|
ฟิทช์คงอันดับเครดิต'BBL-TMB'
ผู้จัดการรายวัน(12 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
รายงานข่าวจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ "BBB+" แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ "F2" อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ "C" อันดับเครดิตสนับสนุนที่ "2" อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ "BBB" และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ "BBB-" อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ BBL ที่ "AA(tha)" แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ "F1+(tha)" และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ "AA-(tha)"
อันดับเครดิตของ BBL สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร ที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานะเงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของ BBL ธนาคารยังได้ผลประโยชน์จากตลาดในระดับภูมิภาคที่มีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า โดยธนาคารมีสินเชื่อในต่างประเทศอยู่ที่ 17% ของสินเชื่อรวม การลดลงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต รวมถึงความ สามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงที่จะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของธนาคารในอนาคต การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและกลยุทธ์น่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นได้ เมื่อพิจารณาถึงขนาดของ BBL และความสำคัญที่มีต่อภาคการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลถ้าจำเป็น
อนึ่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมของ BBL อยู่ที่ 11.4% และ 14.4% ของสินทรัพย์เสี่ยง ตามลำดับ อัตราส่วนเงินกองทุนน่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 1% ถึง 2% ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel II ณ สิ้นปี 2551
นอกจากนี้ ยังประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)(TMB) โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ "BBB-" แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น "F3" อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน "C/D" อันดับเครดิตสนับสนุน "3" อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ "BB+" อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน (Hybrid Tier 1) "BB-" อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) "BB" อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Ratings) "A+(tha)" แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น "F1(tha)" อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ "A(tha)"
ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2551 TMB มีกำไรสุทธิ 1.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 220 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2550 สำหรับกำไรที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกเกิดจากการลดลงของค่าใช้จ่าย จากการขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ และขาดทุนจากประมาณการหนี้สินจากการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ สำหรับในปี 2551 นี้ คาดว่าในช่วงแรกของการปรับปรุงและควบรวมระบบงานกับ ING Bank NV หรือ ING (AA/F1+) และสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ จะเป็นปัจจัยหลักที่จะจำกัดการขยายตัวของสินเชื่อและผลประกอบการของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารจะสามารถกลับมามีกำไรสุทธิได้ในปี 2551 และสามารถเริ่มจ่ายดอกเบี้ยของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน (Hybrid Tier 1) ที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากที่ได้งดจ่ายดอกเบี้ยในเดือน มิถุนายน และ ธันวาคม 2550 ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูง ที่ 74.2 พันล้านบาท หรือ 15.1% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2551
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|