แบงก์ไทยผสมโรงเก็งบาท ธปท.ฮึ่ม!แทรกแซงแตะ 33


ผู้จัดการรายวัน(11 มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.แถลงพบ "แบงก์พาณิชย์ไทย-ต่างประเทศ" รวม 4 ราย เก็งกำไรบาทอ่อนค่า ใช้ช่องโหว่ที่ธปท.อนุญาตให้นำเงินบาทแลกเงินดอลลาร์สหรัฐออกไปสร้างประโยชน์หลังบาทเริ่มแข็งค่า พร้อมยอมรับเข้าไปแทรกแซงต่อเนื่อง ชี้ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนดูแลเงินเฟ้อสูง เผยวานนี้ ธปท.ปรามและแทรกแซงอยู่หมัดจนบาทกลับมาแข็งค่าที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ แฉแบงก์พาณิชย์ตัวดีเป็น "ขาประจำ" คอยฟันกำไรส่วนต่าง

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ค่าเงินบาทอ่อนผิดปกติ ทำให้ ธปท.ได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยพฤติกรรมกู้เงินบาทออกมาเพื่อซื้อเงินดอลลาร์รอทำกำไรจากเงินบาทที่คาดว่าจะอ่อนค่าลงนั้น ขณะนี้ธปท.ได้ตรวจสอบพบธนาคารต่างประเทศและธนาคารไทยในต่างประเทศจำนวน 3-4 รายมีพฤติกรรมเข้าไปเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่ง ธปท.ได้มีการออกหนังสือเตือนแบบเฉพาะเจาะจงแล้ว เพื่อให้ติดตามดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งการเปิดช่องทางให้นำเงินบาทออกไป เพื่ออำนวยความสะดวก ไม่ใช่เปิดช่องให้เก็งกำไรค่าเงินบาท

“สถานการณ์ในขณะนี้เห็นได้ชัดว่านักลงทุนต่างชาติเหล่านี้มีเจตนาในการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าจะมีการกู้เงินบาท เพื่อซื้อเงินดอลลาร์มากกว่าธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่ หรือบางรายมีการกู้เงินบาท เพื่อซื้อเงินดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ไม่มีธุรกรรมรองรับ ธปท.จึงได้เตือนไป เพื่อทำความเข้าใจ และให้ทราบว่าธปท.ได้มีการติดตามพฤติกรรมนี้อย่างใกล้ชิด”

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) นางสุชาดากล่าวว่า เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นจากวันก่อนที่อ่อนค่า โดยยอมรับว่าธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบ้าง แต่น้อยกว่าเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้ตลาดเริ่มมีความสมดุลมากขึ้น โดยผู้ส่งออกเริ่มมีการขายเงินดอลลาร์บ้างจากวันก่อนที่ไม่มีเลย และผู้นำเข้าเองก็เริ่มมีการซื้อเงินดอลลาร์ จึงมีทั้งสองด้านกลับเข้ามา แต่อาจเห็นปริมาณการทำธุรกรรมไม่สูงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ยังไม่ได้มีการนำเงินกลับออกไป

อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าลงจะช่วยให้ภาคการส่งออกมีรายได้จากสกุลเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากเงินบาทแข็งจะช่วยให้ราคานำเข้าน้ำมันและสินค้าจากต่างประเทศไม่แพงนัก ดังนั้นเมื่อค่าเงินบาทไปในทิศทางที่แข็งค่าก็ช่วยลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้มาก ทำให้ในขณะนี้ธปท.ไม่ได้กังวลว่าเงินบาทในเคลื่อนไหวในทิศทางใด แต่ไม่ต้องการให้เกิดความผันผวนหรือเคลื่อนไหวที่ผิดปกติมากกว่า ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ยังคงเน้นอยู่ภายใต้กรอบเงินเฟ้อ โดยผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกันในการดูแลภาวะเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ที่ถูก ธปท.ตักเตือนครั้งนี้เป็น 2 ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งเคยถูก ธปท.ตักเตือนเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้บริหารฝ่ายค้าเงินรายหนึ่งเปิดเผยว่า ช่วงที่เงินบาทมีอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องรอบล่าสุด การทำกำไรค่าเงินมีเกือบทุกธนาคาร ส่วนธนาคารไหนเข้าข่ายเก็งกำไรคือมีกำไรมากเกินไป ขึ้นอยู่กับ ธปท.จะพิจารณาจากสัดส่วนซึ่งคิดจากปริมาณการซื้อขายและทำประกันความเสี่ยงของลูกค้า หาก ธปท.เห็นว่ามากเกินไปแล้ว ก็จะส่งหนังสือเตือน

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้ เชื่อว่า ธปท.สามารถรับมือได้ เนื่องจากมีประสบการณ์และปริมาณการซื้อขายครั้งยังไม่สูงมากนัก

นักค้าเงินเปิดเผยการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.ว่า เงินบาทอ่อนค่าจาก 32.57 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันจันทร์ที่ 2 มิ.ย. มาอยู่ที่ 33.21 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ก่อนจะกลับมาแข็งค่าเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางการแทรกแซงอย่างหนักจาก ธปท.

เขาว่า วานนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงเปิดตลาด หลังจากนั้นเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ตลอดการซื้อขาย โดยเงินบาทเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 33.18-33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวไปแตะระดับแข็งค่าสุดที่ระดับ 32.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.00-33.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทเป็นการแข็งค่าขึ้นสวนทางค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

"การเคลื่อนไหวของเงินบาทมีความผันผวนน้อยลง ธปท.ประกาศชัดเจนว่าเข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน และจะยังคงดูแลต่อไปหากพบมีการเก็งกำไรค่าเงิน"

ทั้งนี้ ลักษณะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าสวนทางกับภูมิภาค ซึ่งมาจากการเข้ามาดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่วนแนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้น่าจะอยู่ในกรอบ 32.95-33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"การเข้ามาดูแลของแบงก์ชาตินั้น ไม่ได้เพิ่งเข้ามาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน แต่เข้ามาดูเป็นระยะๆอยู่แล้ว แต่ไม่มากเท่าตอนที่บอกออกมา ซึ่งหลังจากที่บอกแล้วธุรกรรมที่ส่อเข้ามาเก็งกำไรก็น่าจะน้อยลง นักลงทุนจะชะลอเพื่อดูท่าทีของแบงก์ชาติมากกว่า"นักค้าเงิน กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.