"หมอเลี้ยบ" ยันCDMAเดินหน้าปรับเปลี่ยนรูปแบบประมูลใหม่


ผู้จัดการรายวัน(1 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"หมอเลี้ยบ" ย้ำไม่ได้ล้มโครงการซีดีเอ็มเอ กสท. แต่หากรูปแบบประมูลที่รวมโครงข่ายกับการตลาดไว้ด้วยกันโดยกสท.ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่เวิร์ก ก็อาจเปลี่ยนรูปแบบใหม่ได้ พร้อมกระตุ้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ สั่งกสท.ศึกษาต้นทุนค่าเช่าวงจรเปรียบเทียบสิงคโปร์ ด้านสหภาพฯ ทศท.ชี้ต้องเปิดเสรีอินเทอร์เน็ตให้ทศท.เป็นไอเอสพีได้ ถึงจะลดค่าบริการบรอดแบนด์ได้เร็วทันใจ

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงโครงการโทรศัพท์มือถือในระบบซีดีเอ็มเอของการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) ว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากบอร์ด กสท. แต่ถ้าการประมูลในรูปแบบเดิมที่ให้เอกชนทำทั้งด้านเครือข่ายและด้านการตลาด ไม่ประสบผลสำเร็จ ก็อาจหารูปแบบใหม่

"โครงการซีดีเอ็มเอไม่ได้ล้ม ซีดีเอ็มเอต้องเดินหน้าต่อและกสท. ต้องได้รับประโยชน์ แต่โมเดลที่เป็นอยู่มันเวิร์กหรือไม่ ที่มีคนทำทั้งโครงข่ายและทำการตลาด ซึ่งเท่ากับกสท.ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็อาจ หาโมเดลใหม่"

เขายังกล่าวถึงการลดค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงว่า กำลังคุยกับกสท.เพื่อขอดูโครง สร้างต้นทุนค่าเช่าวงจรต่างประเทศ เพื่อทำการศึกษาให้เห็นความชัดเจน โดยมีประเทศเปรียบเทียบหรือ Benchmark คือสิงคโปร์ โดยที่อัตราค่าบริการจะต้องไม่สูงกว่าสิงคโปร์ จากปัจจุบันที่ไทยสูงกว่าสิงคโปร์ 2.5 เท่า

ที่ผ่านมาปัญหาของกสท.คือในเรื่องปริมาณรวมในการเช่าวงจรต่างประเทศไม่ได้มากเพียงพอที่จะสร้างอำนาจต่อรองได้มากนัก รวมทั้งในเรื่องการคิดอัตราค่าเช่าวงจรจากไอเอสพีต่ออีกช่วงหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดสะท้อนกลับมาเป็นค่าบริการบรอดแบนด์ ที่ไม่จูงใจการใช้งานโดยปัจจุบันมีคนใช้บริการบรอดแบนด์ เพียง 1.5 หมื่นพอร์ตเท่านั้น น้อยกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซียและสิงคโปร์

"ถ้าระดับราคาลดลงมา ก็จะทำให้มีคนใช้มากขึ้น ซึ่งผมกำลังทำทีละก้าวเริ่มจากการลดค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลในประเทศ และจะลดค่าโทรศัพท์ต่างประเทศ รวมทั้งลดค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ต่อไป "

ด้านนายมิตร เจริญวัลย์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า การลดค่าบริการบรอดแบนด์ตามนโยบายรมว.ไอซีที ด้วยการลดค่าเช่าวงจรของกสท.ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ดี แต่ควรศึกษาต้นทุนทั้งหมด เพราะมีบางอย่างที่ซ่อนไว้โดยที่รมว.ไอซีทียังไม่รับรู้ อย่างกรณีที่คนเล่นอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าใช้ไอเอสพีรายไหน แต่รายได้ต้องส่งผ่านไปยังกสท.โดยใช้โครงข่ายโทรศัพท์ของทศท.ซึ่งทศท. หรือบริษัทร่วมการงานไม่ว่าจะเป็นทีเอ หรือทีทีแอนด์ ทีไม่เคยได้รับผลประโยชน์ในด้านการสื่อสารข้อ มูลหรืออินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด กสท.รับผลประโยชน์ไปแต่ผู้เดียว ต่างจากการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศที่ทศท.ได้ส่วนแบ่งรายได้นาทีละ 6 บาท

"เห็นได้ชัดว่ากสท.มีต้นทุนซ่อนเร้นพวกนี้ที่ยังไม่ได้เปิดเผย ออกมา รวมทั้งหากแยกกสท.ออก เป็น 2 บริษัท ด้านโทรคมนาคมกับไปรษณีย์ เมื่อกสท.โทรคมไม่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนไปรษณีย์เหมือนเมื่อตอนเป็นองค์กรเดียวกันแล้ว พวกค่าเช่าวงจรต่างๆน่าจะลดลงได้อีกมาก"

ทางออกหนึ่งที่ประธานสหภาพฯ เสนอคือรมว.ไอซีที ควรมีนโยบายเปิดเสรีอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะให้ทศท.สามารถเป็นไอเอสพีได้ ซึ่งเมื่อไหร่ที่ทศท.เป็น ไอเอสพี ค่าบริการไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตธรรมดา หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บริการบรอดแบนด์ ต่างๆจะลดลงอีกมาก รวมทั้งเป็น การปลดแอกให้ไอเอสพีเอกชนที่ต้องให้กสท.ถือหุ้นลม 33% มีโอกาสลืมตาอ้าปากทำธุรกิจให้มีกำไร ทำให้ค่าบริการถูกลง จากการ แข่งขันเสรีและเป็นธรรม

"ผมพูดมานานแล้วว่าเรื่องให้ทศท.เป็นไอเอสพี เป็นเรื่องนโยบายที่รมว.ไอซีทีสามารถดำเนิน การได้ทันที วิธีนี้อาจทำให้ค่าบริการ อินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ลดลงเร็ว กว่าที่ให้กสท.มัวแต่ศึกษาต้นทุนวงจรต่างประเทศด้วยซ้ำ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.