|
นักวิเคราะห์หั่นเป้าดัชนีเหลือ927จุด
ผู้จัดการรายวัน(17 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาคมนักวิเคราะห์ เผยผลสำรวจนักวิเคราะห์ หั่นเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยเหลือแค่ 927 จุด จาก 958 จุดในการสำรวจครั้งก่อน และจีดีพีเหลือ 5% หลังเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ระบุครึ่งปีหลังนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย เหตุค่าเงินดอลลาร์อ่อนเงินไหลหาแหล่งลงทุน-กำไรบจ.โตดี พร้อมแนะ นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลควรชัดเจน ลดความขัดแย้ง ฝ่าปัญหาเศรษฐกิจการเมือง
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยถึง ผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เรื่อง "แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้น ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป" ว่า สมาคมได้รับความร่วมมือจากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความเห็นจำนวน 21 แห่ง โดยนักวิเคราะห์ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการเมืองที่จะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยประเด็นการเมืองที่ส่งผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การชุมนุมคัดค้านทางการมืองที่อาจะนำไปสู่ความรุนแรง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยคิดเป็นสัดส่วน 67%, 52% และ 24% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดตามลำดับ ขณะที่ทิศทางของสถานการณ์ทางการเมืองในระยะ 6 เดือนข้างหน้า นักวิเคราะห์มองว่า แย่ลง 52% ดีขึ้น 33% และไม่เปลี่ยนแปลง 14%
สำหรับปัจจัยอื่นๆ นอกจากประเด็นเรื่องการเมือง ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์ให้น้ำหนักสูงสุดถึง 71% อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น 67% และอันดับสาม ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก จากวิกฤตทางการเงินของสหรัฐฯ จนขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ 29%
ส่วนปัจจัยบวกที่จะกระทบการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง อันดับแรก คือ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วน 52% อันดับสอง แนวโน้มรายได้และกำลังซื้อของภาคเกษตรกรจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น 29% และอันดับสาม เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับที่ดี 19%
นายสมบัติ กล่าวว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 927 จุด ลดลงจากการเดิมก่อนที่จะมีการชุมนุมทางการเมืองที่ 982 จุด และจากการสำรวจเมื่อเดือนม.ค. อยู่ที่ 958 จุด โดยมีผู้คาดการณ์ 1 รายที่คาดการณ์ไว้สูงถึง 1,200 จุด ขณะที่สำนักที่เหลือทั้งหมดไม่มีรายใดคาดการณ์สูงกว่า 970 จุด
พร้อมกันนี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ สิ้นปี 2552 โดยเฉลี่ยจะสามารถปรับขึ้นไปที่ระดับ 1,081 จุด โดยมี ผู้คาดการณ์ไว้สูงสุดที่ 1,400 จุด
ทั้งนี้ คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth ปีนี้ จะอยู่ที่ 5% ลดลง จากก่อนเกิดเหตุการณ์ชุมนุมคาดไว้ที่ 5.3% แต่ยังสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับเฉลี่ย 4.8% ในการสำรวจครั้งที่แล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยคาดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนปีนี้ อยู่ที่ 19.7% จากก่อนการชุมนุมประเมินที่ 21% แต่ก็ยังสูงกว่าการสำรวจครั้งที่แล้วที่ 18.9%
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากการประเมินครั้งก่อน โดยเมื่อ 29 มค.51 เคยคาดการณ์ดอกเบี้ย RP 1 วัน ณ สิ้นปี 2551 อยู่ที่เฉลี่ย 3.10% แต่ปัจจุบันคาดการณ์ไว้ที่เฉลี่ย 3.56% และคาด อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สรอ. ณ สิ้นปี 2551 เช่นกัน โดยก่อนเหตุชุมนุม คาดไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 31.9 บาทต่อดอลลาร์สรอ. ในขณะที่ปัจจุบันปรับประมาณการใหม่เป็น 32.7 บาทต่อดอลลาร์สรอ.
"บจ.ปีนี้ที่มีการเติบโตของงกำไรต่อหุ้นมากที่สุดนักวิเคราะห์คาดว่าจะเป็นหุ้นกลุ่ม ธนาคาร จะโตเพิ่มขึ้น 466.6% จากปีก่อนที่มีการตั้งสำรองฯที่ สูง อันดับสองคือ อสังหาริมทรัพย์ เติบโตเฉลี่ยที่ 28.1%ที่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีการโอน อันดับต่อมาคือ กลุ่มเดินเรือ เติบโตเฉลี่ยที่ 12.2% หุ้นแนะนำลงทุน BANPU, HANA, KBANK, PTTEP, SCB นักลงทุนระยะกลางและยาว ให้ทยอยสะสมหุ้นเมื่ออ่อนตัวลง เน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ได้รับผลกระทบน้อยจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น มีกระแสเงินสดดี และมีเงินปันผลสูง" นายสมบัติ กล่าว
สำหรับประเด็นที่เสนอข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ตลาดทุน และ/หรือสังคมของประเทศ คือ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลควรมีความชัดเจนและคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว ควรร่วมมือกันประหยัดพลังงาน และ ประชาชนควรมีความสมานฉันท์ และร่วมมือกัน ลดความขัดแย้ง เพื่อช่วยให้ประเทศฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองไปได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|