ดร.สาธิต พิชญางกูร"เมืองไทย ต้องการเขา"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

สาธิต พิชญางกูร เป็นคนหนุ่มอายุ 36 ปี มีความรู้และประสบการณ์ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิคุ้มกัน (Immunology) หนึ่งในสาขาของวิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่กำลังตื่นตัวไปทั่วประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ

เขาเดินทางเข้าสู่เมืองไทยเมื่อ 5 เดือนมาแล้ว เพื่อศึกษาลู่ทางในอาชีพด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เขามีอยู่เต็มตัวจากประสบการณ์ วิธีในห้องค้นคว้าวิจัยของวอล์คลีไบโอไซน์ เมืองดัลลัส สหรัฐฯ ที่เขาสังกัดทำงานอยู่

"ผมเดินทางมาบ้านครั้งนี้ ตั้งใจจะมาใช้ประสบการณ์และความรู้ด้านวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพแก่ประเทศชาติ เพราะเห็นแล้วว่า ยังมีหลายสิ่งเหลือเกินไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพอนามัยของคนไทยและผลผลิตทางเกษตร และอุตสาหกรรมที่หากว่ามีการใช้ผลการค้นคว้าวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพแล้ว จะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่คนไทยและเศรษฐกิจของชาติ"

ในระหว่างที่ทำงานอยู่กับวอล์คล ไบโอไซน์ เขามีผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพภายใต้การสนับสนุนการเงินของบริษัทยักษ์ใหญ่น้ำมันฟิลลิป ปิโตรเลียม ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ แล้วคือ การค้นพบอินเตอร์เฟอร์ออน (INTERFERON) ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่สร้างโดยเม็ดเลือดขาวที่มีคุณสมบัติเป็นตัวสกัดกั้นการเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ FDA สหรัฐฯ คือ สารโปรตีน T CELL GROWTH FACTOR, TUMOR MECROSIS FACTOR และ COLONY STIMULATING FACTOR

"ผลงานวิจัยสารโปรตีนเหล่านี้จัดอยู่ใน LYMPHOKINE ที่ผมค้นคว้าพัฒนามาจากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่นอร์ทเท็กซัส ยูนิเวอร์ซิตี้ เป็นเวลาถึง 5 ปี" ดร.สาธิต กล่าว

ผลงานวิจัยของเขาเหล่านี้แม้จะเน้นหนักการใช้ในทางการแพทย์ แต่เขาก็ยืนยันว่า หลักการตรวจสอบวินิจฉัย (DIAGNOSTIC) สามารถนำไปปรับใช้ในงานวิจัยตรวจสอบเพื่อผลทางธุรกิจอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ได้

"ในข้าวโพด มันจะมี GENE อยู่ตัวหนึ่งที่สามารถควบคุมให้ข้าวโพดทนทานต่อยาฆ่าวัชพืช ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพจะสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรม สามารถนำ GENE ในข้าวโพดที่ว่านี้ไปใช้กับพืชผลเกษตรอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาไม่สามารถทนทานต่อยาฆ่าวัชพืชได้ ก็จะทำให้การสูญเสียของผลผลิตลดลงไป" ดร.สาธิต ยกตัวอย่างการปรับใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการเชิงธุรกิจของไทย

ตรงนี้มีคำถามอยู่เพียงว่า บริษัทเอกชนใหญ่ ๆ ของไทยพร้อมหรือยังที่จะลงทุนพัฒนาวิจัย ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ ? - มองไปที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรด้านพืชและสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะอยู่ในฐานะที่ลงทุนด้านนี้ได้มากที่สุด เพราะหนึ่ง - กลุ่มนี้มียอดขายหลายหมื่นล้านบาท การตัดค่าใช้จ่ายเพียง 10% ของรายได้ เพื่อลงทุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพก็ทำให้โครงการวิจัยฯ นี้เป็นไปได้แล้ว และสอง - กลุ่มนี้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรที่เป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศ การลงทุนงานด้าน R&D เทคโนโลยีชีวภาพย่อมเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด และส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตทางเกษตรและปศุสัตว์ของเกษตรกรด้วย

"ผู้จัดการ" ทราบว่า ขณะนี้ในเกาหลีใต้ รัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมเอกชนอย่างเต็มที่ในโครงการ R&D ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีวิศวกรรมทั้งด้านการเงินและภาษีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้เอกชนและรัฐร่วมกันดึงมันสมองพวกนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมทั้งด้านการเงินและภาษีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อให้เอกชนและรัฐร่วมกันดึงมันสมองพวกนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเกาหลีใต้ที่ไปทำงานตามสถาบันวิจัยและบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ กลับสู่ประเทศเพื่อเสริมสร้างระดับการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมแขนงต่าง ๆ ของประเทศ

"ที่ผมทราบอย่างบริษัทซัมซุงได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทไทรอนทำการวิจัยและพัฒนาวิธีการตรวจสอบไวรัสดีซ่านชนิดไม่ใช่ A และ B โดยมีเงื่อนไขว่า ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพอันนี้จะต้องถ่ายทอดให้กับนักวิทยาศาสตร์เกาหลีด้วย และผมทราบว่า ผลการวิจัยวิธีการตรวจสอบไวรัสดีซ่านชนิดไม่ใช่ A และ B ของบริษัทไทรอนนี้เป็นผลสำเร็จแล้วรายแรกของโลก" ดร.สาธิต เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ผลสำเร็จจากการวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพไม่ใช่จะเป็นการค้นพบสารทางพันธุกรรมและภูมิต้านทาน จะถูกนำไปผลิตภายใต้ลิขสิทธิ์ของเจ้าของเงินทุนในเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างปัจจุบัน ในสิงคโปร์นักวิทยาศาสตร์ชีวภาพของสิงคโปร์ สามารถค้นพบวิธีการตาวจสอบการตั้งครรภ์แบบใหม่ได้ หรือในไต้หวัน นักวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ไต้หวันสามารถค้นพบวิธีการตรวจสอบไวรัสลงตับที่ชาวไต้หวันเป็นกันมากได้

สิ่งเหล่านี้เป็นคุณประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของคนในประเทศ และสามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อันเป็นการช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการสั่งซื้อสินค้าเหล่านี้ไปในตัวด้วย

คุณสมบัติและความรู้ประสบการณ์ทางเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาภูมิคุ้มกัน ของ ดร.สาธิต เป็นทรัพยากรที่ดีที่สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์แก่คนไทยและธุรกิจไทยได้

เพียงแต่ว่าวันนี้จะมีใครในเมืองไทยต้องการเขาไว้

"ถ้าไม่มีใครต้องการผม ผมก็จะกลับสหรัฐฯ ตามเดิม" ดร.สาธิต กล่าวถึงโครงการอนาคตของเขา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.