ฟิวเจอร์ฯบางแคทรุดร้านค้าดังทยอยปิด


ผู้จัดการรายวัน(1 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค อาการน่าเป็นห่วง เมื่อร้านค้ารายใหญ่-เล็กต่างทยอยปิดกิจการ หนีออกจากศูนย์ฯ ภายหลังจากที่ศูนย์แห่งนี้ไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน เนื่องเพราะกลุ่มวัฒนวนา ผู้เป็นเจ้าของอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ไทยธนาคารและแบงก์กรุงศรีฯ ด้านอีจีวีมั่นใจอีกไม่นานคงมีข่าวดีเรื่องการหาผู้เข้ามาบริหารศูนย์ฯ เมื่อนั้นความคึกคักจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ย่านฝั่งธนบุรี " ฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค" กำลังเจอมรสุมอย่างหนัก กับปริมาณลูกค้าที่บางตาลงมาก หากเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา โดยเมื่อครั้งที่ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค เคยเฟื่องฟูสุดสุด เป็นศูนย์รวมวัยรุ่นจากหลายสถาบัน ซึ่งเกือบ 90% ของกลุ่มคนที่มาเดิน ล้วนเป็นนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มวัยรุ่นทั้งสิ้น เนื่องจากศูนย์แห่งนี้อยู่ใกล้แหล่งชุมชน โรงเรียนรวมไปถึงมหาวิทยาลัยชื่อดัง จนเคยได้รับการกล่าวขานจากคนในย่านนั้นว่า เป็นมหาลัยฟิวเจอร์ โดยห้างสรรพสินค้าที่มีในย่านนั้นก็ยังไม่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นเท่ากับฟิวเจอร์พาร์ค บางแค

ปัจจุบันศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค เป็นศูนย์การค้าที่มีห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ 2 ราย มาเปิดให้บริการ คือ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และคาร์ฟูร์ (เข้ามาแทนที่ห้างสรรพสินค้าเยาฮันที่ได้ปิดตัวไปแล้ว) นอกจากนี้ยังมีร้านค้าชื่อดัง เข้ามาจับจองพื้นที่เต็มทุกบริเวณ ไม่ว่าจะเป็น แมคโดนัลด์ เคเอฟซี เอ็มเค เอสแอนด์พี ไดโดมอน สเวนเซ่นส์ บาสกิ้น ร้อบบิ้น รวมถึงร้านเสื้อผ้าแบรนด์ดังอีกหลายยี่ห้อ

นอกจากนี้ภายในศูนย์การค้า ยังได้แบ่งพื้นที่เป็นร้านเล็กๆ เพื่อให้ผู้ค้ารายย่อย เข้ามาเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้า โดยมีสินค้าให้เลือกสรรครบวงจร มีสวนสนุกขนาดใหญ่รวมทั้งโรงภาพยนตร์อีจีวี มัลติเพล็กซ์ ที่มีระบบภาพและเสียงทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ดึงดูดความสนใจให้คนมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ภายในศูนย์การค้า ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือ โซนโรบินสัน โซนคาร์ฟูร์ และโซนพลาซ่า (บริเวณส่วนกลางที่ฟิวเจอร์ฯดูแลเอง) มีบริเวณพื้นที่ให้เลือกชมสินค้า 6 ชั้น แบ่งเป็น ชั้น B (ชั้นใต้ดิน) , ชั้น G , ชั้น 1 เป็นชั้นติดสะพานลอยทางเชื่อมเข้า-ออกห้าง, ชั้น 2 เป็นชั้นที่เปิดให้ร้านค้า โรงเรียนสถานเสริมความงามเช่า, ชั้น 3 เป็นชั้นสวนสนุกและฟาสต์ฟูด และชั้น 4 เป็นชั้นโรงภาพยนตร์อีจีวี

ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาบางแค ซึ่งเป็น ห้างที่เปิดมาตั้งแต่แรก พร้อมกับเยาฮัน แต่หลังจาก ที่เยาฮันได้ปิดตัวไป ส่งผลให้จำนวนคนเดินเข้าศูนย์น้อยลง โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกที่เริ่มคืนคลานเข้ามามากขึ้น โดยโรบินสันได้ปรับตัวเองหลายครั้ง เพื่อดึงให้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ในขณะที่การเปิดคาร์ฟูร์ ที่เข้ามาแทนที่เยาฮัน ก็ถือเป็นแม่เหล็กที่ช่วยกระตุ้นให้คนเข้าศูนย์มากขึ้น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อท็อปส์ซูเปอร์มาร์เกต ที่นับตั้งแต่คาร์ฟูร์เปิดให้บริการ ยอดขายของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เกต ก็ไม่ดีขึ้น มีผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยบางตา ในที่สุดก็ต้องยอมยกธงขาวปิดตัวเองลงตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.เป็นต้นมา

โซนพลาซ่า ร้านค้าทยอยปิดตัว

ทางด้านโซนพลาซ่า เป็นโซนที่ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค ดูแลเองทั้งหมด จะเปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาเช่าพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่จำหน่ายสินค้า ออกตามประเภทสินค้า ประกอบด้วย

ชั้น B จัดเป็นโซนแฟชั่นเสื้อผ้าทันสมัย และ มีร้านอาหารชื่อดัง ได้แก่ เอ็มเค สุกี้ ไดโดมอน เอสแอนด์พี เคเอฟซี บาบีคิว พลาซ่า จุ่มแซบฮัท 13 เหรียญ ร้านแมงป่อง ซีเอ็ด บุ๊ค เพื่อดึงดูดกลุ่ม วัยรุ่นให้มาเลือกซื้อเสื้อผ้าในชั้นนี้ และต้องการให้ชั้นนี้เป็นศูนย์รวมเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นนำ

ปัจจุบัน มีร้านค้าและร้านอาหารชื่อดังปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บาสกิ้น ร้อบบิ้น , นารายณ์ พิซซ่าเรีย, ร้านไอศกรีมบัดส์, บายเซ็นเตอร์, เวียนนา, อากาเนะ, ร้านอินเทอร์เน็ต 4 ร้าน, ร้านแม่ไม้เพลงไทย รวมไปถึงร้านค้าเล็กๆที่เช่าขายสินค้าประเภทเสื้อผ้า รองเท้า หรือแม้กระทั่งโซนเกมที่ฟิวเจอร์ฯจัดขึ้น ก็ปิดตัวไปหมด ทั้ง 8 ร้าน

ชั้นนี้นับเป็นชั้นที่มีการปิดตัวของร้านค้าชื่อดังมากที่สุด ในขณะที่ร้านค้าอื่นที่ยังไม่ปิดตัวก็ต้องหากลยุทธ์ต่างๆมาใช้ เพื่อดึงดูดลูกค้ามาจากคู่แข่ง เช่น ร้านเอสแอนด์พี ต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการเปิดให้บริการสุกี้บุฟเฟ่ต์ ควบคู่กับการขาย อาหาร และเบเกอรี่

ส่วนพื้นที่ชั้น G จัดเป็นโซนเวทีการแสดงหรือ งานประกวดต่างๆ เป็นชั้นที่มีคนเดินมากที่สุด มีร้านค้าชั้นนำมากมาย อาทิ แมคโดนัลด์ แดรี่ ควีน สเวนเซ่นส์ เชสเตอร์ กิลล์ ไดโดมอน ศูนย์บริการมือถือฮัท Cute Press ซิตี้ เซน ออเรนเทล ปริ้นเซส ธ.เอเชียและธ.กรุงศรีฯ นอกจากนี้ยังมีร้านค้าประเภทเสื้อผ้า และร้านกิฟต์ชอป เป็นต้น

