|
เศรษฐกิจพ่นพิษท่องเที่ยวไทยทรุดททท.-โรงแรม-สายการบิน...ปรับทัพรับศึก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตัวเลขท่องเที่ยวไทยในช่วงนอกฤดูกาลหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ที่รับผิดชอบด้านการตลาดต้องออกมาจัดโรดโชว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง การตื่นตัวและไหวทันต่อสถานการณ์ของธุรกิจในภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องด้านท่องเที่ยวจึงต้องมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเป็นพิเศษ
สอดคล้องกับที่ กงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) ที่บอกถึงราคาน้ำมันที่ปรับราคาขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้ ว่า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแน่นอน ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองอาจจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียให้ลดจำนวนลงแต่อาจไม่มากนัก ซึ่งจำนวนตัวเลขยังไม่ชัดเจน
การปรับตัวของภาคส่วนธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศจะเห็นชัดเจน ว่าทุกคนกำลังตื่นตระหนกกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีราคาน้ำมันเป็นปัจจัยหลักส่งผลต่อค่าครองชีพให้มีราคาสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ อีกทั้งบริษัทขนาดใหญ่หรือกิจกรรมของภาคเอกชน ก็จะต้องชะลอตัวลง
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวและการจัดกิจกกรรมต่างๆ ก็จะมีการชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศลดลงประมาณ 20 % เนื่องจากทุกคนกำลังตื่นตะหนกกับราคาน้ำมันที่ขึ้นอย่างรุ่นแรง รวมถึงค่าครองชีพอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นจึงอยากจะเห็นความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงหามาตรฐการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้
หากกล่าวถึงตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศขณะนี้ ว่า บางประเทศมีผลเป็นบวกบางประเทศก็มีผลเป็นลบ แต่ภาพโดยรวมคาดว่ายังดีอยู่ ซึ่งมีผลต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และที่สำคัญการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้บุกตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดใหม่ ๆ เช่นตลาดตะวันออกกลาง สแกนดินีเวีย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีจำนวนเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1.4ล้านคน เติบโต 15 % เป็นสัญญาณอันดีของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาช่วยสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศที่นับวันจะลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ททท. ได้เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการเดินทางช่วงโลว์ซีซั่นระหว่างเดือน มิถุนายน - กันยายน ซึ่งมีกว่า 30 โครงการ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
โดยกิจกรรมที่จะจัดขึ้นดังกล่าวจะเน้นความหลากหลายในการนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยว เช่น โครงการเทศกาลเที่ยวเมืองไทย,โครงการอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์เซลส์ ซึ่งจัดอยู่ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน - 31 สิงหาคม โดยได้ร่วมกับศูนย์การค้าทั่วประเทศ รวมถึงจัดรายการส่งเสริมการขาย เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาพร้อมกับได้ช้อปปิ้งสินค้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับประเทศ
นอกจากนี้ยังได้เตรียมจัดโครงการพัทยา มาราธอน,โครงการบางกอกฟิล์ม,โครงการเฉลิมพระเกียรติ พระแม่แห่งสยาม ฯลฯ โดยกิจกรรมต่าง ๆ ททท.ได้จัดเตรียมงบทางด้านการโฆษณา และประชาสัมพันธ์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศประมาณ 150ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย
ขณะที่ ยงยุทธ ลุจิตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดประจำประเทศไทยและพม่า บริษัท คาเธ่ย์ แปซิฟิค แอร์เวย์ จำกัด ยอมรับว่าผลกระทบต่อธุรกิจการบิน น่าจะมาจากสถานการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และขึ้นอยู่กับ 2ประเด็นหลักๆโดยเรื่องของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากน้ำมันเป็นส่วนประกอบหลักของธุรกิจการบิน ซึ่งจะต้องบินทุกวัน ทุกชั่วโมง ตลอดเวลา ทำให้สายการบินเร่งบริหารในเรื่องของเที่ยวบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบในเรื่องของนักเดินทาง เพราะในปัจจุบันอาจจะทำให้คนเดินทางระมัดระวังค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวอย่างแน่นอนและน่าจะส่งผลกระทบในช่วงไตรมาสที่สามตั้งแต่เดือนมิถุนายนศกนี้อย่างชัดเจนมากขึ้น
การปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน สายการบินทคาเธ่ย์ฯ หันมาเน้นพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ รวมถึงปรับแผนงานในการทำงานใหม่โดยมีการพิจารณาเส้นทางบินที่ไม่ประสบความสำเร็จอาจจะถูกลดจำนวนเที่ยวบินลงหรืออาจจะหาเส้นทางใหม่ๆก็ได้
“ที่สำคัญคือการออกโปรแกรมกระตุ้นให้คนเดินทางในช่วงของโลว์ซีซั่นมากขึ้น ปัจจุบันมีการเตรียมแคมเปญต่าง ๆออกมารองรับตลาดในช่วงโลว์ซีซั่นแล้ว”ยงยุทธ กล่าว
นอกจากนั้นเพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น สายการบินคาร์เธ่ย์ฯมีการปรับค่าเซอร์ชาร์ทน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 10 % ถือว่าเป็นการปรับค่าเซอร์ชาร์ทน้ำมันอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้มีการปรับขึ้นเป็นระยะ ๆ ตามสภาวะการณ์ความจำเป็นของตลาดโลก
ด้าน ประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กลับมองว่าธุรกิจโรงแรมนั้นเมื่อระบุอัตราค่าห้องพักไปแล้ว ไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายการบินต่าง ๆ ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าเซอร์ชาร์ทหรือไม่ ซึ่งถ้าปรับขึ้นราคาทัวร์ก็จะต้องแพงขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนทัวร์ที่ซื้อไปล่วงหน้าแล้วก็จะไม่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนอยู่ขณะนี้ แต่จะส่งผลกระทบกับทัวร์ที่กำลังซื้อต่อไปในอนาคต
อีกทั้งอัตราค่าโรงแรมของไทย ก็ไม่ได้แพงกว่าต่างประเทศซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกง ถือว่าไทยยังมีราคาถูกกว่าเยอะ ซึ่งถ้าให้ปรับราคาของโรงแรมลงคิดว่าคงจะไม่ไหว เนื่องจากค่าครองชีพที่แพงขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าว ขณะนี้อัตราพักอยู่ที่ประมาณ 70 % ส่วน 30 %ที่เหลืออยู่ก็ให้ผู้ซื้อเลือกได้ ประกอบกับโรงแรมที่จะเปิดขึ้นอีกใน 2-3 ปีข้างหน้ามีจำนวนกว่า 2 หมื่นห้อง ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้ประโยชน์ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เหนื่อยสำหรับผู้ประกอบการโรงแรม
ส่วนเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศหรือต่างประเทศ เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือค่าครองชีพก็ปรับราคาขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ยอดเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศสะดุดลงอย่างแน่นอน เพราะคนที่จะเดินท่องเที่ยวได้จะต้องกินอิ่มนอนหลับก่อน คำนึงถึงเรื่องปากท้องของตัวเองก่อน และทำให้นักท่องเที่ยวหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศโดยทางรถยนต์มากขึ้น ซึ่งจริงอยู่ภาครัฐโปรโมทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะททท. มีแผนเยอะมาก เป็นการกระตุ้นท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ประกอบก็ยังต้องเหนื่อยอยู่ดี อีกทั้งด้านการเมืองที่กำลังยุ่งวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบต้องคิดแล้วคิดอีกที่จะเอาต่างชาติมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|