มันสมองที่ 2 ของประมวล

โดย สมชัย วงศาภาคย์ ปฏิญา เจตนเสน
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ประมวล สภาวสุ ได้ชื่อว่าเป็นรมต.คลังที่มีภูมความรู้ต่ำสุดในบรรดารมต.คลังที่มีมา เขาจึงต้องมีกลุ่มมันสมองที่ 2 ไว้เป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีทั้งข้าราชการประจำและคนภายนอกที่เขาไว้ใจ ผลงาน 10 เดือนของเขา ดูจากจุดยืนของประชาชนได้รับความนิยมไม่น้อย แต่ในคณะรัฐมนตรีแล้ว เขาดูเหมือนเป็นคนที่พูดน้อยที่สุด และมีบางสิ่งบางอย่างบอกเหตุผลว่า เขาอาจต้องลุกจากที่นั่งตำแหน่งนี้หลังจากการประชุมสภาสมัยสามัญนี้ได้ปิดฉากลง…

สิงหาคมปีที่แล้ว อุณหภูมิในกรุงเทพมหานครยังร้อนอบอ้าว ทั้งๆที่เป็นช่วงย่างเข้าฤดูฝนแล้ว ความร้อนรุ่มของอากาศดูจะไม่เป็นใจนักต่ออุณหภูมิภายในร่างกายของชายวัย 60 ปีคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าเกรียมเข้มบ่งบอกถึงความกร้านของชีวิติที่ผ่านความล้มเหลว และสำเร็จหลายอย่างมาแล้วอย่างทรหดทันทีที่รู้ว่าเขาต้องเข้าแบกรับภารกิจอันหนักหน่วงในฐานะรัฐมนตรี-คลัง ตำแหน่งงานที่เขาไม่เคยคิดมาก่อนตามสามัญสำนึกที่รู้ตัวเองดีว่า ไม่มีคุณสมบัติข้อใดเลยที่เหมาะสมกับงานในตำแหน่งหน้าที่นี้

จากความรู้แค่เตรียมธรรมศาสตร์ไปเป็นเสมียนธนาคารตันเปงชุน (ธนาคารมหานคร-ปัจจุบัน) อยู่ไม่กี่เดือน แล้วผันชีวิตตัวเอง เข้าสู่ธุรกิจก่อสร้างด้วยการเป็นลูกจ้างบริษัทรัชตะก่อ-สร้าง ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่จะโผผินออกมาสู่รังของตัวเองในนามบริษัทประมวลก่อสร้าง หลังจากได้ประสบการณ์และช่องทางทำมาหากินในธุรกิจก่อสร้าง จวบจนกระทั่งโดดเข้าสู่วิถีการเมืองด้วยการเสนอแก่ประชาชนจังหวัดอยุธยา บ้านเกิดเลือกให้เป็นผู้แทน

นับว่าเป็นภูมิหลังของชีวิตที่เข้ากันไม่ไได้เลยซักนิดเดียวกับภารกิจที่ใช้เกียรติยศทางการเมืองของตนเองเข้าแลก ซึ่งรออยู่เบื้องหน้า ในถานะรัฐมนตรีคลัง

ใช่…"ผู้จัดการ" กำลังพูดถึงประมวลสภาสุ นักการเมืองจากอยุธยา ผู้ประสบความสำเร็จในการไต่เต้าตำแหน่งทางการเมืองในพรรคชาติไทยมาแล้วก่อนหน้าที่นี้ในตำแหน่งรมต.อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาลเปรม 5!

ก่อนหน้าที่ประมวลจะเข้ามารับตำแหน่งรมต.คลัง ดูเหมือนว่าเขาจะโชคดีกว่าคนอื่น ตรงที่ภาวการณ์เงินการคลังของรัฐบาลกำลังอยู่ในขั้นสดสวยเอาการ

เดือนมิถุนายนปีกลาย ก่อนหน้าที่เขาจะเข้ารับตำแหน่ง 2 เดือน เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในจำนวน 6,113.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และฐานะเงินคงคลังอยู่ในระดับ 8,180 ล้านบาท ชึ่งเป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งในฐานะการเงินการคลังของรัฐที่ย่อมเข้าใจกันได้

เขาไม่จำเป็นต้องมานั่งปวดหัวเป็นตาบอดคลำช้างเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้เหมือนรัฐมนตรีคลังคนก่อนๆ

เศรษฐกิจภายใต้นโยบายรัฐบาลชาติชายที่รับผลพวงมาจากนโยบายรัฐบาลเปรม ยังคงรุดหน้าต่อไปในอัตราเร่งการเติบโตที่สูงลิ่วถึง 9.5% /ปี ทำให้มีความต้องการใช้ทุน (CAPITAL) เพื่อสนับสนุนและรองรับการเจริญเติบโตทางเศรฐกิจนั้นอย่างมหาศาล

โครงการลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) ที่ต้องการลงทุนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตอีกนับ 100,000 ล้านบาท การบินไทยต้องลงทุนอีกหลายหมื่นล้าน เพื่อซื้อเครื่องบินขยายกองบินให้เพียงพอกับตลาดที่เพิ่มขึ้น องค์การโทรศัพท์ต้องลงทุนอีก 6 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายคู่สายเลขหมายอีกไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านเลขหมายให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้และธุรกิจต่างๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นต้น

ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังไดดด้คำนวณความต้องการใช้เงินทุนเพื่อการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ว่าจะอยู่สูงถึง 3.3 แสนล้านบาท ขณะที่ความสามารถในการออมภายในประเทศมีเพียง 2.5 แสนล้านบาท มันขาดอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

