|
ผ่าเกมเดือดชิง "ไทยโมบาย" ทีโอที-กสท ใครพลาดอนาคตวูบ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"ไทยโมบาย" อนาคตยังไม่แน่นอนว่าจะตกอยู่ในอุ้มมือใครระหว่างทีโอทีและกสท ที่ล่าสุดเปิดเกมชิงไหวชิงพริบเพื่อชิงดำว่าใครจะได้เป็นเจ้าของตัวจริง หลังยื้อเยื้อมานาน ชิ้นเนื้อก้อนโตนี้ใครพลาดท่าอนาคตรายได้มีสิทธิ์วูบหนัก เนื่องจากขุมทรัพย์ 3G มหาศาลต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อีกมากมาย
อนาคตธุรกิจ "ไทยโมบาย" ที่ดูแล้วว่าจะจบได้ หลังจากที่ยื้อเยื้อกันมาอย่างยาวนานถึง 6 ปี โดยบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) จะซื้อกิจการร่วมค้าไทยโมบายที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ถือครองหุ้นจำนวน 42% เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,400 ล้านบาท โดยผ่อนชำระภายในระยะเวลา 12 ปี ไม่มีดอกเบี้ย และให้ทีโอทีเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนหนี้สิ้นจำนวน 6,000 กว่าล้านบาท
ความพลิกผันจากสิ่งที่น่าจะบรรลุได้ไปแล้ว กสท กลับลำขอซื้อหุ้นในกิจการร่วมค้าไทยโมบาย ที่ทีโอทีถือครองหุ้นอยู่ 58% เพื่อให้ กสท เป็นผู้มีสิทธิ์ขาดการบริหารงานในไทยโมบาย 100% ด้วยมูลค่า 3,300 ล้านบาท ผ่อนชำระเป็นเวลา 5 ปี ประมาณปีละ 660 ล้านบาท และ กสท จะเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินทั้งหมด 6,000 ล้านบาท ส่วนค่าโอนและภาษีให้ทีโอทีเป็นผู้รับผิดชอบ
เกิดอะไรขึ้นกับดิวที่น่าจะปิดฉากได้แล้ว หรือนี่คือเกมชิงไหวชิงพริบระหว่างทีโอทีและกสท ที่พร้อมจะเข้ามาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวในกิจการไทยโมบาย ซึ่งเป็นกิจการที่ใครๆ ต่างรู้ดีว่านี่คืออนาคตขุมทรัพย์รายได้มหาศาลที่จะเข้ามาสู่ทั้งทีโอทีและกสท เมื่อยุค 3G แจ้งเกิดในประเทศไทย
เหตุผลหลักที่ กสท พลิกเกมนี้ ยกเรื่องของข้อเสนอของทีโอที ที่ขอซื้อหุ้นไทยโมบายในสัดส่วน 42% โดยบอร์ดทีโอทียื่นเงื่อนไขขอซื้อหุ้นกสท คืนมูลค่า 2,400 ล้านบาท ผ่อนชำระ 12 ปี ปีละ 200 ล้านบาท แต่หากคิดเป็นจำนวนเงินที่แท้จริง มีมูลค่าพียง 1,600 ล้านบาท เรื่องนี้ กสท ไม่สามารถยอมรับได้
งานนี้ กสท เกทับทีโอที จากคำพูดของ สถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการ กสท ที่ว่า "การที่ กสท กลายเป็นผู้เสนอซื้อหุ้นไทยโมบาย จะส่งผลดีต่อทีโอทีเองเพราะเงินที่ได้จากการขายหุ้นจะช่วยให้ทีโอทีมีสถานะการเงินและสภาพคล่องที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"
กสท ได้โชว์ให้เห็นว่าสถานการณ์เงินที่เข้มแข็งและเครือข่ายซีดีเอ็มเอของกสท ที่มีอยู่สามารถนำมาต่อยอดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากสามารถนำอุปกรณ์มาติดตั้งไว้บนสถานีฐานซีดีเอ็มเอที่มีอยู่ใน 51 จังหวัด
ความครบเครื่องด้านการให้บริการ 3G เป็นสิ่งที่ กสท ได้มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นให้เห็นว่า กสท คือผู้ให้บริการที่มีความพร้อม แต่ในลึกๆ แล้ว การได้มาของสิทธิ์การเป็นเข้าของไทยโมบายแต่เพียงผู้เดียว จะทำให้ กสท กลายเป็นผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยี 3G ให้ผู้บริโภคเลือกได้ถึง 3 รูปแบบ ได้แก่ จากระบบซีดีเอ็มเอบนคลื่นความถี่ 850 MHZ การใช้บริการ 3G บนเทคโนโลยี HSPA ในส่วน 850 MHZ ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค และ 3G ของไทยโมบาย
"เราเชื่อว่า กสท สามารถให้บริการ 3G ได้รวดเร็วตามนโยบายของ รมว.คลังและรมว.ไอซีที ต้องการให้บริการมือถือ 3G ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด อีกทั้งเป็นการใช้โครงข่ายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะ กสท ไม่จำเป็นต้องสร้างสถานีฐานเพื่อให้บริการใหม่ทั้งหมด เพราะสามารถใช้สถานีฐานร่วมกับซีดีเอ็มเอได้" สถิตย์กล่าวย้ำถึงความได้เปรียบของ กสท ที่เหนือกว่าทีโอที
