ชาวจีนโพ้นทะเลมีการกระจายไปทั่วโลก แต่ที่เห็นเป็นกลุ่มใหญ่ๆหนาแน่นมากจะอยู่ในซีกประเทศแถบเอเชียอาคเนย์
ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้
มีหลายเชื้อชาติที่มีเส้นแบ่งตามลักษณะของภาษา ตั้งแต่ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ
และแคระ
ถ้าวัดวัดกันตามจำนวนประชากรแล้ว ชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มแต้จิ๋วจะมีมากที่สุด
และมีบทบาทในด้านธุรกิจ ชาวจีนโพ้นทะเลแต้จิ๋วจะอยู่อย่างหนาแน่นในประเทศไทย
สิงคโปร์ ขณะที่กลุ่มฮกเกี่ยนจะมีอยู่มากในประเทศไต้หวัน ฟิลิปินส์ และมาเลเซีย
กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้มีบทบาททางเศรษฐกิจและธุรกิจอยู่สูงมากในประเทศต่างๆย่านเอเชียอาคเนย์
ไม่ต้องดูอื่นไกลเอากันแค่ในประเทศไทย กลุ่มแต้จิ๋ว เช่นตระกูลเจียรวนนท์
โสภณพนิช เตชะไพบูลย์ ล้วนแต่เป็นผู้นำในวงการธุรกิจทั้งสิ้น
และที่น่าสนใจมากก็คือบทบาทชาวจีนโพ้นทะเลได้ก้าวล้ำไปสู่ตลาดธุรกิจนานาชาติทั้งในรูปแบบการค้าและการลทุนข้ามชาติ
ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เป็นจุดหนึ่งที่เป็นเป้าหมายการค้าและลงทุนของชาวจีนโพ้นทะเลด้วยความที่จีนเป็นตลาดที่กว้างใหญ่
มีวัตถุดิบทรัพยากรจำนวนมาก แต่ขาดความรู้ในวิทยาการการผลิตและจัดการสมัยใหม่
ที่สำคัญคือผู้นำในปักกิ่งมองชาวจีนโพ้นทะเลอย่างให้ความสำคัญมากๆ ในฐานะกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้มมีภาษาวัฒนธรรมมาจากแหล่งเดียวกัน
ยิ่งในยามที่ผู้นำปักกิ่งต้องการเปิดประเทศจีนในความสัมพันธ์กับนานาชาติ
โดยเฉพาะโลกอุตสาหกรรมตะวันตกที่มีเทคโนโลยีและทุนระดับสูงเพื่อเป็นสะพานนำจีนไปสู่ความทันสมัย
ก็เป็นโอกาสให้กลุ่มทุนชาวจีนโพ้นทะเลเข้าไปมีบทบาททางเศรษฐกิจของจีนมากยิ่งขึ้น
จุดที่เห็นก็คือ ในเขตเศรษฐกิจใหม่พิเศษของจีน เช่นที่เซินเจิ้นและซัวเถา
ปรากฎว่ามีการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตขนาดเบา และปานกลางของชาวจีนแต้จิ๋วในไทยและฮ่องกงอยู่จำนวนมากในเขตเศรษฐกิจพิเศษซัวเถา"เฉพาะที่ซัวเถามีจีนแต้จิ๋ว
ฮ่องกงเข้าไปลงทุน 70-80% เพราะพื้นที่ซัวเถาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วนั่นเองงานวิจัยของมหาวิทยาลัยจีนในฮ่องกงระบุไว้
จำนวนประชากรจีนโพ้นทะเลที่อยู่กระจัดกระจายตามประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มีประมาณ
6,000,000 คน ประชากรกลุ่มนี้ย่อมมีญาติพี่น้องที่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก
ด้วยความผูกพันตามเครือญาติ วัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวจีนโพ้นทะเลมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่
แต่ประเด็นนี้ก็ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ด้านข้อมูลและสายใย ความสัมพันธ์เศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมนัก
และจุดนี้เองที่โครงการวิจัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษซัวเถากับฮ่องกงและเอเชียอาคเนย์จึงเกิดขึ้นภายใต้เงินทุนสนับสนุน
