ต่อต้านร.ร.แพทย์รังสิตยกระบบแพทย์พาณิชย์จะเฟื่องฟูเข้าอ้าง

โดย สมชัย วงศาภาคย์ ดนุช ตันเทอดทิตย์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

วิทยาลัยรังสิตเป็นเอกชนเจ้าแรกที่เปิดสอนคณะแพทย์จึงถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกรรมการบางท่านในแพทย์สภา กรอบเหตุผลของการต่อต้านอยู่ที่ ความหวั่นเกรงในระบบแพทย์พาณิชย์จะเฟื่องฟู เป็นอันตรายต่อประชาชน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์ที่กำลังขาดแคลนของเอกชน จริง ๆ แล้วเรื่องนี้อยู่ที่ต่างกันในการคิดมากกว่าประเด็นด้านกฎหมาย

คนเราเวลาเจ็บป่วย สิ่งแรกสุดที่จะทำคือเดินเข้าไปในโรงพยาบาลหรือคลินิก รีบตาม หมอที่รู้จัก หรือถ้าไม่รู้จัก ก็จะให้โรงพยาบาลเป็นผู้กำหนดหมอ ที่จะบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นให้ และถ้าหากหมอจะสั่งให้ปฏิบัติตัวอย่างไรก็ต้องยอมรับคำแนะนำนั้น โดยดุษฎีมองในแง่นี้ฐานะของหมอจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตคนเราอย่างมากด้วยเหตุผลหมอเป็นคนเดียวที่รู้สมุติฐานและการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย ขณะที่คนอื่นหรือแม้แต่ตัวเราเองรับรู้ถึงสิ่งนี้อย่างจำกัดมาก ๆ หรือ แทบจะไม่รู้เลยก็ได้

เหตุนี้อาชีพของหมดจึงหอมหวนนัก นำมาซึ่งความมั่งคั่งในฐานะของเศรษฐกิจ และการ

ยอมรับในความมีคุณค่าของวิชาชีพ ทางสังคมสูงสุดอาชีพหนึ่ง

การให้บริการทางการแพทย์ในรูปโรงพยาบาล ทุกวันนี้มีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

นอกเหนือไปจากรัฐ ตรงนี้เข้าใจกันชัดเจน ด้วยเหตุที่รัฐไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนได้เพียงพอด้วยต้นทุนการลงทุนสูงถึงเตียงละ 5 ล้านบาท

ข้อมูล ณ สิ้นธันวาคม ปี 2537 รัฐได้ลงทุนบริการทางการแพทย์ไปแล้วทั้งสิ้น 59,788 เตียง คิดเป็นจำนวนเงินลงทุน (ตามมูลค่าปัจจุบัน) ประมาณ 298,940 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน 7,501 เตียง มูลค่า 37,505 ล้านบาท จากระยะเวลาเดียวกัน และในปี 2529 เอกชนได้ขยายสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 11,271 เตียง คิดเป็นเงิน 56,355 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวโน้มที่แสดงว่าเอกชนนับวันจะเข้ามามีบทบาทให้บริการทางการแพทย์มากขึ้น

คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ เมื่อเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนให้บริการทางการแพทย์แล้วควรที่จะมีส่วนร่วมในการลงทุน ผลิตแพทย์ด้วยหรือไม่

แต่ไหนแต่ไรมา รัฐเป็นผู้ลงทุนผลิตบุคลาการทางการแพทย์มาโดยตลอดจนทุกวันนี้ มีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทย์สภาแล้ว 16,000 คน แต่มีชีวิตอยู่จริง ๆ ประมาณ 15,000 คน ซึ่งจำนวนเกือบ 6,000 คน ไม่ได้ให้บริการตรวจรักษาประชาชน เนื่องจากชราภาพบ้าง เลิกอาชีพไปบ้างหรือไม่ก็อยู่ในระหว่างเข้าคอร์สเรียนเพิ่มเติมแทพย์เฉพาะทาง

ดังนั้นว่ากันตามความจริงแล้ว กำลัง แรงงานของแพทย์ในขณะนี้มีอยู่จริง ๆ เพียง 8,000-9,000 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้กระจุกตัวอยู่ในเขต กทม.เกือบ 5,000 คน ทำให้อัตราส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชาการในเขต กทม.ตกประมาณ 1:1,300 คน ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่พูดถึงความพอเพียงของแพทย์ต่อจำนวนประชากรไว้ในอัตราส่วน 1:1,000