แต่ช่างเถอะ! มันเป็นเรื่องอนาคต ที่เขาไม่จำเป็นต้องคิดไกลมากขนาดนั้น เพราะตำแหน่ง รมต.คลังที่มาจากการเมือง มันอาจไม่ยืนยาวไปถึงจุดนั้นก็เป็นได้

ตอนแรกๆ ที่ประมวลเข้ารับตำแหน่ง รมต.คลังใหม่ๆ เขาถูกมองจากคนภายนอกในเชิงตั้งข้อสังเกตว่า การที่เขาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคชาติไทย และไม่มีความรู้ทางการเงินการคลังมาก่อน อาจเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพรรคพวกและตนเอง แต่เขาก็ตอบโต้ข้อสังเกตนี้ว่า เป็นความคิดแบบเด็กๆ นักการเมืองอย่างเขาก็มีอุดมการณ์เหมือนกัน และทุกวันนี้เขามีเงินทองมากมายเพียงพอแล้ว

มันเป็นคำตอบที่พยายามสร้างภาพพจน์ให้สถานภาพดูสะอาด อย่างน้อยที่สุดก็อาจช่วยทดแทนภาพพจน์ในส่วนที่ขาดหายไป จากคุณสมบัติที่เป็นคนรู้เรื่องการบริหารการเงินการคลังของประเทศอย่างจำกัดจำเขี่ยที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐมนตรีคลังของสยามประเทศนี้ (ดูตาราง รมต.คลังฯ) จนหลายครั้งที่เขาต้องตอบคำถามการเงินการคลังแก่ผู้สื่อข่าว เขาต้องระมัดระวังคำพูดของตัวเองเสมอด้วยเกรงว่าความไม่รู้จะทำให้เขาเสียหน้า

แน่นอนภายใต้ภาวะแบบนี้ทำให้ดูอึดอัดจนมีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาระแวงคำถามของผู้สื่อข่าวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อถูกถามถึงว่าเขาจะเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยบ้างไหม? ซึ่งเขาก็ตอบอย่างระแวงออกไปว่า "พวกคุณกำลังลองภูมิความรู้ผม แต่ผมไม่จนงายๆ หรอก"

โธ่! นักการเมืองอย่างประมวลไม่เคยจนใครง่ายๆหรอก ตำแหน่งรัฐมนตรีเขาเคยเป็นมาแล้วที่กระทรวงอุตสาหกรรม สมัยรัฐบาลเปรม 5 โดยมี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ลูกชายคนโตเป็นเลขาฯอยู่หน้าห้อง เมื่อเขามาอยู่ที่กระทรวงคลัง กอร์ปศักดิ์ก็มานั่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรี และเป็นคนสำคัญในการให้คำปรึกษาและประสานงานสร้างทีมงานที่ปรึกษาแก่พ่อของเขา มันจึงเป็นประสบการณ์ที่ไม่แปลกอะไรนัก

กอร์ปศักดิ์เคยบอกกับ ผู้จัดการ" ว่า รมต.ประมวลจะใช้ข้าราชการประจำในกระทรวงคลังเป็นที่ปรึกษามากกว่าคนภายนอก มันเป็นเหตุผลที่ง่ายมาก จากประสบการณ์การเป็นนักการเมือง เป้าหมายในนโบายจะบรรลุได้แค่ไหน มันอยู่ที่กลไกการทำงานของข้าราชการประจำในกระทรวงจะให้ความร่วมมือกับรัฐมนตรีมากแค่ไหน ยิ่งในเงื่อนไขที่ รมต.มีความรู้ในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายการเงินการคลังอย่างจำกัดมากๆ เช่นนี้ ความจำเป็นในการใช้บทบาทของข้าราชการในกระทรวงให้มากที่สุด ย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่าอย่างอื่น

กอร์ปศักดิ์เป็นลูกชายคนโตของประมวลในพี่น้องทั้งหมด 5 คน เขาจบวิศวเครื่องกลจาก UCLA ผ่านงานเป็นวิศวกรที่ปรึกษาที่บริษัทแอมแพ็คก่อนหน้าที่จะหันออกมาทำธุระกิจวิศวกรที่ปรึกษาดังในบริษัทส่วนตัวของครอบครัว บริษัทสแปน จำกัด ในปี 2518 โดยมี ประมวล ผู้พ่อเป็นประธานบริษัท

เขามีวิญญาณการเป็นนักการเมืองเหมือนพ่อไม่มีผิดเพี้ยน การเลือกตั้งสมัยรัฐบาลเปรม 5 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจังหวัดนครราชสีมา พร้อมพ่อที่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนจังหวัดอยุธยา ในนามพรรคชาติไทย

แต่ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เขาต้องผิดหวังเมื่อเป็นผู้สอบตก!

12 ธันวาคม ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกของประมวลที่แถลงนโยบายการเงินการคลังต่อประชาชน หลังจากศึกษางานที่กระทรวงร่วมกับอธิบดีทุกกรมในกระทรวงอย่างหนักตลอด 3 เดือน

นโยบายของประมวลมีจุดเด่น 2 ประการคือ หนึ่ง-เขาเน้นการระดมเงินออมในระบบมาก และ สอง-เข้าเน้นการรักษาความมีวินัยทางการเงิน-การคลังอย่างเข้มงวด

