|
ต้นทุนพุ่งเบเกอรี่รายเล็กแห่ปิดตัวซี.พี.แรมยึดตลาด-ลุยทำแคเธอริ่ง
ผู้จัดการรายวัน(11 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ซี.พี.แรม ชี้ตลาดสแน็คเบเกอรี่เหลือแต่รายใหญ่ ย้ำรายย่อยล้มหายตายจากเหตุแบกต้นทุนไม่ไหว 4 วัตถุดิบขึ้นราคาพรวด และสายป่านสั้นนวัตกรรมด้อยกว่ารายใหญ่ ซี.พี.แรมสบช่อง ขยายตลาดเต็มที่ หลังกำลังผลิต 2 โรงงานใหม่เดินเครื่องแล้ว พร้อมขยายช่องทางใหม่สู่แคเธอริ่งมา 3 เดือนแล้ว คาดทั้งปียอดขายทั้งบริษัทเติบโต 30%
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด หรือซีพีแรม ผู้ผลิตและจำหน่าย เบเกอรี่และอาหารพร้อมทาน เปิดเผยว่า ตลาดเบเกอรี่ในปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการรายเล็กจำนวนมากที่ล้มหายตายจากไปจากตลาดแล้ว โดยเฉพาะรายที่ทำเฉพาะตลาดสแน็คเบเกอรี่อย่างเดียว ส่วนรายที่ยังมีไลน์ผลิตขนมปังแถวนั้นก็ยังทำอยู่แต่เลิกไลน์ผลิตเบเกอรี่ไปแล้ว เนื่องจากปัญหาทางด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ วัตถุดิบ 4 ตัวหลักคือ แป้ง น้ำตาล ไข่ไก่ ไขมัน เฉลี่ยขึ้น 50-70%
รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งด้วย ซึ่งหากรายเล็กมีปริมาณการผลิตและขนส่งไม่มากก็ไม่คุ้มค่ากับการดำเนินงาน
ขณะเดียวกันการแข่งขันตลาดเบเกอรี่ในไทยนั้นก็ต้องแข่งกันที่นวัตกรรมควบคู่ไปกับเรื่องของรายได้และกำไร แต่เมื่อรายเล็กไม่สามารถแบกต้นทุนที่สูงได้ก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะแข่งเรื่องนวัตกรรมด้วย เพราะตลาดเบเกอรี่เปรียบเหมือนกับสินค้าแฟชั่นที่ต้องมีการนำเสนอสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา หากไม่มีอะไรใหม่ขายแต่ของเดิมๆ ผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนความสนใจหรือเปลี่ยนแบรนด์ไปได้ เช่นเดียวกับตลาดเครื่องดื่มชาเขียวก่อนหน้านี้มีผู้ผลืตแห่ทำกันมากมายสุดท้ายก็ล้มหายไปหลายรายเพราะแห่ทำเหมือนแฟชั่น
จากสภาพการของตลาดนี้เองที่จะเป็นโอกาสของทางซีพีแรมที่จะขยายตลาดเบเกอรี่ได้มากขึ้น รวมทั้ง หลังจากที่โรงงานใหม่ 2 แห่งเริ่มผลิตได้แล้วหลังจากที่ลงทุนเมื่อปีที่แล้ว คือ โรงงานที่ ลาดกระบังลงทุน 500 ล้านบาทเปิดเดือนเมษายนที่ผ่านมา และโรงงานขอนแก่นลงทุน 100 กว่าล้านบาท เปิดเดือนที่แล้ว ทำให้กำลังผลิตเพิ่มขึ้นสามารถรองรับตลาดนี้ได้ด้วย จากเดิมมีโรงงานที่ ลาดกระบัง เชียงใหม่ พิษณุโลก หาดใหญ่ ขอนแก่น
นอกจากนั้นบริษัทฯยังได้ขยายช่องทางใหม่ๆคือ แคเธอริ่ง เป็นรูปแบบการจัดส่งอาหารให้กับหมู่คณะต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมาแล้ว 3 เดือน กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่ม งานสัมมนา เชียร์กีฬา งานทัศนศึกษา งานสัมมนา งานรับน้อง เป็นต้น ขณะนี้เริ่มในส่วนของตลาดประเภทวันเวย์คือ ส่งของให้กับลูกค้าอย่างเดียว ราคา 60-100 บาทต่อกล่อง ส่วนอนาคตจะขยายไปในส่วนของประเภททูเวย์คือ ส่งและนำของกลับด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯนั้น หากเป็นในส่วนเบเกอรี่ จะมี 3 แบรนด์คือ เบเกอร์แลนด์ เลอแปง และมิสแมรี่ ช่องทางจำหน่ายหลักๆป้อนให้กับลูกค้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่นมากกว่า 80% ส่วนอีก 20% นั้นส่งให้กับร้านโมเดิร์นเทรดทั่วไป ขณะที่อาหารพร้อมทานนั้น แบ่งเป็น อาหารแช่แข็งหรือโฟรเซ่นส์ฟู้ด มี 2 แบรนด์คือ เดลี่ไทยและเจดดราก้อน และทำเฮาส์แบรนด์ให้เซเว่นอีเลฟเว่นคือ อีซี่ส์โก ส่วนอาหารแช่เย็นหรือชีลฟู้ดนั้นมี แบรนด์อาโรจัง
ทั้งนี้บริษัทฯตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ปีนี้ไว้ที่ 4,600 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีรายได้รว ม 4,100 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มเบเกอรี่รายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีรายได้ 1,600 ล้านบาท และกลุ่มอาหารพร้อมทาน มีรายได้ประมาณ 2,600 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีรายได้ 2,500 ล้านบาท โดยเฉลี่ยแล้วเติบโตมากกว่า 30% โดยตลาดเบเกอรี่รวมนั้นคาดว่าจะเติบโตเพียง 10-15% เท่านั้น ซึ่งเป็นตลาดที่ยังเป็นดาวรุ่งและเติบโตดี ส่วนตลาดอาหารพร้อมทานก็เติบโตดีเช่นกัน
นายวิเศษกล่าวด้วยว่า ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมารายได้เป็นไปตามเป้าหมาย เติบโต 20% ซึ่งเบเกอรี่โต 30% ส่วนอาหารพร้อมทานเติบโต 18-20% ซึ่งแม้ว่าอาหารพร้อมทานดูจะเติบโตต่ำกว่า แต่ก็ยังเป็นตลาดที่มั่นคงเนื่องจากว่า ออร์เดอร์จากต่างประเทศนั้นส่วนใหญ่จะมาจากในช่วงครึ่งปีหลังจึงจะทำให้การเติบโตอยู่ในช่วงปลายปีเป็นหลัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|