ขณะเดียวกันจำนวนแพทย์ที่กระจายกันอยู่ตามต่างจังหวัดจำนวน 4,000 คน ที่อยู่ประจำใน ร.พ.ชุมชน ประมาณ 1,500 คน และ ร.พ.ประจำจังหวัดประมาณ 3,500 คน เป้นข้อมูลที่แสดงถึงการกระจายแพทย์สู่ต่างจังหวัดที่ไม่มีผลต่อการลดจำนวนแพทย์ต่อประชากรมากนัก ในภาคเหนือและอีสานโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว มีแพทย์อยู่ในอัตราส่วน 1:13,000 และ 1:15,000 จึงต่ำกว่ามาตรฐานองค์กรอนามัยโลกถึง 10 เท่าตัว

แสดงว่าในต่างจังหวัดมีปัญหาการไม่เพียงพอของแพทย์ในการให้บริการแก่ประชาชน และจุดนี้เองที่ผู้นำบางคนในแพทย์สภาเช่น น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการแพทยสภาได้ย้ำกับ "ผู้จัดการ" ถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในต่างจังหวัด ว่าเป็นผลมาจากการจัดสรร กระจาย แพทย์ไม่ดีเพียงพอ ไม่ใช่ผลมาจาก การผลิต แพทย์ไม่เพียงพอ จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนผลิตแพทย์ในเขต กทม.เพิ่มขึ้นอีก แต่การผลิตแพทย์ควรกระจายไปผลิตที่ต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาการขาดแคลน

"ประเด็นข้อสรุปนี้ เป็นมติของที่ประชุมสัมมนาแพทยศึกษาครั้งที่ 5 เมื่อปี 2523 ซึ่งแพทยสภาใช้เป็นแนวทางการพิจารณาหลักสูตรเปิดคณะแพทย์แห่งใหม่" น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แม้จะเป็นมติของกลุ่มแพทยศึกษาและแพทยสภาในการเสนอแนะให้ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐได้รับทราบว่า การเปิดโรงเรียนแพทย์ในเขต กทม.และปริมณฑลไม่ควรมีอีกต่อไป

แต่ก็ดูจะไม่มีผลอะไรในภาคปฏิบัติเพราะปรากฎว่าหลังจากนั้นเพียง 1 ปี คือปลายปี 2524 มีการนำเรื่องการขอเปิดคณะแพทยศาสตร์ของ มศว.ประสานมิตรเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสมัย พลเอกเปรมอีก

คนที่นำเรื่องนี้เข้าคณะรัฐมนตรีคือดร.เกษม สุวรรณกูล รัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยขณะนั้น และเป็นนายกสภา มศว.ด้วย ว่ากันว่า ดร.เกษมลงทุนถึงกับขอร้องไห้ครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบโดยบอกว่า มศว.ประสานมิตรจะเป็นมหาวิทยาลัยสุดท้ายที่จะมีคณะแพทย์

ตอนนั้นคนที่เป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัยคือ อาทร ชนเห็นชอบ แล้ว ครม.ก็อนุมัติตามข้อเสนอของ ดร.เกษม

แพทย์สภาออกมาคัดค้านกันยกใหญ่แต่ไม่เป็นผล ทาง มศว.ประสานมิตรเองก็ไม่ทำอะไรเลยช่วงนั้น ยังคงเก็บรักษามติ ครม.ที่ให้ความเห็นชอบเปิดสอนคณะแพทย์ได้อย่างมิดชิด

จนปี 2525 ก็มีการนำเอาไปให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้รับทำแทน เพราะประสานมิตรไม่มีความพร้อมที่จะทำ เรื่องนี้ศ.นงเยาว์ ชัยเสรี ซึ่งเป็นอธิการบดีขณะนั้นก็นำไปขอเสนอต่อปลัดทบวงมหาวิทยาลัยคือ อาทร ชนเห็นชอบ แต่ถูกปฏิเสธเพราะปลัดอาทรเห็นว่าใบอนุญาตให้เปิดเป็นของมศว.ประสานมิตรไม่ใช่ธรรมศาสตร์

เรื่องนี้ก็จบลงตรงนั้น จนปี 2529 ทางผู้บริการ มศว.ประสานมิตรก็นำเรื่องนี้ขึ้นมาดำเนินการต่อจนเปิดรับ นศ.ได้ในปี 2530 จำนวน 37 คน มีอาจารย์แพทย์ผู้สอน 17 คน

