|
ศก.ซบ'หนี้เน่า'บัตรเครดิตพุ่ง ถกธปท.ลดเกณฑ์จ่ายขั้นต้น
ผู้จัดการรายวัน(18 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตเตรียมยื่นหนังสือของผ่อนผันเกณฑ์การชำระขั้นต่ำจาก 10% ลงมาเหลือ 5% หลังผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงจนกลายเป็นเอ็นพีแอล ระบุอีก 2-3 เดือนพร้อมปรับค่าธรรมเนียมลูกค้าต่างชาติที่ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดมาใช้จ่ายในเมืองไทย
นายโชค ณ ระนอง ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต เปิดเผยว่า ในการประชุมของชมรมฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีสมาชิก 3-4 แห่ง เสนอให้ชมรมเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอผ่อนผันเกณฑ์การชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 10% ลงมาอยู่ที่ 5% อีกระยะหนึ่งหลังจากที่ได้เคยผ่อนผันมาแล้ว
เนื่องจากการปรับขึ้นเกณฑ์ชำระขั้นต่ำมาอยู่ที่ 10% ในช่วงที่ผ่านมานั้นได้ส่งผลกระทบต่อลูกค้าทำให้ต้องมีการผ่อนชำระขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และเมื่อเศรษฐกิจต้องเผชิญกับปัจจัยลบมากมายทำให้จำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงน่าจะบรรเทาปัญหาโดยการผ่อนเกณฑ์ให้ชำระขั้นต่ำไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากธปท.ยอมผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ธนาคารสมาชิกอาจจะไม่ได้มีปรับเกณฑ์มาใช้เกณฑ์ขั้นต่ำที่ 5% ทั้งหมด และเชื่อว่าแต่ละธนาคารคงจะมีการพิจารณาและดูแลถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งการปรับลดเกณฑ์ขั้นต่ำมาที่ 5% ไม่ได้หมายความว่าหนี้ดังกล่าวจะไม่เป็นเอ็นพีแอล
"ขั้นตอนที่ต้องทำหลังจากการประชุมของชมรมฯ ก็คือต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอให้กับ ธปท.ได้ดู ว่าคนที่เคยจ่าย 5% แล้วต้องมาจ่าย 10% มีปัญหาอะไรหรือทำให้เขาไม่มีกำลังชำระอย่างไรบ้าง คาดว่าจะใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลประมาณ 1 เดือนก่อนจะนำเสนอ ธปท. แต่หากได้รับการอนุญาตจาก ธปท. แล้วในส่วนของแบงก์กรุงเทพเองคงจะไม่มีการปรับมาคิดที่ 5% แน่นอนเพราะที่ผ่านมาได้ใช้เกณฑ์ชำระขั้นต่ำที่ 10% มาโดยตลอด"
นายโชค กล่าวว่า ทางชมรมยังได้พูดคุยกันถึงเพดานอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตที่ 20% ซึ่งในขณะนี้ก็เริ่มตรึงตัวเพราะค่าใช้จ่ายมีการเพิ่มขึ้น ซึ่งคงรอเวลาอีกระยะหนึ่งที่จะเข้าหารือกับ ธปท. เพื่อขอให้มีการแข่งขันอัตราดอกเบี้ยกันเอง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ธปท. คงจะยังไม่สะดวกที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันคงต้องดูแลเรื่องของหนี้ภาคครัวเรือน
สำหรับกรณีที่บริษัท มาสเตอร์การ์ด ได้ขึ้นค่าธรรมเนียมบัตรต่างประเทศที่นำมาใช้ในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าเป็นค่าปรับปรุงระบบ และเป็นการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมทั่วโลก ซึ่งทางชมรมได้ขอให้ทางมาสเตอร์การ์ดพิจารณาว่าจะสามารถผ่อนปรนวิธีไหนได้บ้างนั้นตอนนี้ยังไม่ได้รับคำตอบอะไรจากมาสเตอร์การ์ด ส่วนความคืบหน้าของธนาคารผู้ทำธุรกิจร่วมกับร้านค้าที่รับบัตรนั้นขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบไอทีเพื่อแยกข้อมูลว่าบัตรไหนเป็นบัตรของต่างประเทศที่เข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยคาดว่าอีก 2-3 เดือนจึงจะมีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว
ส่วนกรณีที่ร้านค้าไม่ยอมรับบัตรแพลตินัมนั้น ในเร็ว ๆ นี้ทางวีซ่ากำลังจะออกข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้ถือบัตรแพลตินัม โดยเบื้องต้นคือผู้ที่จะถือได้จะต้องมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 200,000 บาทขึ้นไป สำหรับบัตรที่ออกไปก่อนหน้าจะมีการบริหารจัดการอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละแห่ง
นายโชค กล่าวอีกว่า การทำธุรกิจบัตรเครดิตในตอนนี้คงมีกำไรยาก แต่ธนาคารยังไม่ได้ปรับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจลง โดยทุกธนาคารควรมีความระมัดระวัง ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกลไกในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทั้งเรื่องของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ลดลงโดยเห็นตัวตัวเลขที่ ธปท.รายงาน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบันทำให้ไม่มีใครอยากจะใช้จ่าย อีกทั้งยังมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งเป็นตัวผลักดันให้ราคาสินค้ามีการเพิ่มขึ้น
"แบงก์ยังไม่ปรับเป้าหมายลง แต่การทำธุรกิจปีนี้คงไม่ง่าย ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของเศรษฐกิจที่ไม่ดี ก็ต้องระวังว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป แบงก์เองก็คงต้องสู้กันเต็มที่เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ แต่ทั้งปีก็จะพยายามให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งปีก่อนเรามีการเพิ่มขึ้นของบัตรใหม่ 150,000 บัตร ปีนี้เป้าหมายค่อนข้างสูง โดยเป้าบัตรใหม่ปีนี้ก็เกิน 200,000 บัตร"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|