‘โรงกลั่น-ปิโตรฯ’ ไม่น่าห่วง.! ยันลงทุนไม่สะดุดลด 3บาทแค่คายกำไร


ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

โรงกลั่นไม่ยี่หระลดค่ากลั่น 3บาท/ลิตร 6 เดือนไม่กระทบ “ปธ.กลุ่มโรงกลั่น” ยืนยันขาดทุนแค่ 4 สต./ลิตร แนวโน้มระยะยาวน่าห่วงเหตุค่าการกลั่นมีโอกาสลดลง ขณะที่กลุ่มปิโตรฯสายน้ำมันกระอักต้นทุนพุ่ง “PTTAR-IRPC” รับภาระหนัก ส่วน PTTCH ลอยตัว! ด้านการลงทุน “ส.อ.ท.” การันตีไทยยังน่าสนใจรอเพียงการเมืองนิ่ง-เซาท์เทิร์นซีบอร์ดเกิด โบรกเกอร์ชี้หุ้นโรงกลั่น TOP โดดเด่นจากผลกระทบค่าการกลั่นน้อยที่สุด ขณะที่ปิโตรฯต้อง PTTCH

ในที่สุดแล้วทั้งปตท.และเอกชนรายใหญ่ในประเทศก็ยอมลดค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาทเป็นเวลา 6 เดือนซึ่งมีผล ตั้งแต่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมาตามคำ“ร้องขอ”ของกระทรวงพลังงานหรือจะเรียกว่า “บีบคอ” ก็ตาม เพื่อให้กลุ่มเรือประมง เกษตรกร และกลุ่มรถโดยสารวมทั้งรถขสมก.และรถร่วมขสมก.กว่า 14,000 คันทั่วกรุงเทพฯอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤติน้ำมันในช่วงนี้ และมีเวลาพอที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆที่มีราคาถูกกว่า

อย่างไรก็ดีการลดค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลจะมีผลต่อกลุ่มธุรกิจพลังงานทั้งระบบหรือไม่ เพราะนี่ถือว่าเป็นโอกาสทองของกลุ่มพลังงานที่จะทำกำไรอย่างงาม รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างกลุ่มปิโตรเคมีที่ต้นปีมีแนวโน้มสดใส ปัจจุบันกลับดูเหมือนว่าจะสะดุดเสียแล้วเพราะราคาน้ำมันที่พุ่งต้นทำให้ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แนฟธา (Naphtha) มาผลิตปริโตเคมีคือ PTTAR , IRPC ซึ่งกลุ่มที่ใช้ liquid base หรือ แนฟธาในการผลิตจะมีภาระหนักสุด ขณะที่อีกกลุ่ม Gas base คือเอาแก๊สธรรมชาติที่ขุดเจาะได้ในประเทศและต่างประเทศมาผลิตทำปิโตรเคมีธุรกิจผู้นำประเภทนี้คือ PTTCH เพียงรายเดียวในประเทศ

ขณะที่หุ้นในกลุ่มปิโตรเคมี/โรงกลั่นก็ดิ่งลงเพราะความเชื่อมั่นลดลงแม้ผลประกอบการไตรมาส 2 จะไม่ลดลงก็ตามแต่แนวโน้มระยะยาวครึ่งปีหลัง ค่าการกลั่นมีแนวโน้มที่ลดลงทำให้หุ้นกลุ่มโรงกลั่น และ ปิโตรฯไม่โดดเด่น

ยืนยัน “โรงกลั่น” ไม่กระทบ

“ชายน้อย เผื่อนโกสุม” ประธานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในฐานะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่นจำกัด(มหาชน)(บมจ.)หรือ PTTAR อธิบายว่า การลดค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรที่ผ่านมา (3มิ.ย.) ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารของทุกโรงกลั่นแล้วว่าเป็นการทำธุรกิจที่เหมาะสมที่บริษัทเอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนหากหากผู้ประกอบการภาคขนส่งหยุดให้บริการ ภาคเกษตรกรและประมงไม่มีรายได้พอจะที่เติมน้ำมัน จะส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นน้ำมันด้วย จากนี้ไปคงต้องทำหนังสือไปชี้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อชี้แจ้งกับผู้ถือหุ้นให้ทราบถึงการดำเนินงานที่สำคัญ

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นแค่ 4 สตางค์/ลิตรและการช่วยเหลือก็ดำเนินการเพียง 6 เดือนเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อโรงกลั่นแต่อย่างใด” เอ็มดี PTTAR กล่าวยืนยันอีกว่า ในไตรมาสที่ 3-4 สถานการณ์ราคาน้ำมันน่าจะชะลอตัวลงและกลับสู่ภาวะปกติเนื่องจากการเก็งกำไรลดลงและกีฬาโอลิมปิกแข่งขันเสร็จสิ้น

หุ้นโรงกลั่น TOP โดดเด่น

ขณะที่นักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงกลั่นจาก บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า มาตรการลดค่าการกลั่นจะสิ้นสุดลงในเดือน พ.ย. หรือเป็นระยะเวลา 6 เดือนโดยผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวต่อโรงกลั่นแต่ละรายจะขึ้นอยู่กับค่าสัดส่วนผลิตภัณฑ์ กำลังการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตของแต่ละแห่ง โรงกลั่นทั้ง 4 แห่งประกอบด้วย TOP, PTTAR, IRPC และ BCP ผลิตน้ำมันดีเซล 1.3 พันล้านลิตรต่อเดือน