รูปธรรมของนโยบายเงินออมก็คือเป้าหมายเพื่อลดช่องว่าง SAVING/INVESTMENT GAP โดยไม่มีผลต่อการดึงอัตราเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ลดน้อยถอยลง "การระดมเงินออมจากกลไกสถาบันการเงินจะใช้วิธีหนุนให้สถาบันการเงินกระจายตัวออกไปสู่ชนบทให้มากขึ้น เพื่อลดบทบาทการพึ่งพาของประชาชนต่อเงินนอกระบบ รวมทั้งจะหนุนให้มีการพัฒนาตราสารการเงินเพื่อการระดมเงินออมระยะยาวมากขึ้น นอกจากนี้จะหนุนให้มีการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวจากต่างประเทศเพื่อจูงใจให้ธุรกิจเอกชนนำเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามา ขณะเดียวกัน ก็จะเปิดโอกาศให้สถาบันการเงินต่างประเทศเข้ามาพัฒนาตลาดทุนในประเทศ เพื่อนำเงินมาลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจะหนุนให้รัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานดี นำหุ้นเข้ามาจำหน่ายในตลาดหุ้นเพื่อเป็นการขยายตลาดทุนให้เติบใหญ่และส่งเสริมการออมของประชาชนโดยผ่านกลไกตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับการระดมเงินออมจากกลไกภาครัฐนั้น จะใช้วิธีหนุนด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และทรัพย์สินต่างๆ ของรัฐที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะนำมาปรับปรุงให้มีรายได้และผลต่อการนำมาใช้ประโยชน์ต่อการลงทุนของรัฐ" ประมวลกล่าวนโยบายรูปธรรมการระดมเงินออมแก่ผู้สื่อข่าว

ส่วนรูปธรรมของนโยบายการรักษาความมีวินัยทางการเงิน การคลัง นั้นประมวลกล่าวว่า "จะเข้มงวดเรื่องงบประมาณรายจ่ายโดยเฉพาะการก่อหนี้ การใช้กลไกทางการเงินไปยังสาขาที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อการเพิ่มผลผลิต และการบริโดภคที่ฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ ที่มีราคานำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ถึงปีละ 12,000 ล้านบาท จนเป็นรายการนำเข้าใหญ่ที่มีผลยอดการขาดดุลการค้า ที่ในระยะยาวแล้วมีผลกระทบต่อยอดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินสำรองระหว่างประเทศและเสถียรภาพค่าเงินบาท…"

นโยบายของประมวลที่แถลงออกมารนี้สวยหรูมาก ไม่มีตรงไหนเลยที่ส่งผลร้ายต่อผลประโยชน์ของประชาชน และธุระกิจเอกชน ที่น่าสังเกตคือ เป็นนโยบายที่ออกมาจากรัฐมนตรีที่หลายคนปรามาสไว้อย่างน่าชิงชัง ตอนที่เขาขึ้นรับตำแหน่งใหม่ๆ ว่า "ไม่มีน้ำยา" แต่นโยบายของประมวลนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อตัวเขาเป็นอย่างมาก ที่จะต้องกระทำให้บรรลุเป้าหมายโดยรีบด่วนเพราะฐานะการเป็นรัฐมนตรีในระบบรัฐบาลผสมไม่มีอะไรยืดยาว

แหล่งข่าวระดับสูงในธนาคารแห่งประเทศไทยท่านหนึ่งได้วิเคราะห์ให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า สิ่งจูงใจในการดำเนินนโยบายของ รมต.ประมวล อยู่ที่การมองผลระยะสั้น เพื่อความนิยมของประชาชนในทางการเมือง โดยที่มาตรการทางนโยบายหลายสิ่งหลายอย่างทีทำลงไปอาจส่งผลเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศในระยะยาวได้

ที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ประมวลได้สั่งให้แบงก์พาณิชย์ทุกแห่งรับตั๋วสัญญาใช้เงินของการบินไทยจำนวณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใช้ทดแทนพันธบัตรของรัฐบาลได้ โดยมีอายุของตั๋วยาว 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 9%/ปี ทุกปีจะมีการจ่ายดอกเบี้ยให้

ความจริงเพียงแค่นี้ไม่เสียหายอะไรแก่ฐานะของแบงก์ แต่มีผลเสียหายต่อตลาดการเงินอย่างมาก ด้วย เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตลาดการเงินเริ่มเงินตึงตัว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เริ่มสูงขึ้น การที่แบงก์พาณิชย์ต้องกันเงินไว้ 1,700 ล้านบาท เพื่อชื้อพันธบัตรการบินไทยทำให้สภาพคล่องยิ่งเข้าสู่วงการตึงตัวขึ้น "ที่น่าเป็นกังวลคือ รมต.ประมวล สั่งให้แบงก์ชาติทำเรื่องนี้โดยที่แบงเกอร์ไม่มีใครรู้มาก่อนเลยสักคน"

มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า แนวความคิดนโยบายการเงินการคลังของประมวลได้รับอิทธิพลมาจากบุญชู โรจนเสถียร อดีตรัฐมนตรีคลังคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อ 14 ปีก่อนและเป็นเพื่อนร่วมพรรคการเมืองกิจสังคมด้วยกันในสมัยแรกเริ่ม ตรงนี้สอดคล้องกับคำพูดของบุญชูที่กล่าวกับ"ผู้จัดการ" ว่า "เป็นความจริง รมต.ประมวลเป็นผู้บอกเขาเองว่าได้ศึกษาความคิดของตนอย่างละเอียด" รนมาตรการบางอย่างของประมวลที่ทำไปก็ได้ปรึกษาหารือกับบุญชูอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การนำเงินคงคลังมาตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อเพิ่มเงินเดือนและค่าครองชีพให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ เมื่อเดือนกันยายนปี'31 เพียง 1 เดือนให้หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่ง โดยมาตรการนี้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม ปี'32 เป็นต้นไป

บุญชูเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า มาตรการนี้ก็คือนโยบายการบริหารการคลังเพื่อกระจายความมั่งคั่งสู่ประชาชน เพราะเงินคงคลังช่วงขณะนั้นมียอดสูงถึง 10,000 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องกักเงินคงคลังก่อนนี้ไว้เฉยๆเหมือน "ยายแก่เฝ้าทรัพย์"

