การใช้ชีวิตท่ามกลางความซับซ้อนสับสนวุ่นวายของสังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันกับเวลามากขึ้นสิ่งที่ตามมาคือความเครียด
สถิติคนเป็นโรคจิต-โรคประสาทสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ความสุขซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนากลายเป็นสิ่งหายากและออกจะเป็นเรื่องแปลกหากใครจะบอกว่าตัวเองมีความสุข
นภพร เรืองสกุล วันนี้เธอเป็นแบงเกอร์เต็มตัวในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไปธนาคารไทยทนุ
เป็นนักบริหารหญิงชั้นนำที่พูดได้เต็มปากอย่างไม่ขัดเขินว่าตัวเอง "มีความสุข"
คนในแวดวงสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะรู้จักชื่อนภพร เรืองสกุลดี เพราะเธอมีอดีตเป็นถึงรองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์
และผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยมีคนรู้จักตัวตนลึกๆของเธอ
หรือแม้กระทั่งทัศนะทั่วๆไปของเธอเท่าไหร่นัก ทั้งๆที่เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและการแก้ปัญหาสถาบันการเงินที่ผ่านมา
นั่นเป็นเพราะนภพร เป็นคนที่ไม่ชอบให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ซึ่งจะเป็นบุคลิคที่แตกต่างไปจากผู้บริหารแบงก์ชาติหลายๆคน
เธอจึงไม่เป็นที่โปรดปานของบรรดากระจิบกระจอกข่าวนัก บางคนบอกว่า "คุณนภพรเป็นคนฉลาดมาก
แต่แข็งไปหน่อย (เลยอยู่แบงก์ชาติลำบาก) แถมหยิ่งอีกต่างหาก"
แต่คนที่มีความเชื่อมั่นใในตัวเองสูงอย่างนภพรดูจะไม่สนใจภาพพจน์ของตัวเองต่อสาธารณชนนัก
ยังคงมีความสุขกับการทำงานอย่างเงียบๆ โดยยึดหลักการทำงานเพื่องานเป็นเครื่องพิสูจน์
"เราทำงานแล้วผลงานเราก็ออกมาเองไม่ใช่เหรอ งานที่ตัวเองทำพูดไปแล้วคนข้างนอกก็จะไม่เข้าใจ
หลายอย่างมันเป็นเรื่องที่ทำให้การทำงานมันสะดวกขึ้นบางครั้งปมปัญหามันติดอยู่นานแล้วไม่รู้จะทำอย่างไรกัน
พอเราศึกษาเข้าใจแล้ววิธีแก้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
แก้เรื่องที่มันติดอยู่จุดหนึ่งได้จะทำให้เรื่องอื่นดำเนินไปได้"นภพรแสดงทัศนะ
นภพร เป็นคนที่มีประวัติการศึกษาโดดเด่นมากคนหนึ่งสมัยที่เรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมในแผนกอักษรศาสตร์
สามารถทำคะแนนได้เป็นอันดับหนึ่งสูงกว่าแผนกวิทยาศาสตร์ชื่อของเธอยังติดอยู่ที่บอร์ดของโรงเรียนปัจจุบันนี้
ในปีเดียวกันนั้นการสอบม.ปลายของนักเรียนทั่วประเทศเธอก็ได้ที่หนึ่งอีก ยังไม่พอ..สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯได้ที่หนึ่งอีก
เรียกว่าปีนั้นเธอกวาดเรียบ
แต่แทนที่เราจะได้นักประวัติศาสต์ตามสาขาที่นภพรเลือกเรียนเมื่อเป็นนิสิตปีหนึ่ง
ชีวิตเธอหักเหครั้งสำคัญเมื่อสอบได้ทุนธนาคารแห่งประเทศไทยไปเรียนเศรษฐศาสตร์โดยจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จาก
GOUCHER COLLEGE , MARYLAND และ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศจาก UNIVERSITY
OF CALIFORNIA ATLOS ANGELES (UCLA)
แม้จะไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่นภพรก็ไม่ทิ้งความสนใจด้านสังคมศาสตร์ด้วยวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เธอชอบเรียนคือ
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ, ประวัติความคิดนักเศรษฐศาสตร์ปรัชญาว่าด้วยเศรษฐศาสตร์
ซึ่งพื้นฐานเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ และงานเขียนของเธอเวลาต่อมา
และความที่เป็นคนที่สนใจสิ่งรอบตัว เธอเรียนกระทั่งวิชาดูหนังซึ่ง
นภพรเล่าว่าสนุกมาก เรียนจบกลับมาอาจารย์ป๋วยซึ่งเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติในขณะนั้น
ซึ่งได้รับการรายงานผลการศึกษาของนักเรียนทุนทุกเทอม เรียกนภพรไปถามด้วยความสงสัยว่าวิชาดูหนังนี่เขาเรียนอะไรกัน
ก็เลยกลายเป็นความรู้ใหม่ของนภพรว่าอาจารย์ป๋วยเป็นคนที่ชอบดูหนังมากๆคนหนึ่ง
นภพรนั้นก็เหมือนผู้บริหารทั่วไปที่มีตารางนัดหมายเต็มไปหมดเหมือนยุ่งอยู่ตลอดเวลาลำพังงานแบงก์ทีเธอรับผิดชอบด้วยการวางแผน
และสำนักบริหารเงิน ก็นับว่าหนักพอดู แต่เธอยังมีกิจกรรมพิเศษอีกมากมาย แต่เพื่อนร่วมงานที่ไทยทนุบอก
