ปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝากมาตรการบีบคั้นธนาคารพาณิชย์

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกาศยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวเกิน 1 ปีขึ้นไป ของกระทรวงการคลังเป็นเรื่องที่สวนทางกับความต้องการของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์จนทำให้เกิดความขัดแย้งกันอยู่พักหนึ่ง แต่ในที่สุดสองฝ่ายหลังก็จำใจยอมรับมาตรการของคลัง แม้จะยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันเสียทั้งหมดก็ตาม ขณะเดียวกันการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่สูงมากแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มดีกรีขึ้นทับเท่าทวีคูณ ต้นทุนเงินปล่อยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดิ้นไปหากำไรจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะรายได้ จากค่าธรรมเนียมการบริการต่างๆ ทั้งที่ตลาดส่วนนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับ

คำประกาศยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ไม่แปลกใจแต่อย่างใดสำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย เพราะเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างปรึกษาหารือถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่เสมอมา แต่สำหรับการประกาศเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีข้อที่แตกต่างไปจากครั้งอื่นใด คือเป็นคำประกาศของกระทรวงการคลังอย่างฉับพลันทันใด ที่ทำให้แบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ "งงและสับสน" เพราะมันไม่เหมือนกับที่สองฝ่ายหลังได้พูดคุยตกลงกันก่อนหน้านี้เลย

ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงเหตุผลในการยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวเกิน 1 ปีขึ้นไปว่ามีเป้าหมายอยู่ที่ส่งเสริมให้เกิดการออมในประเทศเพิ่มมากขึ้น "เรื่องดอกเบี้ยเงินฝากนั้นผมจะให้เปิดแข่งขันกันโดยเสรี" เป็นคำพูดที่แสดงเจตนารมณ์อันแจ่มชัดของรัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งและมีภูมิหลังเป็นพ่อค้านักธุรกิจ

คำประกาศของประมวลได้รับการตอบสนองทันทีจากการกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหลังจากประมวลประกาศแล้ว กำจรได้เข้าพบหารือเป็นเวลานาน 4 ชั่วโมงเต็มและต่อมาได้กล่าวว่า "สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพูดไปก็สามารถพูดได้เพราะเป็นนักการเมือง แต่ตนในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องพูดอีกฐานะหนึ่งหวังว่าคงเข้าใจ"

ทางด้านธนาคารพาณิชย์นั้น ปกรณ์ ทวีสิน นายกสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยทุนกล่าวสนับสนุนนโยบายของประมวล แต่ท้วงติงว่าในระยะแรกจะส่งผลให้ธนาคารมีการแข่งขันกันสูงมาก เพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนกับระบบเสรี นอกจากนี้ยังทำให้ธนาคารมีรายได้ลดลง เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพแสดงความข้องใจต่อคำประกาศของประมวล ยอมรับอย่างมีเงื่อนไขว่าหากมีการปล่อยเสรีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว คลังควรจะลดหรือยกเลิกระเบียบข้อบังคับบางประการที่สั่งให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติอยู่

การที่แต่ละฝ่ายออกความเห็นที่แตกต่างกันไปในเรื่องมาตรการยกเลิกเพดานดอกเบี้ยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นเหตุผลเบื้องลึกของแต่ละคนชัดเจน ความคิดที่จะให้มีการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากนั้นเกิดขึ้นในใจของนักการธนาคารมานาน ไม่ว่าทางฝ่ายแบงก์ชาติหรือธนาคารพาณิชย์เองก็ได้มีการพูดคุยปรึกษาเห็นชอบกันแล้ว จึงในที่สุดได้ทำข้อเสนอชุดหนึ่งให้คลังพิจารณาอนุมัติตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยมีมา

ข้อเสนอดังกล่าวต้องการให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งสองด้าน โดยทางด้านของเงินกู้ให้เพิ่มเพดานขึ้น 1% เป็น 16% ส่วนเงินฝากนั้น ประเภทเงินฝากประจำระยะ 1 ปี เพิ่มขึ้น 1.5% จาก9.5% เป็น 11% และเพิ่มเติมเงินฝากประเภท 2 ปีโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย 11.5% ส่วนเงินฝากออมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น 1% จาก 7.25% เป็น 8.25%