รัฐมนตรีคลังที่มาจากการเลือกตั้งการดำเนินนโยบายการคลังย่อมไม่เหมือนรัฐมนตรีคลังที่มาจากการแต่งตั้งอย่างสุธี สิงห์เสน่ห์ หรือสมหมาย ฮุนตระกูล

แบงเกอร์ท่านหนึ่งกล่าวกับ"ผู้จัดการ"ว่า รัฐมนตรีคลังคนก่อน (สุธีและสมหมาย) เป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง การตัดสินใจใช้มาตรการอะไรลงไปจะมองผลระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ซึ่งประมวลไม่เป็นเช่นนั้น ฐานะเงินคงคลังที่มั่งคั่งทุกวันนี้มันมาจากการเป็น 'ยายแก่เฝ้าทรัพย์' ของอดีตรัฐมนตรีสุธี ซึ่งแน่นอนว่าในสายตาประชาชนย่อมสู้ประมวลไม่ได้

ข้อสังเกตตรงนี้ตัวอย่างหนึ่งที่นำมาเปรียบเทียบพิจารณากันได้ คือ การก่อหนี้ต่างประเทศ ในสมัยรัฐมนตรีสุธี นโยบายก่อหนี้ต่างประเทศถูกรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัดที่เพดาน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ทั้งนี้เนื่องจากความหวั่นเกรงในภาระหนี้ต่อมูลค่าการส่งออก (DEBT/SERVICE RATIO) จะมีส่วนสูงเกิน 19% จะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

นโยบายรัดเข็มขัดก่อหนี้แบบนี้คราวแรกประมวลก็ใช้ แต่พอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายก่อหนี้ต่างประเทศ นโยบายอันนี้ก็เปลี่ยนเป็นเพดานไม่เกิน 1,200 ล้านเหรียญ เหตุที่เป็นเช่นนี้ แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า รมต.ประมวลไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเอาชนะแนวคิดนี้กับคณะรัฐมนตรีท่านอื่นๆในคณะรัฐมนตรีได้ อาจเป็นเพราะท่านมีความรู้จำกัดในเชิงเทคนิคก็เป็นได้ จึงไม่สามารถชี้ผลเสียให้ ครม.เห็น "พอ ครม.ดันมาแรง เพราะมีการปรับแผนพัฒนาฉบับที่ 6 ใหม่ เศรษฐกิจมันโตมากๆ รัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อขยายบริการสาธารณูปโภครองรับการลงทุน และเศรษฐกิจที่ขยายตัวรวดเร็วมากๆ ยกตัวอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) ของบลงทุน 5 ปีข้างหน้าตั้งแสนร้านบาท โทรศัพท์ขอมาเกือบ 60,000 ล้านบาท เป็นต้น

ว่ากันว่า ประมวลถึงกับปวดหัวเพราะ เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์เวลานั้นก็เล่นตามกระแสดันของ ครม. ด้วย จึงเอาเรื่องนี้ไปถามกรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังดูเพื่อเช็กว่าฐานะการคลังของประเทศจะรองรับภาระหนี้จากเพดานก่อหนี้ 1,200 ล้านเหรียญต่อปีได้หรือไม่? ในที่สุดก็ตกลงตามแรงดันของ ครม.

ตรงนี้มีจุดสังเกตคือ รมต.ประมวลไม่ใช่คนจนตรอกง่ายๆ แม้จะรู้ผลเสียหายจากนโยบายก่อหนี้สูงทางด้านเทคนิคน้อยก็ตาม แต่เขาเป็นนักการเมือง ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปขัดขวางกระแสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ประชาชนทั่วไปต่างชื่นชม แม้ผลระยะยาวจะเป็นภาระแก่ฐานะการเงินการคลังของประเทศก็ตาม คือถ้าหากว่าสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่วัฏจักรการตกต่ำ ขณะที่การสร้างการผลิตใหญ่ของไทยอยู่ที่ภาคเกษตรที่ยังอ่อนแอ ความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำแบบนั้นจะลดน้อยถอยลงไป เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศกลุ่มละตินอเมริกาเมื่อต้นทศวรรษที่'80… ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นไม่ใช่ภาระหน้าที่ของเขาแล้วดังที่ประมวลเคยกล่าวว่า "เวลานี้ผมคิดอยู่อย่างเดียว จะหาเงินที่ไหนมาให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ขอมาใช้ มันไม่น้อยนะ จำนวนหลายหมื่นล้านบาท ผมปวดหัวที่สุดปัญหานี้"

การสร้างคะแนนนิยมกับประชาชนของ รมต.ประมวลเป็นความชำนาญพิเศษที่ดีอยู่ มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่แสดงถึงบทบาทอันนี้ ล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม เขาให้สำภาษณ์หนังสือพิมพ์โจมตีแบงเกอร์อย่างก้าวร้าวว่า พวกนี้ไม่เคยทำประโยชน์อะไรเพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคม คิดแต่จะหากำไรลูกเดียว 1% จากส่วนต่างสุทธิของดอกเบี้ยมันมากพอแล้ว

เหตุที่เขาลุกขึ้นมาโจมตีแบงเกอร์อย่างรุนแรงเช่นนี้ทำให้วงการถึงกับช้อก เพราะไม่คิดว่าเพียงคำพูดของแบงเกอร์ใหญ่อย่าง ชาตรี โสภณพนิช จากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเจ้าหนี้หลายรายที่เคยเร่งรัดหนี้สินจากบริษัทประมวลก่อสร้างของเขาเมื่อ 20 ปีก่อน ที่เรียกร้องให้ประมวลควรปรึกษาธนาคารพานิชย์ก่อนหน้าจะขยับยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 1 ปี จะได้รับการตอบโต้จากประมวลอย่างแข็งกร้าว จนนายชาตรี ต้องไปขอโทษขอโพย รมต.ประมวลถึงที่บ้านที่ซอยนวศรี ถนนรามคำแหง ในวันรุ่งขึ้นทันที