ปัจจุบัน ชั้น G ก็ยังคงเป็นที่นิยมของลูกค้า แต่มีการปรับตัวไปมากพอสมควร เนื่องจากร้านกิฟต์ชอปขนาดใหญ่ที่เคยเปิดให้บริการมานานได้ปิดตัวไป โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ให้ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าประเภท เสื้อผ้า รองเท้า มือถือ กระเป๋า น้ำหอม เครื่องสำอางเข้ามาเปิดแทน เพื่อทำให้ชั้นนี้ยังมีสีสันอยู่บ้าง ในขณะที่ร้านค้าที่มีแบรนด์เป็นของตัวเองอยู่แล้วนั้น ได้ปิดตัวลงไปแค่ 3 ร้าน เท่านั้น คือ ร้านขายโทรทัศน์ขนาดใหญ่ กานาภัตตาคาร และสปอตจังชั่น

ส่วนพื้นที่ชั้น 1 จัดเป็นศูนย์รวมรองเท้าประเภทต่างๆ มากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ส่วนพื้นที่ ที่เหลือจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายหนังสือการ์ตูน ร้านมือถือ และร้านหนังสือดอกหญ้า

ปัจจุบัน ร้านเสื้อผ้าเอาต์เลท ที่เคยเป็นร้านเสื้อผ้าขนาดใหญ่ที่สุดในชั้น 1 ได้ปรับขนาดพื้นที่ให้เล็กลง เนื่องจากยอดขายไม่คุ้มกับค่าเช่า และร้านค้าอื่นๆก็ปรับตัวค่อนข้างมาก ในขณะที่ร้านหนังสือดอกหญ้าได้ปรับพื้นที่ขายเฉพาะหนังสือ พิมพ์กับนิตยสารเท่านั้น ส่วนพื้นที่ภายในร้านที่เหลือ ได้ปิดปรับปรุง แต่พื้นที่ชั้นนี้ก็ยังดึงดูดผู้คนได้อยู่บ้างเนื่องจากมีที่ทำการไปรษณีย์ เปิดให้บริการ

ชั้น 2 เป็นพื้นที่ให้สำหรับโรงเรียนสอนพิเศษ เช่น โรงเรียนสอนภาษา คอมพิวเตอร์ สถาบันเสริมความงาม ร้านเฟอร์นิเจอร์ร้านหนังสือการ์ตูน ต่างๆ

ปัจจุบัน ชั้นนี้เป็นชั้นที่มีการปิดตัวของร้านต่างๆ เป็นจำนวนมากไม่แพ้ชั้น B ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนสอนภาษา บอดี้เชฟ ร้านเฟอร์นิเจอร์ และร้านค้าอื่นๆ อีกกว่า 10 ร้านที่ปิดตัวไป โรงเรียน สยามกลการจากที่เคยเปิดทุกวัน ก็เปลี่ยนเป็นเปิดเฉพาะวันพุธ - วันอาทิตย์ และมีร้านจำหน่ายสินค้าทุกอย่าง 10 บาท ร้านขายเทปมือสองเข้ามา แทนที่

ชั้น 3 จัดเป็นศูนย์รวมมือถือ ร้านเสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้านักเรียน นักศึกษา กิฟต์ชอป ฟาสต์ฟูดและสวนสนุกขนาดใหญ่

ปัจจุบัน ร้านมือถือปิดตัวหรือเปลี่ยนเจ้าของ ไปหลายร้าน รวมถึงร้านกิฟต์ชอปที่เคยมีอยู่เนื่องแน่น ก็ทยอยปิดตัวลงไปเช่นกัน ร้านขายเสื้อผ้าต่างๆ ก็เงียบเหงา มีผู้คนเดินบางตา รวมไปถึงบริษัท เทเลคอมเอเซียก็ย้ายสาขาไปอยู่เดอะมอลล์บางแค และสวนสนุกที่เคยมีวัยรุ่นจำนวนมากมารอต่อคิวยาวเหยียด ขณะนี้ก็แทบไม่มีผู้มาใช้บริการเลย พื้นที่โซนหลังของชั้นนี้ ก็ได้ปรับเป็นพื้นที่เช่าของสำนักงานจัดหางานของกทม. และให้บริษัทเทเลคอมเอเซียเช่าพื้นที่เป็นศูนย์ซ่อมในเขตบางแค เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาเที่ยวในฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค มากยิ่งขึ้น ส่วนร้านฟาสต์ฟูดก็ต้องปรับราคาลงให้เหลือ 20 บาท เพื่อดึงดูดลูกค้า