ตรงนี้ว่ากันว่ามีการดึงอาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ที่สงขลานครินทร์ และขอนแก่น มาสอนไม่น้อย ซึ่งตรงกับข้อเสนอแนะต่อทบวงฯของแพทยสภาที่พยายามชี้วิเคราะห์ให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้มีการดึงอาจารย์แพทย์ที่สอนอยู่โรงเรียนแพทย์ในต่างจังหวัดเข้ามาใน กทม. ทำให้ต่างจังหวัด ซึ่งขาดแคลนแพทย์อยู่ยิ่งขาดแคลนมากขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อการกระจายแพทย์สู่ต่างจังหวัด

ช่วงที่ มศว.ประสานมิตรเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนแพทย์เป็นระยะไล่เลี่ยกับทางผู้บริหารวิทยาลัยรังสิตกำลังขบคิดกันอย่างหนัก ในความพยายามที่จะเปิดโรงเรียนแพทย์เอกชนเป็นแห่งแรกของไทยให้ได้

"กรรมการสภาวิทยาลัยบางท่าน เช่น ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต, ดร.อาณัติ อาภาภิรม อยากให้โรงเรียนการสอนแบบฮาร์วาร์ด" ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีวิทยาลัยรังสิตเล่าถึงความฝันในการลงทุนเปิดคณะแพทย์ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

นพ.ประสงค์ ตู้จินดา, นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรรมการแพทยสภา ที่ได้รับการนับถืออย่างสูงในวงการแพทย์ เป็นผู้ออกแบบร่างหลักสูตรคณะแพทย์ของวิทยาลัยรังสิตอย่างขะมักเขม้น โดยใช้ร่างหลักสูตรแพทย์ศาสตร์จุฬาเป็นแม่แบบ

ทุกอย่างเสร็จสิ้นลงในปี 2531 พร้อมที่จะเสนอขอความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ

การประชุมกรรมการพิจารณาหลักสูตรของทบวงก็เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 22 ก.พ. 2531 เวลาบ่าย 2 โมง

การย้อนรอยประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทวิช กลิ่นประทุม ร.ม.ต.ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐได้เซ็นอนุมัติให้วิทยาลัยรังสิตเปิดสอนคณะแพทย์ได้ หลังจากกรรมการพิจารณาหลักสูตรที่ทบวงแต่งตั้งได้ใช้เวลาการประชุมเรื่องนี้ 4 ครั้ง และมีความเห็นว่า หลักสูตรและความพร้อมของวิทยาลัยรังสิต เป็นที่ยอมรับได้

แต่กรรมการหลักสูตรที่ทบวงแต่งตั้งมีคนหนึ่งที่มาจากแพทยสภา คือ น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ คัดค้านการพิจารณาหลักสูตรนี้จึงไม่ยอมเข้าที่ประชม และประท้วงด้วยการลาออกจากกรรมการแพทยสภาทันทีที่ทวิช กลิ่นประทุม เซ็นอนุมัติให้เปิด

นี่เป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม และทางผู้บริหารวิทยาลัยรังสิตได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการอนุมัติให้เปิดสอนได้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม

กระแสคัดค้านจากกรรมการบางท่านในแพทยสภาเริ่มหนาหูมากขึ้นโดยมุ่งประเด็นไปที่ หนึ่ง-ผู้บริหารวิทยาลัยรังสิต รีบด่วน เปิดรับนักศึกษาเกินไป น่าจะรอให้แพทยสภาอนุมัติและให้ความเห็นชอบหลักสูตรและรับรองสถาบันก่อน ตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ปี 2525 มาตรา 8 (3) และ (4) สอง-การให้เอกชนอย่างวิทยาลัยรังสิตเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์จะทำให้การสถาปนาระบบแพทย์พาณิชย์เฟื่องฟูขึ้น ซึ่งมีผลต่อประชาชนผู้ใช้บริการที่จะต้องแบกรับค่ารักษาสูงขึ้น เพราะต้นทุนแพทย์สูงขึ้น และการตรวจรักษาในสิ่งที่ไม่จำเป็นเหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯขณะนี้จะมีมากขึ้น

การคัดค้านการเปิดคณะแพทย์วิทยาลัยรังสิตของผู้นำบางคนในแพทยสภาจึงมี 2 มิติคือในแง่กฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอน และในแง่แนวความคิดเกี่ยวกับระบบแพทย์พาณิชย์

ในแง่ข้อกฎหมาย ขั้นตอนการขอเปิดสอนคณะแพทย์ของวิทยาลัยรังสิต ใช้กฎหมายสถาบันฯการศึกษาเอกชน ปี 2522 เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งในมาตรา 15 ระบุว่าเมื่อหลักสูตรและความพร้อมที่จะเปิดการเรียนการสอนได้รับการอนุมัติจาก ร.ม.ต.ทบวงให้เปิดดำเนินการได้จึงจะเปิดได้