"การโจมตีแบงก์ในจุดที่ว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคม เป็นจุดที่รัฐมนตรีการเมืองมักใช้เป็นประจำอยู่แล้ว เพราะมันสะใจประชาชนดี ผมว่ามันเป็น 'แทกติก' ของท่านที่ต้องการเตือนให้พวกเราร้อนตัวมากกว่าซึ่งก็ได้ผลนะ เราคงต้องวางท่าทีในลักษณะต้องปรับตัวให้กับแทกติกของท่าน" แบงเกอร์รายหนึ่งวิเคราะห์ประมวลให้ฟัง

ประสบการณ์ในธุรกิจที่ล้มคว่ำล้มหงายมาแล้ว จนถูกแบงก์ไล่จี้เร่งรัดหนี้ เป็นภูมิหลังที่ลืมไม่ได้ของประมวลนำมาต่อภาพในการมองบทบาทของแบงก์พาณิชย์ในยุคสมัยนี้ มีอยู่คราวหนึ่งตอนที่เขาเป็น รมต.คลังใหม่ๆ พวกสมาคมธนาคารพาณิชย์ได้เข้าเยี่ยมคำนับ เพื่อแสดงความยินดีที่กระทรวง คำพูดประโยคแรกที่เขาพูดออกไป คือ "พวกคุณจะมาขออะไรจากผม" มันเป็นส่วนที่สะท้อนออกมาจากส่วนลึกอย่างแท้จริงของประมวลมองแบงเกอร์อย่างไม่มีความไว้วางใจ และยังฝังใจจากเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับเขา

เป็นเวลา 10 เดือน นับตั้งแต่ประมวลเข้ารับผิดชอบงานการเงินการคลังของประเทศ มันเป็นเวลาไม่ยาวนานนักต่อการแสดงความสามารถในการบริหารในเชิงประจักษ์ให้ประชาชน คณะรัฐมนตรี และรัฐสภายอมรับในฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอย่างเขาซึ่งมีความรู้เชิงเทคนิคในการเงินการคลังของแผ่นดินอย่างจำก

แต่ก็ออกจะเหลือเชื่อ เมื่อสิ่งที่เขาทำออกมาในระยะ 10 เดือนที่ผ่านมาต่อความรู้สึกของประชาชน มันมีทางบวกอยู่มาก

มาตรการเพิ่มค่าครองชีพและปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ เมื่อกันยายนปีที่แล้ว ติดตามด้วยการปรับโครงสร้างหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ผู้มีรายได้น้อยและกลางในเดือนมกราคมปีนี้ และล่าสุดยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากประจำส่วนที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ 15% / ปี เมื่อกลางเดือนมิถุนายน…ล้วนแต่เป็นมาตรการที่เขาทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น (ดูตารางผลงานประมวล)

คำถามคือ มาตรการเหล่านี้ออกมาจากแนวความคิดของเขาเองหรือไม่ ?

คำตอบคือ ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมาตรการหักลดหย่อนภาษีผู้มีรายได้น้อยและเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทั่วไป มาจากคำแนะนำและรับเอาอิทธิพลทางความคิดมาจากบุญชู โรจนเสถียร รมต.คลังที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก สำหรับมาตรการยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากประจำเกิน 1 ปีขึ้นไป มาจาก ศ.นงเยาว์ ชัยเสรี ที่ปรึกษา ซึ่งประมวลขอยืมตัวมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ปี เป็นคนหนึ่งที่ให้คำปรึกษาเรื่องนี้

เรื่องยกเลิกอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำฯ มาจากรากฐานการศึกษาเดิมของแบงก์ชาติที่เสนอให้ประมวลขยับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ข้างละ 1% เพื่อลด OVER HEAT ECONOME เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาเกิน 5% ซึ่งเป็นเป้าหมายทางนโยบายที่แบงก์ชาติพยายามดูแลอยู่

เหตุผลของแบงก์ชาติในการเสนอมาตรการทางด้านอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวฉุดภาวะเศรษฐกิจไม่ให้โตเร็วเกินไป จนมีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ เป็นสิ่งที่ทางแบงก์ชาติประเมินผลดีผลเสียในทางเทคนิควิชาการแล้วว่า เห็นควรกระทำโดยรีบด่วน

เรื่องนี้ประมวลเสนอให้แบงก์ชาติตั้งแต่เดือนเมษายน! แต่ประมวลกลับนำเรื่องนี้ไปให้กองงานที่ปรึกษาพิจารณาด้วยกรอบเหตุผลทางการเมือง เพราะว่านโยบายใหญ่ของคณะรัฐมนตรีที่ประมวลรับทราบมาตลอดทุกระยะนั้น ไม่ต้องการให้มีมาตรการอะไรทั้งสิ้นมาเป็นเครื่องกีดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผลจึงออกมาในรูปยกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากฯ แต่คงเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่เดิม ดังที่ทราบกัน

ก็อีกนั่นแหละ กว่าที่มาตรการทางนโยบายเรื่องยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินฝากนี้จะผ่านวาระเพื่อรับทราบจากคณะรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่เพราะประมวลเป็นคนบรรยายเรื่องนี้ให้ครม.ฟังเอง

เขาต้องเรียก ดร.ศิริ การเจริญดี เทคโนแครตมือเยี่ยมของแบงก์ชาติมาบรรยายถึงผลดีให้ ครม.ฟัง ซึ่งว่ากันว่าการบรรยายของดร.ศิริในครั้งนี้สร้างความประทับใจให้ประมวลเป็นอย่างมาก จนเป็นเหตุที่ทำให้ดร.ศิริ กลายเป็นหนึ่งในสต๊าฟที่ปรึกษาของประมวลไปโดยปริยาย

