การเดินเข้าออกของมืออาชีพในตำแหน่งงานทุกวันนี้ เป็นเรื่องธรรมดาเสียเหลือเกิน
กระทั่งการเดินออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่นั่งอยู่นานเป็นเวลา 11 ปีกับอีก
3 เดือนของ ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ แห่งบริษัทหลักทรัพย์เอเชีย มือค้าหุ้นตัวยงของชาตรี
โสภณพนิช ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในวงการค้าหุ้นไทย
ทั้งนี้ก่อนหน้า ศิริวัฒน์ก็มีคนอื่น ๆ ที่เดินออกจากหลักทรัพย์เอเซียมาแล้ว
เช่น คณิต เศรษฐนันท์ ซึ่งออกมาตั้งบริษัทฟันด์เทคอน บริการข้อมูล เพื่อการลงทุนในตลาดหุ้นให้กับนักลงทุนหรือในจังหวะที่ศิริวัฒน์ลาออกนี้
ก็มีพนักงานฝ่ายหลักทรัพย์ลาออกด้วยหลายคน พวกเขาล้วนแต่มีอายุการทำงานมาเป็นเวลานานเฉลี่ย
6 ปี ซึ่งก็ขึ้นชื่อว่า เป็นมืออาชีพได้แล้ว
เหตุผลง่าย ๆ ที่คนวงใน กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ก็คือ ในเมื่อมีที่อื่นดีกว่า
พวกเขาก็ย่อมไป เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้
แต่สำหรับศิริวัฒน์นั้น "ที่อื่น" ที่เขาจะไปในครั้งนี้ อาจจะพูดไม่ได้เต็มปากนักว่า
ดีกว่าที่เดิมอย่างไร ทว่า เมื่อตัดสินใจว่า ได้ทำให้ที่เดิมมา "พอแล้ว"
ได้ทำให้ "ผู้ถือหุ้น" สบายไปแล้ว ก็คงถึงเวลาที่เขาจะออกมาทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง
การเริ่มต้นลงทุนในวัย 40 ปีเต็มสำหรับวันนี้ของศิริวัฒน์ก็ยังไม่เป็นการสายเกินไป
ศิริวัฒน์คลุกคลีอยู่กับวงการค้าหุ้นไทยมานาน 15 ปีเต็ม โดยหลังจากจบปริญญาด้านการบริหารธุรกิจการเงินที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส
ออสติน เมื่อปี 2516 และฝึกงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขานิวยอร์กพักหนึ่ง
เขาก็กลับมาเริ่มงานครั้งแรกกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่กรุงเทพธนาทร เป็นเวลา
3 ปีกว่า
จากนั้นก็ย้ายมาที่บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย นั่งประจำในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตั้งแต่ต้นจนถึงวันลาออก
ศิริวัฒน์ กล่าวเปิดใจกับ "ผู้จัดการ" ว่า หลังจากที่ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์มืออาชีพมานานแล้ว
เขาก็จะเปลี่ยนไปเป็นนักลงทุนมืออาชีพบ้าง นั่นคือ บริหารพอร์ทที่พรรคพวกมาลงขันกันแล้วมอบความไว้วางใจให้เขาทำ
โดยสไตล์การบริหารพอร์ทที่จะทำนี้คงต้องแตกต่างจากการบริหารพอร์ทของหลักทรัพย์เเซีย
เมื่อเขายังนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ เพราะมีวงเงินเป็นจำนวนที่ต่างกันมาก
ในการบริหารพอร์ทที่จะทำนั้น ศิริวัฒน์ กล่าวว่า เขาเป็นคนค่อนข้างระมัดระวังในการเล่นหุ้น