"ผู้จัดการ" ว่า "เธอเป็นคนไม่เครียด ดูสนุก กับงานเสมอ"
"ปกติมักจะเป็นคนไม่มีเวลาว่างอยู่เฉยๆ บางคนบอกว่าไม่ว่าง เขาหมายถึงว่าไม่ว่างจริงๆ
แต่สำหรับตัวเองเวลาทั้งหมดถูกจัดให้กับกิจกรรมที่เราพอใจทั้งสิ้น เวลาสำหรับนัดกับเพื่อนการสัมมนาที่น่าสนใจทั้งสิ้นเวลาสำหรับนัดกับเพื่อนการสัมมนาที่น่าสนใจ
กีฬาฯที่อยากจะเล่น หนังสือที่อยากจะเขียน ดูมีอะไรทำตลอดเวลา แต่ไม่คิดจะยุ่งหรือเหนื่อย
คิดว่าจะทำอะไรต้องสนุกถึงจะทำ อะไรที่ต้องจำใจทำจะไม่ทำ ทำให้ชีวิตมีความสุข
แต่สำหรับการทำงานบางทีเราอาจจะไม่พอใจทั้งหมด เราก็ต้องพยายามหาแง่ดีให้ได้อย่างวันก่อนลูกน้องบ่นงานเยอะมีประมาณ
10 ชิ้น ทำเสร็จไปแล้ว 5 ชิ้นก็นึกว่าโล่งเหลืออีก 5 ชิ้นกลับกลายเป็น 7
ชิ้น เขาทำหน้าเคร่งเครียด เราก็บอกว่าอ้าวไม่ดีเหรอไชโยงานเหลืออีกตั้งเยอะแยะ
คุณลองคิดดูซิว่าถ้าทำเสร็จหมดอ้าววันนี้ไม่มีอะไรจะทำเศร้า คิดให้มันสบายใจ
แล้วจะทำอะไรได้อีกมาก"นภพรเล่าถึงวิธีคิดที่ทำให้เธอมีความสุข
นภพรเป็นคนที่ทำอะไรได้อีกหลายอย่างอยู่เงียบๆ นอกจากเคยไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยหอการค้า
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากร เธอยังเขียนหนังสือมาสม่ำเสมอ
ที่เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คมีเรื่อง เส้นทางธนาคารพาณิชย์, ฝากเงินให้รวยและเป็นบรรณาธิการร่วมหนังสือแด่อาจารย์ป๋วยการเงินการธนาคารและการดำเนินนโยบบายเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนที่เป็นตำราเรียน นภพรเขียนในหลายกรรมหลายวาระ เช่นตำรา นภพรเขียนในหลายวรรณกรรมหลายวาระ
เช่นตำราเรียนเศรษฐศาสตร์สำหรับเด็กมัธยม,ตำราสอนประวัติศาสตร์ไทยสำหรับครูโรงเรียนมัธยมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช
(มสธ.) ซึ่งเป็นเรื่องเศษฐกิจไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงปัจจุบัน
ต่อมามีการปรับปรุงเพื่อใช้สอนนักศึกษาทั่วไปของคณะศิลปศาสตร์ มสธ. เป็นงานที่ทำสมัยยังทำงานอยู่แบงก์ชาติ
แม้ว่าจะออกมาทำงานแบงก์พาณิชย์แล้วก็ตาม นภพรก็ยังแบ่งเวลาไปเป็นกรรมการผลิตชุดวิชาเศรษฐศาสตร์ไทยของมสธ.ซึ่งจะมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งงานนี้เป็นการระดมนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักมาช่วยกันอาทิ ฉัตรทิพย์
นาคสุภา แลดิลก วิทยะรัตน์, เมธา ครองแก้ว ... ซึ่งนภพรรับเขียนบทว่าด้วยสถาบันการเงินของไทย
ซึ่งอาจารย์ศุภรัตน์ เลิศพานิชกุล คณะศิลปศาสตร์ มสธ. กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่าตำราเล่มนี้จะเสร็จในปลายปี 2532 งานชิ้นนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเล่มแรก
แม้ว่าวิชานี้ได้เปิดสอนมานานพอสมควร แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเอกสารประกอบการเรียนเท่านั้น
อาจารย์ศุภรัตน์กล่าวถึงนภพรซึ่งร่วมงานกันมากกว่า 3 ปีว่า "คุณนภพรเป็นนักบริหารที่มีความเป็นนักวิชาการสูงมาก
อุทิศให้กับงานตำราอย่างนายกย่องเป็นคนที่มีความรู้ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์
ซึ่งหาได้ยากเพราะนักวิชาการทั่วไปมักจับแต่ด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่องานศึกษาประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจอย่างมาก"
เมื่อพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจนพภรมีความสุขมากที่จะคุย เธอย้อนเล่าถึงสมัยที่เรียนหนังสือที่เขียนปรัวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไฮติจนถึงเรื่องการเขียนประวัติแบง์ชาติที่เธอมีส่วนด้วย
พูดถึงการปรับเปลี่ยนของสังคมไทยในยุคต่างๆ จะเรื่อยไปถึงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆยิ่งคคุยก็ยิ่งรู้สึกว่ามีเรื่องไปนั่งคิดนั่งค้นอีกมากมาย
วันนี้นภพร เรืองสกุลอายุ 45 ปี ยังมีความสุขกับงานแบงก์แต่วันใดก็ตมที่เธอหมดสนุกกับงานแบงก์
เราอาจจะเห็นเธอสนุกสนานกับการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอนาคตเราอาจจะได้อ่านงานดีๆที่เธอผลิตออกมา