จีเอฟโฮลดิ้งส์ ก้าวกระโดดของธุรกิจการเงินตระกูลโอสถานุเคราะห์

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

การจะก้าวออกจากการมีชื่อว่า เป็นธุรกิจครอบครัวนั้น มีวิธีการที่ง่ายมาก คือ จ้างมืออาชีพเข้ามาและให้ร่วมในบอร์ดบริหารด้วย กระจายหุ้นส่วนหนึ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และร่วมทุนกับต่างชาติ นี่คือวิธีที่ตระกูลโอสถานุเคราะห์ใช้ในสายธุรกิจการเงิน ซึ่งจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคอยดูกันต่อไป

โอสถานุเคราะห์เป็นตระกูลที่ทำธุรกิจด้านยา เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และสินค้าบริโภคอุปโภคต่าง ๆ ในตลาดเมืองไทย มาเป็นเวลานานกว่าครึ่งค่อนศตวรรษ และเป็นตระกูลที่สืบทอดการบริหารธุรกิจภายในครอบครัวมาถึง 4 ชั่วรุ่นคนแล้ว

นอกเหนือจากบริษัทโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ทำการผลิตสินค้าหลักแล้ว ซึ่งมีบริษัทแม่ที่ทำการผลิตสินค้าหลักแล้ว ซึ่งมีบริษัทในเครืออีกหลายแห่ง ทั้งทีดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของโอสถสภาฯ เช่น บ.อินเตอร์แมกนั่ม, บ.พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง, บ.สปาแอดเวอร์ไทซิ่ง, บ.สยามกลาสอินดัสตรี และที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของโอสถสภาฯ คือ บ.ดาต้าโปรคอมพิวเตอร์ซิสเต็ม

บริษัทในเครือหลายแห่งเหล่านี้เกิดขึ้น และเข้ามาอยู่ร่วมกับโอสถสภาฯ ในช่วงต้นทศวรรษ '80 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการขยับขยายทางธุรกิจมากกว่าในสมัยใด ๆ ของโอสถานุเคราะห์

การขยายธุรกิจของโอสถานุเคราะห์เป็นผลงานของชนรุ่น 3 หรือนัยหนึ่งคือรุ่นของปราณี - สุวิทย์ - สุรัตน์ - สุรินทร์ - เสรี ซึ่งเป็นรุ่นลูกของสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ และเป็นรุ่นที่นอกจากขยายธุรกิจของโอสถสภาฯ แล้ว ยังสร้างธุรกิจของแต่ละคนเองตามความสามารถความถนัดส่วนบุคคล

สุวิทย์และเสรีเป็นคู่พี่น้องที่โดดเด่นเอามาก ๆ ทั้งคู่ได้จับมือกันทำธุรกิจแยกออกไปต่างหาก เช่น ร่วมกันก่อตั้ง บ.พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ก่อนที่จะโอนเข้าไปอยู่ในเครือของโอสถสภาฯ หรืออย่าง บงล.จีเอฟ ซึ่งทั้งสองแห่งมี บ.สุวิทย์และเสรี จำกัด เป็นโฮลดิ้งคัมปะนี เข้าไปถือหุ้น

บ.สุวิทย์และเสรี จำกัด ยังเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงรายเดียวของ บ.จีเอฟโฮลดิ้งส์ จำกัด ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นโฮลดิ้งคัมปะนี เข้าไปถือหุ้นในกิจการโอสถานุเคราะห์สายสุวิทย์และเสรีอีกรวม 7 แห่งอันเป็นธุรกิจด้านการเงินและการลงทุนทั้งสิ้น

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ธุรกิจการเงินของตระกูลโอสถานุเคราะห์ก็คือ ของสายสุวิทย์ และเสรี คู่พี่น้องที่มีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นมากกว่าคนอื่น ๆ แม้สุวิทย์จะเสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2523 เสรีก็ยังคงร่วมทุนกับพี่สะใภ้ คือ คุณหญิงมาลาทิพย์ต่อมาอีก