ในแง่ของธนาคารพาณิชย์นั้นไม่มีเหตุผลอะไรที่สลับซับซ้อน การเพิ่มดอกเบี้ยทั้งสองด้านก็ไม่ต่างอะไรจากที่เป็นอยู่เดิมนักเมื่อมองในแง่ของต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่อาจช่วยสภาพคล่องในระบบมากขึ้นและลดปัญหาการแข่งขันเรื่องการจ่าย "ดอกเบี้ยใต้โต๊ะ" ลงได้บ้าง

ขณะที่ในส่วนของแบงก์ชาติมีความต้องการที่จะลดหรือชะลออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ "มากเกินไป" โดยแบงก์ชาติได้ตรวจพบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2532 มีการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบสูงถึง 29% จากที่เมื่อปี 2531 มีการขยายตัวที่สูงกว่าที่คาดไว้ว่าจะไม่ให้เกิน 25% แล้วและที่ผ่านมาการขายสินเชื่อแบบ "เกินตัว" เช่นนี้มักจะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นเสมอ โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อเช่นเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก สินเชื่อขยายตัวสูงถึง 40% หรือเมื่อปี 2526 ก็ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 32% เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมากับปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของฐานเงินสินเชื่อ ซึ่งอาจเป็นในอดีตการขยายตัวถึง 29% ในช่วงไตรมาสแรกจะต้องทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นแน่ แต่ปัจจุบันเนื่องจากฐานะการเงินการคลังของประเทศมีความมั่นคงมาก มียอดเงินสินเชื่อคงค้างอยู่ในระบบมากถึง 901,845 ล้านบาท ดังนั้นปัญหาทางด้านการขยายตัวของสินเชื่อที่มีอยู่ในเวลานี้จึงไม่รุนแรงเท่าที่ควร

กระนั้นก็ดี การขยายสินเชื่อแบบ"เกินตัว" ในปัจจุบันต้องก่อให้เกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น การควบคุมคุณภาพสินเชื่อ หรือการเตรียมรับผลกระทบจากความผันผวนของปัจใจภายนอกเช่นการเพิ่มราคาน้ำมัน หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เป็นต้น ปัญหาต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติวิตกกังวลอย่างยิ่ง และมาตรการชะลอการขยายตัวของสินเชื่อจึงถูกนำเสนอขึ้นมาเพื่อเป็นการตระเตรียมรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจในอนาคต

ขณะที่แบงก์ชาติพลิกตำราวิเคราะห์ปัญหาและร่างข้อเสนออย่างที่เคยปฏิบัติมา กระทรวงการคลังภายใต้การบริหารงานของรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็วิเคราะห์ปัญหาเดียวกันในอีกแง่มุมหนึ่งที่ต่างออกไป

นโยบายหลักที่คลังยึดถืออยู่คือส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการออมภายในประเทศมากขึ้น ในแง่นี้คลังจึงไม่รีรอที่จะอนุมัติให้ยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาว ด้วยความหวังว่าจะมีการแข่งขันการระดมเงินฝากอันจะทำให้มีเงินออมระยะยาวในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้มีมูลเหตุที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดเงินออมภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพราะได้มีการประมาณการว่าในช่วง 5 ปีจากนี้ไปจะมีการลงทุนในโครงการต่างๆ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 3.3 แสนล้านบาท แต่เงินออมทั้งระบบจะมีเพียง 2.5 แสนล้านบาท ขาดไปประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

นอกจากขาดเงินออมแล้ว เงินออมที่มีอยู่ในระบบก็ยังเป็นเงินออมระยะสั้น (โปรดดูตารางโครงสร้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เมื่อสิ้นปี 2531) โดยมีเงินฝากสะสมทรัพย์มากถึง 31.7% ขณะที่เงินฝากประจำนั้น แม้จะมีอยู่ 61.8% แต่ก็มีสัดส่วนของเงินฝากประจำ 2 ปีขึ้นไปเพียง 7,000 ล้านบาท หรือ 1% เท่านั้น

นโยบายปล่อยเสรีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวจึงมีเป้าหมายเพื่อปรับสัดส่วนของเงินฝากให้เหมาะสมกับความต้องการใช้เงินเพื่อการลงทุนด้วย โดยคลังคาดหมายว่าสัดส่วนเงินฝาก 2 ปีขึ้นไปต้องเพิ่มเป็น 14%

