ปูนซีเมนต์ไทย อีกก้าวหนึ่งของโครงการ"พัฒนาเยาวชน" เพื่อการ "พัฒนาชาติ"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ธเนศ เกียรติชนก กำลังเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เขาไม่ต่างจากเด็ก ๆ คนอื่นที่เมื่ออยู่ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน อยากเที่ยว เล่น พักผ่อนตามประสาเด็ก

แต่มีส่วนหนึ่งที่แตกต่าง คือ ธเนศเลือกที่จะ "พักผ่อน" ด้วยการเข้าร่วมกิจการใน "ค่ายคอมพิวเตอร์" ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งพ่อของเขาเป็นพนักงานประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ด้วยคนหนึ่ง

เช่นเดียวกับ "เพื่อน ๆ " ร่วมรุ่นอื่น ๆ จำนวนไม่ต่ำกว่า 80 คน เพื่อน ๆ เหล่านี้มีอายุไม่ต่างกับเขามากนัก ตั้งแต่กำลังเรียนชั้น ม.1 จนกระทั่งสูงสุด ม.6 เป็นบุตรหลานพนักงานบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในปีนี้ ทางปูนใหญ่ขยับขยายจัดโครงการค่ายฯ ให้กับบุตรหลานของตัวแทนจำหน่ายสินค้าของปูนฯ อีกสองรุ่น รวมทั้งเชิญชวนสื่อมวลชนส่งลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง

เดิมปูนซิเมนต์ไทยมีโครงการค่ายกิจกรรมทั่วไป โดยนำบุตรหลานพนักงานบริษัทในเครือออกค่ายพักแรมแถวจังหวัดชายทะเล เช่น ระยอง มาเป็นเวลานานกว่าแปดปีแล้ว แต่ "ค่ายคอมพิวเตอร์" นี้เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ปูนซิเมนต์ไทยจัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่สาม

"วัตถุประสงค์เดิมเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน เหมือนเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่ง ต่อมาคณะผู้บริหารเล็งเห็นว่า คอมพิวเตอร์จะมีบทบาทมากขึ้น และทางเราเองมีวัสดุอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมืออยู่บ้าง จึงน่าจะริเริ่มโครงการนี้" ธนิษฎ์ชัย นาคะสุวรรณ นักประชาสัมพันธ์อาวุโสโครงการ บอกถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ

จากการทำ "ค่ายกิจกรรมทั่วไป" มานาน ปูนซิเมนต์ไทยได้วางแนวทางของค่ายคอมพิวเตอร์ที่คิดว่าน่าจะเป็นไว้ ตั้งแต่คุณสมบัติของผู้ร่วมโครงการที่ถึงแม้จะเป็นบุตรหลานพนักงาน แต่ก็ต้องมีการคัดเลือก จนกระทั่งถึงวันนี้ ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมีมากจนกระทั่งต้องจับฉลาก

ในรุ่นหนึ่งจะมีผู้เข้าร่วมค่ายฯ ประมาณ 40 คน ปีหนึ่งจะจัดสองรุ่น ในช่วงเวลาปิดภาคฤดูร้อน โดยจะรับเฉพาะเด็ก ๆ ที่เรียนอยู่ชั้น ม.1 ขึ้นไปถึง ม.6 อายุตั้งแต่ประมาณ 12 - 18 ปี ซึ่งต่างจากค่ายกิจกรรมทั่วไป ซึ่งรับเด็กอายุค่อนข้างต่ำกว่า คือ ประมาณ 8 - 12 ปี

แนวทางการปฏิบัติที่ปูนซิเมนต์ไทยใช้ ไม่แตกต่างจากค่ายกิจกรรมทั่วไปที่เคยจัดขึ้นมาก่อนหน้านี้มากนัก คือ ทางผู้บริหารระดับสูงจะวางแนวทางหลัก ๆ ไว้ และให้ผู้สนใจที่มีกิจการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเสนอรายละเอียดในการทำโครงการ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ว่าเหมาะสมกับงบประมาณ ตรงตามวัตถุประสงค์และแนวทางที่ปูนซิเมนต์ไทยวางไว้หรือไม่

ปีแรกการอบรมในส่วนของคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ได้คณะอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดกิจการรับสอน และฝึกอบรมทางคอมพิวเตอร์ได้รับงานไป ส่วนในปีนี้ผู้ที่นำเสนอรายละเอียดต่าง ๆ จนเป็นที่พอใจของปูนใหญ่ คือ กราฟฟิควิชั่น เทคโนโลยี ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ D-LINK ของบริษัท LOCAL NETWORK COMMUNICATION สหรัฐอเมริกา เป็นผู้รับติดตั้งระบบ LAN (LOCAL AREA NETWORK) ให้กับหน่วยงานใหญ่ ๆ มากมาย อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นิวแฮมเชอร์อินชัวรันส์ เทเวศร์ประกันภัย ฯลฯ

ส่วนเรื่องอาหาร ที่พักอาศัย และกิจกรรมสันทนาระหว่างการเข้าอยู่ในค่ายฯ ทั้งหมดที่ผ่านมาสามปีร่วมมือกับ "สวนสยาม" ของชัยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ให้การต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีตลอดมา

จุดต่างที่สำคัญของโครงการค่ายคอมพิวเตอร์กับค่ายกิจกรรมที่ผ่าน ๆ มาของปูนซิเมนต์ไทยมีอยู่หลายประการด้วยกัน