ธุรกิจการเงินที่จีเอฟโฮลดิ้งเข้าไปถือหุ้นอยู่นั้น เป็นอาณาจักรส่วนตัวของสุวิทย์และเสรี ขณะที่สุรัตน์ก็มีธุรกิจส่วนตัวของเขาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเสรียังมีธุรกิจการจัดสรรบ้านและที่ดินนอกเหนือออกไปต่างหากอีก

อย่างไรก็ตาม แม้ชนรุ่นที่ 3 จะออกไปมีอาณาจักรส่วนตัวในธุรกิจอื่น ๆ แต่ทุกคนก็ยังคงร่วมกันบริหารโอสถสภาฯ และบริษัทในเครืออยู่ด้วยความคิดที่ว่านี่คือกิจการของโอสถานุเคราะห์ที่สืบทอดกันมายาวนาน

การสร้างจีเอฟโฮลดิ้งเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีอีกแห่งหนึ่งแทนที่สุวิทย์และเสรี เพื่อให้เข้าไปถือหุ้นในธุรกิจการเงินอีก 7 แห่งนั้น เป็นสิ่งที่สอดคล้องไปได้ด้วยดีกับความคิดในการบริหารธุรกิจการเงิน

นั่นหมายความว่า โอสถานุเคราะห์ กำลังใช้ "จีเอฟ" เข้าแทนที่ชื่อ "สุวิทย์และเสรี" เพื่อความเหมาะสมกับการทำธุรกิจการเงินที่ควรจะสลัดคราบความเป็นธุรกิจครอบครัวทิ้งไป

นอกจากนี้ อาณาจักรการเงินของโอสถานุเคราะห์สายสุวิทย์และเสรีได้ใช้เทคนิคการบริหารที่ไม่ต่างไปจากที่ใช้ในโอสถสภาฯ สักเท่าใด นั่นคือ การจ้างวางมืออาชีพเข้ามาร่วมบริหารงาน

ทั้งนี้และทั้งนั้น การดึงมืออาชีพเข้ามาร่วมงานเป็นเรื่องที่จำเป็นและเป็นการแก้ปมเงื่อนใหญ่ในการทำธุรกิจการเงินได้อย่างชะงัด

แม้ บงล.จีเอฟ จะเคยเป็นที่ฝึกฝนเรียนรู้การบริหารงานของชนรุ่น 4 โอสถานุเคราะห์ แต่บรรดาทายาทเหล่านั้นต่างก้าวผ่านเข้าไปสู่อาณาจักรโอสถสภาฯ กันทั้งสิ้น

มีเหลือแต่ชินเวศ สารสาส ซึ่งเป็น "เขยเล็ก" ของสุวิทย์และคุณหญิงมาลาทิพย์เท่านั้น ที่นั่ประจำใน บงล.จีเอฟ โดยไม่ยอมก้าวเข้าไปสู่โอสถสภาฯ

ซึ่งที่นี่ ชินเวศก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาสามารถนำค่ายธุรกิจการเงินของ "พ่อตา" ให้ก้าวไปสู่ความรุ่งโรจน์ได้ด้วยการบริหารของเขา และดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตที่ปรึกษารัฐบาลชุด พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งถูกเชิญเข้ามาร่วมงานเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา

ผู้ที่ทาบทามณรงค์ชัยให้เข้ามาร่วมงานกับโอสถานุเคราะห์ในสายธุรกิจการเงินก็คือ ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยทางโอสถานุเคราะห์ได้ปรึกษากันในเรื่องนี้ และถามความเห็นไปยัง ดร.เสนาะ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของตระกูล

ณรงค์ชัย เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า ดร.เสนาะเป็นคนแนะนำเขาให้กับทางโอสถานุเคราะห์ ซึ่งขณะนั้น ณรงค์ชัยไม่ได้ร่วมอยู่ในที่ปรึกษารัฐบาลแล้ว

ณรงค์ชัยและชินเวศก็เป็นสัญลักษณ์ของ "ความเป็นมืออาชีพ" ที่สามารถเข้าทดแทนความเป็น "โอสถานุเคราะห์" ของเสรีและคุณหญิงมาลาทิพย์ได้อย่างดี

