|
ธปท.แย้มขึ้นอาร์พีสกัดเงินเฟ้อ
ผู้จัดการรายวัน(17 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ว่าธปท.ออกโรงแจงนโยบายการเงิน เล็งปรับขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อพุ่ง เหตุไทยดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดในภูมิภาคและดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ ระบุทิศทางนโยบายการเงินเน้นดูแลด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ-ราคาให้สมดุล ขณะที่นโยบายการคลังช่วยพัฒนาการลงทุน ชี้เงินทุนไหลออก เหตุนักลงทุนคาดเฟดคงดอกเบี้ย พร้อมทั้งขาดความมั่นใจลงทุนในภูมิภาคเอเชีย
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การใช้นโยบายการเงินในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นจากความต้องการบริโภคราคาน้ำมันมีมากกว่าด้านผลิต จึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายจากราคาสินค้าลดลงมา ขณะเดียวกันการคาดการณ์ของอัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดความมั่นใจ โดยหากมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงจะยิ่งกดดันให้มีการใช้จ่ายล่วงหน้าและมีการปรับต้นทุนสูงขึ้น ถือเป็นวงจรต่อเนื่องไป ซึ่งหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้จะยิ่งทำให้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ยาก ดังนั้น การทำหน้าที่ของกนง.จึงต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ภายใต้กรอบที่สามารถรับได้ โดยทำให้อัตราเงินเฟ้อถึงจุดหนึ่งไม่สูงจนเกินไปจนเกิดความเสี่ยงได้ จึงจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยเข้ามาควบคุมดูแล
“อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวขึ้นตัวเลข 2 หลักได้ในบางเดือน ขึ้นกับราคาน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบฐานเงินเฟ้อของปีก่อนต่ำกว่า แต่หากเฉลี่ยทั้งปีราคาน้ำมันน่าจะน้อยกว่า อย่างไรก็ตามธปท.ไม่ได้ส่งสัญญาณว่ากนง.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งต่อไป คือ 16 ก.ค. นี้ ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งจำเป็นต้องดูข้อมูลด้านเศรษฐกิจและตัวเลขต่างๆ ที่มีอยู่ล่าสุด”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันธนาคารกลางส่วนใหญ่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ยกเว้นสหรัฐที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจถดถอย โดยหากธปท.มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชื่อว่าจะไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการด้านต้นทุนหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระดับ 3.25% ถือว่าต่ำสุดในประเทศแถบภูมิภาค และอัตราดอกเบี้ยแท้จริงก็ติดลบ รวมทั้งหากพิจารณาต้นทุนการผลิตของธุรกิจที่มีสัดส่วนเยอะกว่าต้นทุนจากการกู้ยืม โดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งไทยมีสัดส่วนถึง 24%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เทียบกับประเทศอื่นๆ แค่ 10% ของจีดีพี
“แม้ขณะนี้ข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างผันผวน และจากการประเมินของกนง.พบว่าความเสี่ยงด้านการเติบโตเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อสูงทั้งคู่ แต่เราไม่ได้นั่งเทียนในการติดตามข้อมูล ซึ่งเงินเฟ้อส่วนหนึ่งดูข้อมูลตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่สะท้อนไปยังมุมมองของตลาดด้วย จึงเป็นเรื่องลำบากในการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับใด และเรายังคงจะติดตามข้อมูลเหล่านี้อย่างใกล้ชิดต่อไป และที่ผ่านมาธปท.เองก็ได้ส่งสัญญาณไปบ้างแล้ว ทำให้ตลาดมีการปรับตัว และสามารถประเมินวิธีการคิดและการทำงานของกนง.ได้ว่าจะไปในทิศทางใดไม่ต้องรอให้มีนโยบายจริงออกมา”
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินเป็นอีกตัวหนึ่งที่จะใช้ตั้งรับอีกด้านหนึ่ง แม้ไม่ได้ส่งผลรุนแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สามารถดูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและด้านราคาให้เกิดความสมดุลได้ ซึ่งไม่ใช่เน้นแต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเดียวที่อาจไม่ตลอดรอดฝั่งเช่นเดียวกับประเทศเวียดนามที่ไม่ได้ดูเงินเฟ้อจนสูงถึง 25%
ขณะเดียวกันยังสามารถนำนโยบายด้านอื่นมาผสมผสานช่วยเศรษฐกิจไทยได้ อาทิ นโยบายการคลังที่ใช้งบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาการลงทุนให้มีการใช้จ่ายลดลง โดยเพิ่มประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาโครงสร้างในระยะยาวและลดการพึ่งพาการใช้น้ำมันลง ส่วนระยะสั้นช่วยลดการใช้จ่ายภาครัฐที่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 3-4% และเฉลี่ย 5 เดือนแรกประมาณ 5.8% ส่วนอีก 7 เดือนที่เหลือของปีนี้หากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงถึง 2 หลัก และสถานการณ์ราคาน้ำมันยังสูงอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่จะมีการปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งปัจจุบันใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0-3.5% เป็นรายไตรมาสนั้นต้องรอให้กนง.ชุดใหม่ที่คาดว่าจะมารับช่วงแทนชุดเก่า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นในวันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นผู้พิจารณา ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเช่นเดิมหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และเริ่มมีการเก็งกำไรจากนักลงทุนต่างชาตินั้นเกิดจากนักลงทุนต่างชาติคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยอีก ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจจากกรณีที่เวียดนาม รวมทั้งไทยมีปัญหาการเมืองด้วย ทำให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินออกไปนอกประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศแถบภูมิภาค อย่างไรก็ตามธปท.จะพยายามดูแลค่าเงินให้เกาะกลุ่มภูมิภาคและไม่ให้ค่าเงินหวือหวามากนัก ซึ่งขณะนี้ธปท.ก็มีการติดตามข้อมูลแบบรายวันเพิ่มเติมด้วย
“การเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเราก็เห็นอยู่แล้ว ทำให้ขณะนี้ค่าเงินเริ่มนิ่งแล้ว”
สำหรับกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าขณะนี้มีกระบวนการที่ต้องการปลด นางธาริษา วัฒนเกส ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธปท.โดยอ้างสาเหตุจากปัญหาการเพิ่มทุนของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) และการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)ว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและไม่ค่อยรู้เรื่องข่าววงในนัก แต่ตนก็เป็นคนทำงานคนหนึ่ง จึงขอทำงานอย่างนี้เช่นเดิม ส่วนที่เหตุผลที่ว่าผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบันมีนิสัยดื้อและหัวแข็งนั้น ตนไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องนี้ เป็นเรื่องปกติที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ
สำหรับกระบวนการเพิ่มทุนในไทยธนาคารนั้น เชื่อว่ากระบวนการทุกอย่างมีความชัดเจนอยู่แล้ว และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินสามารถเดินหน้าหาพันธมิตรที่จะเข้ามาซื้อหุ้นรายใหม่ตามกรอบเวลาที่วางไว้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิ.ย.นี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|