ธุรกิจเครื่องบินจัมโบ้…เดือด! โบอิ้ง ลุยรบ แอร์บัส


ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

การแข่งขันในธุรกิจเครื่องบินเพื่อแย่งชิงยอดสั่งซื้อของสองค่ายยักษ์ใหญ่ระหว่างแอร์บัส ที่ใช้ความอลังการของรุ่น A380 มาเป็นจุดขาย ขณะที่โบอิ้งหยิบเอากระแสเรื่องของประหยัดน้ำมันมาใช้ ส่งผลให้สงครามธุรกิจเริ่มมีความร้อนแรงโดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่กลายเป็นเป้าหมายหลัก

ยุทธศาสตร์ของการการแข่งขันของสองบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ระดับโลกไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงการพัฒนาสมรรถนะและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่หากมองถึงศักยภาพโดยรวมของกลยุทธ์การตลาดที่มีจุดประสงค์เพื่อการจัดจำหน่ายและช่วงชิงจำนวนยอดสั่งซื้อให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญการขึ้นแท่นเพื่อเป็นผู้นำทางธุรกิจคือเหตุผลที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ที่ผ่านมา ดูเหมือนแอร์บัสจะออกสตาร์ทช่วงแรกได้ดีกว่าโบอิ้ง ด้วยการใช้เครื่องบินแอร์บัส A380 ซึ่งมีฉายาว่า "ซูเปอร์จัมโบ้" ด้วยความที่มีขนาดจำนวนที่นั่งมากถึง 525 ที่นั่ง ส่งผลให้แอร์บัสมียอดออเดอร์จากสายการบินทั่วโลกสั่งเข้ามาจองจำนวนมาก แม้แต่การบินไทยก็เป็นลูกค้ารายหนึ่งที่สนใจ ขณะที่ราคาขายค่อนข้างจะสูงมากถึงลำละกว่า 10,000 ล้านบาท แม้ว่าแอร์บัสจะหยิบจุดขายที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องบินโดยสารอื่นๆทั่วไปเพื่อใช้สำหรับการเดินทางในเส้นทางระยะไกลก็ตาม แต่ก็ไม่สิ้นเปลืองน้ำมันมากนักโดยคิดค่าเฉลี่ยต่อผู้โดยสารแต่ละคนเพียงแค่ 3 ลิตร ต่อระยะทาง 100 กม.

สอดคล้องกับที่ มร.ชอนลี การสื่อสารฝ่ายภูมิภาคเอเชีย บอกถึง ตลาดเอเชียจะเป็นตัวแปรเปลี่ยนให้เกิดการเดินทางด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยจะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่แอร์บัสต้องการเจาะตลาดเครื่องบินรุ่น แอร์บัส A350 และ A380

ความพยายามของค่ายโบอิ้ง ที่ต้องการตีตื้นแย่งตลาดเครื่องบินขนาดใหญ่กลับคืนมาจากค่ายแอร์บัสหลังจากที่โดนเครื่องบินแอร์บัส A 380 ดึงกลุ่มลูกค้าส่วนหนึ่งไป ปัจจุบันโบอิ้งจึงมีการดัดแปลงเครื่องบินโบอิ้ง 747 - 400 ให้มีขนาดความยาวเพิ่มขึ้นอีก 3.6 เมตร และพร้อมกับตั้งชื่อภายใต้โมเดลใหม่ว่า โบอิ้ง 747 - 8 Intercontinental ประกอบไปด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้า และเครื่องบินโดยสาร ส่งผลให้ขนาดของเครื่องบินมีความยาวเพิ่มขึ้นสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 450 - 467 คนทีเดียว

นับเป็นจุดขายใหม่ที่ค่ายโบอิ้งหยิบมาเล่นโดยมีเป้าหมายสำคัญสูงสุดอยู่ที่การผลิตเครื่องบินลำใหม่ออกมาจำหน่ายให้ได้ภายในปี 2553 และช่วงระหว่างการรอกระบวนการผลิตจะเสร็จสิ้น ฝ่ายการตลาดจึงเป็นหัวหอกสำคัญในการทำหน้าที่เพื่อสร้างยอดจัดจำหน่ายก่อนที่จะมีการส่งมอบ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ช่วงเวลาแบบนี้โบอิ้งจะส่งฝ่ายการตลาดเปิดเกมรุกไปยังสายการบินต่างๆ เพื่อกวาดยอดสั่งซื้อให้ได้มากที่สุด โดยมีพื้นที่ในแถบเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคเป้าหมายหลัก

“แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่คู่แข่งขันในเรื่องของเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่แอร์บัสผลิตออกมาแข่งขันในตลาดธุรกิจ”มร.ชอน ลี กล่าว

ขณะที่ มร. แรนดี้ เจ ทินเซ็ธ รองประธานฝ่ายการตลาด โบอิ้งคอมเมอร์เชียลแอร์เพลนส์ ผู้ผลิตเครื่องบินโบอิ้ง กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ส่งผลให้เกิดการเดินทางและการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นตลาดใหญ่ของโบอิ้งที่จะนำเครื่องบิน 747 - 8 Intercontinental เข้ามาทำตลาด เพราะเชื่อว่าการเพิ่มขนาดเครื่องบินที่ใหญ่ขึ้น ขนผู้โดยสารต่อเที่ยวได้มากขึ้น จะช่วยลดการจราจรทางอากาศ และประหยัดค่าต้นทุนเพราะไม่ต้องเพิ่มเที่ยวบิน