ณรงค์ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า แนวโน้มการใช้มือบริหารอาชีพในธุรกิจการเงินนั้น เป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง "เพราะว่าเรื่องการเงินเป็นเรื่องของการเอาเงินชาวบ้านมาใช้ เงินที่เราบริหารอยู่ก็คือเงินของประชาชน ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้ เราต้องทำตัวของเราให้เป็นแบบตัวเปิด เป็นธุรกิจเปิด ให้คนเขาเห็นว่า เราทำอะไรอยู่ ถ้าเราไปงุบงิบทำในครอบครัวใครเขาจะไว้ใจเรา"

ดังนั้น การใช้มือบริหารอาชีพ จึงเท่ากับแก้ปัญหาภาพพจน์เรื่องความเป็นธุรกิจครอบครัว และยังเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับลักษณะของการทำธุรกิจการเงินด้วย

นอกจากนี้ มืออาชีพอย่างณรงค์ชัย และชินเวศ ยังเป็นมันสมองสำคัญในการคิดขยายธุรกิจออกไปให้ครบวงจร

ชินเวศ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ภายหลังการเซ็นสัญญาหุ้นระหว่าง บงล.จีเอฟ กับธนาคารเอเอ็นแซดแห่งออสเตรเลียว่า ในเวลานี้ ธุรกิจของสายธุรกิจการเงินก็จะจบเพียงแค่นี้ เพราะมีครบวงจรหมดแล้ว นั่นคือ มีคอมเมอร์เชียล แบงกิ้ง, ประกันชีวิต, ประกันภัย, แฟคเตอริง, เรียลเอสเตท, ไฟแนนเชียลซีเคียวริตี้, อินเวสเม้นท์ แบงกิ้ง และก็มีลิสซิ่งอีกอันหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาก่อตั้ง

นี่คือฝีมือของมืออาชีพที่มีหลังพิงอันเข้มแข็งมั่นคงอย่างเสรีและคุณหญิงมาลาทิพย์ !

ในบรรดาธุรกิจสายการเงินทั้งหมดของจีเอฟโฮลดิ้งส์นั้น จะสังเกตเห็นว่า ทุกบริษัทล้วนเป็นการร่วมลงทุนกับบริษัทและสถาบันการเงินอื่น ๆ ทั้งสิ้น โดยมีจีเอฟโฮลดิ้งส์ถือหุ้นอยู่มากน้อยต่างกันไปในแต่ละกิจการ

กิจการ 2 แห่งที่จีเอฟดึงเอาทุนต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย คือ บงล.จีเอฟ ซึ่งร่วมกับธนาคารเอเอ็นแซด และบริษัทมอร์แกน เกรนเฟลล์ ไทยแลนด์ จำกัด (เอ็มจีเอฟ) ร่วมทุนกับมอร์แกน เกรนเฟลล์ เอเชีย โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของมอร์แกน เกรนเฟลล์ แห่งอังกฤษ

กลยุทธ์การร่วมทุนกับต่างชาติในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ธรรมดาสามัญมาก แนวโน้มของการดำเนินธุรกิจด้านการเงินเช่นนี้ เกิดขึ้นมานานระยะหนึ่งแล้ว และเป็นเรื่องที่ยังจะมีให้เห็นกันต่อไปอีก โดยเฉพาะในบรรดาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งหลายที่มุ่งเน้นการทำธุรกิจด้านเมอช้าน แบงก์ และอินเวสเม้นท์ แบงก์

โดยทั่วไป การร่วมทุนกับสถาบันการเงินต่างชาติจะได้ประโยชน์ในแง่ของการได้เทคนิคัล โนว์-ฮาว เงินทุน เครือข่ายลูกค้า โครงการลงทุนใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์อเนกอนันต์ในการทำธุรกิจทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ในแง่ของความคิดในการทำธุรกิจแล้ว นับว่ามืออาชีพของกลุ่มจีเอฟมีความคิดในการทำธุรกิจที่ก้าวหน้ามากกว่าการมองเห็นเพียงประโยชน์ที่จะได้รับในเฉพาะหน้า

เรื่องนี้ ณรงค์ชัยให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ธุรกิจการเงินปัจจุบันต้องมีการเชื่อมโยงกับนานาชาติมาก เราทำเองไม่ได้แล้ว เพราะว่าภาวะการณ์ทางด้านการเงินของโลก เดี๋ยวนี้มันเกือบไม่มีพรมแดน เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นต่างประเทศ จึงจะเชื่อมโยงกับเขาได้เต็มที่"