คณะกลุ่มที่ปรึกษาของประมวล (ดูตารางที่ปรึกษาฯ) ซึ่งเปรียบดุจมันสมองของเขาในการกระบวนตัดสินใจทางงนโยบายมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสายงานกระทรวงการคลัง ประกอบด้วยปลัดพนัส สิมะเสถียร ซึ่งประมวลไว้ใจมากเนื่องจากปลัดพนัสเป็นลูกหม้อเก่าแก่ที่สู้งานกระทรวงดีที่สุดและมีความผูกพันในฐานะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องธรรมศาสตร์ด้วยกัน บุคคลทั้ง 2 สนิทสนมกันมาก สมัยที่ธรรมศาสตร์ดำเนินโครงการสร้างโรงพยาบาลที่รังสิตซึ่งขณะนั้นปลัดพนัสเป็นคณะกรรมการจัดหาทุนสร้าง รพ.ให้ธรรมศาสตร์ถึง 2 ครั้ง และหมั่นไปตรวจเยี่ยมงานก่อสร้างโรงพยาบาลอยู่เสมอ

อีกคนหนึ่งคือภุชงค์ เพ่งศรี ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการที่กรมบัญชีกลางเมื่อตุลาคมปีนี้เอง ก็เป็นเพื่อนรักเก่าของประมวล รู้จักสนิทสนมกันมาตั้งแต่ทั้ง 2 คนเรียนอยู่วัดบวรนิเวศ

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนภายนอกที่ประมวลรู้จักและไว้วางใจคือ กมล พุธนาฎนนท์ เป็นวิศวกรจบจากจุฬาฯเคยอยู่กองโยธา กรุงเทพมหานคร รู้จักประมวลตั้งแต่สมัยประมวลทำธุรกิจก่อสร้างส่วนตัว ที่บริษัทประมวลก่อสร้าง และถูกประมวลดึงเข้ามาทำงานที่บริษัทด้วย จนปัจจุบัน เป็นอีกคนหนึ่งที่ประมวลไว้ใจมากที่สุดรองจากกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ลูกชายทุกวันนี้ กมลมีบทบาทอยู่ในกองงานที่ปรึกษาที่ทำหน้าที่รวบรวมและสรุปงานทั้งหมดให้ประมวลรับทราบเสมือนหนึ่งเลขานุการ

กมลเป็นที่ปรึกษาประมวลที่เก็บตัวเงียบที่สุด เขาจะไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆกับสื่อมวลชน เป็นคนหนึ่งที่รู้จักประมวลดีที่สุดและใกล้ชิดที่สุดทั้งในชีวิตส่วนตัวและการงาน

อีกคนหนึ่งคือ ศ.คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบบัญชีจากสหรัฐฯ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาประมวล เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วก่อนหน้านี้ (ปี 2529) รู้จักประมวลเมื่อตอนเป้นกรรมการจัดหาทุนสร้างโรงบาลธรรมศาสตร์ที่รังสิต

"ตอนที่ท่านเป็น รมต.คลัง ดิฉันก็โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับท่าน และบอกกับท่านว่า เป็น รมต.คลังแล้วคงช่วยโรงบาลธรรมศาสตร์และคณะแพทย์ของธรรมศาสตร์ได้เยอะทีเดียว ท่านก็เลยบอกดิฉันว่า เออ งั้นอาจารย์ก็มาเป็นที่ปรึกษาผมก็แล้วกัน มันก็เลยกลับกัน ตอนท่านเป็น รมต.อุตสาหกรรม ดิฉันกำลังหาทุนสร้าง รพ.ท่านเป็นที่ปรึกษาดิฉัน ตอนนี้ดิฉันมาเป็นที่ปรึกษาท่าน" ศ.นงเยาว์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงที่มาของการเป็นที่ปรึกษา

ว่ากันว่า ในตอนแรกๆประมวลวางบทบาทที่ปรึกษาให้ ศ.นงเยาว์ เน้นหนักในงานด้านกิจการสังคม เช่น กรรมการโครงการหลวงฯ ต่อมาก็ส่งเข้าไปเป็นกรรมการแบงก์ชาติ จนปัจจุบันนโยบายการเงินหลายเรื่อง เธอเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทให้คำแนะนำแก่ประมวลไม่น้อย

ทุกวันพุธ เธอจะนั่งทำงานอยู่ที่กองงานที่ปรึกษารัฐมนตรีที่กระทรวงการคลัง มีผู้ใหญ่ในแบงก์ชาติท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ถึงบทบาทของเธอว่า สถานภาพของเธอตอนนี้อยู่ในจุดที่ดีต่ออนาคตงานราชการไม่น้อย อายุราชการที่เหลืออยู่ 6 ปีจะเกษียณ ผ่านงานเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำมาแล้ว มีผลงานวิชาการระดับเป็นศาสตราจารย์ มีฐานะทางสังคมระดับคุณหญิง ได้รับความไว้วางใจจากรัฐมนตรี เป็นกรรมการแบงก์ชาติ ถ้าหากจะเข้ามากินตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าแบงก์ชาติในปีหน้าแทนคุณ ชวลิต ธนะชานันท์ ซึ่งจะเกษียณไป ก็มีความเป็นไปได้สูง และโอกาสเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยก็มีไม่น้อย

ความเป็นไปได้ในข้อสังเกตนี้อาจอยู่ที่ตัว ศ.นงเยาว์เองว่าจะยอมรับหรือไม่ถ้ามีข้อเสนอมา นั่นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประมวลเองว่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้นานแค่ไหน?