นอกจากการรุกเพื่อให้ได้สิทธิ์การเป็นเจ้าของไทยโมบายของกสท แล้ว อีกทางหนึ่งกับการปรับเปลี่ยนและวางยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของกสท นั้น ขณะนี้ กสท กำลังเตรียมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโลโก้ "CAT Telecom" มาเป็น "CAT" ด้วยงบเบื้องต้นในการเปลี่ยนโลโก้ 3.3 ล้านบาท ทั้งนี้ กสท เตรียมเปิดตัวโลกโก้ใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 สิงหาคม 2551
ในด้านการทำตลาดของกสท ขณะนี้ กสท มีลูกค้าซีดีเอ็มเอ 40,000 ราย ส่วนลูกค้าฮัทช์มี 1 ล้านราย ในการทำตลาดต่อไปทางกสท เตรียมเปิด CDMA Shop อีก 7-8 แห่งภายในเดือนกรกฎาคม 2551 และจะปรับกลยุทธ์บริการลูกค้าและปรับโฉมใหม่ของชอปที่มีอยู่ 23 แห่งทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตามความพยายามของ กสท ที่จะพลิกเกมมาเป็นผู้ซื้อหุ้นทั้งหมดนั้นคงจะไม่ง่ายดายนัก เนื่องจากทีโอทีคงจะไม่ยอมอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า 3G คือขุมทรัพย์ที่จะเป็นอนาคตของทีโอที หากปล่อยให้คลื่นความถี่นี้ไปอยู่ในมือของ กสท เพียงรายเดียว อนาคตของทีโอทีก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร
บอร์ดของทีโอที เตรียมประชุมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ เนื่องจากการเจรจาระหว่างทีโอทีและกสท ก่อนหน้านี้มีการตกลงว่ากสท จะขายหุ้นให้กับทีโอที ซึ่งเรื่องดังกล่าวประธานบอร์ด กสท ได้ปรึกษากับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง ซึ่งรมว.คลังเห็นชอบกับวิธีดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานบอร์ดทีโอที ได้มีการแจ้งให้บอร์ดได้รับทราบเรื่องการสรุปราคาซื้อขายหุ้นไทยโมบาย พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารได้ศึกษารายระเอียดเกี่ยวกับแผนดำเนินงาน 3G โดยให้กรอบไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ทีโอทีจะเป็นผู้ดูแลและบริหารเอง 2.หาพันธมิตรเพื่อร่วมดำเนินการในบางส่วนที่คิดว่าทีโอทีไม่เชี่ยวชาญ และ 3.สัมปทานให้กับเอกชน
ทีโอทียังเตรียมปรับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 5 ปี เพื่อปรับแผนฉบับเดิมให้สมบูรณ์มากขึ้นจากแผนฉบับเดิมยังเน้นด้านปฏิบัติการและลงทุนอย่างเดียว ทั้งนี้การปรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเพื่อให้รับกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน เพราะแนวโน้มรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ อีกทั้งรายได้ของทีโอทีไม่ควรพึ่งพารายได้ที่มาจากสัมปทานอย่างเดียว ควรปรับเรื่องศูนย์การให้บริการลูกค้าให้สามารถดูแลผู้ใช้บริการได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง
การที่ทีโอทีต้องการไทยโมบายนั้น เหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่หลายมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์การให้บริการ 3G ให้กับเอไอเอส ก่อนหน้านี้ วิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ได้กล่าวไว้ว่าการให้บริการระบบ 3G เอไอเอสพร้อมที่จะพัฒนาหรือให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ของไทยโมบาย เนื่องจากเอไอเอสเป็นคู่สัญญาของทีโอที และการเป็นพันธมิตรเพื่อให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและมือถือร่วมกัน หรือฟิกซ์-โมบายคอนเวอร์เจนซ์