ความคิดในการทำธุรกิจเช่นนี้ ได้แปรออกมาเป็นนโยบายหาผู้ร่วมทุนต่างชาติ ซึ่งกว่าที่จะคัดเลือกออกมาเป็นธนาคารเอเอ็นแซดและกลุ่มมอร์แกน เกรนเฟลล์ ได้นั้น ก็ต่างต้องพิถีพิถันพอสมควร ทั้งฝ่ายจีเอฟและต่างชาติ

ธนาคารเอเอ็นแซดนั้น มาจากสายสัมพันธ์ของณรงค์ชัยกับมิสซิสพาเมลล่า เคมฟ์ อดีตทูตการค้าออสเตรเลีย ซึ่งรู้จักกับธนาคารเอเอ็นแซดเป็นอย่างดี และหลังจากมีการพบปะเจรจากันยกหนึ่งแล้วนั้น เอเอ็นแซดก็ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจสอบบัญชีไพร์ส วอเตอร์ เฮ้าส์ มาตรวจสอบ รวมทั้งขอผลการตรวจสอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยไปดูด้วย

เอเอ็นแซด และจีเอฟ ใช้เวลาดูใจกันนาน 4 เดือนเต็ม จึงได้ฤกษ์เซ็นสัญญาเอ็มโอยู (MEMORANDUM OF UNDERSTANDING) กัน เมื่อประมาณตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2531 ชินเวศกล่าวว่า หากไม่เสียเวลาเรื่องดูสัญญาแล้ว คงใช้เวลาไม่นานนัก เพราะต้องมีการส่งสัญญาให้ธนาคารชาติออสเตรเลีย ซึ่งเข้มงวดอย่างยิ่งนั้นดูและตรวจสอบด้วย

การตัดสินใจเลือกเอเอ็นแซดเข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนด้วยนั้น ไม่ใช่เหตุจากที่เอเอ็นแซด เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของออสเตรเลียแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความเชี่ยวชาญของเอเอ็นแซดในด้านเมอช้าน แบงก์กิ้ง ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้จีเอฟสามารถทำการรับประกันการจำหน่ายหุ้นในตลาดแรกอันเป็นที่มาของรายได้ที่สำคัญตัวหนึ่งได้

แต่เดิม บงล.จีเอฟ มีความชำนาญในเรื่องการเช่าซื้อมากที่สุด และความชำนาญด้านนี้ก็เป็เแหล่งที่มาของรายได้หลักของบริษัท แต่ตลาดเช่าซื้อก็มีการแข่งขันที่สูงมาก ขณะที่ตลาดค้าหลักทรัพย์และการประกันการจำหน่ายหุ้นนั้น ยังมีช่องว่างให้เล่นได้อีกมาก หากมีความสามารถและเครือข่ายที่จะเข้าไป

ชินเวศ กล่าวว่า "เอเอ็นแซดนี่มีทุกอย่างที่เหมาะสมกับจีเอฟทั้งนั้น ด้านหลักทรัพย์นี่เขามีเครือข่ายนายหน้าค้าหลักทรัพย์ทั่วโลก อีกหน่อยธุรกิจค้าหลักทรัพย์ที่เขามีอยู่ก็ต้องมาที่จีเอฟแน่นอน ส่วนเรื่องการฝึกอบรมนั้น เขามีศูนย์ฝึกอบรมที่ยอดเยี่ยมที่สุดตั้งมาตั้งร้อยกว่าปีแล้ว รวมทั้งเรื่องการตั้งกองทุนอะไรต่าง ๆ เช่น อาจมีการตั้งออสเตรเลียน ฟันด์ขึ้นมา เป็นต้น"

ทางด้านมอร์แกน เกรนเฟลล์ก็เป็นสถาบันการเงินที่จีเอฟภูมิใจมากที่ได้เข้ามาร่วมหุ้นด้วย เพราะไม่ใช่แต่จะเป็นสถาบันการเงินชั้นนำหนึ่งในห้าของอังกฤษเท่านั้น แต่ยังมีความเชี่ยวชาญอย่างที่จีเอฟต้องการเป็นที่สุด