จะสังเกตได้ที่ประมวลเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีที่ฉลาด เขาให้ความสำคัญกับข้าราชการประจำ ขณะเดียวกัน ก็มีที่ปรึกษาจากภายนอกที่เขาไว้ใจ มาครองงานอีกขั้นหนึ่งมันเป็นวิธีบริหารงานนโยบายที่ไม่เหมือนรัฐมนตรีสุธี และสมหมาย ที่เข้ามาโดยการแต่งตั้ง และมีสไตล์บริหารที่ตรงไปตรงมาวางน้ำหนักอยู่ที่กลไกข้าราชการประจำ "อย่างรัฐมนตรีสุธี จะใช้แบงก์ชาติมากเพราะท่านเป็นเทคโนแครต เหมือนพวกแบงก์ชาติ" แหล่งข่าวในระดับสูงในกระทรวงการคลังเล่าให้ฟัง

แต่ประมวลจะใช้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมาก งานนโยบายหลายอย่างที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คนที่ป้อนข้อมูลให้เขาจะอยู่ที่หน่วยงานแห่งนี้

ดร.เชิดชัย ขัณธ์นะภา เศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในหน้าที่นี้มากที่สุดคนหนึ่ง เขามาอยู่ที่กองงานสำนักเลขานุการรัฐมนตรีเพราะถูกภุขชงค์ เพ่งศรี ที่ปรึกษาประมวลดึงตัวมาจากกองนโยบายการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยคำสั่งของประมวล

บทบาทของเขามีหน้าที่รวบรวมข้อมูล และตรวจเช็กวิเคราะห์ข้อมูลที่หน่วยราชการในกระทรวงทำขึ้นมาให้รัฐมนตรีตามคำสั่ง เพื่อส่งต่อให้คณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีประมวลวิเคราะห์ทำความเห็นเสนอแนะนำรัฐนมตรี มองรูปแบบนี้แล้วเป็นการประสานงานกันระหว่าง กองงานที่ปรึกษารัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่มีใช้กันอยู่ในกลุ่มรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีญี่ปุน ที่เรียกว่า "คณะเลขานุการรัฐมนตรี" นั่นเอง

แม้โครงสร้างระบบบริหารนโยบายของประมวล จะดูดี แต่ก็มีหลายเรื่องที่เขาไม่สามารถโน้มน้าวให้คณะรัฐมนตรียอมรับในมาตรการนโยบายที่เขาเสนอได้ เรื่องการบินไทยเข้าตลาดหุ้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เขาผิดพลาดอย่างมาก ทั้งๆที่เมื่อ 12 ธันวาคม วันที่เขาแถลงนโยบายได้พูดชัดเจนว่า เขาจะนำหุ้นการบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้

เรื่องนี้เริ่มมาจากกระทรวงคมนาคมคือ มนตรี พงษ์พานิช ต้องการจัดซื้อเครื่องบิน 16 ลำ

ให้การบินไทยจำนวนเงิน 23,000 ล้านบาท และได้นำเสนอโครงการนี้มาให้กระทรวงการคลังพิจารณาความเป็นไปได้ ประมวลนำเรื่องนี้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังพิจารณาศึกษาอย่างละเอียด ซึ่งเห็นชอบในหลักการด้วย แต่มีเงื่อนไขให้นำหุ้นการบินไทยเข้าจดทะเบียนใจตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนจากตลาดส่วนหนึ่ง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังศึกษาเสร็จก็เสนอให้กองงานที่ปรึกษารัฐมนตรีพิจารณาอย่างรอบคอบ และส่งต่อให้ประมวล

จนกระทั่งการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 เมษายน มนตรีได้เสนอโครงการนี้เข้าที่ประชุม จนรับในหลักการ แต่ให้ซื้อเพิ่มเพียง 13 ลำ และได้มีการเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอทางการเงินของกระทรวงการคลังด้วย

แต่ประมวลพลาดจนได้ ตรงที่ไม่ได้สั่งการให้บันทึกข้อความมติของครม.ที่เห็นชอบในหลักการข้อเสนอนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะแผนดารระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องบินที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้เสนอชัดเจนให้นำหุ้นการบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

เรื่องที่บันทึกตามมติครม.กลายเป็นว่าครม.เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงคมนาคมจัดซื้อเครื่องบินให้การบินไทย 13 ลำ และให้คมนาคมคลังและการบินไทยร่วมกันศึกษาแผนการระดมทุน!

ประมวลพยายามจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกในคราวหน้า แต่ก็สายเสียแล้วเมื่อ มนตรีไม่ยอมแผนการนี้ เขาคัดค้านในที่ประขุมครม.เมื่อ 18 เมษายน กับประมวลอย่างแข็งกร้าว

ว่ากันว่า งานนี้มนตรีกับประมวลต่างมองหน้ากันไม่ติด ทั้งๆที่เวลาประชุมครม.ทั้ง 2 คนนั่งตรงข้ามกันพอดี

"ถ้าจะกินอย่างมากก็ตามน้ำ แต่บางคนเล่นกินกันแบบขายชาติมันไม่ไหว" เสียงเปรยขึ้นมาในที่ประชุม ครม.ดังขึ้นจนได้ยินไปถึงหูรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งจนไม่รู้ว่าเสียงพูดนั้นเป็นของท่านใด?