ประมวลกล่าวเป็นเชิงตัดสินข้อเสนอของแบงก์ชาติว่า "ผมเห็นด้วยว่าดอกเบี้ยเงินฝากต้องปรับขึ้น แต่ในเรื่องของสินเชื่อเรายังมีความหวังอยู่ในเมื่อระบบการเงินของเรายังมีสภาพคล่อง มีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาเสริม การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการชะลอสินเชื่อ เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อด้วยการเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ ผมว่าเรื่องนี้ยังฟังไม่ถนัดนัก แต่ก็เป็นเหตุผลที่น่าฟัง"

อีกทั้งกล่าวสำทับให้เห็นท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องนี้ของคลังด้วยว่า "ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยยอมตามธนาคารพาณิชย์มาตลอด และกระทรวงการคลังก็ยอมตามธนาคารแห่งประเทศไทย แต่มาตอนนี้กระทรวงการคลังไม่ยอมตามใจใครง่ายๆ"

พูดจาภาษานักเลงเก่าอยุธยาก็คือต่อไปนี้แบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ต้องทำตามนโยบายของกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด แม้แต่นโยบายด้านการเงินซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบหลักของแบงก์ชาติ และโดยส่วนมากจะได้รับอิสระในการดำเนินงานนั้น ก็จะต้องมาอยู่ภายใต้คลังและเป็นไปตามระบบการบริหารของราชการ ซึ่งภายหลังจากที่คลังประกาศอย่างแข็งกร้าวว่ามาตรการเรื่องดอกเบี้ยจะต้องเป็นไปตามที่คลังตัดสินแล้วนั้น ทุกฝ่ายก็เหมือนจะยอมรับโดยดุษณี

เรื่องการปีนเกลียวกันระหว่างแบงก์ชาติกับคลังนั้น นงเยาว์ ชัยเสรีหนึ่งในที่ปรึกษาสำคัญด้านการเงินของประมวลและเป้นหนึ่งในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ความจริงเรื่องของท่านกับแบงก์ชาตินี่ก็ไม่ใช่ว่ามีเรื่องอะไรกันรุนแรง ความจริงเป็นการบ่นเรื่องงานกันมากกว่า จริงๆไม่มีอะไร แต่สไตล์การพูดของท่านนี่ไม่เหมือนรัฐมนตรีคลังคนอื่นๆ ซึ่งทางท่านผู้ว่าฯหรือเจ้าหน้าที่แบงก์ชาตินี่อาจะไม่เคยชินกับสำนวนหรือการพูดแบบนี้ ก็เลยอาจเข้าใจผิดบ้างหรือน้อยใจบ้าง แต่ว่าจริงๆแล้วไม่มีอะไรกับแบงก์ชาติส่วนแบงก์ชาตินั้นเขาก็มีน้อยใจบ้าง อย่างนี้แหละ"

ปกรณ์กล่าวในจุดเดียวกันแต่ต่างออกไปว่า "แบงก์ชาติกับคลังนี่จริงๆ แล้วมันมีความขัดแย้งกัน คือมีความเห็นในเรื่องต่างๆ ไม่ตรงกัน แต่ที่ผ่านมาเป็นการเล่นในระดับแบงก์ชาติกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยเป็นการถกเถียงกันภายใน ตอนหลังอาจเป็นเพราะท่านรมต.สนใจมาก ท่านก็กระโดดลงมาคลุกเองด้วยปัญหาเริ่มขึ้นเป็นอีกระดับหนึ่ง"

อย่างเรื่องอัตราดอกเบี้ยนี่ก็เป็นรูปธรรมที่สะท้อนได้แจ่มชัด การที่ประมวลยับยั้งเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้นั้นเพราะไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ขัดกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมองว่าธนาคารพาณิชย์ได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (SPREAD) สูงมากคือ 5.5% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับธนาารพาณิชย์ในต่างประเทศแล้วส่วนต่างนี้จะมีเพียง 1% เท่านั้น ส่วนต่างนี้เป็นที่มาของรายได้ที่สำคัญกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป

อย่างไรก็ตามหนึ่งในที่ปรึกษาซึ่งถูกขอยืมตัวมาจากสศค.กล่าวเปิดเผยเรื่องนี้กับ"ผู้จัดการ" ว่า "ตัวเลข 5.5% นั้นท่านดูอัตราเฉลี่ยของเงินฝากกับเงินกู้ เวลาท่านแถลงท่านก็เอาตัวเลขง่ายๆ ที่ชาวบ้านคิดด้วยไวๆ ทางสศค.คำนวณออกมาแล้วตกประมาณ 2-3%"