ข้อความนี้เข้าใจได้ชัดเจนว่า วิทยาลัยรังสิตสามารถเปิดดำเนินการคณะแพทย์ได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งมองจากกรอบของกฎหมายนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่แพทย์สภาก็ออกมาคัดค้านโดยอาศัยกฎหมายผู้ประกอบวิชาพเวชกรรมปี 2525 มาตรา 8 (4) ที่ระบุว่า "แพทย์สภามีอำนาจหน้าที่รัองรองหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันทางการแพทย์ และ (5) ระบุว่า "แพทยสภามีอำนาจหน้าที่รับรองวิทยะฐานะ ของสถาบันทางการแพทย์"

แสดงว่าบนพื้นฐานกฎหมายฯแพทย์สภามีอำนาจหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาหลักสูตรและสถาบันที่ขอเปิดสอนคณะแพทย์ด้วย

เรื่องมันยุ่งตรงนี้ ที่กฎหมายฯเปิดช่องให้แพทยสภาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งแต่เดิมกฎหมายเมื่อปี 2511 ไม่ได้เปิดช่องให้ยุ่งเกี่ยวเรื่องนี้

ธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา การเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนแพทย์จะกระทำหลังจากแพทยสภาได้รับรองหลักสูตร และสถาบันแล้วทั้งนั้น ประสานมิตรก็ใช้เวลานานถึง 2 ปี กว่าแพทยสภาจะรับรอง

มศว.ประสานมิตรได้รับใบอนุญาตจากทบวงให้เปิดสอนคณะแพทย์ได้ตั้งแต่ปี 2524 และมาเปิดเอาปี 30 กินเวลานานถึง 5 ปี

เอกชนอย่างวิทยาลัยรังสิตรอนานขนาดนั้นไม่ได้ เพราะเป้าหมายการลงทุนและระบบการบริหารแตกต่างจากของรัฐ "ความจริงตอนที่เราเสนอแผนขอเปิดคณะแพทย์ต่อทบงง เราบอกว่ามีเป้าหมายเวลาจะเปิดในปีนี้ (2532) ให้ได้ และในปี 2538 ก็จะมีแพทยศาสตร์บัณฑิตจากสถาบันเรารุ่นแรกออกมาประมาณ 50 คน" ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีวิทยาลัยรังสิตเล่าให้ฟังถึงเหตุผลต้องเปิดรับ น.ศ.ทันทีที่ได้รับอนุมัติ

การเปิดรับ น.ศ. ของรังสิต ขณะที่ยังไม่ผ่านการรับรองหลักสูตรและสถาบันจากแพทยสภา ทางผู้นำบางคนในแพทยสภาจึงมีความรู้สึกว่าบทบาทส่วนนี้ของตนถูกมองข้ามไปอย่างไร้ศักดิ์ศรี คล้าย ๆ กับมัดมือชกให้แพทยสภารับรองในภายหลัง

ความซ้ำซ้อนของกฎหมายที่ทบวงใช้กับของแพทย์สภาในด้านการรับรองหลักสูตรและสถาบัน มีข้อสังเกตอยู่ประเด็นที่ว่าแพทยสภาควรมีอำนาจหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องในการอนุมัติ หรือรับรองหลักสูตร และสถาบันที่เปิดสอนคณะแพทย์ที่ทบวงทำหน้าที่นี้แล้วหรือไม่

อาจารย์แพทย์ จากมหาวิทยาลัยแพทย์ของรัฐซึ่งเป็นกรรมการแพทย์สภาด้วยท่านหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า แพทย์สภาควรมีบทบาทหน้าที่เหมือนสมาคมวิชาชีพอื่น ๆ คือควบคุมจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ และให้คำปรึกษาแก่รัฐในปัญหาสาธารณสุขของชาติเท่านั้น บทบาทนอกเหนือจากนี้ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของทบวงฯ

พูดอย่างรูปธรรมก็คือ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปี 2525 มาตรา 8 ใหม่ โดยให้ตัดทิ้งไปเลย