ว่ากันว่า ในหลายครั้งประมวลมักเป็นรถด่วนนำเรื่องเข้าครม.ในวาระจรอยู่บ่อยครั้ง จนเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่คณะรัฐมนตรีว่า เป็นคนเดียวที่นำเรื่องวาระจรเข้าสู่ที่ประชุมครม.บ่อยคร้งที่สุด

การนำเรื่องเข้าครม.ในวาระจร เป็นเรื่องที่ไม่บรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสำนักเลขาคณะรัฐมนตรี ที่ อนันต์ อนันตกูล ควบคุมแลอยู่

เมื่อไม่อยู่ในระเบียบวาระ บรรดารัฐมนตรีก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษารายละเอียดในเรื่องนั้นก่อนเข้าที่ประชุม

เพราะตัว รมต.เลนนำเรื่องนั้นมาบอกในที่ประชุม ครม.ในวันนั้นเลย!

"เรื่องที่ท่าน รมต.ประมวลนำเข้าวาระบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการกู้หนี้และขอ REFINANCE หนี้เก่า เวลาท่านพูดเรื่องนี้ก็หอบเอาเอกสารปึกใหญ่มาให้บรรดารัฐมนตรีได้อ่านดูด้วย" รัฐมนตรีท่านหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึง TACTIC อันแพรวพราวของประมวล

ก็เห็นจะจริง เอกสารปึกใหญ่ใครหรือเทวดาที่ไหนก็ไม่มีปัญญาอ่านและซักถาม รมต.ประมวลได้!

รมต.ประมวลก็เลยรอดตัวไป ไม่ต้องมานั่งตอบเรื่องราวที่ยากๆ สำหรับตัวเองเพราะโดยปกติเวลาประชุม ครม.ว่ากันว่า รมต.ประมวลเป็นคนพูดน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เวลาจะพูดมากก็ตอนต้องปะทะคารมกับรมต.มนตรีเท่านั้น

รัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างประมวล เขาฉลาดพอที่จะไม่สร้างปมเงื่อนไขอะไรให้ฝ่ายค้านเล่นงานได้ในรัฐสภา เขาเคยพูดกับคนใกล้ชิดว่า มีอยู่ 2 เรื่องที่เป็นขยะที่รัฐมนตรีคนก่อนๆทิ้งไว้ให้เขาแก้ มีเรื่องทรัสต์ 4 เมษาและบริษัทเงินทุนฯ (IFCT)

เรื่อง 2 เรื่องนี้ มีปมของปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่เขาจะเป็น รมต.คลังทั้งสิ้น ถ้าเขาไปแตะโอกาสพลาดจะมีสูง หรือถ้าไม่พลาด ผลดีอย่างมากก็แค่เสมอตัว

ยกตัวอย่าง กรณี IFCT เขาฉลาดพอที่จะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องนี้เอง โดยวิธีโยนไปให้คณะกรรมาธิการงบประมาณ รัฐสภา เป็นผู้ตัดสินทางออกให้ ทั้งๆที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความและชี้ขาดในแง่ข้อกฎหมายแล้วว่า ค่าเสมอภาคของเงินบาทกับค่าเงินบาทที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นที่กระทรวงการคลังต้องเข้าไปแบกรับภาระผลการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนของบรรษัทดังที่เคยกระทำมา

"ผู้จัดการ" เคยวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้แล้วอย่างละเอียดในเล่มที่ 65 เดือนกุมภาพันธ์ 2532 นี้ และสรุปตรงที่ว่า คณะกรรมาธิการงบประมาณของรัฐสภาได้มีมติให้ประมวล ชดเชยผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของบรรษัทได้ก่อนหน้ามีนาคม 2521 จำนวน 240 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 523 ล้านบาท ให้บรรษัทแบกรับภาระเอง

เรื่องกรณีนี้ก็ผ่านไปแล้ว โดยประมวลไม่เสียหายอะไรเลย แต่ทีน่ากังขาในความรู้สึกของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีชาติชายฯ คือประมวลทำไมถึงไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่งลงไปในบรรษัท ทั้งๆที่สมหมาย ฮุนตระกูลประธานกรรมการบรรษัทก็ท้าทายอยู่ตลอดเวลา "ให้ประมวลปลดเขาได้ถ้าต้องการ"

เหตุไรประมวลจึงไม่เด็ดขาดในการแก้ปัญหาบรรษัท ทั้งๆที่เขามีอำนาจที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงได้ในสถานะกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่!

หลังการปิดประชุมสภาสมัยสามัญเดือนกรกฎาคมนี้ มีการพูดกันมากถึงความเป็นไปได้ที่คณะรัฐบาลอาจมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีบางกระทรวงใหม่ ซึ่งประมวลอาจเป็นหนึ่งในบรรดารัฐมนตรีที่จะถูกสับเปลี่ยนโยกย้ายกระทรวง

แม้ 10 เดือนที่ผ่านมา ผลงานของประมวลดูจะเป็นที่พออกพอใจพอสมควรในบรรดาประชาชนโดยทั่วไป แต่ CACIBER ของเขาในหมู่คณะรัฐมนตรี ในกรณีล้มเหลวเรื่องดันการบินและเป้าใหญ่เรื่องทรัสต์ไทยเข้าตลาดหุ้น 4 เมษา ที่เขามอบหมายให้ ไพศาล กุมาลย์พิศัย ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นผู้ดูแลแก้ปัญหา เป็นแนวโน้มที่ฝ่ายค้านในรัฐสภาเตรียมเล่นงานอยู่ ก็เป็นองค์ประกอบของสาเหตุที่เขาอาจต้องถูกสับเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง

ประมวลและกลุ่มมันสมองของเขาอาจประสบความสำเร็จในการสร้างกระแสนิยมแก่ประชาชน แต่เขาอาจล้มเหลวในการสร้างความยอมรับในฝีมือนายกรัฐมนตรีชาติชายก็เป็นได้

ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ นายกฯชาติชายอาจต้องชั่งน้ำหนักการตัดสินใจยากพอดี!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.