150,000เหรียญฮ่องกง ของยอร์ช หว่อง (GEORGE WONG) นักธุรกิจแต้จิ๋วของฮ่องกง
กลุ่มนักวิจัยประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจีน 5 คนด้วยกัน ประกอบด้วย
FANG NING SHENG QIU ZHENG YUN จากมหาวิทยาลัยซัวเถา DR. WONG PUI YEE จากศูนย์เอเชียศึกษาของมหาวิทยาลัยจีนในฮ่องกง
และ ดร.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย กับ ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ จากประเทศไทย
โครงการวิจัยนี้เริ่มกันมาตั้งแต่ปลายปี 2530 โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาดูว่า
หนึ่ง- ภาวะการลงทุนของชาวจีนฮ่องกง สิงคโปร์ และไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษซัวเถาเป็นอย่างไร
สอง- รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ ฮ่องกง และไทยเป็นอย่างไร เพื่อประโยชน์ต่อจีนในแง่เป็นบทเรียนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจซัวเถา
และสาม- อนาคตความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษซัวเถา ฮ่องกงและไทย
สิงคโปร์จะเป็นลักษณะใด
"ตอนแรก กลุ่มนักวิจัยไทยไม่ได้เข้าร่วมด้วย จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เอง
ดร.WONG PUI YEE ก็ชวนเราเข้าไปด้วยโดยให้เน้นวิจัยรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจไทยกับสิงคโปร์"ดร.ภูวดล
ทรงประเสริฐ หนึ่งในทีมงานวิจัยเหล่าให้ "ผู้จัดการ"ฟัง
ประเด็นวิจัยที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือ การพยายามมองอนาคตความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างไทย
สิงคโปร์ ฮ่องกงกับเศรษฐกิจพิเศษซัวเถา ในแนวความคิดที่จะก่อรูป"ประชาคมเศรษฐกิจชาวจีนโพ้นทะเล"แบบประชาคมเศรษฐกิจยุโรปขึ้น
"แนวคิดพื้นฐานสำคัญสำหรับประชาคมเศรษฐกิจชาวจีนโพ้นทะเลก็คือ การพยายามมองความเป็นไปได้ที่จะดึงเอาจุดเด่นของแต่ละประเทศมาผสมผสานกัน
เช่น ดึงเอาทุน ความรู้ ทางการตลาด การจัดการธุรกิจจากฮ่องกง และไต้หวัน
มาผสมผสานเข้ากับทรัพยากรอันมหาศาลจากจีน"
เป็นแนวคิดที่ท้าทายต่อศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจในย่านเอเชียแปซิฟิกมากๆ...แน่นอนที่สุด
ญี่ปุ่นซึ่งมีทุนและเทคโนโลยีย่อมสนใจที่จะเข้ามาร่วมด้วย
แต่เหตุการณ์นองเลือดที่เทียนอันเหมินในปักกิ่งและวิกฤติการณ์ด้านความเชื่อมั่นต่อวิเทศโยบายของผู้นำในปักกิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายน
มีผลอย่างสูงต่อการลดทอนศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของจีนต่อชาวจีนโพ้นทะเลและยุโรปตะวันตก
ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในจีนทุกปริมณฑลย่อมอยู่ในความสนใจของชาวโลกเสมอ
และงานวิจัยธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล ภายใต้เงินอุดหนุนของเศรษฐีฮ่องกงชิ้นนี้
ก็เป็นเทียนเล่มน้อยๆเล่มหนึ่งที่จะนำแสงสว่างในความจริงของซอกหนึ่งในจีนมาสู่การรับรู้ของชาวโลก
อีกไม่นานต้นปีหน้าคงได้รู้กัน!