คลังเผยรัฐขาดดุลเงินสดกว่า6พันล.


ผู้จัดการรายวัน(17 มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังเผยรัฐบาลขาดดุลเงินสดกว่า 6 พันล้านบาทในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ขณะที่งบประมาณช่วง 8 เดือนแรกของปีงบฯ ขาดดุล 2.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 17% เฉพาะขาดดุลเงินงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดล่าสุดในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลขาดดุลเงินสด 6,739 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวมทั้งสิ้น 202,597 ล้านบาท หรือขาดดุลลดลงกว่าช่วงระยะเดียวกันของปีก่อน 17% โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 200,420 ล้านบาท และการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 2,177 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลดังกล่าวต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโตไม่น้อยกว่า 5-6%

ทั้งนี้ ฐานะการคลังในเดือนนี้รัฐบาลมีรายได้จากการนำส่งคลังทั้งสิ้น 115,222 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน 6,529 ล้านบาท คิดเป็น 6% ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนทั้งในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เช่นเดียวกับการนำส่งรายได้ของส่วนราชการอื่นจากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม

ส่วนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 126,766 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10,321 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.5% โดยรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น 19.9% ขณะที่รายจ่ายลงทุนลดลง 71.6% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของงบเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

ทำให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนพ.ค.ขาดดุล 11,544 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณ ซึ่งเกินดุล 4,805 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดขาดดุลจำนวน 6,739 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินด้วยการออกพันธบัตรจำนวน 11,500 ล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลด้วย

นายสมชัย กล่าวว่า สำหรับฐานะการคลังในช่วง 8 เดือนแรกปีงบประมาณ 2551 (ต.ค.50-พ.ค.51) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 876,464 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน 66,297 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.2% โดยภาษีที่ยังคงจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,076,884 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน 86,520 ล้านบาท คิดเป็น 8.7% โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบัน 996,969 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 10% คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 60.1%ของวงเงินงบประมาณ (1,660,000 ล้านบาท) และเพิ่มขึ้นช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเบิกจ่าย 57.9%ของวงเงินงบประมาณ (1,566,200 ล้านบาท) และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 79,915 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.6%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.