ส่วนนงเยาว์ให้ความเห็นว่า "เรื่องนี้มันอยู่ที่ว่าใครจะคิดแบบไหน เวลาแบงก์พาณิชย์คิดนั้นเขาก็เอาการให้เครดิตกับพวกเกษตรกรรมเข้ามาคิดด้วย นี่ยกตัวอย่างนะ คือกำไรส่วนที่เขาลดลงเขาก็เอามาคิดเป็นต้นทุนด้วย มันก็เหลือน้อยนะซิ ทีนี้ทางกระทรวงฯไม่ได้คิดแบบนั้น เราคิดที่เป็นค่าใช้จ่ายจริงๆ ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าวิธีคิดนี่คิดอย่างไร แต่ถึงอย่างไรขึ้นดอกเบี้ยแล้วแบงก์ก็อยู่ได้"

ปกรณ์ให้การยืนยันเช่นกันว่า "ใหม่ๆไม่เป็นไร แต่ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะมีปัญหา ตอนนี้ไพร์มเรทเขยิบขึ้นมา 0.5% แล้ว ต้นทุนของแบงก์มันขึ้นมาอย่างน่ากลัว ตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อกลางปีที่แล้วดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 7.25% แล้วขึ้นมาเป็น 8.5% มาชน 9.5% และลอยตัวเป็น 10.5% ในเวลานี้ จริงๆต้นทุนของแบงก์ 12% แล้ว แต่ว่าในช่วงต้นปียังมีเงินฝากเก่าอยู่ แล้วเผอิญมีสภาพคล่องหรืออะไรก็แล้วแต่ แบงก์ก็อั้นไว้เพราะการแข่งขันก็ยังสูง แต่ว่าช่วงต่อไปนี้จะอั้นเท่าไหร่ก็ไม่อยู่เพราะต้นทุนสูงขึ้นมาเร็วเหลือเกิน"

ทางด้านดร.อัศวิน จินตกานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครธนซึ่งเป็นธนาคารที่มีอัตราส่วนการเติบโตทางสินทรัพย์,เงินฝากและเงินกู้เป็นอันดับต้นๆ (โปรดดูตารางวัดผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นธันวาคม 2531) ให้ความเห็นยืนยันเพิ่มขึ้นว่า "ต้นทุนจริงๆ ของธนาคารนั้นอยู่ระหว่าง 11.6-12% สมมุติว่าให้กู้ไปประมาณ 13% มาร์จิ้นจะประมาณ 1-1.3% แต่ว่าในนี้ก็ต้องมาคิดอีกว่าสินเชื่อหลายอันที่เราปล่อยไปนี่อาจจะเป็นหนี้เสียได้ ดังนั้น SPREAD จะลดลง"

การคิดต้นทุนของแบงก์หรือต้นทุนเงินฝาก (COST OF FUNDS) ในที่นี้ ธนาคารพาณิชย์ได้คิดรวมภาระผูกพันที่จะต้องถือสำรองเงินสดและพันธบัตรรัฐบาลรวมเข้าไว้ด้วย คือดำรงเงินสดสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ของยอดเงินฝากในประเทศ สำรองพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการเปิดสาขาใหม่ร้อยละ 16 ของยอดเงินฝาก ให้สินเชื่อเพื่อการเกษตรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของยอดเงินฝากและสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินไม่เกินร้อยละ 0.1 ของยอดเงินฝาก (โปรดดูตารางต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์)

ภาระผูกพันเหล่านี้เองที่ทำให้เจ้าสัวชาตรีตั้งเป็นเงื่อนไขว่าควรจะลดลงหรือยกเลิกไปเลยบางกรณี เช่น การสมทบเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์โดยไม่จำเป็น

ฐานการคิดต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวทำให้ SPREAD ที่ออกมามีเพียง 1% กว่าๆเท่านั้น โดยเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น แม้จะอยู่ที่ 15% แต่ก็ยังไม่มีธนาคารใดปล่อยติดเพดาน และไพร์มเรทก็อยู่ที่ 12% เพิ่งขึ้นมาเป็น 12.5% หลังการปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝาก แม้ในทางปฏิบัติมีบางธนาคารขึ้นมาเป็น 12.5% นานแล้วก็ตาม