ชินเวศ กล่าวว่า "มอร์แกน เกรนเฟลล์ เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนที่เชี่ยวชาญทางด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (PRIVATIZATION) และการควบและซื้อกิจการ (MERGER & ACQUISITION) ซึ่งเราคิดว่า เขามีความชำนาญกว่าเอเอ็นแซดเยอะ"

"บ้านเรา MERGER มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายไม่อำนวย เราก็มองแต่ด้าน ACQUISITION อย่างเดียว กับเรื่องของแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะอีกหน่อยรัฐบาลไม่มีทางเลือกหรอก โครงการใหม่ ๆ อย่างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) นี่ต้องทำแปรรูปทั้งนั้น คือ ต้องเป็นไปในรูปของบริษัทจำกัด และแปรรูปหมด"

ณรงค์ชัยเองก็มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การร่วมทุนกับมอร์แกน เกรนเฟลล์ จะทำให้จีเอฟสามารถขยายธุรกิจด้านเมอร์ช้าน แบงกิ้ง และอินเวสเม้นท์ แบงกิ้ง ได้เต็มรูปแบบ

"เราเห็นว่า ในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นในการที่จะต้องระดมเงินเป็นจำนวนมหาศาล และเราเชื่อว่า ผู้ที่มีความชำนาญด้านอินเวสเม้นท์แบงกิ้ง อย่างมอร์แกนนั้นจะสามารถช่วยเราระดมเงินทุนสำหรับประเภทที่เราต้องการได้"

มืออาชีพของจีเอฟเริ่มมองเห็นอนาคตลาง ๆ ของจีเอฟลอยอยู่เบื้องหน้าแล้ว !

ผลงานชิ้นแรกของเอ็มจีเอฟย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้กับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งมีมอร์แกน เกรนเฟลล์ ในอังกฤษรับเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินให้โครงการฯ

และเนื่องจากเอ็มจีเอฟพุ่งเป้าลูกค้าที่รัฐวิสาหกิจ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องหาบุคคลที่เหมาะสมมาร่วมงานด้วย คือ บุคคลที่มีชื่อเสียงมีสายสัมพันธ์ในวงราชการ และเป็นที่รู้จักมีคุณสมบัติติดต่อกับต่างประเทศได้ อันเป็นที่มาของการเชิญ ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นประธานมอร์แกน เกรนเฟลล์ ไทยแลนด์ (เอ็มจีเอฟ)

สุธี กล่าวเปิดใจครั้งหนึ่งว่า "คนที่มาติดต่อ คือ ดร.ณรงค์ชัย และเจมส์ พี รูนีย์ เขาอยากได้คนที่มีคุณสมบัติที่ติดต่อต่างประเทศได้ แล้วก็วงการธุรกิจการเงินฝ่ายไทยก็รู้จัก เข้าต่างประเทศได้ รู้จักภาคราชการบ้างก็เพราะเขาอยากค้าขายกับรัฐวิสาหกิจ ต้องรู้จักนักวิชาการ ต้องเคยเป็นรัฐมนตรี…"

ดูเหมือนว่างานนี้สายธุรกิจการเงินของโอสถานุเคราะห์จะหนีไม่พ้นมืออาชีพคู่บารมีรัฐบาลชุดพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไปได้เลย !

สำหรับผู้ที่เป็นคนชักนำให้มอร์แกน เกรนเฟลล์มาจับคู่กับจีเอฟได้นั้นก็คือ เจมส์ พี รูนีย์แห่งบริษัทรูนีย์ แอสโซซิเอสเตด จำกัด หนึ่งในผู้ที่ติดต่อให้สุธีเข้ามานั่งเป็นประธานบริษัทนั่นเอง และตัวเขาก็นั่งเป็นกรรมการในเอ็มจีเอฟด้วยคนหนึ่ง

