้วิพากษ์ และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาการบังคับใช้และแนวคิดของประกาศกระทรวงการคลังฉบับนี้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา
ปัญหาแรก ประกาศฉบับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ใช้ในโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์เคมีปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมตัวสารละลาย
ฟังแค่ชื่อ ก็เข้าใจยากชวนปวดหัว เพราะเกี่ยวข้องทั้งศัพท์เทคนิคด้านปิโตรเคมีและกฎหมาย
แต่ตัวที่เราพูดถึงกัน ก็คือก๊าซ ซึ่งเขาเห็นว่า ไม่ควรอยู่ใต้ระบบภาษีเชื้อเพลิง
แต่ก็อาศัยกฎหมายยกเว้นภาษีให้
ลองมาดูถึงรูปธรรมกันให้ชัด ๆ
ปตท.เป็นโรงงานจดทะเบียนฯ ผลิตอีเทนและโพรเพน เมื่อขายให้ปคช. ปตท.จะได้รับยกเว้นภาษี
เมื่อปคชงรับมา ก็จะผลิตเป็นเอทธิลีนและโพรไพลีนแล้วป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ก็มีคำถามว่า เอทธิลีนและโพรไพลีนจะถือว่าเป็นน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันหรือไม่....กลายเป็นโจทย์ต้องให้ตีความกันอีก
แต่ความจริง กรมสรรพสามิตเคยตีความว่า เอทธิลีนและโพรไพลีนไม่ใช่น้ำมันและผลิตภัรฑ์น้ำมัน
ปคช.จึงจดทะเบียนไม่ได้ เลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต จะทำให้กลุ่มดาวน์สตรีมต้องซื้อในราคาสูง
เมื่อเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันปคช.ก็จดทะเบียนสรรพสามิตในฐานผู้ผลิตผลผลิตพลอยได้เป็น
BY-PRODUCT เช่น ก๊าซมีเทน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนน้อย เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีแม้จะช่วยได้
แต่ก็ไม่ได้เป็นการส่งเสริมตามเป้าหมายหลักของปิโตรเคมี
อันที่จริง ประกาศกระทรวงการคลัง ต้องการยกเว้นภาษีสรรพสามิตแก่ปคช. ซึ่งจะป้อนเอทธิลีน
และโพรไพลีนไปยังกลุ่มดาวน์สตรีมเพื่อส่งเสริมและอุหนุนด้านปิโตรเคมีของไทยที่เพิ่งจะเริ่มต้นและต้องการให้ต้นทุนต่ำ
แต่ก็ทำให้ปคช.หลุดจากระบบภาษีการผลิต ซึ่งต่อไปเมื่อโรงงานไทยโอเลฟินส์หรือโรงอะโรเมติกส์
หรือโรงอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันที่จะเกิดตามมา ก็จะเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น
ส่วนระยะแรกที่ต้องการอุดหนุนด้านราคาก็ยอมรับกันได้ รวมไปถึงอีเทนและโพรเพนก็หลุดจากระบบภาษีการผลิตด้วยเหมือนกัน
เขาจึงมีความเห็นว่า เมื่อภาษีสรรพสามิตมีปัญหาซ้ำซ้อนเรื่อยมา พร้อมกันนั้น
เราก็ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งระบบด้วย น่าจะมีกลไกที่จะช่วยควบคุมให้อยู่ในระบบเดิม
ก็คือภาษีการค้า หรือที่กำลังจะปรับไปใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทางที่จะทำได้ เช่น ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ใช้อำนาจการตีความของอธิบดีว่า