ชั้น 4 โรงภาพยนตร์อีจีวี

ชั้น 4 เป็นชั้นที่ฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค เปิดให้โรงภาพยนตร์อีจีวีเช่าพื้นที่ทั้งหมด ประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ 10 โรง และมีร้านค้าต่างๆมากมาย เช่น เคเอฟซี ร้านเกม ร้านกิฟต์ชอป

ปัจจุบัน อีจีวี บางแค ยังคงเปิดฉายทั้งหมด 10 โรง แต่ได้พัฒนา ปรับปรุงโรงเดิมให้เป็นโรงแบบ โกลด์คลาส 2 โรง แต่ร้านเคเอฟซี ได้ปิดตัวลงแล้วเนื่องจากปริมาณลูกค้าค่อนข้างน้อย และร้านกิฟต์ช้อปที่เคยมีก็ปิดตัวลงไปเช่นกัน เหลือเพียงร้านเกมเท่านั้น

แหล่งข่าวจากผ้ประกอบการรายใหญ่ภายในศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค บางแค เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า สภาพของศูนย์ฯที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มเจ้าของศูนย์ฯ คือ บริษัท วัฒนวนา จำกัด ซึ่งมีบริษัทยูนิเวสท์ ของนายธาตรี บุญดีเจริญ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน โดยมีสถาบันการเงินรายใหญ่ 2 ราย คือไทยธนาคาร และแบงก์กรุงศรีอยุธยา ผ่านบรรษัท บริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าใครจะเป็นผู้เข้ามาลงทุนในโครงการนี้ต่อไป แต่เชื่อว่าอีกไม่นานนี้น่าจะมีข้อตกลงดีๆออกมา เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม

"ตอนนี้ต้องถือว่าศูนยแห่งนี้ไม่มีเจ้าภาพ จึงทำให้ไม่มีการพัฒนาหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่างก็เกี่ยงกัน ในขณะที่ร้านค้าที่ย้ายออกไปแล้วต้องบอกว่าน่าเสียดาย เพราะ ศูนย์นี้ยังมีโอกาสกลับมาเกิดได้อีก" แหล่งข่าว กล่าว

ทางด้านนายวิชัย พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากที่ศูนย์แห่งนี้ต้อง อยู่ในช่วงการเจรจาเรื่องหนี้สิน ยอมรับว่าคนที่เข้ามาชมภาพยนตร์ก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนในช่วงปลายปี 2545 อีจีวีได้เข้าไปปรับปรุงโรงภาพยนตร์ ด้วยการปรับเป็นโรงโกลด์คลาส 2 โรง ทำให้จำนวนคนที่เข้ามาดูไม่ลดไม่มากกว่านี้

นอกจากนี้ อีจีวี สาขาฟิวเจอร์พาร์ค บางแค ยังเป็นศูนย Call Center ที่มีพนักงานคอยรับสายโทรทัพท์จากลูกค้าที่โทร.เข้ามาจองบัตรชมภาพยนตร์ถึง 200 สาย

"คนในย่านฝั่งธนฯมีกำลังซื้อสูง แต่ที่ผ่านมา ไม่มีโรงภาพยนตร์ดีๆให้เขาชม ทำให้กำลังซื้อเหล่า นี้กระจายเข้ามาอยู่ในเมือง แต่หลังจากที่เราเปิดโรงโกลด์คลาสแล้ว ยอดขายก็ดีขึ้น เชื่อว่าถ้าทุกอย่างภายในศูนย์ฯลงตัวแล้ว น่าจะกลัยมาดีได้อีกครั้ง" นายวิชัย กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.