การสร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้กับธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นประเด็นที่มีผู้เห็นด้วยกับฝ่ายธนาคารพาณิชย์เป็นจำนวนมากรวมทั้งบุญชู โรจนเสถียร ประธานคณะกรรมาธการเศรษฐกิจการคลัง สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความเห็นว่ามาตรการผูกพันเหล่านี้ควรยกเลิกทั้งหมด

อย่างไรก็ดี บุญชูซึ่งมีความเห็นสนับสนุนการปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวในฐานะที่เป็น "ก้าวแรกในการระบบการควบคุมอัตราดอกเบี้ยโดยกลไกตลาด มิใช่ด้วยกฎหมาย" ก็มองว่าเมื่อยกเลิกเพดานดอกเบี้ยด้านนี้แล้วปล่อยให้มีการแข่งขันโดยเสรีนั้น จุดแพ้/ชนะของธนาคารจะอยู่ที่ความสามารถในการดำเนินงานทางด้านการใช้ทรัพยากรในธนาคารอย่างมีประสิทธิภาพ

กล่าวอีกในหนึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะต้องแข่งขันกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งแน่นอนว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นอย่างมากแม้จะเสียเปรียบเรื่องต้นทุนเงินฝากก็ตาม

นอกจากนี้ยังจะต้องมุ่งไปแสวงหารายได้จากค่าธรรมเนียมและการบริการต่างๆ (FEE-BASE) ซึ่งปกรณ์และนักการธนาคารอีกเป็นจำนวนมากก็มีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่าตลาดส่วนนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าใดนัก ปกรณ์เปรียบเทียบการคิดค่าบริการระกว่างธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศว่า "ในต่างประเทศนั้น หากคุณมีบัญชีกระแสรายวันหรืออะไรก็แล้วแต่โดยคุณมียอดเงินต่ำ ทว่ามีเงินหมุนเวียนสูงคุณต้องจ่ายค่าบริการแล้ว เท่าไหร่ก็คิดกันไปแต่ในเมืองไทยนั้นไม่ต้องเพราะถือเป็นลูกค้าชั้นดี ซึ่งถ้าลงไปดูลึกๆ แล้วแบงก์ขาดทุนย่อยยับ ผมคิดว่าประมาณ 30% ของยอดเงินในธนาคารต้องมาใช้จ่ายเกี่ยวข้องในเรื่องการลงบัญชี ถอนบัญชี ลงเงินสดฝากเงินสดฯลฯ หรืออย่างการเก็บเช็ค 2 บาทคนก็ยังโวยวายว่าแบงก์รวยจะตายแล้วทำไมต้องคิดด้วยที่จริงนั้นค่ากระดาษ ค่าอะไรต่อมิอะไรก็ยังไม่คุ้ม ดังนั้น FEE-BASE จึงยากมากๆเพราะคนไทยยังไม่ยอมรับ"

อย่างไรก็ตาม มาตรการปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวของกระทรวงการคลังก็ดูเหมือนจะต้องการให้เกิดผลกระทบในด้านนี้ค่อนข้างสูง นั่นหมายความว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะต้องมุ่งไปทำธุรกิจอื่น ๆ ที่มากกว่าการทำ RETAIL BANKING ซึ่งเน้นไปทางด้านการรับฝากเงินแล้วนำปล่อยกู้

สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นคือตลาดทางด้าน FEEBASE อันได้แก่การทำ TRADE FINANCE, FOREING EXCHANGE, ทำแอลซี, การันตีและอาวัล รวมทั้งเรื่อง FORFETING ซึ่งบริการประเภทนี้ก็เพิ่งมีธนาคารไม่กี่แห่งที่เปิดบริการให้ลูกค้า เช่น ธนาคารนครธนธนาคารต่างประเทศชั้นนำที่มีสาขาในไทยเป็นต้น

นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังจะต้องให้ความสำคัญต่อเนื่องการบริหารเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักปริวรรตเงินตราและสำนักบริหารเงิน อัศวินกล่าวว่า "ธนาคารไหนสามารถทำตรงนี้ได้ดีที่สุด ธนาคารนั้นมีกำไรมากที่สุด เพียงแค่ MATCHING FUND ให้เหมาะ เพิ่ม PRODUCITVITY 1% BUSINESS VOLUME 900 ล้านบาท กำไรแล้ว 9 ล้านมันเห็นชัด"