ขณะเดียวกันการบินไทย ก็เป็นอีกหนึ่งสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ โบอิ้ง ตั้งใจคว้ายอดสั่งซื้อให้ได้ ซึ่งตอนนี้กำลังเดินหน้าภารกิจจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับสมรรถนะของเครื่องบินโบอิ้งทั้งรุ่นโดยสาร 747 Intercontinental และรุ่นขนส่งสินค้า 747 - 8 Freighter เพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบพิจารณาจัดซื้อเครื่องบินโมเดลใหม่เข้ามาทดแทนฝูงบิน 747 - 400 ของการบินไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 20 ลำ ซึ่งทยอยปลดระวางในอีก 1 - 2 ปีข้างหน้า

ว่ากันว่าในอนาคตอีก 4 - 5 ปีข้างหน้า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่หยุดส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินการของธุรกิจสายการบินต้องปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันต้นทุนน้ำมันของสายการบินก็เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 20% เป็น 40%

“สายการบินต่างๆ ก็ได้พยายามปรับกลยุทธ์ในการต่อสู้กับต้นทุนราคาน้ำมัน เช่น ลดต้นทุนการบริหาร ค่าจ้างแรงงาน การปรับขึ้นราคาตั๋วโดยสาร รวมถึงการจัดซื้อฝูงบินที่มีเทคโนโลยีทันสมัย และประหยัดการใช้น้ำมัน ประเด็นนี้เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของเครื่องบินรุ่นใหม่ของโบอิ้งที่น่าจะช่วยสร้างยอดสั่งซื้อให้ได้ตามเป้าหมาย” มร.แรนดี้ เจ ทินเซ็ธ กล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปิดเกมรุกทำตลาดในครั้งนี้จะไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายในแถบเอเชียแปซิฟิกที่มีการติดต่อซื้อขายกันจะไร้ซึ่งคนกลาง หรือตัวแทนจำหน่าย แต่จะเป็นการติดต่อโดยตรงระหว่างบริษัท โบอิ้งจากสหรัฐอเมริกากับกลุ่มลูกค้าแทน ไม่เว้นแม้แต่สายการบินไทยที่โบอิ้งพยายามเข้ามาจีบด้วยตัวเอง เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และเป็นการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดอีกทางหนึ่ง

ขณะที่จุดขายเครื่องบินโบอิ้ง 747 - 8I แม้จะมีขนาดเพิ่มขึ้นแต่ก็สามารถลงจอดได้ในสนามบินเกือบทุกแห่งทั่วโลก ขณะที่คู่แข่งขันอย่างแอร์บัส A380 นั้นสนามบินแต่ละแห่งต้องมีการลงทุนปรับปรุงสนามบินนับพันล้านบาท โดยเฉพาะรันเวย์และแท็กซี่เวย์หรือแม้แต่สะพานเทียบเครื่องบิน เพื่อให้รองรับการร่อนลงจอดได้ นี่อาจจะเป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งของแอร์บัสรุ่น A380 ทำให้สนามบินขนาดกลางและเล็กไม่สามารถรองรับได้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มหากต้องลงทุนมหาศาลเพื่อปรับปรุงสนามบินเสียใหม่ รวมทั้งใช้วัสดุน้ำหนักเบาเพื่อให้ประหยัดน้ำมัน และช่วยให้สายการบินประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงได้

ส่งผลให้เครื่องบินรุ่นใหม่ที่กำลังผลิดจะสามารถประหยัดน้ำมันกว่ารุ่น 747 - 400 ราว 16% และเมื่อเทียบกับเครื่องแอร์บัส A380 จะประหยัดกว่า 11% ทีเดียว

“ที่สำคัญเครื่องยนต์รุ่นที่ใส่ในโบอิ้งลำใหม่นี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” มร.แรนดี้ เจ ทินเซ็ธ กล่าว และด้วยกลยุทธ์ประหยัดน้ำมันที่ค่ายโบอิ้งส่งออกมาตีตลาดเครื่องบินของค่ายแอร์บัส ทำให้สายการบินเกือบทุกแห่งทั่วโลกโดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชียให้ความสนใจไม่น้อย แม้แต่การบินไทยเองที่มีกระแสข่าวออกมาว่ามียอดสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ประมาณกว่า 20 ลำทีเดียว

“คาดว่าใน 20 ปีข้างหน้า เครื่องรุ่นดังกล่าวจะมียอดคำสั่งซื้อจากทั่วโลกจำนวน 960 ลำ เป็นเครื่องโดยสาร 590 ลำ และเครื่องบินขนส่งสินค้า 370 ลำ โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีสัดส่วนยอดสั่งซื้อสูงที่สุด”มร.แรนดี้ เจ ทินเซ็ธ เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.