เหตุผลเพราะทบวงเป็นกลไกทางการเมืองของรัฐบาล ร.ม.ต. ทบวงมาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นนักการเมือง แนวความคิดในการบริหารนโยบายทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นการผลิตและบริการก็ดี ในบางสถานการณ์อาจตัดสินใจไปบนกรอบของเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่เหตุผลทางเทคนิคด้านสาธารณสุขขณะที่แพทย์สภาเป็นกลไกของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแผนปัจจุบัน ผู้นำตลอดจนกรรมการทุกท่านในแพทย์สภาซึ่งมีจำนวน 30 คน โดย 15 คนมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกให้มาทำหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ล้วนแต่เป็นนักวิชาการที่ใช้ความรู้ทางวิชาการ และเทคนิคทางการแพทย์ ดังนั้นถ้ามองจากจุดนี้ แพทย์สภาจึงเป็นกลไกที่ทำงานตามเหตุผลทางเทคนิคด้านสาธารณสุข ไม่ใช่เหตุผลทางการเมือง ที่ต้องมองให้กว้างไกลออกไป

ด้วยเหตุนี้ ฐานะของแพทยสภาจึงมีข้อจำกัดในการมองปัญหาสาธารณสุขของชาติขณะที่ทบวงสามารถมองได้กว้างไกลกว่าจึงเป็นไปไม่ได้ที่สถาบัน 2 แห่งนี้จะร่วมกันมีบทบาทในการพิจารณานโยบายการผลิตและการให้บริการทางการแพทย์

จริงอยู่ แพทยสภามีสมาชิกที่เป็นแพทย์อยู่ทั่วประเทศ ย่อมมีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริงในปัญหาสาธารณสุขของชาติระดับหนึ่ง ผู้นำแพทย์สภาอย่าง น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์เลขาธิการแพทยสภา น.พ.วิชัย โชควิวัตร น.พ.สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ซึ่งเป็นหมอรุ่นใหม่ที่มีอายุเฉลี่ย 40 ปี มีประสบการณ์ทำงานแพทย์ในต่างจังหวัดและชนบทมาเป็นเวลานานนับ 10 ปี มีผลงานเป็นหมอดีเด่นของชาติ ก็ล้วนแต่มีความรับรู้ทางสังคมสูง

ว่ากันตามจิตสำนึกแล้ว กลุ่มหมอรุ่นใหม่กลุ่มนี้มีบทบาทในแพทย์สภาสูงมากและรับรู้ถึงปัญหาสาธารณสุของชาติในเรื่องการกระจายแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นอย่างดี

ถ้าจะประทับตราว่ากลุ่มหมอเหล่านี้เป็นผลพวงจากกรณีความเคลื่อนไวด้านประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ก็ไม่ผิดนัก

น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการแพทย์สภาได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ตอนสมัยที่จบแพทย์ใหม่ ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้มาก็เพราะคนไข้อนาถาทั้งนั้น การฝึกอบรมผ่าศพ ส่วนใหญ่ก็เป็นศพที่ไม่ญาติ "เราได้เรียนรู้จากคนที่มีฐานะเศรษฐกิจด้อย เพราะฉะนั้นมันจึงมีความชอบธรรมที่เมื่อเรียนจบแพทย์ ควรที่จะออกไปรับใช้ประชาชนผู้ยากไร้ในชนบทเพื่อทดแทนคุณอย่างน้อย 3 ปี"

สิ่งนี้สะท้อนอุดิมคติต่อการมองปัญหาการเปิดโรงเรียนแพทย์ของวิทยาลัยรังสิตที่กลุ่มหมอเหล่านี้คัดค้านได้ชัดเจนมาก ว่าที่จริงแล้ว มาจากเหตุผลด้านแนวคามคิดในการประเมินค่าของระบบแพทย์พาณิชย์ที่อออกมาในเชิงลบนั่นเอง

มีความเชื่อว่าระบบแพทย์พาณิชย์ทำให้ประชาชนต้องเสียค่ารักษาสูงเกินความจำเป็น มีตัวอย่างในสหรัฐฯ ที่แพทย์สั่งให้คนไข้ตัดทอลซิลทิ้งด้วยสาเหตุที่ไม่จำเป็นถึง 90% ตัดมดลูกโดยไม่มีข้อบ่งชี้อีก 70% แพทย์ในสหรัฐฯจึงต้องทำประกันกันทุกคนเพื่อปกป้องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกคนไข้ฟ้องร้องค่าเสียหาจากกรณีการละเมิดจริยธรรมการบำบัดรักษา

ในเมืองไทยเองก็เช่นกัน แม้ไม่มีตัวเลขพิสูจน์ได้ชัดเจนเหมือนตัวอย่างในสหรัฐฯแต่ก็เป็นที่รู้กันว่า โดยเฉลี่ยคนไข้ 10 ราย จะมีสัดส่วน 7-8 รายที่ไม่จำเป็นต้องฉายรังสี X-RAY C.T.SCAN ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 5,000-6,000 บาท ถ้าไม่ใช่เพราะเหตุผลด้านคอมมิชชั่น 10% ที่หมอจะได้รับจากการส่งคนไข้ไป X-RAY แต่ละครั้ง