คือ ศึกษาก่อน และกล้าซื้อกล้าขายจริง ๆ ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและการดูจังหวะการซื้อขายมากวก่าเรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิค
ศิริวัฒน์ เป็นหนึ่งในนักเล่นหุ้นจำนวนน้อยรายที่เข้าร่วมในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทต่าง
ๆ ที่หลักทรัพย์เอเซียถือหุ้นอยู่ และแสดงบทบาทของผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่
โดยการซักถามแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เป็นเพียงนักเล่นหุ้นที่ถือหุ้นเพื่อหวังเงินปันผลหรือการเก็งกำไร
วิธีการของเขาได้ฝากผลงานอันน่าประทับใจไว้ที่หลักทรัพย์เอเซียเมื่อปี 2530
ปีที่เกิด "ตุลาอาถรรพณ์" ซึ่งทำให้ใครต่อใครขาดทุนกันอย่างมโหฬาร
มีแต่ศิริวัฒน์เท่านั้นที่ทำกำไรให้หลักทรัพย์เอเซีย 150 ล้านบาท
ศิริวัฒน์ ย้อนผลงานให้ "ผู้จัดการ" ฟังอย่างถ่อมตนว่า "เผอิญผมโชคดี
ผมขายหุ้นจนเหลือประมาณ 5 - 10% ของพอร์ทที่ดัชนี 450 ซึ่งพวกเทคนิคัลพากันพูดว่า
ดัชนีจะขึ้นไปถึง 500 แต่ผมก็ชอบฝืนอยู่เรื่อย ดัชนีขึ้นไปถึง 472 แล้วก็ค่อย
ๆ ร่วงติดพื้นทุกวัน"
"คนที่สบายที่สุด คือ ผม ผมจะซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ในเมื่อเห็นแนวโน้มว่ามันร่วงลงทุกวัน
ๆ ผมปล่อยให้มันลงมาจนดัชนีประมาณ 300 ผมก็เริ่มเข้ามาซื้อ จนดัชนีมันแตก
250 ผมก็ซื้อหนักขึ้น ซึ่งตอนนี้พวกเทคนิคัลก็พูดเหมือนกันว่ามันคงลงมาที่
230 บางคนก็ว่าถึง 200 ทีเดียว แต่ในที่สุดจุดต่ำสุดของมันอยู่ที่ 243"
อย่างไรก็ดี ความเป็น "เซียน" ของศิริวัฒน์ ใช่ว่าจะเกิดจากความชำนาญช่ำชองแต่อย่างเดียวหาได้ไม่
เพราะการบริหารพอร์ทของหลักทรัพย์เอเซียที่มีทรัพย์สินเป็นพันล้านบาทขึ้นไปนั้น
จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงจากการตัดสินใจรวมหมู่ในคณะกรรมการฝ่ายจัดการ
เสียงหลาย ๆ เสียงในคณะกรรมการฝ่ายจัดการที่ตัดสินให้ขายหุ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม
2531 ก็เป็นผลทำให้หลักทรัพย์เอเซียต้องประสบการขาดทุนในพอร์ทของตัวเองถึง
80 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2531 นั้น
ศิริวัฒน์ กล่าวอย่างสุขุมว่า "พอร์ทขาดทุนนั้น ผมยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของผม
ผมยอมรับว่า ผมทำเกินอำนาจไป และเผอิญจังหวะไม่ดี ผมซื้อในเดือนสิงหาคมและหุ้นมันก็ตกเรื่อย
ๆ แต่หุ้นที่ผมซื้อ ซึ่งเป็นหุ้นแบงก์นั้น ส่วนใหญ่ก็โอเค ใช้ได้"
"เผอิญหลายฝ่ายในบริษัทมองว่า หุ้นยังคงจะตกต่อไป คณะกรรมการฝ่ายจัดการก็บอกให้ขาย
ขายขาดทุนนะ แต่ผมเองผมก็ไม่ได้บอกว่า หุ้นมันจะขึ้น แต่ผมคิดว่า หุ้นมันคงไม่ลงไปกว่านั้นแล้ว
และหุ้นส่วนใหญ่ที่เราถืออยู่ก็เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีทั้งนั้น แต่ในเมื่อผมเสียงเดียว