“น้ำมันดีเซลที่ใช้ในโครงการนี้คิดเป็นเพียง 9.4% ของปริมาณการผลิตรวมและผลกระทบรวมจากโครงการดังกล่าวจึงมีเพียง 2.2 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 7พันล้านบาท”

บล.เคจีไอ กล่าวอีกว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นลบน้อยลงสำหรับโรงกลั่นทั้ง 4 แห่งรวมถึง PTT หลังจากที่ราคาหุ้นของทุกบริษัทปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเมื่ออาทิตย์ที่แล้วโดย TOP, PTTAR และ BCP ต่างให้ข่าวว่าทุกบริษัทพร้อมสนับสนุนไม่เกิน 920 ล้านบาท, 600 ล้านบาทและ 261 ล้านบาทตามลำดับ และตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับประมาณการ ซึ่งคิดจากกำลังการผลิตและ Product Yield ของแต่ละโรงกลั่น สมมติว่าภาระดังกล่าวถูกแบ่งให้กับโรงกลั่นโดยคิดจากกำลังการผลิตดีเซลของแต่ละแห่ง ผลกระทบต่อกำไรสุทธิจะอยู่ในช่วง 4.5% ถึง 16.3% ของประมาณการในปี 2551 โดย TOP จะได้ผลกระทบน้อยที่สุดหรือเพียง 4.5% ของประมาณการในปี 2551 ในขณะที่ BCP จะได้รับผลกระทบสูงสุดจากนโยบายดังกล่าวถึง 16.3% ของประมาณการกำไรของตลาดในปี 2551 เนื่องจากบริษัทฯ เป็นโรงกลั่นแบบพื้นฐาน

PTTCH ไม่กระทบราคาน้ำมันพุ่ง.!

ขณะที่แหล่งข่าวจากแวดวงกลุ่มปิโตรเคมีระบุว่า จากภาวะที่น้ำมันแพงจะส่งผลกระทบต่อปิโตรเคมีแทบทุกตัวที่ใช้แนฟธา (Naphtha) ในการผลิตซึ่งในประเทศไทยมีเพียงโรงงานของ PTTCH เท่านั้นที่จะแก้ส (Gas base) และแนฟธาซึ่งหากแนฟธาร่วมกันได้แต่หากแนฟธานำเข้าแพงโรงงานของ PTTCH ก็สามารถสวิตซ์กลับไปใช้แก้สเพียงย่างเดียวก็ได้ PTTCH จึงไม่ได้รับผลระทบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ขณะที่บริษัทลูกทั้ง PTTAR และ IRPC ใช้แนฟธาในการผลิตซึ่ง 2 โรงงานดังกล่าวต้องนำเข้าแนฟธาในราคาที่สูงต้องได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้

อย่างไรก็ดีเมื่อราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกลุ่มปิโตรเคมีต่างมีกำไรที่แย่ลงมากจนถึงขาดทุนต้นทุนในไตรมาส2 ตอนนี้กำลังพุ่งขึ้นดังนั้นไม่ต้องมองกลุ่มหุ้นปิโตรเคมีไปอีกพักใหญ่

PTTCH ลงทุนเพิ่มอีก 6 พันล้าน

ขณะที่รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่าในวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านคณะกรรมการ BOI ได้อนุมัติบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด ( มหาชน ) ได้รับการส่งเสริมลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้า 112.5 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 560 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,002ล้านบาท ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองโดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด

ส.อ.ท.ยันทุนนอกสนใจลงทุนปิโตรฯ

ด้าน“สันติ วิลาศสักดานนท์” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลงทุนในกลุ่มปิโตรเคมีในบ้านเรายังถือว่าทรงตัว เพราะกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ก่อนการลงทุนต้องศึกษาให้ดี ซึ่งสภาวะปัจจุบันอาจจะดูเงียบๆไปบ้างแต่เท่าที่สอบถามสมาชิกในกลุ่มดังกล่าวกำลังรอดูสถานการณ์ทางการเมืองและราคาน้ำมันที่แพงในขึ้น ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้ต้นปีมีนักลงทุนสนใจจำนวนมากจากนักลงทุนต่างประเทศ แต่เพราะพื้นที่ที่จำกัดทำให้มีการชะลอการลงทุนไปบ้างแต่เชื่อว่าหากการเมืองนิ่งเสถียรภาพทางการเมืองกลับมา จึงทำให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม รวมทั้งการเกิดเซาท์เทิร์นซีบอร์ดจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่สนใจลงทุนเพิ่มเติมได้

“กลุ่มปิโตรเคมีไม่ค่อยน่าห่วงเพราะกลุ่มนี้เป็นมืออาชีพอยู่แล้วจึงทำให้เชื่อว่าการลงทุนกลุ่มปิโตรเคมีในเมืองไทยยังสดใสหากการเมืองนิ่งและเซาท์เทิร์นซีบอร์ดเปิดโครงการได้” ประธาน ส.อ.ท.ระบุ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.