โพรเพนอีเทนไม่อยู่ในพิกัดอัตราภาาสรรพสามิต ถ้าใช้เพื่อผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ถ้าเป็นอย่างนี้ อีเทนและโพรเพนซึ่งผลิตเอทธิลีนและโพรไพลีนจะไม่อยู่ใต้บังคับของภาษีสรรพสามิตเลย
ก็จะทำให้ย้อนกลับเข้าไปสู่ภาษีการผลิตในรูปของภาษีการค้า ตามหลักโดยทั่วไปที่ว่า
จะเสียภาษีการผลิตในรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งถ้าช่วงแรกรัฐบาลต้องการยกเว้นภาษีก็ให้ยกเว้นภายใต้ระบบภาษีการค้า
โดยกรมสรรพากรดูแล
ทั้งนี้ควรจะตีความกันให้ชัดเจน เช่น เคมีปิโตรเลียมคืออะไร เพราะถ้ามีคดีต้องขึ้นศาล
มีปัญหาแน่ เพราะไม่มีใครรู้เรื่อง ธิติพันธุ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แม้แต่ตัวเขาเองก็เถอะเขายอมรับว่า "4-5 ปีก่อน ช่วงที่เริ่มจะมีการประมูลงานซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนรู้ว่าปิโตรเคมีคืออะไร
ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ผู้จัดการใหญ่ปคช. ได้ติดต่อขอให้ประสิทธิ์ โฆวิสัยกูลคณบดีคณะนิติฯจุฬาฯช่วยหานักกฎหมายจากนอกมาประจำเพื่อรองรับงานประมูล"
ช่วงนั้น ประสิทธิ์ได้เสนอชื่อของเขาคู่กับสุรเกียรติ เสถียรไทย โดยประสิทธิ์ได้แจ้งไปว่าถ้าจะให้ประจำคงลำบาก
แต่ยินดีให้ช่วยงาน
ทางปตท.ก็ได้ทำหนังสือขอยืมตัวมาช่วยงานปคช.ในเครือปตท.เพราะปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
สำหรับตัวเขาจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญที่อุบลฯ มาต่ออัสสัมชัญในกรุงเทพฯ
3 ปี แล้วสอบเข้าเรียนได้ในคณะนิติจุฬาฯ เป็นอาจารย์ที่นี่ได้ระยะหนึ่งก็สอบเนติบัณฑิตไทย
จากนั้นสอบชิงทุนคว้าปริญญาโทนิติศาสตร์ในสาขากฎหมายธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
กลับมาเมืองไทยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่คณะ แต่พลังใฝ่รู้ยังคุกรุ่น จึงข้ามรั้วข้ามถิ่นไปเรียนทางด้านบริหารธุรกิจภาคค่ำ
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับว่าจะได้ช่วยเสริมความรู้และวิชาการของโลกธุรกิจให้แก่กล้าขึ้น
....พอดีเข้าล็อกตรงสเปกตามที่ประสิทธิ์และสิปปนนท์ค้นหา
ส่วนสุรเกียรติ เมื่อมาอยู่ได้พักหนึ่ง ก็พอดีถูกดึงตัวไปช่วยงายในตำแหน่งที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
จึงเหลือเขาเพียงคนเดียวที่เข้ามาดูแลงานด้านสัญญา มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อกฎหมายในสัญญาก่อสร้างโรงโอเลฟินส์ซึ่งจะมีสำนักกฎหมายต่างประเทศคือ
CHANDLER & THONGEK LAW OFFICE LTD. รับผิดชอบโดยตรง
เมื่อเขาเข้าไปคลุกคลีอยู่ในวงการปิโตรเคมี ก็พบว่ากฎหมายเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นลูกตุ่มถ่วงการพัฒนาของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ขณะที่โลกได้ผันไปสู่ยุคของไฮเทคโนโลยี แต่ตัวกฎหมายยังเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปีอยู่เลย