นอกจากนี้ยังมีเครื่องบ่งชี้ว่าแนวโน้มการกระทำผิดจรรยาบรรณของแพทย์ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2513-25 มีประมาณ 180 คดี ขณะที่ช่วงปี' 26-31 ซึ่งระยะเวลาสั้นกว่า จำนวนความผิดของแพทย์ก็สูงถึง 150 คดี

ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่มีการเก็บข้อมูลตัวเลขการผิดจริยธรรมทางการแพทย์มีหลักฐานว่าแพทย์ที่กระทำผิดจริยธรรมสูงถึง 330 คดี ในจำนวนนี้มีแพทย์ที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนที่ฟิลิปปิ้นส์กระทำความผิดสูงกว่าแพทย์ที่จบจากสถาบันในประเทศถึง 6 เท่าตัว

ความเชื่อจากข้อมุลเหล่านี้ถูกนำไปโยงเข้ากับกระบวนการผลิตแพทย์ของเอกชนด้วย อาจมีผลที่น่าเชื่อถือกันได้ว่าหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดจริยธรรมได้ง่าย ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์เอกชน ต้องใช้เงินลงทุนศึกษาเล่าเรียนสูงถึง 990,000 บาท ตลอดหลักสูตร 6 ปี ขณะที่ภาวะสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเน้นแบบแผนการบริโภคและวิถีชีวิตแบบตะวันตกมากขึ้น เงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมแบบนี้อาจกระตุ้นให้การทำผิดของแพทย์เพิ่มมากขึ้น

การมองอนาคตของนักเรียนแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์เอกชนในแนวนี้อาจไม่ยุติธรรมนักต่อวิทยาลัยรังสิต เพราะเป็นเรื่องของจิตสำนึกในจริยธรรมของแต่ละคนจุดสำคัญที่จะปกป้องรักษาจริยธรรมในวิชาชีพให้แก่นักเรียนแพทย์คงไม่ได้อยู่ที่อยู่ในเบ้าหลอมเอกชนหรือรัฐ

แต่อยู่ที่ว่า กระบวนการคัดเลือกและผลิตเป็นอย่างไรมากกว่า

วิทยาลัยรังสิตลงทุนเปิดคณะแพทย์ตลอดหลักสูตร 6 ปี เพื่อผลิตแพทย์ GENERAL PRACTISE ด้วยเงินสูงถึงเกือบ 100 ล้านบาท โดยที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมด้านภาษีอากรและศุลกากรจากรัฐในส่วนเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เลยแม้แต่น้อย

จะมีเพียงแต่กล้องจุลทรรศ์เท่านั้นที่ได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์ข้อตกลงกับทางยูเนสโก้ (UNESCO) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่

"ด้านขอส่งเสริมจากบีโอไอเราเคยยื่นไป แต่ไม่ได้รับการพิจารณาเพราะไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาส่งเสริม เนื่องจากบีโอไอยังไม่มีนโยบายด้านนี้" ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ถึงที่มาจากการไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐ

แต่ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อชื่อเสียงอย่างน้อยคณะพยาบาลศาสตร์กายภาพบำบัดและเภสัชศาสตร์ ซึ่งเปิดการเรียนการสอนไปแล้วก็สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมือห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกันได้

พูดอีกนัยหนึ่ง ๆ ถึงคณะแพทย์ไม่ได้รับส่งเสริมลงทุน แต่ก็พอถู ๆ ไถ ๆ ไปได้บ้างเพราะมีสาขาวิชาอื่น ๆ มาร่วมเฉลี่ยต้นทุนไปได้บ้างในส่วนอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ

กระนั้นก็ตาม มันก็สะท้อนให้เห็นทิศทางการลงทุนเพื่อการศึกษาของวิทยาลัยรังสิตอย่างเด่นชัดที่จะผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ออกมาสู่ตลาดในสัดส่วน 50:50 ของสายวิชาชีพทางสังคมศาสตร์ โดยเน้นที่ความพร้อมในการผลิตอย่างมีคุณภาพ

อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีวิทยาลัยรังสิต เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงปรัชญาการลงทุนด้านการศึกษาว่า เป็นการลงทุนที่สูงมากถึง 500 ล้าบาท โดยเน้นหนักไปที่สถานที่เครื่องมืออุปกรณ์และค่าจ้างอาจารย์เพราะค่าใช้จ่ายลงทุน 3 ตัวนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการผลิตนักศึกษาออกมาสู่ตลาดอย่างมีคุณภาพ