การดึงสุธีเข้ามาร่วมงานครั้งนี้เป็นที่พออกพอใจของทุก ๆ ฝ่าย ตำแหน่งประธานเอ็มจีเอฟนับเป็นตำแหน่งในบริษัทเอกชนรายแรกที่สุธียอมเข้ามาร่วมหัวจมท้ายด้วย หลังจากที่ถูกสถาบันการเงินเอกชนหลายรายทาบทาม ตำแหน่งอื่น ๆ ที่สุธีมีอยู่ในเวลานี้ คือ กรรมการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และสภากาชาดไทย

หลังจากจัดขบวนเรื่อง บงล.จีเอฟ และเอ็มจีเอฟเรียบร้อยแล้ว กลุ่มจีเอฟยังมีโครงการที่ค้างคาอยู่อีก 3 เรื่อง คือ การหาซื้อกิจการหลักทรัพย์หรือเงินทุนหลักทรัพย์อีกแห่งหนึ่งเพื่อนำมาร่วมทุนกับเอ็มจีเอฟ เป็นการร่วมทุน 3 ฝ่าย เพราะในขณะนี้เอ็มจีเอฟทำหน้าที่ได้เพียงเป็นที่ปรึกษาการลงทุนเท่านั้น ยังไม่สามารถเป็นผู้ให้บริการจัดหาเงินและบริหารเงินเพื่อการลงทุนได้ เนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาต

อีกเรื่องหนึ่ง คือ การตั้งบริษัทลีสซิ่ง ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนของธนาคารไทย จีเอฟ และบริษัทลีสซิ่ง จากญี่ปุ่น โดยขณะนี้ได้มีการเจรจากับธนาคารไทยไปแล้ว และกำลังรอคำยืนยันจากบริษัทลีสซิ่งญี่ปุ่น

ส่วนเรื่องสุดท้ายก็ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในกลยุทธ์เดิม คือ การหาผู้ร่วมลงทุนชาวต่างชาติให้กับบริษัทสหสินประกันภัย

ณรงค์ชัย เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า ความคิดที่จะจัดขบวนของกลุ่มจีเอฟให้เต็มรูปแบบอย่างนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2531 ครั้นเวลาผ่านมา 10 เดือน เต็มขบวนแถวของจีเอฟเริ่มเป็นรูปร่างชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ ความคิดหลักที่จะจัดกลุ่มจีเอฟออกมาในรูปของโฮลดิ้ง คัมปะนี เพื่อเข้าไปถือหุ้นบริษัทต่าง ๆ นั้น มาจากชินเวศ ซึ่งเมื่อแรกตั้งนั้นใช้ชื่อว่า บ.สรรพวานิช จก. แล้ว เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นจีเอฟโฮลดิ้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2532

ชินเวศ กล่าวว่า "ในแง่ของการบริหารนั้น เราจะใช้จีเอฟโฮลดิ้งเป็นตัวหลัก เป็นผู้ออกนโยบายและคิดเรื่องการลงทุนทั้งหมด" และณรงค์ชัยก็เสริมว่า "โฮลดิ้งส์จะเป็นสมองคิดในเรื่องนี้ แล้วจะส่งไปให้ใครก็แล้วแต่ต้องดูอีกที ขณะเดียวกันทางมอร์แกนฯ หรือจีเอฟก็อาจจะแตกตัวของเขาได้เองเหมือนกัน หมายถึงการร่วมลงทุนระยะสั้น ลงทุนเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้นในระยะสั้น แล้วก็จำหน่ายจ่ายโอนให้คนอื่นเขาทำกันต่อไป บริษัทการเงินก็ต้องทำธุรกิจอย่างนั้นแหละ"

สำหรับชินเวศนั้น ในฐานะที่เป็น "เขยเล็ก" ของสุวิทย์ - คุณหญิงมาลาทิพย์ กับทั้งเป็นผู้บริหารธุรกิจสายการเงินของตระกูลเขามีเหตุผลระดับหนึ่งในการที่จะผลักดันสายธุรกิจที่เขาดูแลรับผิดชอบอยู่นี้ให้เติบใหญ่มากขึ้น ซึ่งในบรรดาชนรุ่น 4 ของโอสถานุเคราะห์ที่หากจะนับชินเวศเข้าร่วมในเครือญาติด้วยแล้ว ต้องนับว่าเขาเป็นผู้ที่มีบทบาทเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง

