เมื่อ 6 แบงก์ไทยฮึดสู้ แบงก์ลูกครึ่ง


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

การเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทยของจุลกร สิงหโกวินท์ ใน ช่วง ที่โครงสร้างอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ของไทยเกิดการเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ในปีนี้ ถือเป็นงาน ที่ท้าทาย ความสามารถของเขาเป็นอย่างยิ่ง

เพราะจากจำนวนธนาคาร ที่เป็นสมาชิกปัจจุบัน 13 แห่ง มีการขีดเส้น แบ่งระหว่างความเป็นธนาคารของคนไทย 8 แห่ง กับธนาคารลูกครึ่ง 5 แห่ง ไว้แล้วอย่างชัดเจน

ในฐานะประธานสมาคม เขาต้องประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิก ทั้งหมดให้เป็นไปอย่างราบรื่น

แต่ในฐานะของกรรมการผู้จัดการธนาคารเอเชีย เขาก็คือ มืออาชีพ ที่ต้องบริหารกิจการ เพื่อสร้างกำไรส่งกลับคืนให้บริษัทแม่ คือ ธนาคารเอบีเอ็น แอมโรจากเนเธอร์แลนด์ ที่ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ตั้งแต่ปี 2541

นโยบายเปิดโอกาสให้ธนาคารต่างประเทศ สามารถเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 2 ปีเศษ ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมาก ในการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศ

ความได้เปรียบในเรื่องของฐานเงินทุน และเทคโนโลยี ทำให้ธนาคารลูกครึ่ง ที่มีต่างชาติถือหุ้นใหญ่นั้น สามารถเปิดเกมรุกได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจ NON BANK ที่หารายได้จากค่าธรรมเนียมเป็นหลัก

ขณะที่ธนาคารของคนไทย ยังอยู่ในวังวนของการแก้ปัญหาภายใน ไม่ว่า จะเป็นการลด NPL การเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มฐานะของเงินกองทุน โดยเฉพาะการถูกบังคับให้ต้องตั้งสำรองให้ได้ครบ 100%

จังหวะ ที่ธนาคารคนไทยอยู่ในภาวะ ที่อ่อนแออย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เหล่าแบงก์ลูกครึ่งถือเป็นโอกาส ที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาผสมผสาน กับกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งลูกค้าจากธนาคารของคน ไทย

ไม่ว่าจะเป็นการรุกเปิดสาขาตาม ห้างสรรพสินค้า สาขาในรูปแบบคีออสแบงก์ และบริการทางการเงินรูปแบบต่างๆ

ที่ฮือฮาที่สุดคือ แคมเปญนำ สลิปบัตรเอทีเอ็มไปชิงโชคของธนาคารเอเชียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสร้างความตื่นตัวในการแข่งขันให้กับธนาคารของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

เพียงแต่ช่วงเวลาดังกล่าว ธนาคารคนไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ

การประกาศตัวเป็นพันธมิตร เปิดให้บริการโอนเงินรายย่อยระหว่าง ธนาคาร (Online Retail Fund Transfer : ORTF) ของธนาคารคนไทยทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา และทหารไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นการโต้กลับ การรุกทางด้านการให้บริการธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารไทย อย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก

เพราะบริการนี้จำกัดเฉพาะธนาคารคนไทย 6 แห่ง ไม่เปิดโอกาสให้ธนาคารลูกครึ่งเข้าร่วมด้วย แม้ว่าธนาคาร ลูกครึ่งเหล่านี้ จะมีเทคโนโลยี ที่สามารถพัฒนาเข้ากับระบบของบริการดังกล่าวได้

ORTF คือ บริการโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร โดยผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ซึ่งเป็นให้บริการกับลูกค้า ที่มีบัญชีออมทรัพย์ และบัญชีกระแสรายวัน ของธนาคารทั้ง 6 แห่ง โดยมีวงเงิน ที่สามารถโอนได้สูงสุดในขั้นแรกรายการ ละ 20,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมการโอนครั้งละ 35 บาทต่อรายการทั่วประเทศ และสามารถโอนเงินได้ ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 น.-21.00 น.

ธนาคารคนไทยทั้ง 6 แห่งนั้น เป็นธนาคารชั้นนำ ที่มีขนาดใหญ่มากในช่วงก่อนเกิดวิกฤติค่าเงินบาท ปี 2540 โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ และ กสิกรไทย ถือได้ว่าเป็นผู้นำในเรื่องการนำบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์มา ให้บริการกับลูกค้า

ที่สำคัญคือ เครือข่ายสาขา และฐานลูกค้ารายย่อยของธนาคารทั้ง 6 มีขนาดใหญ่มาก เฉพาะเครื่องเอทีเอ็ม ที่มีให้บริการทั่วประเทศ มีจำนวนสูงถึงกว่า 4,000 เครื่อง และมียอดผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม รวมกว่า 13 ล้านใบ

เป็นข้อได้เปรียบธนาคารลูกครึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารขนาดกลางถึงเล็ก มีเครือข่าย ที่แคบกว่า แต่มีฐานเงินทุน และเทคโนโลยีสนับสนุน

ว่ากันว่าธนาคารลูกครึ่งโดยเฉพาะธนาคารเอเชีย และดีบีเอสไทยทนุ ไม่ พอใจมากต่อการรวมตัวของธนาคารคนไทยทั้ง 6 แห่ง ถึงขั้นจะนำเรื่องเข้าสู่ ที่ประชุมสมาคมธนาคารไทย

ซึ่งมีจุลกร สิงหโกวินท์ กรรมการผู้จัดการธนาคารเอเชียเป็นประธาน

แม้จะมีการมองกันว่า ในที่สุดแล้วการรวมตัวให้บริการ ORTF ก็จะเปิดกว้างไปถึงธนาคารลูกครึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต เพื่อให้ประโยชน์ตกถึงตัวผู้บริโภคโดยตรงมากที่สุด

แต่การชิงประกาศรวมตัวเปิดให้บริการก่อนของธนาคารคนไทย 6 แห่ง เป็นสัญญาณให้เห็นว่านับแต่นี้ไป ธนาคารคนไทย จะไม่อยู่ในฐานะตั้งรับอีกต่อไปแล้ว

โดยเฉพาะในสิ้นปีนี้ ที่ธนาคารของคนไทยส่วนใหญ่ จะสามารถตั้งสำรองได้ครบ 100% ตามกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ ซึ่งจะทำให้มีความสามารถ และความคล่องตัวในการแข่งขันมากขึ้น

และเมื่อถึงเวลานั้น เชื่อได้ว่าการต่อสู้ของธนาคารไทย และธนาคารลูกครึ่ง คงจะน่าดูมากกว่านี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.