3แบงก์ใหญ่ขยับตัว รับมือจุดเปลี่ยนเกมแข่งขัน


ผู้จัดการรายวัน(30 มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

3 แบงก์ใหญ่เอกชนพร้อมปรับตัวรับจุดเปลี่ยนเกมแข่งขันกับแบงก์ กรุงไทย ซึ่งเป็นกลไกของรัฐ ยอมรับว่าแบงก์รัฐได้เปรียบแง่ต้นทุน แต่ต่างเร่งหาบริการ เสริมสร้างความพอใจลูกค้า และรายได้ บิ๊กแบงก์กรุงเทพชี้ถ้าแข่งกันเรื่องราคาแล้วเกิดผลกระทบต่อระบบ เป็นหน้าที่ธนาคารชาติต้องดูแล

ปรากฏการณ์การแข่งขันของวงการธนาคารมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เมื่อธนาคารกรุงไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีหรือ MLR เหลือเพียง 5.75% ซึ่งต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นๆ ถึง 0.5-0.75%

จุดเปลี่ยนตลาดธนาคารอื่น

นายบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า จุดเปลี่ยนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้ เกิดขึ้นแล้ว เมื่อธนาคารที่เป็นกลไกของรัฐรับนโยบายกำหนดราคานำหน้าตลาด

นายบัณฑูร กล่าวว่า เมื่อธนาคารของรัฐกลายเป็นคู่แข่งรายใหม่ที่ดำเนินการเชิงรุก กำหนดราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยไม่พิจารณาอัตราความเสี่ยง ตามหลักที่วงการธนาคารนำมาคำนวณตามปกติ

กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า ธนาคารก็ต้องปรับตัวด้วย การลดค่าใช้จ่ายการบริหารและหารายได้จากค่าบริการใหม่ๆ ที่จะต้องค้นคิดออกมา บริการลูกค้าให้หลากหลายและสะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งในการนี้ก็ต้องใช้เทคโนโลยี เข้ามาเสริมมากขึ้น

"การที่เราแยกงานพัฒนาระบบการให้บริการต่างๆ เป็นหน้าที่ของบริษัท ไอบีเอ็ม ทำให้มีความคล่องตัวและเป็นจุดสำคัญที่ช่วยให้กสิกรไทยมีพัฒนาการรวดเร็วและล้ำหน้า"

กรุงเทพพร้อมสู้

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจทุกประเภทจะต้องมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ธนาคารกรุงเทพได้มีการปรับโครงสร้างหลายส่วนให้สอดคล้องกับภาวะการแข่งขันในปัจุบัน

ที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจตามปกติอยู่แล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตที่สูง แต่เมื่อประเทศไทยได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนไป หากธนาคารพาณิชย์แห่งใดไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ส่วนภาวะการแข่งขันขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ของรัฐใช้กลยุทธ์ราคาในการแข่งขัน โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง นั่นเป็นจุดได้เปรียบของธนาคารพาณิชย์รัฐที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าธนาคารเอกชน โดยจะต้องแบกรับภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำให้มีข้อจำกัดในการแข่งขัน

ธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ที่จะหาช่องทางการแข่งขันด้านอื่นๆ เข้ามา ทดแทน นอกเหนือจากไปแข่งด้านราคาอย่างเต็มที่ ซึ่งมองว่าภาคเกษตรเป็นพื้นฐานการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจที่มั่นคง ดังนั้นจึงได้เริ่มทำโครงการเกี่ยวกับเกษตรกรและธุรกิจรายย่อยหรือเอสเอ็มอีมาเป็นระยะเวลา 2 ปีกว่ามาแล้ว ซึ่งเรามองว่าการสร้างภาคเกษตร-กรให้เข้มแข็งหรือสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เกิดขึ้น จะเป็นฐานของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งธนาคารจะยังมีผลในทางอ้อมที่นำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคารให้กับลูกค้าด้วย

โยนทางการดูแลระบบ

สำหรับประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการแข่งขันเรื่องของราคามากยิ่งขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบหรือไม่นั้น นายโฆสิตกล่าวว่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจแล้ว การแข่งขันโดยเสรี ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งสามารถทำได้ และการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการแข่งขัน ดังนั้นจึงถือว่าไม่ผิด แต่จะส่งผลกระทบต่อระบบหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ทางการโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแลสถาบันการเงินโดยตรงจะเป็นผู้พิจารณาเอง

"แบงก์คงจะต้องแข่งขันกันต่อไป ซึ่งต้องหากลยุทธ์อื่นๆเข้าเสริมจุดด้อย โดยเอาแต่แข่งเรื่องราคาไม่ได้ ก็หันมาใช้กลยุทธ์การให้บริการที่ดีขึ้น หรือมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ทดแทน เรื่อง ราคาที่แบงก์ยังมีข้อจำกัดอยู่ก็ได้" ประธานกรรม การบริหารกล่าว

ไทยพาณิชย์ยันแข่งขันได้

ส่วนคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาย ใต้การแข่งขันในขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีความได้เปรียบเรื่องของต้นทุนที่ต่ำ โดยสามารถโอนเอ็นพีแอลออกจากธนาคารได้ ซึ่งเป็นจุดได้เปรียบที่สามารถปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจได้คล่องตัวมากกว่า

ธนาคารไทยพาณิชย์นั้นถือว่ายังคงมีภาระของเอ็นพีแอลที่จะต้องแก้ไข ซึ่งภาระดังกล่าว คุณหญิงชฎาขอย้ำว่าไม่มีผลกระทบใดๆ กับฐานะของธนาคาร เนื่องจากมีการตั้งสำรองไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ซึ่งจุดเสียเปรียบดังกล่าวไม่มีผลโดยตรงกับธนาคาร ซึ่งมีเงินกองทุนที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจระยะยาว และเป็นจุดเสริมให้แข่งขันกับธนาคารอื่นๆ ได้

ในส่วนของลูกค้านั้น ธนาคารมีการดูแลลูกค้าเป็นพิเศษอยู่แล้ว และลูกค้าในแต่ละรายจะมีการต่อรองและเจรจากับธนาคารขอใช้อัตราดอกเบี้ยพิเศษเกือบทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่ลูกค้าจะไม่ใช้ดอกเบี้ยที่อิงกับดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์หรือเอ็มโออาร์ของธนาคารมากนัก ซึ่งมีเพียง 20% ของลูกค้าทั้งหมดที่อิงกับดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ดังนั้นการเคลื่อนไหวของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ลดดอกเบี้ยเงินกู้จึงมีผลกระทบกับลูกค้าธนาคารน้อยมาก

นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการปรับระบบการบริหารให้คล่องตัวและสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจปัจจุบันมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเสริมจุดแข็งต่างๆ ด้านเทคโนโลยี ที่นำเข้ามา ใช้ในการให้บริการกับลูกค้า พร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายทำให้ลูก ค้าเกิดความพอใจในการใช้บริการของธนาคาร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.