ไม่เพียงแต่เจอปัญหามากมายก่ายกองดังที ดร.สิปปนนท์ กล่าวว่า กว่าจะสร้างโรงงานโรงเดียว
ต้องทำเรื่องผ่านถึงกระทรวง เพื่อขอใบอนุญาต 54 ในการสร้างโอเลฟินส์และท่าเทียบเรือขนถ่ายวัตถุดิบ
ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการสร้างแต่เขาบอกว่า แม้แต่ระยะเวลาในการตั้งโรงงานก็มีปัญหา
เพราะตามกฎหมายโรงงานได้กำหนด ใครจะลงมือก่อสร้างจะต้องได้ใบอนุญาตก่อสร้างเมื่อมี
"การออกแบบ" เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจะกินเวลาในการออกปีครึ่งถึงสองปี
และจะทำให้โครงการล่าช้า ขณะที่วงเงินก่อสร้างมีความเสี่ยงสูงขนาดนี้ จะต้องรับภาระต้นทุนดอกเบี้ยเป็นพันล้านบาทต่อปี
โดยในกรณีของโรงโอเลฟินส์ ได้มีการขออนุมัติให้ออกแบบไป สร้างไป เพื่อให้คนทำงานเดินหน้าได้เต็มที่โดยไม่ต้องกระอักกระอ่วนใจ
เพราะต้องการให้โรงโอเลฟินส์ของปคช. นั้นต้องการให้เป็นตัวอย่างมาตรฐานของการก่อสร้างโรงงานด้านปิโตรเคมีต่อไป
ทั้งที่โดยทั่วไปก็ทำกันอย่างนี้อยู่แล้ว
เขาจึงมีความเห็นว่า ควรจะเป็นลักษณะออกแบบไป ก่อสร้างไป จะสอดคล้องกับความเป็นจริงที่เป็นอยู่
โดยให้ทางวิศวกรรมสถานเป็นผู้ควบคุม ซึ่งเขาเชื่อว่า "จะทำให้ปัญหาคลี่คลายลง
เหมือนกับกฎหมายภาษีที่ 10 ปีก่อน มีการหนีภาษีเยอะ แต่ระยะหลังมีการจัดระบบและตรวจสอบแข็งขึ้น
คนก็อยากเสียให้ถูกต้องมากขึ้น" แม้จะยังไม่สมบูรณ์ที่สุดก็ตาม
ปัญหาของปิโตรเคมี...ยังมีอีก แม้แต่มาตรฐานก่อสร้างที่มีอยู่ ส่วนใหญ่จะอิงมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง
ทำให้เจ้าของโครงการใช้มาตรฐานก่อสร้างจากฉบับอื่นไม่ได้ ทั้งที่ต่างก็มีมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเดียวกัน
ที่เป็นอย่างนี้ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ของเรารู้มาตรฐานเดียว
ขณะที่เขาเห็นว่า "มาตรฐานก่อสร้างน่าจะเป็นมาตรฐานใดก็ได้ แล้วแต่ผู้ลงทุนเห็นควรถ้าเป็นมาตรฐานที่จะไปสู่เป้าหมายหลัก
คือ มาตรฐานความปลอดภัยและทรัพย์สินแล้วก็ควรอนุมัติ เพราะที่ผ่านมาส่วนมากเรามักใช้มาตรฐานของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมักจะติดรูปแบบที่เทอะทะ บางครั้งใช้วัสดุเกินความจำเป็นและทำให้ต้นทุนสูง"
เขาสรุปปัญหาข้อกฎหมายกับ "ผู้จัดการ" จากสิ่งที่เขาได้สัมผัส
ประสบการณ์ที่เขาอยู่ที่ปคช.มา 4 ปี ทำให้เขาจากคนซึ่งไม่รู้เรื่องปิโตรเคมีกลายมาเป็นที่ปรึกษากฎหมายของปคช.และวิเคราะห์ปัญหาระบบภาษีของปิโตรเคมีได้ถึงแก่น
ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปทำการบ้านหาทางออกกันต่อ
ทำให้เราเริ่มมีนักกฎหมายด้านปิโตรเคมีขึ้นมา ตามผลพวงของการก้าวไปสู่ความเป็นนิกส์ที่ได้สร้างให้เกิดมิติใหม่
ๆ ขึ้นมากมาย