เริ่มต้นจากการคัดเลือกเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ จะต้องไม่เป็นผู้เคยร่วมโครงการมาก่อน นอกจากนั้น ยังต้องเป็นเด็กกำลังศึกษาตั้งแต่ชั้น ม.1 ขึ้นไปดังที่กล่าวข้างต้น เพราะอย่างน้อยที่สุดเด็กในวัยนี้สามารถรับรู้สิ่งที่ถ่ายทอดให้ได้มากกว่าเด็กที่เข้าค่ายกิจกรรมทั่วไปที่ยังอ่อนเยาว์กว่ากันมาก

ประการที่สอง เป็นส่วนที่เกี่ยวกับ "เนื้อหา" ของกิจกรรมเอง "ค่ายกิจกรรมทั่วไป" ของปูนใหญ่ คือ ค่ายพักแรมนอกสถานที่ทั่วไปนั่นเอง แต่มีการอบรมฝึกฝนมารยาทการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ค่ายคอมพิวเตอร์ก็มีสิ่งเหล่านี้เช่นกันที่แตกต่างก็คือ การเรียนรู้ ปลูกฝังให้เด็กคุ้นเคย สนใจที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง โดยนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริม

ซึ่งการนำเอา "คอมพิวเตอร์" มาใช้นี้มีความยุ่งยากอยู่บ้าง เพราะต้องประสานสองสิ่งเข้าด้วยกันระหว่างการวัดผลกับธรรมชาติทั่วไปของเด็กที่มีอายุต่างกัน ความสามารถในการเรียนรู้ไม่เท่าเทียมกัน

"การนำเสนอรายละเอียดกับปูนซิเมนต์ไทยค่อนข้างละเอียดอ่อนมากทีเดียว เช่น การทดลองสอนให้ผู้ใหญ่ของปูนฯ ดูก่อน ก็จะเหมือนกับเป็นเด็กเข้ามานั่งเรียนจริง ๆ บางทีเราใช้ศัพท์เทคนิคที่เราคุ้นเคยก็จะต้องแก้ไข เพราะถ้าทำเช่นนั้นจะทำให้เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการไม่เข้าใจ" ชูเกียรติ ศักดิ์จิรพาพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคจากกราฟฟิควิชั่นชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"

วิชาต่าง ๆ ที่สอนในค่ายฯ ก็เริ่มตั้งแต่ INTRODUCTION TO COMPUTER, WORD PROCESSING, SPREAD SHEET เช่น LOTUS 1-2-3 และ DATABASE (D-BASE III PLUS) ทั้งหมดนี้ ทางกราฟฟิคฯ ใช้ระบบ LAN ซึ่งมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ มีการแชร์อุปกรณ์สามารถเรียกข้อมูลในโปรแกรมให้ผู้ใช้หลาย ๆ คนใช้โปรแกรมเดียวกันได้ โดยไม่ต้องก๊อปปี้โปรแกรมไว้ใช้หลายชุด ซึ่งคำสั่งรายละเอียดต่าง ๆ ที่ใช้ในการสอนจะปรากฏบนจอภาพของเด็ก ๆ ทุกคนพร้อม ๆ กัน สะดวกต่อการศึกษามากกว่าการใช้วิดีโอ-โปรเจ็คเตอร์ หรือแผ่นใสมาก

ช่วงเวลาเจ็ดวันเฉพาะค่ายคอมพิวเตอร์ อาจจะคิดว่าเป็นเวลาเพียงน้อยนิด แต่ค่าใช้จ่ายที่ใช้ก็ไม่น้อยเลย !?!

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคนตั้งแต่ค่ายอบรมความรู้ทางคอมพิวเตอร์ ค่าอาหารวันละสามมื้อ ค่าโดยสาร ค่าที่พักอาศัยทั้งหมดก็ตกคนละ 4,000 บาท นี่ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เกี่ยวข้องอีกมาก ซึ่งจำนวนเงินที่ใช้นี้ ปูนซิเมนต์ไทยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด !!!

"ปีนี้เป็นปีที่ "ค่ายคอมพิวเตอร์" ขยายไปมาก เพราะตัวแทนจำหน่ายสินค้าของเราบางคนทราบว่า เราทำโครงการนี้ ซึ่งเราก็ทำให้เขาในปีนี้บ้างสองรุ่น โดยมีสายบริการกลางเป็นผู้รับผิดชอบ" ธนิษฎ์ชัย บอกถึงความสำเร็จของโครงการให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

"ค่ายคอมพิวเตอร์" ของปูนซิเมนต์ไทย ถึงจะใช้เงินค่าใช้จ่ายมากมายเพียงใด และแม้จะเป็นเพียงโครงการที่จัดขึ้นเพื่อคนกลุ่มเล็ก ๆ และส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกับปูนซิเมนต์ไทยก็ตาม แต่ "วัตถุประสงค์" และ "ผลพวง" ที่จะได้รับจากโครงการในอนาคต เป็นสิ่งที่เรามิอาจละเลย และมองข้ามไปได้

นั่นคือ การวางรากฐานสำคัญแก่เยาวชนของชาติ หลังจากการปริวิตกถึงการขาดแคลนผู้มีความรู้ความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยสมัยใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนา ความก้าวหน้าอย่างยากจะหยุดยั้งของประเทศ

"เราเชื่อว่า ยังมีองค์กรทั้งของเอกชน รัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพที่จะสนับสนุนโครงการที่มีรูปแบบวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกับเรามากขึ้นในอนาคต…

…โครงการนี้ไม่ใช่เพราะและเพื่อคนปูนฯ เพียงกลุ่มเดียว แต่เกิดขึ้นเพื่อคนไทยทั้งประเทศมากกว่า"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.