|
ไม่ฟันธงกนง.ขึ้นดอกเบี้ย เหตุอาจจำใจสนองรัฐบาล
ผู้จัดการรายวัน(18 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ เเนะเข้าลงทุนพันธบัตรระยะสั้น พร้อมเสริมสภาพคล่องด้วยการลงทุนผ่านกอง Money Market เพื่อเป็นมาตรการรับมือหากกนง.เตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยสะกัดเงินเฟ้อ แต่ยังไม่ฟันธงมติประชุมกนง.ครั้งนี้ ว่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เหตุอาจจำใจสนองนโยบายรัฐบาล กดนิ่งอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อทำฝัน "ครม.หมัก"เห็นตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจขยายตัว
นาย อาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด กล่าวถึงสถานกาณ์ตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยว่า ในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ผลตอบเเทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นทุกช่วงอายุ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของผลตอบเเทนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเป็นอย่างมาก
โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ที่จะประชุมในวันที่ 21 กรกฏาคมนี้ ตามที่คาดการณ์กันไว้คือ กนง.น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายกังวลว่าในเดือนมิถุนายน อาจจะขึ้นไปถึง 9-10% เลยทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น บวกกับปัจจัยเรื่องการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีทิศทางว่าจะเป็นอย่างไร พร้อมกับปัญหาเรื่องอื่นๆที่เข้ามาอีกไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงินบาท หรือเรื่องราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น
"เมื่อ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเเล้ว การลงทุนในตราสารหนี้ก็จะปรับเปลี่ยนทิศทางอีกครั้ง โดยพันธบัตร ระยะสั้นเช่น3 เดือน เเละ 6 เดือนของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ รวมถึงหุ้นกู้ภาคเอกชนที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทโตโยต้า หรือบริษัทปูนซีเมนต์ จะน่าลงทุนมากกว่าพันธบัตรระยะยาว" นาย อาสา กล่าว
สำหรับการปรับพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ในช่วงนี้ คือเน้นลงทุนกองทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นที่เป็นกองทุนปิด หรือล๊อกอายุการลงทุน เเละกำหนดผลตอบเเทนของการลงทุน รวมทั้งอาจเลือกลงทุนกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ที่ยังให้ผลตอบเเทนดีอยู่ พร้อมกับเสริมสภาพคล่องให้กับตนเองเช่นลงทุนในกองทุน Money Market เป็นต้น
ด้าน นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยตั้งเเต่ต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางค่อนข้างเปลี่ยนเเปลงบ่อย ด้วยปัจจัยเรื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะปรับลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐซึ่งส่งผลทำให้ประเทศไทยต้องดูทิศทางต่อไปอีกว่าจะยืนอัตราดอกเบี้ยตามเดิม หรือปรับลดปรับเพิ่มตามเฟดอีกหรือไม่
"โดยการประชุมของกนง.ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ น่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเเรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายมองว่าอีกไม่นานนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะขึ้นไปถึง 2 หลัก ทำให้พันธบัตรระยะยาวอาจได้รับผลกระทบในเเง่ของผลตอบเเทน ซึ่งการลงทุนพันธบัตรระยะสั้นในประเทศจะกลับเข้ามาน่าสนใจอีกครั้งเเละการลงทุนในกองทุน Money Market จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น " นายสมชัย กล่าว
ขณะที่เเหล่งข่าวจากผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ รายหนึ่ง กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสะกัดเงินเฟ้อของกนง.จะทำให้ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจจะลดลงเเละไม่เติบโต ตามที่นโยบายของรัฐบาลวางไว้ จึงไม่เเน่ใจว่ากนง.จะสนองนโยบายรัฐบาลหรือจะสะกัดกั้นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งถ้าไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยรตอนนี้ ความเป็นไปได้ในการปรับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตก็คงยังมีอยู่เช่นกัน
ส่วนการลงทุนที่ให้ผลตอบเเทนที่ดีในระยะนี้คงต้องเป็นพันธบัตรระยะสั้นเช่น 6 เดือนถึง 3 ปีโดยอาจจะลงทุนในพันธบัตรเกาหลีควบคู่ไปด้วยก็ได้ ซึ่งตราสารหนี้ในประเทศเกาหลี ที่ปิดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี
ก่อนหน้านี้ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงการใช้นโยบายการเงินในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นว่า จากความต้องการบริโภคราคาน้ำมันมีมากกว่าด้านผลิต จึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายจากราคาสินค้าลดลงมา ขณะเดียวกันการคาดการณ์ของอัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดความมั่นใจ โดยหากมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงจะยิ่งกดดันให้มีการใช้จ่ายล่วงหน้าและมีการปรับต้นทุนสูงขึ้น ถือเป็นวงจรต่อเนื่องไป ซึ่งหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้จะยิ่งทำให้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ยาก ดังนั้น การทำหน้าที่ของกนง.จึงต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ภายใต้กรอบที่สามารถรับได้ โดยทำให้อัตราเงินเฟ้อถึงจุดหนึ่งไม่สูงจนเกินไปจนเกิดความเสี่ยงได้ จึงจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยเข้ามาควบคุมดูแล
โดยอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวขึ้นตัวเลข 2 หลักได้ในบางเดือน โดยขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบฐานเงินเฟ้อของปีก่อนต่ำกว่า แต่หากเฉลี่ยทั้งปีราคาน้ำมันน่าจะน้อยกว่า อย่างไรก็ตามธปท.ไม่ได้ส่งสัญญาณว่ากนง.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งต่อไป คือ 16 ก.ค. นี้ ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งจำเป็นต้องดูข้อมูลด้านเศรษฐกิจและตัวเลขต่างๆ ที่มีอยู่ล่าสุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|