อนึ่งมีข้อสังเกตว่ารายได้ทางด้าน FEE-BASE ของธนาคารพาณิชย์นั้นจะมาจากลูกค้าที่ทำธุรกิจทางด้านนำเข้าส่งออกเป็นสำคัญ ดังนั้นธนาคารใดที่มีลูกค้าประเภทนี้เป็นจำนวนมากย่อมได้เปรียบกว่า ซึ่งในข้อนี้ปรากฎว่าธนาคารนครธนเป็นธนาคารขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่มีสัดส่วนของลูกค้าประเภทนี้สูง อัศวินกล่าวว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการมีประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจที่สัดส่วนการเติบดตของผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นของธนาคารนครธน (RETURN ON EQUITY) จึงสูงถึง 11.53% เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2531 และอัตราการเติบโตในด้านอื่น ๆ ก็เป็นที่น่าพอใจด้วย

กระนั้นก็ดี ธุรกิจด้านนำเข้าส่งออกใช่ว่าจะรุ่งเรืองเสียทุกปีก็หาไม่ หากปีใดปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลง รายได้ของแบงก์ก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ปกรณ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ยุคทองของแบงก์ผ่านไปแล้ว เมื่อปีที่แล้วซิเป็นยุคทองจริง ๆ มาร์จิ้นของแบงก์ดีที่สุด"

คำพูดของปกรณ์สะท้อนให้เห็นหัวใจการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญในบ้านเราอย่างหนึ่งคือการครองส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝาก นายธนาคารผู้ช่ำชองคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ธนาคารในประเทศไทยนี่ยึดถือศักดิ์ศรีในเรื่องส่วนแบ่งการตลาดเป็นใหญ่แม้ว่าตัวเองไม่ต้องการเงินก็ไปแข่งขันกับเขา ดึงเงินเข้ามาแล้ว มีเงินแล้วไม่รู้จะไปปล่อยที่ไหนก็ยังอุตส่าห์ดึงเงินเข้ามาอีก หรือแม้กระทั่งกฎระเบียบที่ว่ารัฐวิสาหกิจและหน่วยงานราชการจะต้องฝากเงินในธนาคารแห่งหนึ่งที่กำหนดไว้เพียงแห่งเดียว ซึ่งธนาคารนั้นก็ไม่ต้องการเงิน แต่ว่าต้องรับ เสร็จแล้วเขาไม่รู้จะทำอย่างไรเป็นต้น"

ธนาคารกรุงไทยเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดในฐานะเป็นแบงก์รัฐวิสาหกิจเป็นมือเป็นเท้าให้กระทรวงการคลัง พูดให้ชัดเวลานี้ก็คือเป็นมือเท้าให้ รมต.ประมวล ทุกวันนี้แบงก์กรุงไทยรับเงินฝากจากรัฐวิสาหกิจเพียบโดยให้อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5.6% เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกัน

สิ่งที่กรุงไทยประสบอยู่เวลานี้คือสภาพคล่องสูงเกินไป ไม่รู้จะเอาเงินที่มี COSTING ต่ำ จำนวนนี้ไปทำประโยชน์ในรูปให้สินเชื่ออย่างไรดี เนื่องจากต้องมนั่งพะวงกับการแก้ปัญหา BAD DEBT จำนวนมหึมาเกือบ 20,000 ล้านบาท อย่างน้อย 2 ปีข้างหน้าจึงจะเสร็จสิ้น

ธรรมเนียมการปฏิบัติและกฎระเบียบเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ขัดต่อการปล่อยให้กลไกของตลาดเป็นตัวตัดสินอย่างเรื่องการปล่อยเสรีดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งหากจะพิเคราะห์กันลึก ๆ แล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ก็เป็นมรดกตกทอดมาจากนโยาบายการเงินการคลังของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาทั้งสิ้น

ดังนั้นหากจะใช้นโยบายเสรีกันจริง ๆ แล้ว คงต้องทำการอธิบายให้เป็นขั้นตอนกระจะจ่างกันไป และคงต้องมีการคิดเตรียมแผนการรองรับปัญหาต่าง ๆ อันจะเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายเสรี

ถ้าคลังไม่มีแผนการรองรับตรงนี้แล้วก็เท่ากับว่ามาตรการที่ออกมานั้นเป็นเพียงความต้องการชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อบีบให้ธนาคารพาณิชย์ทำตามนโยบายของตนเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.