หลายเสียงก็ชนะ ผมต้องขาย และก็เลยขาดทุนมากอย่างนั้น"
"เมื่อผมซื้อหุ้นเหล่านี้ โดยซื้อที่ราคาสูงสุดแล้วราคาก็ค่อย ๆ ตกฮวบลงมาเรื่อย
ๆ นั้น ผมมีความรู้สึกเฉย ๆ แต่ผมไม่คิดมาก่อนเลยว่า ฝ่ายจัดการจะไม่ยอมให้ผมถือไว้
ซึ่งต่อมาเวลาก็ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ถ้าหุ้นที่ผมซื้อไว้ไม่ดีจริง ราคาคงไม่ฟื้นกลับขึ้นมาได้"
"ถ้าคณะกรรมการฝ่ายจัดการให้ผมถือหุ้นต่อไป โดยที่จริง ๆ ขณะนั้นเงินเราก็ไม่ได้ตึง
เรายังมีวงเงินอยู่ ถ้าให้ผมทำในสิ่งที่ผมเคยทำให้หลักทรัพย์เอเซียมา ก็อาจจะไม่ขาดทุนมากขนาดนี้
เพราะผมเคยซื้อที่ราคาสูงสุดมาแล้ว เมื่อผมขายไม่ทัน ผมจะไม่ทำอะไรเลย ปล่อยไว้
เนื่องจากเวลาผมเล่นหุ้นนี่ ผมจะเตรียมกำลังไว้เสมอ ผมจะไม่ลงหมด"
ประสบการณ์ครั้งนี้คงจะให้ข้อคิดอะไรหลาย ๆ อย่างกับศิริวัฒน์ และในเดือนธันวาคม
2531 นั้นเอง เขาก็ยื่นหนังสือลาออกกับชาลี โสภณพนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหลักทรัพย์เอเซีย
ซึ่งจะมีผลให้เขาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม 2532
หนังสือลาออกของเขาถูกยับยั้งชั่วคราว เนื่องจากชาตรี โสภณพนิช ซึ่งอยู่ระหว่างการผ่าตัดและพักฟื้นที่สหรัฐฯ
บอกให้เขาอยู่ต่อไปก่อน ครั้นชาตรีเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม ศิริวัฒน์ก็ได้คุยเรื่องการลาออกของเขาอีกหลายคราว
"จนท่านเข้าใจผม ผมจึงขอลาออกได้"
ศิริวัฒน์ กล่าวอย่างตริตรองด้วยเหตุผลแล้วว่า "สาเหตุเรื่องการขาดทุนของบริษัทนี้
ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ผมลาออก การซื้อขายหุ้น มันก็มีกำไรขาดทุน ผมขอบอกว่า
ผมเสียใจที่มีส่วนทำให้บริษัทขาดทุน ก็เหมือน ๆ กับความรู้สึกที่ผมมีส่วนทำให้บริษัทมีกำไรมากมายเมื่อปี
2530 นั่นแหละ"
ผมคิดว่า ที่ผมตัดสินใจลาออกก็คือ ผมทำให้หลักทรัพย์เอเซียมานาน ทำให้ผู้ถือหุ้นมาเยอะ
ที่สำคัญคือ ผู้ถือหุ้นสามารถขายหุ้นของเขาได้ 16 - 19 บาทจากราคาพาร์ 10
บาท เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้ตอบแทนผู้ถือหุ้น ถึงแม้ว่ามันอาจจะขาดทุนกำไรไปนิดหน่อย
ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไร"
"ตอนนี้ ฐานะบริษัทก็ดีทุกอย่าง เริ่มมีกำไร หนี้สินก็มีเหลืออยู่น้อยมาก
ดังนั้นก็เป็นจังหวะเวลาที่ควรจะไป และอีกอย่างเจ้านายทั้งสองก็เข้าใจผม
ศิริวัฒน์ทำได้แค่นี้ รับใช้ได้แค่นี้ครับ"
หลังจาก 16 มิถุนายน 2532 ศิริวัฒน์ก็จะสลับคราบนายหน้าค้าหุ้นไปเป็นนักเล่นหุ้นเต็มตัว
โดยประจำตามห้องค้าหลักทรัพย์ชั้นนำทั้งหลาย
เขาเริ่มเล็งหุ้น 2 - 3 ตัวเพื่อการลงทุนไว้แล้ว ปัจจัยพื้นฐานดี ขนาดของทุนปานกลาง
ราคาพอสมควร ราคาพอสมควร ถ้ากำลังเงินพอเขาอาจจะซื้อยึดเลยก็ได้
คราวนี้เขาทำเพื่อตัวเองบ้างแล้ว !