หากจะนับคะแนนการแข่งขันกันทำธุรกิจในชนรุ่นที่ 4 นี้แล้ว เขาอาจจะมา "วิน"

แต่อย่างไรก็ดี การเติบใหญ่ของจีเอฟมาถึงระดับนี้นั้น ชินเวศก็ได้อาศัยความสามารถและชื่อเสียงความกว้างขวางของณรงค์ชัยอยู่ไม่น้อย ซึ่งมันก็เป็นความบังเอิญที่เป็นโชคดีสำหรับคุณหญิงมาลาทิพย์ - เสรี อยู่มาก ๆ ที่ได้คนคู่นี้มาร่วมทำธุรกิจให้ตระกูล

ครั้งหนึ่ง ชินเวศ เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ความสำเร็จทั้งหลายทั้งมวลนั้นเป็นเรื่องของความบังเอิญ หรือการที่ปัจจัยต่าง ๆ ลงตัวอย่างเรียบร้อยและทำให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นมาได้

นัยยะของคำพูดนี้ ก็รวมไปถึงการที่โอสถานุเคราะห์ได้ ณรงค์ชัย เข้ามาร่วมงานด้วย โดยผ่านการชักนำของ ดร.เสนาะ อูนากุล นั่นเอง

ข่าวการปรับและขยายขบวนของกลุ่มจีเอฟตลอดเกือบปีที่ผ่านมานั้น มีผลให้ราคาหุ้นของ บงล.จีเอฟ ขึ้นเอา ๆ อย่างไม่ยี่หระกับราคาที่สวนทางกันของหุ้นตัวอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ บงล.จีเอฟ ก็เป็นหลักทรัพย์ในจำนวนไม่กี่รายในกลุ่มเดียวกันที่มี "ข่าว" ด้วย

ผลงานการก้าวกระโดดของจีเอฟในครั้งนี้ จะเป็นก้าวที่กระโดดพ้นจากความเป็นโอสถานุเคราะห์ได้มากน้อยแค่ไหนนั้น เป็นเรื่องที่ตัดสินลำบาก และยังจะต้องใช้เวลาพิสูจน์กันอีกนาน แต่ในชั้นนี้ ณรงค์ชัยและชินเวศก็ทำสำเร็จมาขั้นหนึ่งแล้วในแง่ที่ว่า ต่อไปนี้คนจะติดปากกับชื่อของจีเอฟมากขึ้น รู้จักจีเอฟโฮลดิ้งมากกว่า บ.สุวิทย์และเสรีของตระกูลโอสถานุเคราะห์ที่เป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงรายเดียวของจีเอฟโฮลดิ้ง

ความสำเร็จในชั้นนี้ต้องยกให้เครดิตในความเพียรพยายามของชินเวศ และณรงค์ชัยที่สามารถปลุกปล้ำเอาธุรกิจสายการเงินของตระกูลโอสถานุเคราะห์ - ธุรกิจการเงินที่เริ่มมาจากการลงขันของครอบครัวโอสถานุเคราะห์ ให้กลายมาเป็นกลุ่มจีเอฟ ซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติภูมิของตนเองระดับหนึ่ง ที่อาจหาญเข้าไปจับมือร่วมทุนกับสถาบันการเงินชั้นนำต่างชาติได้

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งนี้ก็ได้กลายเป็นการขีดเส้นแบ่งแยกอย่างชัดเจนถึงความเป็นโอสถานุเคราะห์สองสาย คือ สายธุรกิจการเงินซึ่งมีกลุ่มจีเอฟที่หลังสวนเป็นตัวหลัก และสายธุรกิจการค้าที่ยังคงมีโอสถสภา (เต็กเฮงหยู) เป็นแกนนำ

นั่นหมายถึงสายคุณหญิงมาลาทิพย์ - เสรีที่ก้าวออกมาให้มืออาชีพบุกเบิกไปในธุรกิจการเงินแขนงต่าง ๆ กับสายของสุรัตน์ อดีตนักการเมืองที่เริ่มลงจากเวทีกลับมาสู่ความเป็นพ่อค้าในโอสถสภา (เต็กเฮงหยู) อีกครั้งหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.