"การลงทุนทางการศึกษาในบ้านเราส่วนใหญ่จะทำถูก ๆ เข้าไว้ ส้วมก็ต้องเหม็น ๆ อุปกรณ์การเรียนการสอนก็เก่า ๆ เด็กที่จบมาต้องผ่านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมเห็นว่าเด็กที่ผ่านขั้นอุดมศึกษามาได้เขาต้องเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มีหูตากว้างไกล มีความมั่นใจตนเอง สิ่งเหล่านี้จะเป็นได้ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งผมเห็นว่ามีโรงเรียนไม่กี่แห่งที่ทุ่มเทจริง ๆ "

ปรัชญาการศึกษาเช่นนี้สะท้อนออกมาในเชิงรูปธรรมจากรณีตัวอย่างคณะแพทย์ที่ให้ความสำคัญอย่างสูงในคุณภาพตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกไปจนถึงการเรียนการสอน เพื่อต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบการเลือกสรรของเอกชนไม่ด้อยกว่าของทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐเลย

"มีระบบการคัดเลือกที่เข้มข้น เริ่มจากการสอบข้อเขียนที่วิทยาลัยจัดสอบเอง โดยมาตรฐานเดียวกับของทบวงซึ่งผ่านข้อเขียนมาได้ 100 คน จากผู้สมัครเกือบ 400 คน จุดที่แตกต่างจากระบบคัดเลือกของทบวงคือการสัมภาษณ์ที่เน้นหนักทดสอบความถนัดทางการแพทย์ เพื่อตรวจสอบจิตสำนึก และจริยธรรมในวิชาชีพ ขณะที่การทดสอบแบบนี้ รัฐไม่กล้าทำ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐกลัวถูกร้องเรียนว่าไม่ให้ความยุติธรรมแก่เด็กในการสอบสัมภาษณ์" ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์กล่าว

เมื่อเบ้าหลอมการคัดเลือกแตกต่างกันด้วยเหตุนี้เองที่อาจารย์แพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทย์มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทางแพทย์สภาควรให้นักเรียนแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าสอบใบประกอบโรคศิลป์เหมือนโรงเรียนแพทย์เอกชนทั่วไปด้วย เพราะโรงเรียนแพทย์ของรัฐที่เปิดใหม่ ๆ ก็มีปัญหาด้านความแตกต่างในคุณภาพการเรียนการสอนเมื่อเทียบกับโรงเรียนแพทย์ของรัฐที่เก่าแก่ ยกตัวอย่างประสานมิตร มีนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 1 จำนวน 37 คน มีอาจารย์แพทย์ระดับ PH.D 1 คน อีก 16 คน เป็นระดับปริญญาโท (แพทย์เฉพาะทาง) เทียบกับศิริราช ซึ่งเก่าแก่ที่สุด มีอาจารย์แพทย์ถึง 543 คน

ขณะที่วิทยาลัยรังสิตมีนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 1 จำนวน 48 คน แต่มีอาจารย์แพทย์จำนวนถึง 31 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญแพทย์เฉพาะทางที่ผ่านการฝึกอบรมทั้งจากสถาบันแพทย์ในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ หนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2532 ที่ลงนามโดย สุจินต์ ผลากรกุล อธิบดีกรมการแพทย์ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการฝึกภาคปฏิบัติ (การเรียนการสอนระดับคลินิก) ของนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพของวิทยาลัยรังสิต ที่โรงพยาบาลราชวิถี และเด็ก ที่ประกอบไปด้วยอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึง 7 ท่าน นำโดยนายแพทย์วิทูร แสงสิงแก้ว ก็เป็นสิ่งยืนยันการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ระดับคลิกนิกของวิทยาลัยรังสิต มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้

ดังนั้นถ้าหากมาจับคู่เปรียบเทียบกันระหว่างประสานมิตรซึ่งเป็นของรัฐกับรังสิตซึ่งเป็นของเอกชน โดยที่ทั้ง 2 สถาบันต่างเพิ่งเปิดคณะแพทย์กันใหม่ถอดด้าม จะสังเกตเห็นว่า การที่แพทย์สภาให้สิทธิพิเศษแก่นักเรียนแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์ของรัฐไม่ต้องสอบรับใบประกอบโรคศิลป์ เพราะเชื่อในระบบการหล่อหลอมของรัฐว่ามีคุณภาพเข้มข้นดีแล้ว อาจไม่ถูกต้องทั้งหมดอย่างน้อยที่สุด พิจารณาไปที่ปัจจัยด้านปริมาณและคุณภาพของอาจารย์ที่สอนก็จะพบว่ามีความรู้ความชำนาญแตกต่างกันชัดเจน

