|
สินค้าอัดอีเว้นท์ถี่แต่มูลค่าหดปัญหาการเมืองซีเรียสกว่าน้ำมัน
ผู้จัดการรายวัน(5 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ฟันธงการเมือง –การชุมนุม เป็นปัจจัยหลัก ขีดชะตาตลาดโฆษณามูลค่า 90,000 ล้านบาท ว่าจะโตได้อีก 5% หรือไม่ เผยลูกค้าเริ่มระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น กระแสการทำตลาดผ่านบีโลว์เดอะไลน์ มีสูงอยู่ แต่ถูกกดราคา ด้านงานแอดแมน แนวโน้มการส่งผลงานมีเพิ่มขึ้น พบพฤติกรรมการใช้สื่อ เน้นการใช้งานให้นานให้นานขึ้น ส่งผลงานพริ้นท์ส่งเข้าประกวดลดลง
นายวิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การเมืองและการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น หากไม่เลวร้ายลงไปมากกกว่านี้ เชื่อว่าจะทำให้ตลาดโฆษณามูลค่า 90,000 ล้านบาท ทั้งปีน่าจะยังมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตที่ 5% ตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงปี 2543-2547 ที่ตลาดมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ไม่ต่ำกว่า 10% ทุกปี ยอมรับว่าการเมืองเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดโฆษณาโดยตรง ส่วนในเรื่องของราคาน้ำมัน ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักเสียทีเดียว ทั้งนี้ในส่วนของลูกค้า ก็เริ่มตระหนัก จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และระมัดระวังการใช้เงินบ้างแล้ว
ทั้งนี้สำหรับตลาดโฆษณาในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สามารถบอกได้ว่าในเดือนเม.ย. มีอัตราการเติบโตขึ้น 4% เนื่องจากเป็นช่วงซัมเมอร์ มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ และเป็นการอั้นจากช่วงปลายปีและไตรมาสแรกที่ผ่านมาด้วย ส่วนตัวเลขของเดือนพ.ค.-มิ.ย. ยังไม่ออกมา
นอกจากนี้ยังพบว่าสัดส่วนการใช้สื่อของลูกค้ายังคงเป็นโฆษณา 60% คิดเป็นมูลค่าตลาดได้ 90,000 ล้านบาท และการจัดกิจกรรมหรืออีเว้นท์อีก 40% คิดเป็นมูลค่าตลาดอีเว้นท์ได้ 70,000 ล้านบาท โดยในส่วนของอีเว้นท์นั้น พบว่าปีนี้หันมาให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น มีการจัดอีเว้นท์มากกว่าปีที่ผ่านมาในแง่จำนวนครั้ง แต่ในแง่มูลค่าแล้วไม่เติบโต เนื่องจากลูกค้ามีการต่อรองราคาค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากงบการใช้เงินที่ลดลง ทั้งนี้กระแสการใช้สื่อทำตลาดแบบผสมผสานจะถูกนำมาใช้มากขึ้น ยกตัวอย่างสินค้าที่มีการนำเอากิจกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาดในปีนี้ ได้แก่ บรีส และสิงห์
อย่างไรก็ตามยังพบอีกว่า ลูกค้าเริ่มมีการใช้สื่อที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมที่จะเน้นใช้สื่อแมส มีการโฆษณาทางโทรทัศน์ ใช้เงินสูง ปีนี้จะพบว่า บางโครงการจะไม่มีการใช้สื่อแมส จะเน้นใช้สื่อเอาท์ดอร์ บริเวณใกล้เคียงกับโครงการ พร้อมทั้งมีการแจกใบปลิวในบริเวณดังกล่าว หรือมีการจัดกิจกรรมช่วงพรีเซลล์อีกส่วนหนึ่งด้วย
ส่งงานประกวดแอดแมนคึกคัก
นายวิทวัส กล่าวต่อถึง งานAdman Award & Symposium 2008 ด้วยว่า ปีนี้มีผลงานที่เข้าประกวดมากกว่าปีก่อน จาก 1,008 ชิ้น เป็น 1,027 ชิ้น ซึ่งมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวงการโฆษณา ถึงแม้ว่าชิ้นงานในบางกลุ่มอย่าง พริ้นท์ และเอาท์ดอร์ จะลดลง มองว่าน่าจะมาจาก ในปีก่อน ลูกค้าประหยัดในเรื่องของการใช้งบมากยิ่งขึ้น ชิ้นงานที่ออกมาจึงมีระยะเวลาในการใช้งานที่นานขึ้น ทำให้ผลงานด้านพริ้นท์จึงน้อยลง ขณะที่เอาท์ดอร์จริงๆมีน้อย ส่วยใหญ่ลูกค้าจะมีการนำเอาพริ้นท์มาขยายเพิ่มในช่องทางเอาท์ดอร์แทน
สำหรับในส่วนของทีวีนั้น พบว่ายังมีอัตราที่สูงขึ้น คาดว่าน่าจะมาจาก ปัจจัยในเรื่องของผู้บริโภคที่เบื่อง่าย ดังนั้นภาพยนตร์โฆษณาจึงต้องมีการทำขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลา ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจึงยังมีสูงอยู่ แต่เมื่อรวมๆแล้ว ความโดดเด่นในเรื่องของไอเดียปีนี้ยังไม่ค่อนดีนัก ไม่แตกต่างจากปีก่อน ทั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องของการพยายามที่จะหาช่องทางใหม่ๆเพื่อการสร้างสรรค์ด้วย รวมถึงเริ่มตันก็เป็นไปได้
ทั้งนี้มองว่า ช่องทางมีเดียใหม่ๆที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะออนไลน์ จะเป็นช่องทางสำคัญที่ จะเปลี่ยนแปลงวงการโฆษณาได้ เพราะเทียบแล้วอินเตอร์เน็ต ถือเป็นช่องทางที่ถูกที่สุด เมื่อเทียบกับทุกสื่อ โดยเฉพาะสื่อทีวี น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ทั้งนี้ก็คงต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีสำหรับประเทศไทย ส่วนเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ยังไม่ส่งผลกระทบต่อวงการโฆษณามากนัก
อย่างไรก็ตามปีนี้ภายในงานประกวด ได้เพิ่มรางวัลประเภทสื่อโฆษณา Ad That Works ด้วยอีก 1 ประเภท รวมทั้งหมดปีนี้จึงมีผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 16 ประเภท ซึ่งจะมีการตัดสินประกาศผลงานที่ได้รับรางวัล อย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|