ความตกลงร่วมกันระหว่างเอไอเอกับทีโอที มีการเจรจากันตั้งแต่การเซ็นเอ็มโอยูแล้ว โดยเอไอเอสมีสิทธิ์ในการร่วมให้บริการหากทีโอทีมีแผนธุรกิจใหม่ๆ บนคลื่น 1900 สำหรับรูปแบบความร่วมมือนั้น เป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูกันว่าจะเป็นอย่างไร ซี่งหากเป็นลักษณะที่ทีโอทีเป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงข่าย เอไอเอสเช่าเพื่อทำการตลาด ก็ต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทีโอทีต้องสามารถขยายโครงข่ายหรือดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ตามความต้องการการใช้งานของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นได้ทันที ไม่ล่าช้าแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่หากเป็นให้เอไอเอสเป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงข่ายก็ต้องศึกษาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้กล่าวไว้ว่าทิศทางการพัฒนาโทรคมนาคมไทย กระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยทีโอทีและ กสท ในฐานหน่วยงานใต้สังกัด ต้องปฏิบัติตามนโยบายที่กระทรวงมอบหมาย
ข้อสรุปเกี่ยวกับการซื้อหุ้นกิจการร่วมค้าไทยโมบายระหว่างทีโอทีและกสท ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทางกระทรวงไอซีทีโดยรมว.ไอซีทีจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกแนวทางใด จากเบื้องต้นที่มีทางเลือก 3 แนวทาง คือ 1.ทีโอทีซื้อกิจการร่วมค้าไทยโมบาย จากกสท มูลค่า 2,400 ล้านบาท 2.ให้กสท เป็นฝ่ายซื้อกิจการร่วมค้าไทยโมบายจากทีโอที และ 3. ให้กสท และทีโอที ดำเนินธุรกิจร่วมกันเหมือนเดิม
ส่วนการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2 แห่ง รมว.ไอซีที ได้มีการวางเป้าหมายสำหรับทีโอทีและกสท โดยเป้าหมายแรกทั้ง 2 หน่วยงานต้งอเร่งปรับตัว ให้สามารถเลี้ยงตัวเองและอยู่รอดได้ ต้องไม่พึ่งพาส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานเพื่อรับมือกับการเปิดเสรี มุ่งที่การเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายเป็นหลัก ซึ่งเป็นการพัฒนาและยกระดับการให้บริการโทรคมนาคมในภาพรวม ขณะที่การให้บริการโทรคมนาคม ทีโอที และกสท จะหาพันธมิตรธุรกิจกับบริษัทเอกชนเป็นผู้ให้บริการ
"ทีโอทีและกสท ต้องทั้งร่วมมือกันในการเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย และต้องแข่งขันกันในบางเรื่องเพื่อยกระดับการให้บริการ รวมถึงการหาพันธมิตร ซึ่งตามนโยบายนี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเอาทั้งทีโอทีและกสท เข้าตลาดหลักทรัพย์อีกต่อไป" รมว.ไอซีทีกล่าว
สำหรับความคืบหน้าของการอนุมัติใบอนุญาต 3G ของคณะกรรมกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) นั้นทางกทช. ได้วางหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาต 3 จีไว้ 4 แนวทาง ได้แก่ 1.ผู้ยื่นขอก่อนจะได้ก่อน (First come First serve) 2.พิจารณาตามคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล (Beauty contest) 3.เปิดให้ทุกรายประมูลคลื่นอย่างเท่าเทียมกัน (Auction) และใช้วิธีผสมระหว่างบิวตี้ คอนเทสต์และออกชั่น (Hybrid)
เรื่องดังกล่าว ผู้บริหารของเอไอเอสมองว่าการให้ไลเซ่นส์ 3Gบนคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 เมกะเฮิรตซ์ กทช.ควรใช้วิธีผสมระหว่างบิวตี้ คอนเทสต์ และออกชั่น น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะหากใช้วิธีอื่น เช่นการเปิดประมูลคลื่นความถี่ในราคาแพงจะส่งผลให้ผู้ให้บริการต้องไปเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนในราคาแพลงตามไปด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดี รวมทั้งไม่ควรให้ใบอนุญาตเกิน 3 ราย เพราะปัจจุบันมีผู้ให้บริการเพียง 3 รายที่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้
เมื่อสถานการณ์การให้ใบอนุญาต 3G ใหม่ยังหาความแน่นอนไม่ได้ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ทิศทางใด ความพยายามในการครอบครองสิทธิ์จากธุรกิจที่มีไลเซนต์ 3G อยู่แล้วอย่างไทยโมบาย จึงเป็นเสมือนขุมทรัพย์สำคัญที่ใครๆ ก็ต้องการ และไม่เพียงแต่ ทีโอทีและกสท ที่ต้องการคว้าสิทธิ์นี้เท่านั้น ในฟากฝั่งเอกชนอย่างเอไอเอสก็ต้องการมีเอี่ยวในไทยโมบายเช่นกัน เพราะอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อยุค 3G มาถึงรายได้จากการให้บริการจะไหลมาเทมาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|