มองในแง่นี้ แพทย์สภาอาจต้องหันมาทบทวนบทบาทหน้าที่พื้นฐานในการออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักเสียใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการผลิตของสถาบันเอกชนให้มากขึ้น

คงไม่ได้หมายความแต่เพียงจะต้องเข้มงวดมากขึ้นในการสอบเพื่อขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ เอาแต่เฉพาะนักศึกษาที่จบจากต่างประเทศเท่านั้น หากควรจะต้องเข้มงวดในการพิจารณาเพื่อทดสอบคุณภาพมาตรฐานทางวิชาการความรู้ทางการแพทย์ของนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนแพทยืของรัฐด้วย เพื่อความเท่าเทียมกันในสิทธิที่จะได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากแพทย์สภา

การลงทุนด้านการศึกษาของวิทยาลัยรังสิต เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งให้แพทย์สภาได้รับรู้ถึงความจริงในปรัชญาการลงทุนการจัดระบบการเรียนการสอนที่เน้นคุณภาพเป็นจุดหนัก ความพร้อมที่จะลงทุนในอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อประกอบการศึกษาของเอกชนไปสัมผัสด้วยตา บางทีความเชื่อในการมองภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและให้บริการทางการแพทย์ว่าจะทำให้เกิดระบบแพทย์พาณิชย์เฟื่องฟู และเป็นอันตรายกับประชาชนนั้น อาจต้องมาทบทวนกันใหม่ก็ได้ เพราะ หนึ่ง-สูตรสมการระบบแพทย์พาณิชย์จากเอกชนอาจไม่เป็นจริงเสมอไปก็ได้ว่าจะต้องหมิ่นเหม่เหม่ต่อจริยธรรมทางการแพทย์ได้ง่ายกว่าแพทย์ที่ผ่านจากโรงเรียนของรัฐ และ สอง-การเฟื่องฟูของระบบแพทย์พาณิชย์อาจไม่จำเป็นต้องมาจากการผลิตแพทย์ของโรงเรียนแพทยืเอกชนอย่างวิทยารังสิต โรงเรียนแพทย์ของรัฐก็มีโอกาสทำให้ระบบแพทย์พาณิชย์เฟื่องฟูได้เหมือนกันเมื่อมองจากเบ้าหลอมระบบการคัดเลือกและคุณภาพการลงทุนในการเรียนการสอน

ความแตกต่างในแนวความคิดของการเกิดระบบแพทย์พาณิชย์โดยดูจากกรร๊ตัวอย่างการเปิดสอนคณะแพทย์ศาสตร์ของวิทยาลัยรังสิต คงไม่จบลงง่าย ๆ เพราะหนึ่งที่ประชมคณะกรรมการแพทย์สภาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาโดยให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อีดข้อเสียเนื่องจากเรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และไม่มีนโยบายที่ระบุไว้ชัดเจนจากรัฐเลยว่าจะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์ด้วยหรือไม่

ซึ่งก็หมายความว่า หลักสูตรและสถาบันที่วิทยาลัยรังสิตได้ยื่นขอรับรองอนุมัติจากแพทยสภาแล้วนั้น คงต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะรู้ผล

บางทีอาจจะแท้งตั้งแต่ขั้นอนุกรรมการศึกษาข้อดีข้อเสียของแพทยืสภาเลยก็อาจเป็นได้ และประการสุดท้าย-เรื่องนี้ได้ถูกนำเข้าไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการศึกษาและสังคมของรัฐสภาด้วย

โดยเมื่อกลางเดือนมิถุนายน กรรมาธิการศึกษาและสังคมของรัฐสภาได้ให้ตัวแทนของแพทย์สภาคือ น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ กับดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีวิทยาลัยรังสิตไปให้ข้อมูลและความเห็น

นั่นหมานความว่า อาจเป็นไปได้ที่กฎหมายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่แพทย์สภายึดถืออยู่ และกฎหมายสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐใช้เป็นแนวปฏิบัติงานนโยบาย อาจต้องมีกาแรก้ไขปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจสังคมที่ผันแปรไป

ซึ่งก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะลบล้างความเชื่อในแนวความคิดที่แตกต่างกันในการมองเอกชนว่า จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างระบบแพทย์พาณิชย์ให้เฟื่องฟูของผู้นำบางคนในกลุ่มแพทย์สภาไปได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.